วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ฤๅษีสัมพุก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
สังหารฤๅษีสัมพูก “ผู้มาก่อนกาล” ที่ปราสาทบันทายฉมาร์
ในมหากาพย์รามายณะ (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) ภาคเสริมที่เรียกว่า  “อุตตรกัณฑ์” (Uttara Kāṇḍa) ที่อาจถูกแต่งเติมเสริมขึ้นโดยพราหมณ์ในยุคหลังวาลมิกิ (Vālmīki) ได้เล่าถึงเรื่องราว การลงโทษคนวรรณะศูทร/ศุทร์/ศูทฺรŚūdra/Shudra) โดยพระรามว่า
.
“...ครั้งหนึ่งภายหลังจากศึกกรุงลงกา ... มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเดินอุ้มศพบุตรชายมาอยู่ที่หน้าประตูพระราชวังอโยธยา พลางปริเทวะร้องไห้คร่ำครวญอย่างทุกข์ระทมว่า ทำไมอยู่ดี ๆ บุตรชายของตนยังอายุไม่ถึง 14 ปี   ต้องมาตายก่อนเวลาอันควร การตายอย่างนี้ไม่เคยบังเกิดขึ้นมาก่อนในราชอาณาจักรมงคลแห่งองค์ศรีราม คงเป็นเพราะพระรามมีมลทินความผิดอะไรสักอย่างที่ทำให้บุตรชายของตนต้องตาย หรือมีผู้กระทำผิดบาปแก่เหล่าพราหมณ์ โดยที่องค์พระรามไม่กำหราบ
.
“...ข้าแต่องค์ศรีรามเจ้า พระองค์จงได้โปรดนำชีวิตบุตรชายของข้าคืนกลับมาด้วย ข้าและบุตรกระทำผิดอันใด...”
.
 การคร่ำครวญด้วยความทุกข์ระทมนั้นยาวนาน  พระรามได้สดับคำของพราหมณ์ด้วยความสลดพระทัย จึงได้นำเรื่องการตายของบุตรฤๅษีไปปรึกษากับเหล่ามหาฤๅษี ประกอบด้วย พระวสิษฏะ พระวามเทพ พระมรรกัณเฑยะ พระเมาทคัลยะ/โมคคัลลานะ พระกัศยปะ พระกาตยายนะ พระชาพาลิ/ชวาลี พระเคาตมะ และพระนารท (นารอด) เหล่ามหาฤๅษีได้กราบทูลพระรามว่า เหตุที่บุตรชายของพราหมณ์ดังกล่าวสิ้นชีวิตโดยไม่มีเหตุผลนั้น ก็เพราะว่ามีคน “วรรณะศูทร” มาบำเพ็ญตบะในอาณาจักรของพระองค์
“...ในกฤดายุคนั้น จะมีแต่คนวรรณะพราหมณ์เท่านั้นที่มีสิทธิบำเพ็ญตบะ ในไตรดายุคจึงอนุญาตให้คนวรรณะกษัตริย์สามารถบำเพ็ญตบะได้อย่างพราหมณ์ ส่วนในทวาปรยุคอันรุ่งเรืองนี้ ก็ได้เพิ่มให้คนวรรณะไวศยะ (Vaishya/แพศย์) สามารถบำเพ็ญตบะได้ แต่ผู้ดำรงวรรณะศูทฺรยังไม่สามารถบำเพ็ญตบะเพื่อการบรรลุได้ แต่เมื่อถึงเขตกลียุคเมื่อไร คนวรรณะศูทฺรจึงจะบำเพ็ญตบะได้อย่างวรรณะอื่น ๆ ...” 
.
มหามุนีกราบทูลให้องค์ศรีรามรีบเสด็จออกค้นหาว่า มีฤๅษีตนใดที่เป็นคนวรรณะศูทร ก็ให้กำจัดเสียอย่าให้เป็นมลทินแห่งทวาปรยุค องค์ศรีรามจึงเสด็จโดยบุษบกออกตามหาฤๅษีวรรณะศูทร จนกระทั่งไปพบฤๅษีคนหนึ่งนามว่า “สัมพูกะ/ศัมพูก” (Shambuka/Śambūka)  กำลังบำเพ็ญเอาหัวยืนต่างเท้า ณ อาศรมใกล้ทะเลสาบ ที่อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาไศวละคีรี/ไศพลคีรี  (Shaivalagiri)
.
องค์ศรีรามรับสั่งถามว่า  “...เจ้าคือใคร เกิดในวรรณะใด...”  ฤๅษีตอบว่า “...ข้ามีชื่อนามว่าสัมพูกะ เกิดในวรรณะศูทฺร” พระรามได้ยินดังนั้น จึงแจ้งเหตุความถึงข้อห้ามอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นกฎหมายที่มวลมนุษย์ต้องพึงปฏิบัติ สัมพูกะทราบถึงเหตุ จึงขอให้องค์ศรีรามได้สังหารตนด้วยสาธุการสำนึก  
.
“...ข้าแต่องค์รามผู้ประเสริฐ ข้านั้นเกิดในวรรณะศูทร และปวารณาตนที่จะไปถึงแดนสวรรค์ด้วยความตายของข้าโดยพระองค์ ผ่านกฎเกณฑ์ (กีดกัน) อันเคร่งครัดเหล่านี้
.
 พระรามจึงได้เอาพระแสงดาบตัดศีรษะสัมพูกะทันที...
.
“...เมื่อเจ้าสำนึกด้วยธรรม ก็ขอจงให้เจ้าได้เป็นมุนีผู้เรืองธรรม ในกาลอันสมควร ภายภาคหน้าเถิด... "
.
เหล่าเทพเจ้า ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญฤๅษีสัมพูกะผู้มาก่อนกาล ด้วยบุปผาสวรรค์และน้ำทิพย์ชโลมไปบนร่าง ครั้งแล้วครั้งเล่า ....แล้วพระอินทราเทพก็ได้ชุบชีวิตให้ลูกของพราหมณ์ขึ้น ตามคำขอของพระราม...  
.
-----------------------------
*** ภาพสลักบนหน้าบันด้านนอก ประตูเล็กของผนังหลังมุขซุ้มประตูใหญ่ฝั่งทิศใต้ ในท่ามกลางซากกองหินปรักหักพังของอาคารหอพิธีกรรม/หอรามายณะ /หอนางรำ อาคารขนาดใหญ่ด้านหน้าสุดของหมู่ปราสาทบันทายฉมาร์  มีองค์ประกอบตาม “ประติมานวิทยา” (Iconography) ตรงกันกับเรื่องราวของการสังหารฤๅษีสัมพูกะ จากเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ ภาคอุตตรกัณฑ์ ที่ยังคงเป็นที่รับรู้สืบทอดมาถึงในปัจจุบันอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความ/สันนิษฐาน/มโน หรือรอหาข้อความจารึกมาเป็นหลักฐานในการอธิบายครับ 
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น