“เส้นจีวรเฉียง” ปริศนา บนรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ความพยายามเฮือกสุดท้าย เพื่อรักษาศรัทธาแลอำนาจที่สิ้นสลาย
รูปประติมากรรมเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นรูปเคารพที่เหลือรอดจากอดีตมาไม่มากนัก ซึ่งสาเหตุก็อาจมาจากเหตุผลเดียวกันกับรูปประติมากรรมของพระพุทธปฏิมากรนาคปรกจำนวนมากในจักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่ ที่ถูกทุบทำลายอย่างตั้งใจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปศิลปะสลักตามปราสาทในเขตอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กษัตริย์ในยุคสืบต่อ ที่หันกลับไปศรัทธาบูชาลัทธิฮินดูเทวราชา
คงไม่ต้องสงสัยหรอกครับว่าจะไม่ใช่พระองค์ ผู้ที่มีอำนาจการเมืองคับพระนครหลวงศรียโศธรปุระและพระเดชานุภาพควบคุมผู้คนและแรงงานเท่านั้น ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อและศรัทธาแห่งอาณาจักรจากพระโพธิสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ กลับคืนสู่มาฮินดูไศวะ พระศิวะมหาเทพที่เคยเกรียงไกรในอดีตได้
รูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้เคยเป็นเสมือนพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิบายนอันยิ่งใหญ่ จึงเป็นเป้าหมายแรก ๆ ของการทำลาย ที่ถูกเลือกอย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่ารูปสลักอื่น ๆ ถึงรูปเหมือนพระพักตร์ของพระองค์อาจจะสลักขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง พระมหาโพธิสัตว์ พระมานุษิพุทธเจ้า พระอมิตาภะ หรือแม้แต่รูปเหมือนฉลองพระองค์เองเป็นจำนวนมากในยุคแห่งความรุ่งเรืองก็ตาม แต่เมื่อถึงกาลสิ้นสุดแห่งอำนาจ ก็เหมือนจะมีคำสั่งให้ทุบทำลายแบบต้องการให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นอันดับแรกทีเดียว จนดูเหมือนว่า การทุบทำลายและรื้อถอนครั้งใหญ่นั้น กระทำขึ้นอย่างเป็นระบบ จนแทบไม่มีรูปประติมากรรมที่ยังคงความสมบูรณ์เหลือรอดมาจนถึงในปัจจุบันเลย
รูปเคารพในคติความเชื่อความศรัทธาเดิมของราชสำนักเก่า ที่เคยประดิษฐานในศาสนสถานทางสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาวัชรยาน จะถูกรื้อถอน มัดฉุดลากออกจากที่ตั้ง พระพุทธรูปใหญ่แห่งจักรวรรดิที่ปราสาทบายน ก็ถูกทุบทำลายทิ้งลงในบ่อน้ำใต้ปราสาทให้จมดิ่งลงสู่ใต้โลก (ยมโลก) ในหลายพระอารามราชวิหารมีการทุบทำลายก่อนแล้วค่อยนำรื้อถอนนำไปฝังกลบอีกที ส่วนของใบหน้ารูปสลักที่เหลือรอดให้เห็น ยังแสดงร่องรอยของการทุบตี ทั้งแบบตีแรง ๆ ตีถี่ ๆ ให้กะเทาะ จนส่วนที่ยื่นออกมาอย่างพระนาสิก พระเนตรหรือพระกรรณแตกหัก พระเศียรถูกทุบแยกออกจากพระวรกายเกือบทุกรูปไป
รูปประติมากรรมเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่คงมีเหลือรอดอยู่เพียงไม่กี่รูปจนมาถึงในยุคปัจจุบัน รูปฉลองพระองค์ที่ดูสมบูรณ์ที่สุด ถูกพบในปี ค.ศ. 1934 อยู่ที่ “โกรฺล รมาส - โกรลโรเมียะส์” (Krol Romeas) แนวกำแพงศิลาแลงรูปวงกลม ห่างไปทางทิศเหนือของประตูเมืองพระนครธมเฉียงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร ในสภาพที่แตกหักเป็นหลายชิ้นส่วน
“โกรฺล รมาส” แปลตามชื่อที่เรียกจะมีความหมายถึง “คอกระมาด” หรือ “คอกแรด” ตามความเข้าใจของนักวิชาการจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO) ที่เชื่อว่าเป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ประเภท "ระมาด-แรด" (กระซู่) ที่เคยมีอยู่อย่างมากมายรอบโตนเลสาบ แต่ในปัจจุบันนี้สูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้นแล้ว ตามลักษณะของอาคารที่เป็นแนวกำแพงหินรูปวงกลมขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากจะสันนิษฐานว่าเป็นที่เลี้ยงแรดแล้ว ยังมีนักวิชาการบางท่านก็เสนอว่าอาจใช้เป็นสถานที่ในการเลี้ยงสัตว์อย่าง “เพนียดคล้องช้าง” หรือ ”คอกสัตว์หลวง” ในยุคเมืองพระนครอีกด้วย
----------------------------------------------
*** รูปสลักเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ มีความสูงรวมฐาน 1.35 เมตร อาจเป็นรูปที่สมบูรณ์แบบหากพระพาหา (แขน) ทั้งสองข้างไม่หักหายไป นุ่งภูษาสนับเพลาขาสั้น แข้งคม มีกล้ามเนื้อรอบสะบ้าเข่า นั่งขัดสมาธิราบ ไม่ปรากฏร่องรอยของพระหัตถ์ที่หน้าตัก จึงสันนิษฐานกันในครั้งแรก ๆ ว่า แขนที่หักหายไปอาจจะอยู่ในท่าพนมมือ(ปัจจุบันพบพระกร-พระหัตถ์ในท่าอัญชลีมุทรา (Añjali mudrā) หรือ “ปราณามาสนะ” (praṇāmāsana) อยู่ในคลังสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์แล้ว) สัญนิฐานว่า รูปประติมากรรมเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ เคยตั้งอยู่ในปราสาทประธานของปราสาทบายน แสดงการนมัสการแก่รูปพระรัตนตรายะ-ชัยพุทธมหานาถ ผู้เป็นใหญ่แห่งอาณาจักร ซึ่งอาจมีพระนามว่า “พระกัมพุเชศวร” (Kambujeśvara) ที่พบพระนามจากจารึก K. 293 บนผนังกำแพงที่ปราสาทบายน
ที่บริเวณ พระอุระ (หน้าอก) และ พระปฤษฎางค์ (หลัง) ของรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีร่องรอยของการขีดสกัดเป็นแนวเส้นโค้งทั้งด้านหน้าและหลังตามแบบการห่มจีวรเฉียงของพระพุทธรูป แต่เส้นขีดด้านหน้าไปจบก่อนถึงพระอังสา (ไหล่) ไม่ได้เชื่อมกับเส้นด้านหลัง ซึ่งการขีดเส้นเช่นนี้ พบเพียงรูปประติมากรรมองค์นี้เพียงองค์เดียว จากรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งหมดที่เคยพบจนถึงในปัจจุบัน
การขีดเส้นจีวรเฉียงที่เกิดขึ้น อาจเป็นความพยายามของเหล่านักบวชในแผ่นดินเก่า ที่ยังคงศรัทธาและจงรักภักดี สลักขีดเส้นอย่างเร่งด่วนฉุกละหุกบนเนื้อผิวหินเดิม เพื่อจะรักษารูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เอาไว้ในช่วงเวลาสุดท้าย โดยพยายามจะแปลงรูปเหมือนนี้และอธิบายแบบศรีธนัญชัยให้กับผู้มีอำนาจใหม่ที่เข้ามาทุบทำลายว่า เป็นรูปของ “พระพุทธสาวก” ของฝ่ายเถรวาท (พระพุทธรูปศิลปะบายนในคติวัชรยาน จะทำเป็นจีวรห่มคลุมมีเส้นจีวรอยู่ที่พระศอแบบห่มคลุม ไม่ทำเป็นเส้นจีวรเปิดไหล่แบบพระพุทธรูปเถรวาท)
แต่ก็คงไม่เป็นผล ด้วยเพราะอำนาจของราชสำนักผู้ปกครองได้ผลัดเปลี่ยนไปแล้วตามยุคสมัย แม้แต่รูปพระพุทธปฏิมากรนาคปรกองค์ประธานของปราสาทบายน รวมทั้งรูปเคารพทั้งหลายในเขตเมืองพระนครธม ที่แค่ดูว่าคล้ายว่าจะเป็นรูปแบบศิลปะในคติวัชรยาน ก็ยังแทบไม่เหลือรอดจากโศกนาฏกรรมในช่วงเวลานั้นได้เลย
รูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สำคัญองค์นี้ ยังปรากฏร่องรอยการทุบทำลายให้เห็นไปทั่วร่าง พระเศียร พระนาสิก พระหนุ ปลายพระกรรณถูกทุบกะเทาะแตก พระศอ พระกร พระเพลา แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และยังถูกให้นำไปทิ้งแบบโปรยกระจายไว้บนพื้นคอกสัตว์หลวงนอกพระนคร ให้ถูกสัตว์เหยียบย่ำจนผิวพระปฤษฎางค์ พระโสณีเลยไปถึงพระที่นั่ง กะเทาะแตกเป็นแผ่นกว้างให้เห็นอย่างชัดเจน
--------------------------------------------------
*** รูปประติมากรรมเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบจากโกรฺล-รมาส ปัจจุบันถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ เป็นรูปเคารพที่สำคัญของประวัติศาสตร์กัมพูชาในยุคปัจจุบัน และยังเป็นต้นแบบของรูปสลักเลียนแบบที่กลายมาเป็นของที่ระลึก ในธุรกิจการท่องเที่ยวยุคใหม่ด้วย
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................
วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564
ปริศนาเส้นจีวรเฉียง
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love.