“เมืองครุฑ” เมืองบายนโบราณที่สาบสูญ กลางหุบเขาแควน้อย กาญจนบุรี
เมื่อราวปี 2534 กรมศิลปากรได้เริ่มทำการสำรวจเนินดินขนาดไม่ใหญ่นัก บริเวณที่ราบใกล้กับช่องเขาครุฑห่างไปทางตะวันออกจากปราสาท-เมืองสิงห์ประมาณ 5 กิโลเมตร กลางเมืองโบราณที่มีร่องรอยคูน้ำคันดินสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 600 * 350 เมตร
ผู้คนในท้องถิ่นแควน้อยจะเรียกบริเวณนี้ว่า “เมืองครุฑ” เพราะในสมัยก่อนนั้น เคยมีรูปประติมากรรมครุฑโผล่ขึ้นมาจากเนินดิน
เมืองครุฑ อยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ตามเส้นทางถนนดิน ไปทางตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร เข้าไปในที่โดดเดี่ยวเกือบใจกลางหุบเขาที่มีเขาเมืองครุฑ เขาแก้วใหญ่ เขาแก้วน้อยล้อมรอบ มีลำน้ำห้วยมะไฟผ่านเมืองด้านข้างทางทิศตะวันตกฝั่งติดชายเขาเมืองครุฑ ซึ่งบริเวณลำห้วยนี้ ยังพบหินศิลาแลงที่นำมาก่อเป็นแนวกำแพงหลงเหลืออยู่บ้าง
ชาวบ้านในท้องถิ่นเล่ากันว่าได้พบเห็นร่องรอยสิ่งก่อสร้างที่เป็นหินศิลาแลงกันมานานแล้ว จนเมื่อมีคนภายนอกเข้ามาลักลอบขโมยขุดหาสมบัติโบราณตรงบริเวณเนินดินใหญ่ที่มีศาลเพียงตาเก่า ๆ ตั้งอยู่ เผอิญมีชาวบ้านนำสัตว์เลี้ยงผ่านมาพอดี เหล่าขโมยก็เลยทิ้งหลุมขุดนั้นไว้ ซึ่งก็ทำให้ได้เห็นชิ้นส่วนของรูปสลักหินทรายขนาดใหญ่ผังจมดินอยู่ในกองหินศิลาแลง แต่ส่วนหัวของครุฑที่อยู่ด้านบนของเนินนั้นได้หายไปแล้ว
หลังปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเนินดินกลางใจเมือง ได้พบกับฐานของสิ่งก่อสร้างขนาดไม่ใหญ่นัก รวมทั้งพบชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นรูป "พญาครุฑ" จมดินอยู่จนเกือบครบทุกชิ้นส่วน เมื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบกันและประมาณค่าความสูงของหัวรูปสลักที่หายไปแล้ว พบว่ามีความสูงรวมทั้งตัวเกือบ 3 เมตร ส่วนเนินดินนั้นเป็นอาคารส่วนฐานอัดดินและผนังแผ่นหลังของรูปครุฑที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างเครื่องไม้และภาชนะดินเผา ได้สูญสลายแตกหักไปมากแล้ว
ประติมากรรมครุฑหินทรายนี้ แกะสลักขึ้น จากหินทรายที่หาได้ยากในท้องถิ่น อาจต้องขนมาจากที่อื่น ๆ ที่อยู่ในภาคกลาง ตามศิลปะนิยมแบบบายนในท้องถิ่น ร่วมสมัยกับปราสาทเมืองสิงห์ ในยุคคติความเชื่อแบบวัชรยาน-โลเกศวร สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 อย่างไม่ต้องสงสัย
และเป็นรูปสลักครุฑแบบ "ลอยตัว" ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
ฐานก่อศิลาแลงที่เหลืออยู่คงทำหน้าเป็นวิหาร (Chapel) ศูนย์กลางของเมือง เพราะปรากฏร่องรอยของเศษชิ้นส่วนเครื่องกระเบื้องจำนวนหนึ่งแตกหักกระจาย ที่อาจเคยใช้ในการประกอบพิธีกรรมและการอยู่อาศัยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนการทิ้งร้างไปด้วยเพราะสภาพความแห้งแล้ง ธรรมชาติรอบข้างไม่เอื้ออำนวยและสงคราม
ระหว่างเมืองสิงห์ หรือ “ศรีชยสิงหปุรี” (Śrí Jaya-Siṃhapurí) ในจารึกปราสาทพระขรรค์กับเมืองครุฑ เคยมีถนนดินยกระดับตัดตรงระหว่างกันเรียกกันว่า "ถนนขาด" แต่ปัจจุบันได้แปรสภาพกลายเป็นไร่สำปะหลังไปจนหมด ไม่เห็นร่องรอยอีกแล้ว
ในอดีต เมืองครุฑคงเป็นเมืองบริวารหน้าด่านของเมืองสิงห์ ที่ขยายเข้าไปยังเขตหุบเขา ทั้งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญป้องกันศัตรูจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนแม่น้ำแควน้อยกับแม่น้ำแควใหญ่ที่ปากแพรก เข้าสู่ช่องเขาเมืองครุฑ รวมทั้งเป็นเมืองเพื่อเป็นฐานในการเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากป่าในพื้นที่ใกล้เคียงให้กับเมืองสิงห์
รูปประติมากรรมครุฑขนาดใหญ่นี้ อาจมาจากคติความเชื่อเรื่อง "ครุฑ” ผู้ทรงพลานุภาพ ในความหมายของตัวแทนแห่งองค์อวตาร เป็นการประกาศพระราชอำนาจแห่งองค์พระโพธิสัตว์ชัยวรมันที่ 7 ผู้เปรียบประดุจพระวิษณุผู้พิชิต ในความหมายว่านี่คือเขตอำนาจแห่งจักรวรรดิบายนที่ได้แผ่ขยายตามเส้นทางการค้าโบราณมาถึงลุ่มน้ำแควน้อย ในเขตแดนตะวันตก
----------------------------
*** ภายหลังการล่มสลายและสาบสูญไปจนเป็นเมืองร้าง ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 จนผู้คนกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนลาวในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ได้ย้ายเข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐาน จึงแต่งนิทานกำเนิดของเมืองครุฑ โดยนำโครงเรื่องจากนิทานลาว มาสวมทับชื่อของเมืองร้างที่ตนได้พบเห็น กลายมาเป็นนิทานเรื่องเมืองครุฑและเมืองสิงห์ ที่เล่ากันว่า
“....เมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีฤๅษีองค์หนึ่งอาศัยอยู่ที่ภูเขางิ้วดำ ทางทิศเหนือของเมืองตามพรลิงค์ มีลูกศิษย์ 2 คนคือท้าวอู่ทองและท้าวเวสสุวรรณโณ พระฤๅษีห้ามมิให้ลูกศิษย์ทั้งสองไปเล่นที่บ่อเงิน บ่อทองและบ่อกรด ...วันหนึ่งฤๅษีต้องไปทำธุระข้างนอก ปล่อยให้ลูกศิษย์ทั้งสองอยู่ตามลำพัง แต่ด้วยเพราะความอยากรู้อยากเห็น จึงนำให้ทั้งสองมาที่บ่อต้องห้ามทั้งสาม แล้วตกลงกันว่า หากใครลงไป อีกคนหนึ่งจะต้องอยู่ปากบ่อเป็นคนคอยดึงขึ้น
...ท้าวอู่ทองลงไปก่อน คือลงไปในบ่อเงินและบ่อทอง พลันเมื่อขึ้นมาแล้ว น้ำในบ่อก็แห้งไปทั้งหมด ส่วนท้าวเวศสุวรรณโณ เมื่อลงไปบ่อที่สามที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นบ่อกรด ก็ละลายหายไป ท้าวอู่ทองตกใจ จึงหนีลงมาจากเขางิ้วดำ...
...เมื่อฤๅษีกลับมา เห็นบ่อทั้งสามถูกล่วงล้ำและพบเศษซากของท้าวสุวรรณโณ จึงช่วยเหลือโดยการชุบตัวท้าวเวสสุวรรณโณขึ้นมาใหม่ ท้าวเวสสุวรณโณแค้นใจท้าวอู่ทองมาก (เพราะทิ้งกัน.....เห็น ๆ) จึงออกตามล่าเพื่อแก้แค้น...
....ท้าวอู่ทองหนีไป ก็สร้างเมืองไป เมื่อท้าวสุวรรณโณจะมาถึง ก็หนีไปและสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีก เมืองที่ท้าวอู่ทองสร้าง มีชื่อว่าเมืองสระสี่มุมหรือสระโกสินารายณ์ (ที่มีโบราณสถานจอมปราสาทตั้งอยู่) เมืองกลอนโก และเมืองครุฑ...
...แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จซักแห่ง ท้าวเวสสุวรรณโณก็ตามมาถึงทุกที จนในที่สุดท้าวอู่ทองก็ได้สร้างเมืองสิงห์ขึ้นจนสำเร็จและสร้างกำแพงเมืองไว้อย่างแน่นหนา อย่างที่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน...
...ท้าวเวสสุวรรณโณก็ใช้อุบายปลอมตัวเข้ามาในเมือง แล้วจับท้าวอู่ทองกินซะให้หายแค้น รวมทั้งกินผู้คนในเมืองสิงห์จนสิ้น เมืองสิงห์จึงร้างไปนับแต่นั้นมา...."
---------------------------
*** ปัจจุบัน รูปสลักประติมากรรมหินทรายรูปครุฑ จัดแสดงอยู่ที่บริเวณลานจอดรถของปราสาทเมืองสิงห์ ตรงทางเข้าศูนย์ข้อมูล ส่วนตัวอาคารศิลาแลงกลางเมืองครุฑในปัจจุบันนั้น เป็นเนินดินที่มีต้นไม้ขึ้นรกปกคลุม มีไร่อ้อย ไร่มันปลูกอยู่ล้อมรอบ เข้าไปเที่ยวตอนนี้ก็จะไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ไปให้หนามตำเล่นเปล่า ๆ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................
วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564
เมืองครุฑ
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_