วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

สาวงาม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

คติและงานศิลปะ “สาวงามส่องกระจก–ฉันนี่สวยจัง” จากโลกโบราณ
รูปประติมากรรมสตรีประดับอาคารศาสนสถาน ถือกล่องกระจกหรือคันฉ่อง (Mirror) แสดงท่าทางกำลังดูความสวยงามบนใบหน้าของตนเอง เรียกในภาษาสันสกฤตว่า “ทารปนา ธาริณี” “Darpana Dharini” หมายถึง “สตรีงาม (กำลังส่อง) ถือกระจก” ที่ในยุคเริ่มแรกของอินเดียนั้น ได้รับอิทธิพลโดยตรงจาก “วัฒนธรรมเฮเลนิสติค”(Hellenistic) จากเทวี-เทพธิดา (Goddess) แห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาว กรีก และอินโด-กรีก (Indo-Greek) ในแคว้นเบคเตรียและคันธาระมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 3  ซึ่งในเริ่มแรกของงานศิลปะได้พัฒนามาเป็น “นางยักษิณี – ยักษี” (Yakshinis – Yakshis) เทวีแห่งธรรมชาติ (นางไม้) ความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง ยืนแบบ ตริภังค์” (Tribhaṅga) ในท่าโหนโน้มกิ่งไม้ต้นสาละที่เรียกว่า “สาละภัญชิกะ” (śālabhañjikā)  อย่าง “นางจันทรายักษิณี” (Chandra Yakshi) ยืนเหนือสัตว์ผสมคล้ายอูฐ “พตันมารายักษิณี” ยืนเหนือคนแคระ “จูลโกกายักษิณี” ยืนเหนือช้าง หรือ “สุทรรศนายักษิณี” ยืนเหนือตัวมกร เป็นจุดเริ่มต้นรูปลักษณ์ของ “สาวงาม” ที่มี "... หน้าอกพระจันทร์ เอวหงส์และโหนกช้าง" (Moon Breasted, Swan-Waisted and Elephant-Hipped) เป็นครั้งแรกในงานศิลปะอินเดีย
ถึงแม้ว่าในยุคราชวงศ์โมลียะและศุงคะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 4 – 5 จะมีความนิยมสลักรูปนางยักษิณีโหนต้นสาละ อย่างที่พบจากสถูปสาญจีและสถูปภารหุต รวมทั้งรูปถือแส้จามร (Chanwar Dharini) อย่างที่พบจากเมืองปาฏลิบุตร - ปาลิโบตระ (Patliputra - Palibothra) แต่รูปสาวงาม-ยักษิณี ส่องกระจกที่แสดงความชื่นชมความงามของตนเอง -ฉันนี่สวยจัง ที่เก่าแก่ที่สุด อาจเป็นรูปสลักสตรีคาดเอวด้วยแถบสร้อยเมขลา  (Mekhala) บนเสาสตัมภะ-สดมภ์ (Stambha) ของรั้วเวทิกา “สถูปสังโฮล” (Sanghol) ที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา ในเขตฟาเตหครห์ซาฮิบ (Fatehgarh Sahib) รัฐปัญจาบ ศิลปะสกุลช่างมถุรา (Mathura) ที่ได้รับอิทธิพล จากแคว้นคันธาระ ในช่วงราชวงศ์กุษาณะ ราวพุทธศตวรรษที่ 7 - 8
รูปศิลปะสาวงามส่องกระจก ได้รับความนิยมเรื่อยมา โดยเฉพาะในคติฮินดู ที่ปรากฏเรื่องราวของสตรีงามในชื่อของ “นางอัปสรา” (Apsarā) หรือ “นางนายิกา” (Nayika) จากวรรณกรรมปุราณะหลายเล่ม ที่เป็นงานศิลปะรูปหญิงสาวแสดงอารมณ์แห่งความรักที่บริสุทธิ์ “ศฤงคารรส” (Sringara Rasa) แสดงออกด้วยกิริยาท่าทางต่าง ๆ ทั้ง ความเศร้า  ความเหงา ความคิดถึง อวดสวยหาคู่รัก เล่นดนตรีและเต้นรำ ใส่เครื่องประดับ อุ้มเด็กแสดงความเป็นแม่) อีกทั้งยัง “นางโมหิณี” (Mohini) ในคติฝ่ายไวษณพนิกาย หรือรูปศิลปะสาวงามในอารมณ์ “สุรสุนทรี” (Surāsundari) สตรีที่เป็นความงามแห่งสวรรค์  มีเรือนร่างทรวดทรงที่งดงามเกี่ยวข้องกับความยั่วยวนและกระตุ้นกามารมณ์ตามคติตันตระ ในงานศิลปะประดับสถาปัตยกรรมอินเดียหลังพุทธศตวรรษที่ 14 อย่างรูปสลักประดับผนังเทวาลัย “ลักษมันวิศวนาถ” (Lakshmana Temple) ในกลุ่มปราสาทมรดกโลก “ขชุราโห” (Khajurāho Group of Monuments) รัฐมัธยมประเทศ (Madhya Pradesh) ที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ในช่วงที่ราชวงศ์จันเทลละ (Chandela Dynasty) ปกครองอินเดีย ที่ปรากฏรูปสตรีงามอัปสราในอารมณ์สุรสุนทรี  แสดงท่าทางที่แตกต่างกัน ไป 13 แบบ ทั้งถือดอกไม้ ดอกบัว แส้จามร เต้นรำ เล่นกับนกแก้ว อุ้มเด็กแสดงความเป็นมาตริกา (มารดา) รวมทั้งส่องกระจกแต่งความงาม เพื่อแสดงความรักให้กับตนเอง 
สาวงามในอารมณ์รักและเพศจากอินเดียโบราณ ที่ถูกเรียกรวมว่านางอัปสรา คติความหมายของเทวาลัย-ปราสาทบนสรงสวรรค์ที่จะมีเหล่านางฟ้า-เทพิดาแสนงาม และงานศิลปะการประดับเทวาลัยด้วยรูปสตรีที่มีอารมณ์รัก ได้ส่งอิทธิพลจากอินเดียมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยจะปรากฏรูปของนางอัปสรา – นายิกา แสดงศฤงคารรสแห่งความรักที่บริสุทธิ์ ด้วยกิริยาสุรสุนทรีต่าง ๆ เช่นเดียวกับงานศิลปะในอินเดีย อย่างภาพสลักอัปสรานูนต่ำที่พบจากปราสาทนครวัด ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17
-------------------------
คติสาวงามส่องกระจก-ฉันนี่สวยจัง อันเป็นการแสดงความรักสวยรักงามของสตรีสวรรค์ จากอารมณ์แห่งความรัก (ชื่นชมความงามของตนเอง) ในงานศิลปะจากโลกโบราณ ก็ยังคงเป็นที่นิยมของสาวสวยที่มีความรักอยู่ในหัวใจ ที่จะพกพากระจก (หรือใช้โทรศัพท์มือถือแทน) มาจนถึงในทุกวันนี้
เครดิต; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ