“เทพธิดาคู่ (แฝด?)” จากศาลพระกาฬ เมืองละโว้... เธอคือใครกันแน่ ?
รูปประติมากรรมสลักหินปูนรูปสตรี-เทวีคู่ถือดอกบัว ชักรั้งชายผานุ่ง มีแฝงหลังเป็นแผ่นสำหรับการพิงผนังทำเป็นซุ้มเรือนวิมานชิ้นหนึ่ง พบจากศาลพระกาฬ เมืองลพบุรี ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บไว้ที่วังจันทรเกษม ในช่วงที่พระยาโบราณราชธานินท์ (พร เตชะคุปต์) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ประมาณทศวรรษที่ 2440 เขียนป้ายคำอธิบายว่าเป็นรูปของ”พระนางลักษมี” และ “พระมเหศวรี”
รูปเทพธิดาทั้งสอง (ที่อาจเป็นรูปเทวีคู่แฝด ?) เป็นรูปงานศิลปะที่หาได้ยากในงานศิลปะเขมรโบราณ เพราะไม่มีคติ-ปกรณัม(เรื่องเล่า) -ประติมาน ที่สามารถนำมาอธิบายเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนหากรูปสลักนี้ไม่ใช่รูปของพระนางลักษมีและพระมเหศวรี แต่ในภายหลังได้มีคำอธิบายใหม่ (บนป้าย) ว่าเป็นรูปของนางอัปสรา (Apsarā) ถือดอกบัว ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้มาก แต่กระนั้นก็ไม่เคยปรากฏเรื่องราวหรือคติเรื่องนางอัปสราคู่หรือคู่แฝดในวรรณกรรมใด ๆ ที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่ามีความสำคัญถึงขนาดต้องสลักขึ้นมาเป็นรูปคู่ในซุ้มเดียวกัน
ทั้งยังมีรูปประติมากรรมที่ใช้หินปูนจารึกในพื้นที่เมืองลพบุรีที่เป็นหินชนิดเดียวกัน มีอายุการจารข้อความประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 มา “รี-ยูธ” ใช้งานใหม่ สลักเป็นรูปพระพรหม 4 กรในงานศิลปะแบบช่างคนเดียวกัน ถูกย้ายมาจากศาลพระกาฬเช่นเดียวกัน นุ่งผ้าภูษาสมพตขอบบนโค้งไขว้ ชักชายพกหน้าโค้ง อันเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะในช่วงต้น - กลางพุทธศตวรรษที่ 17
เมื่อพิจารณาพร้อมกับรูปพระพรหม รูปสตรีทั้งสองจึงน่าจะเป็นรูปอัปสรา ที่บางปุราณะของฝ่ายฮินดูอธิบายว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างนางอัปสราชั้นสูง (ไทวิกา-Daivakā) ขึ้นมา
ถึงแม้ว่าในคติความเชื่อของอินเดียจะปรากฏเรื่องราวของ “พระนางจามุณฑา” (Chamundā Goddess) และพระนางโชติลา (Chotilā Goddess) เทวีฝาแฝดที่กำเนิดขึ้นจากอำนาจแห่งศักติ (Shakti - Śakti พลังศักดิ์สิทธิ์แห่งเพศหญิง Divine feminine power) ของพระนางปารวตี (บางปุราณะว่ากำเนิดจากศักติแห่งพระนางทุรคา) ที่ปรากฏความนิยมเฉพาะในแคว้นคุชราต เขตอินเดียตะวันตก ที่ถึงอาจจะจับพลัดจับผลู ส่งอิทธิพลความนิยมข้ามเข้ามาถึงเมืองละโว้ แต่รูปศิลปะของเทวีคู่แฝดก็จะถือรูปของ “ตรีศูล” (Trishul -Triśūl) และรูปสิงห์เป็นสัญลักษณ์สำคัญ
รูปสตรีทั้งสองนี้ จึงไม่ควรเป็นเทวีคู่แฝด...ที่มาไกลเหลือเกิน
เมื่อมองหารูปประติมากรรมที่มีลักษณะทางศิลปะใกล้เคียงกัน ก็ได้ไปพบกับรูปสลักในขนบแบบแผนเดียวกันคือเป็นรูปเทพธิดาคู่ ถือดอกบัวในซุ้มเรือนแก้วเดียวกัน นุ่งผ้ากลีบยาวชักชายหน้าทิ้งโค้ง จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองพระตะบอง รวมทั้งยังปรากฏเป็นรูปคู่ประกอบในงานประติมากรรมอีกหลายชิ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นงานศิลปะในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน-วัชรยาน (Mahāyāna - Vajrayāna - Tantric Buddhism) ที่เริ่มปรากฏความนิยมอาณาจักรในอาณาจักรกัมพุชะเทศะ มาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 15
รูปเทวีคู่บนหลักหินหนึ่ง มีเสาตรงกลาง เหนือเสาเป็นรูปพระอมิตาภะพุทธเจ้า (Amitābha Dhyāni Buddha) ปางธยานะมุทรา น่าจะมีอายุทางศิลปะในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 อีกหลักหนึ่งเป็นภาพของเทวีคู่ ยืนขนาบข้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร (Avalokiteśvara Bodhisatava) ใต้รูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะ ศิลปะในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 และอีกหลักหนึ่ง เป็นภาพเทวีถือดอกบัว ขนาบข้างรูปเทวีปรัชญาปารมิตา 4 กร (Prajñāpāramitā) ในซุ้มเรือนแก้วที่มี (การกำเนิด) รูปของพระมานุษิพุทธเจ้า (เปล่งออกมา) บนรูปใบระกา (รัศมีแห่งพระสูตร) ศิลปะในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18
รูปเทวีคู่ในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน-วัชรยานตันตระ ที่ได้รับความนิยมนำมาประกอบในรูปประติกรรมกลุ่ม คือรูป “พระนางตารา” (Tārā) เป็นอิตถีโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์เพศหญิง ที่ถือกำเนิดขึ้นจากพระรัศมีนัยพระเนตรแห่งมหากรุณาของพระอมิตาภะธยานิพุทธเจ้า ในบางวรรณกรรมเล่าว่า พระนางกำเนิดขึ้นจากน้ำพระเนตรที่กรรแสงขององค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่หยดลงมาในหุบเขาจนกลายเป็นทะเลสาบใหญ่ พระนางกำเนิดขึ้นมาจากดอกบัวบริสุทธิ์ในทะเลสาบนั้น จึงทรงถือ “ดอกบัว” (Padma) เป็นสัญลักษณ์ และทรงเป็นศักติ (อิตถีพละ) และชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์อีกด้วย
“ตารา – ดารา” เป็นภาษาสันสกฤต “ตริ” แปลว่า “การข้าม” หมายความถึง “การข้ามผ่านไปสู่การหลุดพ้น" เป็น “พระแม่แห่งการหลุดพ้น” ผู้ที่พาเหล่าสรรพสัตว์ข้ามพ้นวัฏสงสารแห่งการเวียนว่ายตายเกิดและความทุกขเวทนา เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา ผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา ดูแลเหล่าผู้ศรัทธาและปกป้องนักเดินทางจากภัยอันตราย ประทานพรให้พ้นจากความทุกข์ ความกลัว และดลบันดาลให้สำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยเร็ว
รูปนางตาราคู่ที่ได้รับความนิยมอยู่เคียงข้างรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะและรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในงานศิลปะของฝ่ายวัชรยาน อาจเป็น “พระนางศยามตารา – ขทิรวนีตารา” (Samaya Tara) วรรณะกายเขียวแก่ ทรงโปรดสรรพสัตว์ในเวลากลางคืน และพระนางสิตตารา – จินดามณีจักรตารา (Sitatārā) วรรณะขาว โปรดสรรพสัตว์ในเวลากลางวัน ทรงเป็นผู้ประทานความเข้าถึงมนตราธาริณี-พระธรรม ทั้งคู่เป็นพระนางตาราที่เก่าแก่ที่สุดของฝ่ายวัชรยาน
* เทพธิดาคู่ที่พบจากศาลพระกาฬ ศิลปะในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เธอคือใครกันแน่... นางอัปสราถือดอกบัว ในคติฮินดู (ที่เกี่ยวข้องกับพระพรหม) หรือพระนางตาราถือดอกบัว ในคติมหายาน-วัชรยาน ?
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564
เมืองละโว้
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_