วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“พระพุทธรูปปางปฐมเทศนางดงามที่สุดในโลก” พิพิธภัณฑ์แห่งสังฆารามสารนาถ
“พิพิธภัณฑ์แห่งสารนาถ” (Sarnath Museum) เมืองพาราณสี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดเก็บโบราณวัตถุที่ขุดพบจาก “สังฆารามแห่งสารนาถ” (Sarnath Monastery) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (Isipatana Migadava) สถานที่บำเพ็ญพรตของเหล่ามุนีฤๅษี เขตแคว้นกาสี ในสมัยพุทธกาล ทางทิศเหนือของเมืองพาราณสี (Varanasi) รัฐอุตตรประเทศ
ชื่อนามของสารนาถมาจากคำว่า “สารงฺค+นารถ – สารังคนาถ” หมายถึงที่อยู่ของฝูงกวาง ซึ่งในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา สังฆารามสารนาถนี้  ถือเป็น “สังเวชนียสถานแห่งการปฐมเทศนา” เป็นสถานที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมาพบกับ “ปัญญวัคคีย์ทั้ง 5” (Pañcavaggiya) ประกอบด้วย “โกณฑัญญะ” (Kondanna) “วัปปะ” (Vappa) “ภัททิยะ” (Bhaddiya) “มหานามะ” (Mahanama) และ “อัสสชิ” (Assaji) และได้ทรงแสดง “เทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (Dhammacakkappavattana Sutta) จนโกณฑัญญะได้บรรลุธรรม ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก
สังฆารามสารนาถจะถูกทำลายอย่างย่อยยับในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยแม่ทัพอิสลามเตอร์ก นามว่า “กุดบัดดิน ไอบัค (Qutb al-Din Aibak –kutbuddin Aybeg) ได้นำกองทัพกว่า 120,000 คน ของ สุลต่านแห่งราชวงศ์คูริด (Ghurid Dynasty) ที่มีพระนามว่า “โมฮัมหมัด โฆรี-ฆอร์” (Mu'izz ad-Din Muhammad Ghori) เข้ายึดครองและทำลายบ้านเมืองในอินเดียเหนือไปจรดแค้วนพิหาร ได้เผาทำลายวัดวาอารามในพุทธศาสนาและเทวาลัยพราหมณ์ฮินดู เข่นฆ่าผู้คนและพระภิกษุสามเณรล้มตายหลายหมื่นรูป
ในปี พ.ศ. 2377 จึงได้เริ่มมีการขุดค้นซากปรักหักพังของสังฆารามสารนาถที่ถูกทิ้งร้างเป็นป่ารกชัฏโดย “เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม” (Sir Alexander Cunningham) ซึ่งก็ได้มีการรื้ออิฐและแผ่นหินสลักจำนวนมากไปสร้างอาคารในยุคอาณานิคม เขื่อนใหญ่กั้นตลิ่งริมแม่น้ำกว่า 40 จุด เขื่อนและสะพานข้ามแม่น้ำวรุณา (Varuna) และสถานีรถไฟที่พาราณสี ทั้งยังขนย้ายรูปประติมากรรมที่ยังมีสภาพสวยงามไปตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ จนในที่สุด ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala) ผู้ศรัทธาพุทธศาสนาชาวลังกาได้ใช้ความพยายาม ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและนำสังฆารามสารนาถ (รวมทั้งสังเวชนียสถานอีกหลายแห่ง) ที่ได้กลายเป็นป่ารกและสถานที่เลี้ยงสัตว์ของเศรษฐีชาวฮินดูภายหลังการขุดค้นของอังกฤษ กลับคืนมาได้สำเร็จในช่วงปี พ.ศ. 2444
ในปี พ.ศ. 2447 เซอร์จอห์นมาร์แชล (Sir John Marshall) ผู้อำนวยการใหญ่ด้านโบราณวิทยาในอินเดีย  ได้เริ่มโครงการจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่ขุดค้น เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญเปิดใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2453
ห้องด้านหน้าห้องแรกของอาคารจัดแสดง เป็นห้องโถงไฮไลท์สำคัญ แสดงรูปประติมากรรม “เสาอโศก” (Ashoka's Pillar) ชิ้นที่มีความงามและสมบูรณ์ที่สุด เป็นเสาสิงห์ (Lions Capital) แบบจตุรทิศ (หันหน้าไป 4 ทิศ) ในความหมายของการประกาศพระสุรเสียงแห่งธรรมจักรกัปปวัตนสูตรของพระพุทธองค์
“ราชสีห์”(lion) เป็นสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่ของ “ศากยะวงศ์” วงศ์วานแห่งพระพุทธองค์ (หรือแสดงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิอโศกเองด้วย) และยังอาจความหมายถึงอำนาจแห่ง “พระจักรพรรดิแห่งโลกและธรรม” (พระเจ้าอโศก- พระพุทธเจ้า) ที่ดำรงอยู่ทุกหนแห่ง หรือในความเชื่อทางพุทธศาสนาได้อธิบายว่า เสาสลักรูปสิงห์ทั้ง 4 คือสัญลักษณ์ของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่องอาจดุจพญาราชสีห์ และแผ่ไปไกลดุจเสียง “สีหนาท”แห่งราชสีห์
เหนือบัวหัวเสา ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ของ “สระอนวตัปตา- อโนดาต” (Anavatapta) สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่สูงสุดบนสรวงสวรรค์ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 สายใหญ่แห่งโลกอันได้แก่ คงคา ยมุนา พรหมบุตร และสินธุ ที่ปากน้ำแต่ละสายนั้นจะเป็นที่ตั้งของดินแดนสรรพสัตว์ ทั้งสี่ทิศ คือ ดินแดนแห่งราชสีห์ ดินแดนคชสาร ดินแดนม้า และดินแดนแห่งแดนโคอุสภะ สลับรูปของวงล้อมธรรมจักรแบบมีกงซี่ถี่ ในความหมายของการเคลื่อนไปข้างหน้า (ล้อหมุน) ที่มีพลวัต (พลัง)
รูปเสาอโศก จึงแทนความหมายของอำนาจแห่งศากยวงศ์ที่อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลนั่นเอง
ด้านใน อาคารทางปีกซ้ายเป็นห้องจัดแสดงประติมากรรมพุทธศิลป์ในพระพุทธศาสนา ที่พบจากสังฆารามสารนาถแห่งนี้ ซึ่งไฮไลท์สำคัญก็คงเป็นรูปประติมากรรมพระพุทธเจ้าปางแสดงปฐมเทศนา และห้องเครื่องทองที่จัดแสดงอยู่ในห้องด้านหลัง
รูปประติมากรรม “พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา” แห่งสังฆารามสารนาถนี้ ขุดพบที่บริเวณหน้า "พระมูลคันธกุฏี” หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร” (Mulgandha kuti – vihar) ใกล้กับเสาอโศก นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องว่าเป็นพุทธศิลป์ที่มีความงดงามที่สุดของอินเดีย
และก็คงเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดของโลก ไปด้วยโดยปริยาย
พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ แบบขัดสมาธิเพชร “วัชระ-สาสนะ” (เห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง) ปางแสดงปฐมเทศนา แสดงท่ามือ “ธรรมจักรมุทรา” โดยยกพระหัตถ์ขวาขึ้นระดับพระอุระ แสดงวิตรรกะมุทรา  พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้น ชี้ไปยังวงนิ้วโอเคของพระหัตถ์ขวา อันหมายถึงการแสดง (สั่งสอน-เทศนา)ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร  ในศิลปะแบบราชวงศ์คุปตะ ตระกูลช่างสารนาถ อายุการสร้างในราวพุทธศตวรรษที่  10
ด้านข้างและด้านบนหลังพระพุทธรูป สลักเป็นแผ่นหลังประภาวลี (Altarpiece) โดยด้านข้างนั้นสลักเป็นรูปสัตว์เทพผู้ปกป้อง ที่เรียกว่า “ยาลิ” (Yāḻi) แบบตัว “สิงหวยาล” (Simha-Vyala สิงห์มีเขา) และรูป “มกร” ( Makara-มะกะระ สัตว์ผสมแห่งคงคา) ด้านบนเป็นประภามณฑลรูปกลม มีรูปวิทยาธรทั้งสองฝั่งวางตัวแบบสมมาตร
ลักษณะของการสร้างรูปประติมากรรมลอยตัวแบบมีแผ่นหลังนี้ เป็นการทำรูปประติมากรรมเพื่อใช้วางพิง แนบหรือฝังเข้าไปในช่อง-ผนังกำแพง
ด้านล่างเป็นฐานที่มีช่องท้องไม้แสดงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โดยมีรูปธรรมจักรแบบวางหันข้าง (เห็นเป็นสัน) แบ่งตรงกลางภาพ มีรูปกวางอันเป็นสัญลักษณ์ของป่ามฤคทายวัน รูปปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 โดยมีรูปสตรีและเด็ก ที่อาจหมายถึงผู้อุปถัมภ์ – ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา อยู่ทางด้านซ้ายสุดของภาพ
ความงดงามในพุทธศิลป์แบบคุปตะที่สำคัญบนรูปพระพุทธรูปองค์นี้ คือลวดลายก้านเถาและใบขดที่อยู่ในประภามณฑลรูปกลมหลังพระเศียร เป็นลายพรรณพฤกษาที่มีก้านต่อช่อ-ต่อก้าน พลิ้วเป็นวงโค้งขึ้นลงไปตามแนวกลม ด้านข้างของเส้นก้านนำ จะแตกเป็น กนกใบม้วนสลับกับดอกไม้บาน มีลักษณะแบบแผนเดียวกับแผ่นหินสลักลวดลายประดับสถูป “ธรรมเมกขสถูป” (Dhamekh Stupa) พระเจดีย์ใหญ่ ประธานแห่งสังฆารามสารนาถ อันเป็นลวดลายสำคัญของยุคสมัยศิลปะคุปตะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 
ลวดลายเถาของพระสถูปนั้นจะเน้นไปที่ลายดอกบัว ในขณะลวดลายที่แผ่นหลังพระพุทธรูปเน้นไปที่ลายดอกไม้บานแบบดอกทานตะวัน แต่ทั้งสองก็ยังคงลักษณ์ของใบไม้ประกอบเป็นก้านต่อช่อก่านต่อก้านใหม่เลื้อยออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีใบม้วนขดผลิใบและผลิดอกออกด้านข้างแบบเดียวกัน ในความหมายของความอุดมสมบูรณ์ ขนาบข้างด้วยลายลูกปัดอัญมณี โดยขอบนอกสุดเป็นรูปแฉกโค้งแหลมในความหมายของประภารัศมี
*** ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า พระพุทธรูปและพระสถูปนั้น ถูกสร้างขึ้นในช่วงยุคสมัยเดียวกันครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ