วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

ปูทองรู้คุณ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

พระพุทธเจ้าเล่าเรื่อง “ปูทองรู้คุณ - สุวรรณกักกฏกชาดก” 
“การกระทำความดี ย่อมได้รับผลตอบแทนในความดีอยู่เสมอ....”
ครั้งหนึ่งพระมหาโพธิสัตว์ ลงไปเกิดในตระกูลกาสิกพราหมณ์ที่กรุงราชคฤห์ มีชื่อว่า “พราหมณ์ศรินทิยะ” (Sālindiya) ดวงตาของพราหมณ์ปรากฏเป็นวงกลม 3 ชั้น ใสแจ๋ว สามารถให้มองเห็นอะไรได้ชัดเจนกว่าผู้อื่น ในวันหนึ่งระหว่างทางที่พราหมณ์ได้ออกไปยังหนองน้ำใหญ่ปลายนา ได้พบปูตัวหนึ่ง มีชื่อว่า“อัสทะบาท” มีสีทอง กำลังกระหายน้ำใกล้จะตาย พราหมณ์จึงนำผ้ามาห่อปูทองมายังแม่น้ำ แล้วปล่อยให้ปูทองว่ายน้ำไป  พราหมณ์มีความสุขที่ได้ช่วยปูทองให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน
ทุกครั้งที่พราหมณ์มายังหนองน้ำ ก็จะพบปูทองอัสทะบาทที่เติบใหญ่ขึ้นอยู่เสมอ จนเกิดเป็นความคุ้นเคยระหว่างกัน    
ใกล้กับหนองน้ำนั้น มีกาผัวเมียอยู่คู่หนึ่งอาศัยอยู่บนต้นตาลใหญ่ นางกาเกิดแพ้ท้อง อยากกินดวงตาพราหมณ์ จึงได้อ้อนวอนขอให้พ่อกาช่วยคิดแผนการร้าย โดยจะไปขอให้งูเห่าที่อาศัยอยู่ในจอมปลวกใต้ต้นตาลเดียวกันไปกัดพราหมณ์ แล้วค่อยไปจิกควักลูกตามากิน
ทุกวัน กาทั้งสองจึงไปเอาอกเอาใจงูเห่า หาอาหารมาให้กินเป็นประจำ จนถึงวันหนึ่งจึงเอ่ยปากขอร้องไหว้วาน   ทวงบุญคุณกับงูเห่า ขอให้งูเห่าไปกัดพราหมณ์
"...เจ้าจะได้กินเนื้ออร่อยของเขา  แต่ดวงตาของเขาเป็นของฉันนะ...” นางกากล่าว
"....มันเป็นการแบ่งผลประโยชน์ที่ดีนะอีกา เอาล่ะ ฉันจะเลื้อยไปกัดเขาให้ตายเสียก่อน...เดี๋ยวนี้ "
งูเห่าเลื้อยออกมาโพรงแล้วเข้ามากัดพราหมณ์จนล้มลงนอนร้องครวญครางจนแน่นิ่งอยู่กับพื้น ปูทองอัสทะบาท รีบขึ้นมาจากแม่น้ำ แล้วกล่าวว่า "...พวกเจ้ายังกินเขาไม่ได้นะ...”
ปูทองให้ข้อเสนอกับพ่อกากับงูเห่าว่า “...ข้านั้นมีเวทมนตร์ที่จะทำให้คอของพวกเจ้ายาวขึ้น ช่วยให้เจ้าเพลิดเพลินกับการกินลูกตาและเนื้อของเขา มันจะอร่อยมากกว่าหลายเท่านัก หากเมื่อพวกเจ้าได้ลิ้มลองรสชาติไว้เป็นเวลายาวนานด้วยคออันยาว....”
ทั้งงูเห่าและกาตกลง จึงยื่นคอให้ยาวเข้ามาเพื่อรับเวทมนตร์ ปูทองอัสทะบาทจึงใช้จังหวะ บีบก้ามอันแข็งแรงหนีบคอทั้งกาและงูเห่าเอาไว้ แล้วกล่าวว่า
“....เจ้างูร้าย พราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้มีพระคุณช่วยชีวิตข้าไว้ในอดีต เจ้าต้องช่วยให้เขาฟื้นกลับขึ้นมา ไม่เช่นนั้นข้าจะหนีบคอเจ้าทั้งคู่ให้ขาด.....”
งูเห่าและอีกาไม่ยอม จึงพยายามล่อลวงให้ปูทองปล่อยพวกตนก่อน จึงตอบว่า “.....ได้ซิ งั้นข้าจะช่วยดูดพิษออกจากพราหมณ์ให้ แต่เจ้าจะต้องปล่อยก้ามที่หนีบพวกข้าไว้เสียก่อนที่พิษร้ายจะเข้าสู่ร่างกายเขามากกว่านี้ ไม่งั้นเราคงช่วยอะไรเจ้าไม่ได้นะ....”
“....ใช่แล้วเจ้าปู ได้ยินแล้วก็รีบปล่อยพวกเราซิ....” อีกากล่าวสำทับ 
แต่ปูทองมิได้หลงในเล่ห์กล “....ข้าไม่เชื่อพวกเจ้าหรอก ข้าจะปล่อยพวกเจ้าไปก็ต่อเมื่อพราหมณ์ฟื้นคืนขึ้นมาแล้วเท่านั้น เร็วเข้า เจ้างู เจ้าจงรีบดูดพิษออกเดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นข้าก็จะหนีบคอพวกเจ้าให้ขาดกระเด็นตายตามกันไปเลย...”
ปูทองคลายก้ามที่บีบออกเล็กน้อยเพื่อให้งูเห่าสามารถเข้าไปดูดพิษคืน จนพราหมณ์ฟื้นขึ้น ได้สติคืนมา 
“...เราช่วยให้พราหมณ์ฟื้นขึ้นแล้ว เจ้าจงปล่อยพวกข้าได้แล้ว....” งูเห่ากล่าว “.....ใช่ ปล่อยเราได้แล้ว เจ็บจะตายอยู่หนีบซะแรงเลย....” อีกากล่าวสำทับ
แต่ปูทองกลับกล่าวว่า “....หากปล่อยพวกเจ้าไป ก็โง่น่ะสิ สัตว์เดรัจฉานที่คิดการร้ายอย่างพวกเจ้านั้น หากปล่อยไป ก็คงจะคิดกระทำการชั่วร้ายอีก.....” ว่าแล้วปูทองก็ได้ออกแรงบีบก้ามสุดแรง จนคอของสัตว์ทั้งสองขาดกระเด็น สิ้นชีวิตไปทั้งคู่
ฝ่ายนางกาที่อยากกินลูกตาพราหมณ์  ก็ได้รีบบินหนีไป ไม่กลับมาอีกเลย
พราหมณ์เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงขอบคุณปูทองที่ได้ช่วยชีวิตตนเอาไว้ ปูทองอัสทะบาทจึงกล่าวแก่พราหมณ์ศรินทิยะว่า
"...ท่านเคยได้ช่วยชีวิตข้าเอาไว้ในครั้งก่อน คราวนี้เราขอตอบแทนด้วยการช่วยชีวิตท่าน ..."
---------------------------------
*** เรื่องราวชาดก (jātaka Story) หรือเรื่องเล่าพระโพธิสัตว์ เรื่อง “สุวรรณกักกฏกชาดก” (Suvaṇṇakakkaṭa Jātaka) อยู่ในชาดก 550 เรื่อง “ชาตกอรรถวรรณา” (Jātakatthavaṇṇanā) หรือ “อรรถกถาชาตก” (Jātakaṭṭhakathā) ภาษาบาลีของฝ่ายนิกายเถรวาท  ปรากฏรูปศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบนเสารั้วเวทิกาหินทรายแดงของสถูปภารหุต (Bharhut stupa) ศิลปะแบบราชวงศ์ศุงคะ อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 4 ปัจจุบันจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงนิวเดลลี (ชิ้นส่วนหินประกอบของสถูปแทบทั้งหมด ถูกย้ายไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์อินเดียน ที่เมืองกัลกัตตา (Indian Museum – Calcutta)
อิทธิพลในคติและเรื่องราวชาดกพระโพธิสัตว์แบบเถรวาทจากอินเดียและลังกา คงได้แพร่หลายเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียง มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 แล้ว ดังปรากฏเป็นภาพปูนปั้นชาดกหลายเรื่องที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม  แต่เรื่อง “สุวรรณกักกฏกชาดก” ยังไม่พบในเขตวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง แต่ไปปรากฏภาพสลักบนใบเสมาหินทรายหลักหนึ่ง ที่วัดโนนศิลาอาสน์ บ้านหนองกาลืม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 
ภาพศิลปะของชาดกเรื่องปูทองรู้คุณที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก คือภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงของราวบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ ของ “วิหารจันทิเมนดุต” (Chandi Mendut Vihara) ศิลปะแบบราชวงศ์ไศเลนทร์ อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14 บนเกาะชวากลางครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น