วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

หลวงพ่อมงคลบพิตร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

หลวงพ่อมงคลบพิตร พระพุทธรูปกลางศึกสงคราม
ในสยามนี้มีเรื่องเล่าตอนที่ 267
โดย ดร.สุวิจักขณ์ ภานุสรณ์ฐากูร
     ผมเป็นคนที่มักมีเหตุการณ์เดจาวู เกิดขึ้นบ่อยๆ บางที เกิดกับตัวบุคคล บางที เกิดในสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งเห็นบุคคลท่านหนึ่ง ความรู้สึกของตนเอง บอกว่าเคยพบกันมาก่อน แต่ก็จำไม่ได้ว่าเคยพบกันที่ไหน
     ในทางกลับกันบุคคลที่ผมมีความรู้สึกเช่นนั้น ผมเคยถามพวกเขาเหล่านั้นอยู่เหมือนกัน ว่าเคยเห็นผมมาก่อนหรือเปล่า เคยรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ มักได้รับคำตอบว่า เหมือนจะรู้จัก แต่จำไม่ได้เหมือนกันว่าที่ไหนเมื่อไหร่
เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นบ่อย ตอนที่ผมเป็นพระ และได้เดินทาง ไปอยู่ที่จังหวัดอยุธยา
     ก่อนหน้าที่จะบวช และใช้ชีวิตเป็นพระอยู่ป่ามา 3 ปี ผมเขียนนิยายไว้เรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า "ฐีติภูตัง" ซึ่งแปลว่าฐานที่มั่นแห่งจิต
     ในเรื่องนั้น เกี่ยวกับการระลึกชาติได้ ของผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นทหาร ในช่วงของการเสียกรุงครั้งที่ 2
     และฉากไฮไลท์ที่สำคัญของเรื่อง เกิดขึ้น หน้าวัดมงคลบพิตร ...

     ขุนทหารกระชับดาบในมืออีกครั้ง ก่อนสุดลมหายใจลึก เลือดในกายแผ่ซ่านไปด้วยความรักชาติ
     " หากข้าต้องตายในวันนี้ ข้าจะตายอยู่ที่นี่ หน้าองค์หลวงพ่อ" ขุนไกรราชภักดิ์ ถอดถอนลมหายใจอีกครั้ง
     " ภายใต้มหาเศวตฉัตร บัลลังก์อยุธยา ขุนศึกอย่างข้า สะท้านใจอย่างที่สุดก็ครั้งนี้"....
     ภาพในอดีต วิ่งย้อนกลับมาในมโนสำนึก ขุนทหารบวชที่นี่ ชีวิตเหมือนเกิดขึ้น และเริ่มต้นใหม่ที่นี่ ถัดจากภาพของพระภิกษุในวันวาน เปลี่ยนมาเป็นภาพขุนศึกในวันนี้...
     "จงรับไป มันทำจากเหล็กน้ำดี ตีขึ้นด้วยช่างเหล็กฝีมือเยี่ยมที่สุดในอโยธยา หากเจ้าไม่เคยเห็นว่า เหล็กมันจะตัดเหล็กได้อย่างไร สิ่งที่อยู่ตรงหน้านี่แหละจะทำให้เจ้าได้ประจักษ์"
     ขุนทหาร พนมมือเข้าน้อมรับ ศาสตราวุธ จากองค์หลวงพ่อ
     " ดาบคู่นี้มีชื่อว่า ดาบคู่แสนพลพ่าย สักวันเจ้าจะได้ใช้มัน เหมือนอย่างที่เจ้าของเดิมของมัน สืบทอดกันมา ตั้งแต่ต้นกรุง"
     ขุนศึกสัมผัสได้ถึง พลังบางอย่าง ซึ่งแผนซ่าน จากดาบคู่นั้น
     "โดยแท้จริงแล้ว ผู้เป็นนาย ไม่มีโอกาสได้เลือกดาบ ดาบต่างหาก เป็นผู้เลือกเจ้านายของมันเอง"
     "ปัง ปัง"  เสียงปืนใหญ่ ฉุดให้สำนึกกลับคืนสู่ปัจจุบัน
     " ไอ้ชาติชั่ว พวกกู เคยบุกไปรุกรานมึงรือ" ตวาดพลางแหงนหน้าขึ้นมอง องค์พระพุทธรูปสูงใหญ่อีกครั้ง
     " หัวใจของข้า ฝากไว้ตรงนี้นะหลวงพ่อ" พูดเสร็จ เดินอย่างทรนงองอาจ ไปยังหน้าประตูวิหาร
     ขุนทหารหรี่สายตา คิ้วขมวด ไม่ว่าอาการของสีหน้าจะเป็นอย่างไร หากแต่หัวใจ ไม่เคยสะทกสะท้าน ต่อให้พวกมันมากันมืดฟ้ามัวดิน และต่อให้ไม่เหลือใครสักคนในที่ตรงนี้...
     ขุนทหารรู้ว่า วันนี้ชีวิตดำเนินมาจนถึงที่สุดแล้ว บางคนเกิดมาแล้วตายไปอย่างไรเกียรติ แต่วันนี้ แผ่นดิน กำลังจะมอบเกียรติสูงสุดให้กับเขาแล้ว...
     "ข้าจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย ขอพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองรับรู้ หากข้าต้องตาย จะเป็นผีเฝ้าที่นี่ เพื่อปกป้องให้อยุธยาอยู่ยั้งยืนยง" คำพูดประโยคสุดท้ายของขุนศึก ก่อนวิ่งเข้าโรมรันประจันบาน ศัตรูนับร้อยตรงหน้า....

     ครับทั้งหมดคือ ความรู้สึกของผม ในการเขียนบทประพันธ์ อ้างอิงเอาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ผนวกร้อยเรียน กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อมงคลบพิตร พระพุทธรูป ที่ผมเห็นครั้งแรก เมื่อหลายปีที่แล้ว ก็ให้สะท้านในหัวใจ 
     ประวัติของหลวงพ่อมงคลบพิตรนั้น เล่ากันว่า น่าจะสร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา คือในระหว่างปีค.ศ 1991 ถึงประมาณ ปีพ.ศ 2145 สันนิษฐานเช่นนั้น เพราะลักษณะ พระพักตร์ขององค์หลวงพ่อ มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับศิลปะสุโขทัย
     ช่วง Timeline ของอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยานั้น มีความต่อเนื่อง ไม่ได้สูญหาย ดังนั้นแล้ว โดยวัฒนธรรมก็ดี โดยความรู้ ศิลปะวิชาการต่าง ๆ ก็ดี ย่อมเกิดการถ่ายทอด จากอาณาจักรหนึ่งสู่อีกอาณาจักรหนึ่ง โดยไร้รอยต่อของกาลเวลา
     นอกจากนั้น ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการย้ายองค์หลวงพ่อ จากทางด้านตะวันออก ของพระราชวังยังด้านตะวันตก ซึ่งคือที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน โดย พระเจ้าทรงธรรม ในปีพ.ศ 2146 ด้วย
     ต่อมาในสมัยของพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 พูดอย่างนี้หลายท่านอาจจะงงว่าเป็นท่านไหน เฉลยเลยล่ะกันครับ พระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 ก็คือพระเจ้าเสือ 
     คราวนี้พอพูดถึงพระเจ้าเสือ ก็น่าจะรู้จักกันแล้วนะครับ อาจจะมีคำถามรัวๆมาอีกว่าพระเจ้าเสือคือโอรสของใคร พระเจ้าเสือ เป็นโอรสในทางเปิดเผย ของพระเพทราชา แต่เป็นโอรสในทางลับ ของพระนารายณ์มหาราช คือต้องบอกว่า เราจะพูดกันในมุมไหน
     ทางด้านของประวัติศาสตร์ ว่ากันมาเช่นนี้ ก็เอาเท่าที่เรามีข้อมูลครับ คำว่าโอรสลับนั้น หมายถึงเป็นโอรสที่ ไม่ได้ถูก เลี้ยงอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งอาจมีเหตุผลบางอย่างทำให้เป็นเช่นนั้น
     มาต่อเรื่องของหลวงพ่อครับ ได้เกิด ฟ้าผ่ามาต้องมณฑป ทำให้ มณฑปพังลงมา เป็นเหตุให้ พระซอองค์หลวงพ่อชำรุด พระเจ้าเสือจึงโปรดเกล้าให้ ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ต่อมาในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และทรงโปรดเกล้าให้เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ เป็นแม่กลอง ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ได้ทำการรื้อเปลี่ยนหลังคา จนมีรูปทรงเหมือนในปัจจุบัน
     พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้น พระองค์คือโอรสของใคร พระองค์คือโอรสของพระเจ้าเสือ พระองค์มีพระเชษฐาเป็นพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน มีนามว่าพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งครองราชย์ก่อน
     ส่วนเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ คือโอรสองค์โต เคยได้รับตำแหน่งเป็นมหาอุปราชวังหน้า ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในเชิงช่าง อีกทั้งทางด้านของศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชิงชั้นแห่งอักษรภาษา กล่าวก็คือเป็นกวีนั่นเอง
     มาลองฟังดูสักบทไหมครับเดี๋ยวจะด้นสดให้ฟัง บทกลอนต่อไปนี้ แต่งโดยเจ้าฟ้ากุ้งธรรมธิเบศร
.....ปางพี่มาดหมายสมานสุมาลย์สมร
ดั่งหมายดวงหมายเดือนดารากร
อันลอยพื้นอัมพรโพยมพราย
แม้พี่เหินเดินได้ในเวหาสน์
ถึงจะมาตร์ก็ไม่เสียซึ่งแรงหวัง
มิได้ชมก็พอได้นำเนินชาย
เมียงมาดหมายรัศมีพิมานมอง.....
     เรื่องของเจ้าฟ้ากุ้งธรรมาธิเบศ อาจจะให้ลงลึกในรายละเอียด เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ดังนั้นแล้วจึงขอเป็นโอกาสต่อไป นะครับ
     ต่อมาในปีพ.ศ 2474 พระยาโบราณราชธานินทร์ พระยาท่านนี้นับว่ามีอายุยืนจริง ๆ เพราะผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นผ่านที่อยุธยา และพระยาโบราณราชธานินทร์นั้น ก็เป็นผู้ให้การรับเสด็จเป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นเจ้าเมืองของอยุธยานั้นเอง
     คิดดูว่า ผ่านมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 7 ทั้ง ๆ ที่เจ้าพระยาท่านนี้ก็มีอายุมากแล้วในขณะที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นที่อยุธยา    
     เรื่องมีอยู่ว่า ท่านเจ้าพระยานั้นต้องการจะบูรณปฏิสังขรณ์ องค์หลวงพ่อมงคลบพิตร ซึ่งเมื่อคราวเสียกรุงนั้น ถูกพม่าข้าศึกทำลายแตกหักเสียหายเป็นอย่างมาก
     แต่ทางรัฐบาล กลับไม่อนุญาตให้มีการ บูรณะ เรื่องนั้นถูกตีตกไป ต่อมาในปีพ.ศ 2499 ได้เริ่มที่จะทำการบูรณะ จนกระทั่งในปีพ.ศ 2500 กรมศิลปากร จึงเข้ารับหน้าที่ซ่อมแซม
     ซึ่งในเวลานั้น ได้พบพระขนาดเล็ก ที่บรรจุไว้ในพระอุระด้านขวาของหลวงพ่อมงคลบพิตรเป็นจำนวนมาก
ทางกรมศิลปากรได้นำออกมาแล้วเก็บเอาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจันทรเกษม
     แปลกแต่จริงเรื่องหนึ่ง ในคราวที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่เมื่อหลายปีมาแล้วเงินไม่พอ ก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจากไหน ในขณะนั้นเอง นายอูนุ นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าในขณะนั้นได้บริจาคเงินจำนวน 200,000 บาทร่วมกับฝ่ายรัฐบาลไทยอีก 250,000 บาท
ทำการบูรณะ จนแล้วเสร็จ
     เรียนทราบว่าในความคิดของผม ตอนที่พม่าเข้ามา ตีกรุงศรีอยุธยาจนสามารถบุกเข้ามาถึงในเขตพระราชฐานและวัดหลวงพ่อมงคลบพิตร  
     ซึ่งเล่ากันว่า ถูกพม่าทำลาย ให้แตกหักเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณพระเมาฬี และพระกรด้านขวานั้นเสียหายเป็นอย่างมาก
     การที่นายกรัฐมนตรี ของพม่าได้มาบริจาคเงิน ช่วยการบูรณปฏิสังขรณ์ ผมซึ้งในน้ำใจอยู่ จริง ๆ เหมือนกับว่า บรรพบุรุษของพวกเขาได้มาทำร้ายองค์หลวงพ่อเอาไว้ ตัวของเขาได้มีโอกาส มาบูรณะปฏิสังขรณ์ คืน
     ข้อมูลขององค์หลวงพ่อนะครับ ชื่อเต็มว่า พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูป มีความกว้างหน้าต่าง 9 เมตร 55 เซนติเมตร สูง 12 เมตร 45 เซนติเมตร ทั้งนี้ไม่รวมฐานบัว วัสดุที่ใช้ก่อสร้างนั้น เป็นอิฐแกนกลางและบุด้วยทองสำริดห่อหุ้มทอง นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย
     ขอบคุณครับที่ติดตามผลงาน หากเห็นว่ามีประโยชน์ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
เครดิต; FB ต้นสาระ
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ