วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

หลวงพ่อดำอู่ทอง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอู่ทอง กับธรรมจักรตั้งสันตรง ศิลปะจากยุคกุษาณะ คุปตะ-วากาฏกะ 
ในห้องจัดแสดงธรรมสตัมภะ (ตั้งเสา) ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ด้านหน้าของรูปประติมากรรมธรรมจักร มีแท่งหินใหญ่สลักเป็นโกลนพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ดูจะไม่มีความงดงามในเชิงศิลปะ จึงไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจมากนัก
แท่นหินสลักร่างโกลนพระพุทธรูปปางสมาธินั้น คือ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รับรู้กันสำหรับผู้คนอู่ทองในอดีตมากว่า 50 – 60 ปีที่แล้ว
หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธโบราณคู่วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม สลักขึ้นจากหินในท้องถิ่นประเภทหินแปร (Metamorphic rock) ที่เรียกว่า “หินแคลซิลิเกต” (Calc-silicate) ซึ่งเป็นชั้นหินด้านบนสุดของเทือกเขาในเขตอำเภออู่ทอง ลักษณะเป็นการสลักเจาะเข้าไปในแผ่นหน้าหิน ส่วนที่ไม่ได้เจาะจึงกลายเป็นแผ่นหลัง สลักเป็นรูปร่างโกลนพระพุทธรูปปางสมาธิ  พื้นผิวหินแตกกะเทาะสึกกร่อนเพราะตากแดดตากฝนมาเป็นเวลายาวนาน มีร่องรอยของการปูนปั้นฉาบผิวลงรักปิดทองตกแต่งเป็นพระพุทธรูปโดยสมบูรณ์  แต่ก็กะเทาะออกจนหมด มีรอยคราบรักให้เห็นอยู่บ้าง
แต่เดิมนั้น หลวงพ่อดำจะตั้งอยู่ที่หน้าถ้ำบริเวณด้านล่างของหน้าเขาพระ ที่มีพระพุทธรูปสลักหินอีกหลายชิ้น อยู่ในถ้ำในบริเวณใกล้เคียงกัน ชาวบ้านในสมัยก่อนเลยเรียกนามวัดนี้ว่า “วัดเขาพระ” ตามที่พบเห็นพระโบราณจำนวนมากที่หน้าเขาและในถ้ำ
เล่ากันว่าในสมัยก่อนนั้น วัดเขาพระนั้นอยู่ในสภาพรกร้างไม่ได้มีการสร้างอาคารถาวรวัตถุอย่างในปัจจุบัน ในราวปี พ.ศ. 2464 พระครูสัทธานุสารีหรือหลวงปู่เปี้ยน ได้เดินทางจากวัดโพธาราม (วัดจรเข้)  นำสาธุชนขึ้นมาตั้งสำนักสงฆ์ เห็นพระพระพุทธรูปหินบนถ้ำชั้นบน ที่เล่าว่าเดิมเป็นพระนอนแบบศิลปะทวารวดีแต่ถูกน้ำฝนกัดกร่อนจนแตกกะเทาะออกเป็นสามชิ้นใหญ่ จึงได้รวบรวมแรงงานและปัจจัยทำการบูรณะพระพุทธไสยาสน์โบราณโดยสร้างเป็นพระนอนก่ออิฐถือปูนอิงผนังถ้ำตามแบบวัดป่าโมก ขึ้นครอบซากพระนอนแบบทวารวดีเดิมไว้ ปลายพระกรรณและยอดพระรัศมีหรือโลกุตตระสลักขึ้นจากไม้ จนแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ. 2465 ถวายพระนามว่า “หลวงพ่อสังฆ์ศรีสรรเพชญ์”
ซึ่งลักษณะของการประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ไว้ในถ้ำเขาพระ โดยแกะสลักขึ้นจากหินภายในถ้ำเองนั้น เหมือนกับคติแบบแผนของ “วิหาร-เจติยะถ้ำ” ทางพุทธศาสนา อย่างหมู่ถ้ำอชันต้า- เอลโลร่า ในรัฐมหาราษฎร์ และที่หมู่ถ้ำเขางู จังหวัดราชบุรี ที่มีการดัดแปลงถ้ำด้วยงานศิลปะในคติความเชื่อทางพุทธศาสนา  จำหลักรูปหรือการแกะโกลนผนังหินแล้วใช้ปูนปั้นประดับทับ อาจเคยมีการนำรูปเคารพเช่น ธรรมจักร พระพุทธรูปเข้ามาประดิษฐานไว้ตามจุดต่าง ๆ ของเทือกเขาและภายในถ้ำ เพื่อการ “สมมุติ” ทำ (อภิเษก) ให้ถ้ำและปริมณฑลใกล้เคียงกันนั้นกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการจาริกแสวงบุญไปสู่ “สังเวชนียสถานสมมุติ” (ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน) วิหารถ้ำจึงได้กลายเป็น “เจติยสถาน” (Chaitya Hall) สถานที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ในดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากสังเวชนียสถานอันแท้จริงในอินเดียเหนือ
หลักฐานของวิหารถ้ำที่เขาพระคงได้ถูกเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลง ทำลายและสูญหายไปตามกาลเวลา แต่หากได้ย้อนกลับมาพิจารณาร่องรอยบางอย่างที่เป็นเรื่องราวภาพสลักบนแท่งหินหลวงพ่อดำ จะพบว่า ส่วนล่างของแท่งหินนั้น ตรงกลางแกะสลักเป็นรูปธรรมจักรตั้งเป็นแบบขวางจนมองเห็นเป็นสันตรง รูปทรงเหมือนเม็ดข้าว มีดุมล้ออยู่ด้านข้าง มีกวางหมอบเหลียวหลังทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นภาพสลักที่แสดงความหมายถึงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นเรื่องราว “ปฐมเทศนา” แบบพิเศษ ซึ่งในประเทศไทยจะพบได้เพียงที่หลวงพ่อดำองค์นี้เพียงองค์เดียวเท่านั้น
การวางธรรมจักรแบบหันด้านข้างประกอบรูปกวางหมอบตามคติปฐมเทศนา จะพบเห็นได้น้อยมากในงานพุทธศิลป์โบราณทั่วโลกปรากฏครั้งแรก ๆ  ในงานศิลปะมถุรา ยุคพระเจ้ากนิษกะ ราชวงศ์กุษาณะ  ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 7 และปรากฏชัดเจนที่พระพุทธรูปปางเทศนาธรรม–ปฐมเทศนา สลักหินทรายที่พบจากวัดสารนาถ เมืองพาราณาสี สังเวชนียสถานของการปฐมเทศนา ซึ่งเป็นงานศิลปะระดับเอกอุในยุคราชวงศ์คุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่  10 และพระพุทธรูปประธานในถ้ำเจติยะ-วิหาร ของหมู่ถ้ำอชันต้า ศิลปะแบบราชวงศ์วากาฏกะ ที่มีอายุการสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11  ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสองแสดงธรรมจักรมุทรา ในพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ในคติมหายาน
หลวงพ่อดำและพระนอน (?) ที่เคยมีอยู่ที่หน้าเขาพระ ได้แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความพยายามของผู้คนในยุคพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ที่พยายามจะสร้างวิหารถ้ำ-เจติยสถาน ตามความนิยมในยุคราชวงศ์คุปตะ-วากกาฏกะ สร้าง “สังเวชนียสถาน-สมมุติ” ตามแบบแผนวิถีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา  ขึ้นในดินแดนใหม่ที่โพ้นทะเลแห่งนี้
--------------------------------------------------
*** หลวงพ่อดำ ตั้งอยู่หน้าถ้ำมาเป็นเวลายาวนาน จนในปี พ.ศ. 2510 – 2512  กรมศิลปากรจึงได้ทำหนังสือมาขอยืมองค์หลวงพ่อดำจากวัดเขาพระเพื่อไปจัดแสดง แต่ไม่ได้ส่งกลับคืนมาจนถึงในทุกวันนี้ ด้วยคงเพราะเป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ เพียงองค์เดียวที่พบในประเทศไทย
แต่เรื่องราวของวิหารถ้ำ สังเวชนียสถานและความสำคัญของหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอู่ทอง เหล่านี้ กำลังถูกลืมเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนแล้วครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ