“พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี” ปรางค์ไทยงาเนียม ในยุคพระบรมไตรโลกนาถ
ข้อความใน จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ พบจากบริเวณช่องเขาพังเหย ในตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ระบุปีจารึกว่าอยู่ “...ในปีกุนนักษัตร 11 ค่ำ เดือนสิบสอง” ได้กล่าวถึงพระนาม “สมเด็จพระอินทรามหาบรมจักรพรรดิธรรมิกราช” ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเป็นแม่ทัพใหญ่ นำกองทัพไปตีเมืองพิมาย พนมรุ้งและเมืองในกัมพูชา
ภาษาและเนื้อความของจารึก สอดรับเวลากับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การตีเมืองพระนครศรียโสธระปุระในปี พ.ศ. 1974 ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 1986 อยุทธยายังได้ส่งกองทัพใหญ่เข้าไปปราบกบฏเจ้าพระยาญาติ (เจ้ายาด–เจ้าพญาคามยาต) ที่ เมืองจัตุมุขอีกครั้ง ซึ่งในการพระราชสงครามกับฝ่ายกัมพูชาธิบดีในช่วงรัชสมัยของเจ้าสามพระยานี้ อาณาจักรอยุทธยาได้กวาดต้อนเชลยศึกกลับมาเป็นจำนวนนับแสนคน ทั้งพระญาติพระวงศ์ ชนชั้นผู้ปกครอง ไพร่ทาส สมณะ พราหมณ์ ซึ่งก็รวมถึงช่างฝีมือในงานศิลปะแขนงต่าง ๆ กลับมายังอาณาจักรเป็นจำนวนมาก
พระนาม “สมเด็จพระอินทรามหาบรมจักรพรรดิธรรมิกราช” ในจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ จึงควรเป็นพระนามหนึ่งของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ในเหตุการณ์ยกกองทัพไปตีเมืองพระนครหลวงในช่วงปี พ.ศ. 1974 และ พ.ศ. 1986
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ราชสำนักอยุทธยา หันมานิยมงานสถาปัตยกรรมการก่อสร้างเจดีย์ทรงปราสาทเขมร หรือ “พระปรางค์” ตามรูปแบบปรางค์เขมร-ละโว้ จากอิทธิพลของช่างฝีมือ ช่างงานศิลปะและช่างก่อสร้างจากละโว้และเชลยเขมรเมืองพระนคร เกิดการสร้างพระปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะที่กรุงศรีอยุธยาและปรางค์วัดจุฬารมณี ที่เมืองสองแคว ด้วยหินศิลาแลง-มีตรีมุข ตามแบบสถาปัตยกรรมของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุลพบุรี แต่งานก่อสร้างทั้งที่วัดราชบูรณะและวัดจุฬามณีก็ไม่แล้วเสร็จ คงหยุดการก่อศิลาแลงและงานปูนปั้นประดับไว้แต่ส่วนเรือนธาตุ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นพระราชโอรส จึงโปรดฯ ให้ต่อส่วนยอดของพระปรางค์ด้วยโครงสร้างก่ออิฐ เปลี่ยนยอดปรางค์มาเป็นทรง “งาเนียม” ที่เรียวสูงขึ้น มีการปรับจำนวนชั้นและการจัดเรียงบัวกาบขนุน (กลีบขนุน) ให้กระชับเข้ามาชิดกันตามจำนวนมุมที่เพิ่มขึ้น แทนการสร้างเป็นรูปทรงศิขระซ้อนชั้นวิมานจำลองตามแบบปรางค์เขมร-ละโว้เดิม
“ปรางค์-ไทย ทรงงาเนียม” จึงเป็นความนิยมของราชสำนักสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจ-จักพรรดิราชของพระองค์ ภายหลังที่สามารถผนวกรัฐสุโขทัย (ที่ต้องทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนายาวนานกว่า 10 ปี) รวมกับรัฐละโว้และสุพรรณภูมิของพระราชบิดา มาเป็น “อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา” ที่มีการจัดระเบียบการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นแบบแผนเดียวกัน ขึ้นตรงต่อราชสำนักเดียวที่กรุงศรีอยุธยาอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก มีการสร้างพระปรางค์ทรงงาเนียม ชุดฐานชะลูดสูงไม่มีตรีมุข ขึ้นในหลายหัวเมืองสำคัญ ทั้งเมืองเชลียง เมืองพิษณุโลก เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี (?)
เป็นครั้งแรก รวมทั้งที่เมืองสุพรรณบุรี-นครอินทร์ ศูนย์กลางรัฐสุพรรณภูมิเดิมที่พระราชบิดา (เจ้าสามพระยา) เคยปกครองอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์ที่อยุทธยา
-----------------------------------------------
*** เจดีย์ประธานองค์เดิมของวัดมหาธาตุสุพรรณบุรีนั้นอาจเคยมีรูปทรงชะลูดสูงใหญ่ ฐานเรือนสี่เหลี่ยมแบบปราสาท ซ้อนชั้นด้วย เรือน 8 เหลี่ยม แบบเดียวกับเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์บุรี (มหาธาตุสรรค์บุรี เจดีย์วัดพระรูป) เรียงสับหว่าง 3 องค์ ตามสถาปัตยกรรมนิยมของฝ่ายรัฐสุพรรณภูมิ มีเจดีย์ฐาน-เรือน 8 เหลี่ยมซ้อนชั้นยอดระฆังจำนวนมากล้อมอยู่โดยรอบ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอาจได้โปรดฯ ให้รื้อกลุ่มเจดีย์ประธานเดิมที่อาจชำรุดทรุดโทรมจนถึงขั้นพังทลายลงมาขึ้นใหม่ รวมทั้งรื้อเจดีย์บริวาร 8 เหลี่ยมจนเหลือแต่เพียงฐานรากจำนวนมาก แล้วโปรดฯ ให้สร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นเป็นประธานแทนที่ รวมทั้งการสร้างวิหารท้ายจระนำยาวเข้ามาซ้อนระเบียงคดกับการก่ออาคารระเบียงคดล้อมรอบ
ฐานล่างของปรางค์เป็นฐานเขียงสูง ซ้อนด้วยฐานปัทม์คาดบัวลูกฟักเหลี่ยมที่ท้องไม้ขึ้นไป 4 ชั้น ลาดบัวคว่ำมีขนาดใหญ่กว่าลาดบัวหงายคล้ายพานปากแคบ ทำให้การยกชั้นซ้อนเกิดเป็นฐานต่อเนื่องชะลูดสูง ไม่มีที่ว่างระหว่างชั้น แตกต่างไปจากฐานของปราสาทเขมร – ละโว้ (เช่นที่ ปรางค์วัดราชบูรณะ) ที่จะลาดบัวและหน้ากระดานเท่ากัน ยกขึ้นไปที่ละชั้นเกิดพื้นที่ว่างระหว่างชั้นอย่างชัดเจน
ฐานเชิงเรือนธาตุเป็นฐานปัทม์ไม่มีคาดลวดลูกฟัก เรือนทรงปราสาทสี่เหลี่ยม ยกเก็จประธาน 1 กระเปาะ แล้วยกซุ้มประตูซ้อน 2 ชั้น แทรกมุมเล็ก ๆ ระหว่างกลางมุมหลักมีขนาดใหญ่ เหนือบัวรัดเกล้าเป็นชั้นอัสดงผนังโค้ง ประดับรูปยักษ์ทวารบาลปูนปั้น สวมเทริดมีหูข้าง คาดเชือกไขว้ถือกระบอง ยกชั้นวิมาน (รัดประคด-เชิงบาตร) ขึ้นไป 7 ชั้น เพิ่ม (ยก) มุมที่ชั้นอัสดงตรงมุมหลักทั้ง 4 ด้าน ทำให้กลีบขนุน (บัวกาบขนุน) ประดับมุมของแต่ละชั้นวิมานเรียงตัวแน่น เหลือช่องว่างระหว่างกันเพียงเล็กน้อย กลีบขนุนของมุมหลักในแต่ละชั้นยังมีขนาดใหญ่กว่ามุมย่อย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพระปรางค์ไทย ที่หลุดออกจากงานสถาปัตยกรรมเขมร-ละโว้แล้ว
ตรงกลางเรือนธาตุเก็จประธานแต่ละด้านทำเป็นซุ้มบัญชร ที่เลื่อนลงมาในระนาบเดียวกับระดับกลีบขนุน ซุ้มหน้าต่างหลอกลดลงกลายมาเป็นผนังฐานในระดับเดียวกับลวดฐานเชิงบาตร จึงไม่ต้องวางบันแถลงไว้ตรงหน้าซุ้มบัญชรแบบปราสาทเขมร-ละโว้เดิม
ชั้นหลังคาวิมานลดหลั่นขนาดของเครื่องปักกลีบขนุนลงจนถึงชั้นที่ 7 รวมทั้งลดขนาดของชั้นวิมานให้เตี้ยลง รวบกลีบขนุนโค้งสอบเข้าจนจบที่ลาดหลังคา (บัวกลุ่ม) เหนือสุดวางหม้อน้ำอมลกะ (Āmālaka) ด้านบนปักด้วยเสาโลหะนภศูล (Naba shula)
ปูนปั้นประดับที่เหลืออยู่ทั้งที่หน้าบัน บัวรัดเกล้าและเฟื่องอุบะของปรางค์วัดมหาธาตุเมืองสุพรรณบุรี ได้แสดงลวดลายตามแบบขนบละโว้-อยุทธยา ผสมผสานกับลวดลายในงานศิลปะแบบล้านนา–จีน คล้องจองกับการประดับลวดลายของปรางค์วัดจุฬามณีและผนังวิหารวัดนางพญา (ศรีสัชนาลัย) ที่เป็นงานศิลปะนิยมในช่วงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
ปูนปั้นประดับของหน้าบันที่เหลืออยู่ เป็นกรอบลำยองโค้งตัวรวยนาคเลื้อยเป็นขยัก ไม่มีแง่งแหลมแบบหน้าบันเขมร มีกลีบบัวรวนวางห่างเป็นระยะทั้งด้านบนและล่างของรวยนาค ปลายรวยเป็นรูปตัวมกรคายนาค 5 เศียร แทรกรูปเทพพนมในช่องว่างที่หัวตัวมกร คล้ายคลึงกับงานประดับปูนปั้นปรางค์วัดจุฬามณี ภายในกรอบใบระกาเหนือรวยนาค แทรกรูปเทพพนมผุดจากดอกไม้ กลางหน้าบันคงเหลือรูปเทพยดานั่งแสดงวันทาอัญชลี ปูนปั้นที่หายไปจึงอาจเป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงเทศนาธรรม (ด้านล่างคั่นด้วยกรอบขื่อปลอม ผนังส่วนล่างพังทลายลงไปนานแล้วที่เห็นอยู่คือการซ่อมขึ้นใหม่) ครับ
ลายปูนปั้นประดับเฟื่องอุบะผนังเรือนธาตุ ลวดบนทำเป็นพู่รูปพุ่มใบไม้จีนทิ้งห่างเป็นระยะ เกิดเป็นช่องโค้งตวัดหยักแหลมที่ตรงกลาง คั่นชั้นด้วยเส้นลวดประดับดอกไม้กลีบ เว้นว่างเป็นระยะ กรอบล่างมีเส้นลวดกระจังหัวคว่ำ หยักโค้ง-ปลายม้วนเข้าด้านในขนาดใหญ่ ภายในกรอบมีดอกไม้มีกลีบเป็นประธานแตกใบพุ่ม แทงพุ่มยอดแหลมตรงลงมาด้านล่าง สับหว่าง (ซ้อน)กับ เส้นลวดสามเหลี่ยมคว่ำ มีดอกไม้กลมมีกลีบและใบไม้แหลมใบเดียวแทงลงมาด้านล่าง
ชุดลวดบัวรัดเกล้า เริ่มจากลวดคู่ชุดใหญ่ที่มีรูปดอกไม้กลม เกสรแหลมตรงกลางวางเรียงดอกเว้นระยะห่าง ขึ้นไปเป็นเส้นลวดคู่มีดอกไม้แบบเดียวกันแต่เล็กกว่า สลับกับลายกับบัวหงายเว้นระยะไม่มีใบซ้อน ชั้นลวดบัวหงายมีขนาดใหญ่ไม่มีใบซ้อนหรือสับหว่าง แต่แทรกลายดอกไม้ตั้งก้านตรงไปเป็นพุ่มใบอ่อนแตกเป็นแฉกที่ด้านบน ถัดขึ้นไปเป็นหน้ากระดาน วางลายเส้นลวดกรอบข้าวหลามตัดในกรอบของลายเมฆ (กรอบกระจกจีน) มีดอกไม้กลีบเป็นประธาน ภายในกรอบลวดแตกใบอ่อนเป็นลายใบ-ก้านขด ลายกระหนกใบไม้ มีลายดอกไม้ ลายก้านขดโค้งคั่นระหว่างกลางกรอบเส้นลวด ลวดชั้นบนยังคงเป็นเส้นกลีบบัวหงาย คั่นด้วยท้องไม้ขึ้นไปจนถึงยอดครับ
ปูนปั้นชุดฐานของรัดประคด-เชิงบาตรรองรับบัวกาบขนุนชั้นแรกที่เหลืออยู่แตกต่างไปจากชั้นรัดเกล้า โดยที่หน้ากระดานปั้นเป็นลายเถาไม้เลื้อยแบบจีนออกมาจากดอกไม้ต่อเนื่องกันไปตามแนวราบ ตรงมุมหักเข้าทำเป็นรูปดอกไม้จีนในกรอบลวดหยักมนด้านข้าง (ช่องกระจกจีน) บางส่วนคั่นด้วยกรอบสี่เหลี่ยม ภายในปั้นเป็นรูปลายหงส์คาบสร้อยอุบะพวงมาลัย หงส์และสิงห์บนกระหนกตัวเหงาโค้ง หงส์และสิงห์บนโค้งก้านเถา รูปดอกบัวหรือดอกโบตั๋นบานแบบจีน รูปสิงห์ รูปสิงห์ยกขา จัดวางลวดลายไม่เป็นแบบแผนเดียวกันในแต่ละด้าน
ลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องปักที่เหลืออยู่ทำเป็นเครื่องลำยองชะลูดสูงตามทรงกลีบขนุน ปลายกรอบแตกต่างกันไม่เป็นแบบแผน มีทั้งรูปหงส์ (มีปีก) รูปกระหนกตัวเหงาปลายพวยแหลม รูปตัวเหรา (มีขา) ใบระกาก็ทำเป็นกระหนกและใบไม้แบบต่าง ๆ ไม่เหมือนกันทุกกลีบ ส่วนปูนปั้นประดับซุ้มบัญชร ทำเป็นโค้งหน้านางแบบลังกา ปลายตวัดเป็นกระหนกขดตัวเหงาปลายพวยแหลม ภายในซุ้มโค้งอาจเคยประดิษฐานรูปพระพุทธรูปปูนปั้นครับ
--------------------------------------------------
*** ภายหลังการสถาปนาพระปรางค์มหาธาตุไปแล้ว จึงได้มีการต่อเติมขยายส่วนฐานด้านข้าง เพื่อทำเป็น
“ปรางค์สามยอด – ปราสาทสามหลัง” โดยส่วนฐานใหม่ยังคงทำชุดลวดบัวฐานตามแบบฐานปรางค์ใหญ่เดิมแต่ย่อขนาดลงไม่รับกับฐานเดิม ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากพระราชนิยม ตามชื่อพระนาม “บรมไตรโลกนาถ” ที่หมายถึงผู้ปกครองสามโลก เช่นเดียวกับพระนามแห่งพระอิศวร ผู้เป็นใหญ่เหนือตรีมูรติ ตามแบบคติฮินดูจากพราหมณ์ฝ่ายเขมร ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากในราชสำนักช่วงเวลานั้น หรืออาจเกิดขึ้นจากคติพระพุทธเจ้าสามพระองค์ของฝ่ายพุทธศาสนา (อดีตพระพุทธเจ้า พระสมณโคตมพุทธเจ้า และพระศรีอริยเมตไตรยอนาคตพุทธเจ้า) จึงได้เกิดการต่อเติมพระปรางค์มหาธาตุเดิม ทั้งในอยุทธยาที่ปรางค์วัดพระราม หัวเมืองชั้นในของอาณาจักรที่ปรางค์วัดมหาธาตุลพบุรีและปรางค์ประธานวัดมหาธาตุราชบุรี (ต่อเพิ่มด้านหลังอีก 1 องค์)
การสร้างพระปรางค์มหาธาตุเมืองสุพรรณบุรีขึ้นใหม่โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สอดรับกับหลักฐานจารึกลานทอง พระพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราช มีข้อความว่า “...ศุภมัสดุในมหาศักราช 1369 ( พ.ศ. 1990) ปีเถาะ ขึ้น 3 คํ่า เดือน 6 วันจันทร์ มีพระบัณทูลพระราชโองการแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราช (เจ้าสามพระยา) และพระราเมศวรราช (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงอนุโมทนาด้วยสุจริตศรัทธา ด้วยพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราชสังฆปรินายกดิลกรัตนมหาสวามี บรมราชาจารึกพระสุพรรณบัฏแด่พระมหาเถรนามว่าปริยทัศศีศรีสารีบุตรนามว่ามหาเถรสารีบุตร...”
จากรึกลานทองที่พบภายในกรุของพระปรางค์แผ่นนี้ ระบุเหตุการณ์ในช่วงปลายสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) และปรากฏพระนามของพระบรมไตรโลกนาถเมื่อยังดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชา พระปรางค์มหาธาตุสุพรรณบุรี จึงสร้างควรถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 1990 ไปแล้ว สอดรับกับการสร้างปรางค์ทรงงาเนียม ฐานสูงไม่มีตรีมุข ขนาดใหญ่น้อย ตามเมืองสำคัญของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาหลายแห่ง
*** พระปรางค์วัดมหาธาตุสุพรรณบุรี จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการพุทธบูชาถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชบิดา ผู้เคยเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นสุพรรณภูมินี้ เช่นเดียวการสร้างปรางค์ประธานวัดราชบูรณะที่กรุงศรีอยุธยาครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น