วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พระพุทธมหาจักรพรรดิวัดนางนอง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

พระพุทธมหาจักรพรรดิ (พระหน้าหุ่น)
และงานศิลปะไทยจีนสมัยรัชกาลที่ 3 ที่วัดนางนองฯ
วัดนางนองวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2245–2252 ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้บูรณะปฏิสังรณ์ขึ้นใหม่ และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ประกอบพิธีผูก พัทธสีมาพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2384 
วัดนางนอง โดดเด่นด้วยศิลปะไทยผสมจีน อันเป็นพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 มีการก่ออิฐถือปูนเป็นซุ้มประตูแบบจีน หน้าบันลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม มีการประดับกระเบื้องเคลือบตามส่วนต่างๆของวัด ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสวยงาม เป็นลายไทยและจีน ได้แก่ ลายฮกลกซิ่วที่เบื้องหน้าพระประธาน ลายค้างคาวที่ขอบหน้าต่าง ลายวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก โดยเขียนเป็นลายกำมะลอ (เขียนสีบนรักแบบจีน) และยังมีลายไทยในลักษณะของลายรดน้ำ (ลงรักปิดทอง) บนบานประตู เช่น ลายครุฑ ลายนาค ฯลฯ และเนื่องจากพระประธานเป็นพระทรงเครื่องมหาจักรพรรดิราช จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถและหน้าต่างจึงเป็นภาพเกี่ยวข้องกับพระจักรพรรดิราช นอกจากนั้นลวดลายรดน้ำปิดทองประดับบนบานประตูทั้ง 4 บาน รอบพระอุโบสถแสดงรูปแก้วทั้ง 7อันเป็นสมบัติของพระจักรพรรดิราช
พระพุทธมหาจักรพรรดิ พุทธศิลป์ชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
พระพุทธมหาจักรพรรดิ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย พระพักตร์เป็นพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย โดยมีฉายาว่า “พระหน้าหุ่น” เนื่องจากพระพักตร์คล้ายหุ่นหลวงฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร) เครื่องทรงและเครื่องประดับตกแต่งทุกชิ้น ประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมือช่างอันวิจิตร แล้วจึงนำมาสวมบนองค์พระ ฐานชุกชีปั้นลายปิดทองประดับกระจก ถือเป็นงานประติมากรรมชิ้นเอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีความงามอย่างวิจิตรอลังการเป็นทีสุด แต่มงกุฎของพระพุทธมหาจักรพรรดิองค์ที่สวมอยู่นี้เป็นองค์ที่ 2 องค์แรกนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดให้สูงขึ้นจากเดิม
วัดนางนองวรวิหารมีพระปรางค์คู่ ถ้ามองจากคลองด่าน ซึ่งเป็นด้านหน้าวัด พระปรางค์คู่นี้จะขนาบพระเจดีย์ประธานไม้ยี่สิบ เยื้องลงไปด้านหลังเล็กน้อย องค์แรกอยู่หลังวิหารหลวงพ่อผุดเป็นพระปรางค์ด้านเหนือ องค์ที่สองอยู่หลังวิหารศาลาการเปรียญ เป็นพระปรางค์ด้านใต้ ลักษณะทรงแปดเหลี่ยมอยู่บนฐานกลมยอดนภศูล ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว ล้อมรอบพระอุโบสถและเป็นเขตพุทธาวาส ทำซุ้มประตูยอดโค้ง มีอิทธิพลจีนผสมฝรั่ง จึงเป็นศิลปกรรมที่ผสมผสานความงามของหลากหลายอารยธรรมไว้อย่างงดงามลงตัว
ที่อยู่วัดนางนอง
76 ถนน วุฒากาศ แขวง บางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love.

    ตอบลบ