นารายณ์บรรทมสินธุ์ กับ “อสูรขี้หูอิจฉาพระพรหมขี้สะดือ” ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม
ในปี 1920 (พ.ศ. 2463) ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคม ได้นำคณะสำรวจเดินทางมายังปราสาทเมืองพร้าวแล้วบันทึกสรุปได้ว่า “...ชาวบ้านเรียกที่นี่ว่าปราสาทเมืองพร้าว เพราะมีต้น (มะ) พร้าวมาก มีกำแพงสองชั้น มีซากปราสาทหิน 7 องค์ ใกล้กันเป็นทุ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่ มีถนนโบราณปูด้วยหิน สองข้างถนนมีเสาหินปัก มีถนนโบราณยาวไปทางบ้านตาพญา ตรงไปนครวัด...”
“ปราสาทสด๊กก๊อกธม” (Sdok kok Thom Pr.) หรือปราสาทเมืองพร้าว ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นปราสาทหินที่มีการจัดวางผังแบบวางตามแนว “แกนยาว” (Plan Axe) หันหน้าไปทางตะวันออก เริ่มต้นจากลานพลับพลาจัตุรมุข ริมสระน้ำบารายขนาดใหญ่ของชุมชน (สฺรุก) โบราณ แนวบันไดต้นทางมายังชาลาทางเดินหรือทางดำเนิน ที่ประดับเสาโคมประทีปหัวบัวตูม (เสานางเรียงหรือเสานางจรัล มาจากคำว่า “ไนจุมวล” (Nai Cumval) ในภาษาเขมรมีหมายความถึง “เสาที่ปักเรียงรายข้างทางเดิน”)
ถัดจากชาลาทางดำเนิน จะเป็นโคปุระชั้นนอก ที่สร้างเป็นอาคารทางเข้าเพียงด้านเดียว ในขณะที่ด้านทิศตะวันตกทำเป็นซุ้มประตูขนาดเล็ก มีกำแพงศิลาแลงล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม ภายในมีสระน้ำล้อมรอบในคติมหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาไกรลาส มีชาลาทางเดินที่มีเสาประทีปประดับ เข้าสู่ปราสาทชั้นอยู่เพียงทางเดียว
ปราสาทชั้นใน มีอาคารโคปุระขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน แต่จะมีอาคารโคปุระด้านหน้าทิศตะวันออกเท่านั้นที่ก่อยอดเป็นเรือนปราสาทขึ้นไป เป็นวิมานศิขระชั้นซ้อนยอดหลังคาแบบเทวาลัยในอินเดียใต้ ที่ให้ความสำคัญกับซุ้มประตูเข้าด้านหน้ามากที่สุด ระหว่างโคปุระมีวิหารระเบียงคดที่มีหลังคาหินทรายและหลังคาอิฐมุง ด้านนอกก่อทึบ ด้านในโปร่งวางเสารองรับโครงสร้างหลังคาไม้ มีบรรณาลัย 2 หลัง ตามแนวเหนือ-ใต้ ตรงกึ่งกลางปราสาทเป็นปราสาทประธานหลังเดี่ยวขนาดใหญ่ ลานด้านในปูพื้นศิลาแลงทั้งหมด และมีการประดับเสาพระประทีปตรงทางเดินเข้าและบริเวณรายรอบปราสาทประธาน
ที่ปราสาทนี้พบจารึกสำคัญ ในบริเวณซากปรักหักพังของปราสาท เรียกว่า “จารึกสด๊กก๊อกธม 2” ที่จารขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (Udayādityavarman II) ที่ได้ทรงกลับมาบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแห่งภัทรปัตนะ (Bhadrapattana) ซึ่งเคยถูกทำลายลงในช่วงสงครามกลางเมืองในยุคสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (กับพระเจ้าชัยวีรวรมัน) ตามคำขอของพราหมณ์สทาศิวะหรือพระกัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน ซึ่งเป็นพระราชครูและพระญาติผู้ใหญ่คนสนิท พร้อมทั้งได้สถาปนาศิวลึงค์ อีกทั้งกัลปนาข้าทาส สิ่งของประจำศาสนาสถาน โดยพระองค์ยังได้ทรงสถาปนาเทวสถานภัทรนิเกตนหรือปราสาทสด๊กก๊อกธมขึ้นถวายในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16
เนื้อความในจารึกสด๊กก๊อกธม 2 ยังได้บันทึกเรื่องราวของตระกูลพราหมณ์ผู้ปฏิบัติพิธีกรรมเทวราชา และรายพระนามกษัตริย์เขมรโบราณ ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ที่ครองราชย์ในปี พ.ศ. 1345 มาจนถึงพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ที่ปรากฏปีจารึก (ในด้านที่ 4 บรรทัดที่ 41 บอกมหาศักราช 971 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1595) รวมระยะเวลา เวลา 250 ปี กษัตริย์ 14 พระองค์ (ไม่ได้กล่าวชื่อพระนาม 2 พระองค์ชัดเจน) นับเป็นจารึกหลักสำคัญ (ที่สุด) ที่นำไปสู่การศึกษาเชื่อมโยงกับจารึกหลักอื่น ๆ ที่พบในแต่ละยุคสมัย เปิดปริศนาในหน้าประวัติศาสตร์เขมรโบราณได้มาจนถึงในทุกวันนี้
---------------------------------------
*** ภาพสลักที่แตกกะเทาะบนหน้าบันเหนือซุ้มประตูเล็กด้านใน ปีกฝั่งทิศเหนือของโคปุระตะวันออก ของปราสาทสด๊กก๊อกธม สลักเรื่องราว “วิษณุอนันตศายินปัทมานาภะ - นารายณ์บรรทมสินธุ์” (Vishnu ananta shayana padmanabha - Vishnu reclining on the serpent Ananta Shesha in Cosmic Ocean) ตามคติการกำเนิดโลกใหม่ของฝ่ายฮินดู –ไวษณพนิกาย ซึ่งตามปกติ จะมีภาพพระวิษณุนอนบรรทมบนแท่นลำตัวพญาอนันตนาคราช (Ananta Shesha) มีรูปพระนางลักษมีเทวี (มเหสี) นั่งประทับที่พระเพลา กำลังปรนนิบัติ นวดเฟ้น (ในบางภาพสลัก อาจมีภาพของนางภูมิเทวี และนางคงคาด้วย) เหนือขึ้นไปมีรูปพระพรหมประทับอยู่บนดอกบัวบาน มีสายบัวต่อลงมา ผุดออกจากสะดือของพระวิษณุ
แต่ที่หน้าบันเล็กซุ้มประตูปีกข้างโคปุระของปราสาทสด๊กก๊อกธมนี้ กลับมีความแตกต่างไปจากปกติคือ มีภาพของบุคคลถืออาวุธ แทรกเข้ามาในระหว่างกลางของพระวิษณุกับพระพรหมด้วย
สอดรับกับปกรณัมที่ปรากฏในคัมภีร์ “มารกัณเฑยะปุราณะ” (Mārkaṇḍeya Purāṇa) ที่เล่าถึงเรื่องราวของ “อสูรมธุ” (Madhu Asura) และ “อสูรไกฏภะ” (Kaitabha Asura) ที่เป็นตัวแทนของความชั่วร้าย ความอวิชชาขององค์พระวิษณุ ได้กำเนิดขึ้นจากขี้หูในพระกรรณของพระองค์เองในขณะที่กำลังบรรทมอยู่บนอนันตนาคราชในระหว่างการสร้างโลกใหม่ และด้วยเพราะอสูรทั้งสองกำเนิดจากองค์พระวิษณุ จึงมีพลังอำนาจไม่น้อย
เมื่อสายบัวผุดขึ้นจากสะดือออกมาเป็นบัวตูม สองอสูรจึงได้ออกมาจากพระกรรณด้วยความสงสัย “ขี้สะดือทำไมจึงสวยงามบริสุทธิ์ ช่างแตกต่างไปจากพวกเรานัก” และเมื่อดอกบัวบานออก ปรากฏพระพรหมประทับนั่งอยู่ภายใน (เป็นตัวแทนของปัญญา และความดีงาม) ด้วยความอิจฉา อสูรทั้ง 2 จึงตรงทำร้ายพระพรหม
“เจ้าขี้สะดือ จะมาดีกว่าขี้หูพวกข้าได้อย่างไร” ว่าแล้วก็ถือกระบองเข้ารุมสกรัมพระพรหมในทันที
เมื่อรุมตื้บจนหนำใจ จึงฮึกเหิมหนักด้วยการขโมยเอาพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพรหมไปด้วย (ครบสูตร) พระวิษณุจึงต้องอวตารเป็นพระหัยครีพที่มีเศียรเป็นม้า เพื่อมาปราบอสูรทั้งสอง นำเอาพระเวทกลับมาคืนให้แก่พระพรหม
แต่ในเรื่องราวของคัมภีร์ฝ่ายไศวะ – ศากตะ จะเล่าเรื่องแตกต่างออกไปว่า อสูรมธุและอสูรไกฏภะนั้น เกิดขึ้นจากอำนาจแห่งดุลภาพของจักรวาล เมื่อมีความดีงามบังเกิด ต้องมีความชั่วเกิดขึ้นกำกับ อสูรทั้งสองจึงกำเนิดขึ้นพร้อมกับพระพรหม เพื่อมาทำลายล้างพระพรหมมิให้สร้างโลกใหม่ได้สำเร็จ
เมื่อสองอสูรกำลังจะเข้าทำร้าย พระพรหมได้วิงวอนขอให้ “พระนางมหามายาเทวี” (Goddess Mahamaya) พระแม่อาทิศักติ (Adi Shakti หรือ “พระตรีศักติ”) แห่งจักรวาลให้ช่วยเหลือ พระแม่ได้ปลุกพระวิษณุจากการบรรทม ขึ้นมาสังหารอสูรทั้งสองได้ทันท่วงที พระวิษณุจึงมีพระนามหนึ่งว่า “มธุสุถานาท” (Madusudanah) หรือ “ผู้ปราบอสูรมธุ” นั้นเอง ครับ
------------------------------
*** ภาพสลักเรื่องราวปกรณัม วิษณุอนันตศายินปัทมนาภาที่มีอสูรมธุและอสูรไกฏภะประกอบอยู่ด้วยในงานศิลปะเขมรโบราณ ยังพบเห็นอยู่เฉพาะที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมเพียงแห่งเดียวเท่านั้น (ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ส่วนในกัมพูชาจะเป็นภาพสลักภาคต่อ ในตอนที่พระวิษณุอวตารพระหัยครีพกำลังปราบอสูรทั้งสองที่หน้าบันโคปุระด้านในของปราสาทบันทายสรี
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น