วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พระธาตุไชยา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
พระบรมธาตุไชยา “จันทิศรีโพธิ์” แห่งศรีวิชัย-ไศเลนทรา 
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 อิทธิพลของงานพุทธศิลป์ตามคติความเชื่อของนิกายมหายาน  (Mahāyāna Buddhism) จากยุคราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ในอินเดียเหนือ ราชวงศ์จาลุกยะ (Early Chalukya Dynasty) ในแคว้นอานธระประเทศ (Andhra Pradesh) เขตที่ราบสูงเดกข่านฝั่งตะวันออก (Eastern Deccan Plateau) และราชวงศ์วากาฏกะ (Vākāṭaka  Dynasty) เขตเดกข่านฝั่งตะวันตก ได้เริ่มเข้ามาสู่ ดินแดนคาบสมุทรมาลายู (Malay Peninsula) คาบสมุทรสุวรรณทวีป (Suvarṇadvīpa) และยวาทวีป (Yavadvīpa)  ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามกระบวนการ “อินเดีย-ภารตะภิวัฒน์” (Indianization)
ในจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ของ “คลอดิอุส ปโตเลมี” (Claudius Ptolemy’s Geography) ที่เขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 8 ปรากฏชื่อนาม “ไครเส เคอโซเนอโซส” (Chrysḗ Chersónēsos - Chryse Chersonese) ในภาษากรีก ที่หมายถึง “ดินแดนแห่งทองคำทางตะวันออก” หรือชื่อนาม “สุวรรณภูมิ” (Suvaṇṇabhūmi)  หรือ “สุวรรณทวีป” (Suvarṇadvīpa ) ในวรรณกรรมของฝ่ายอินเดีย และเส้นทางการค้าทางทะเลในยุคเริ่มแรก ที่จะเริ่มต้นจากปากแม่น้ำคงคา  ผ่านเมืองสะเทิมในอ่าวเมาะตะมะ – เมาะตะบัน มาที่เมืองท่าชื่อตักโกลา (Takola) หรือตะกั่วป่าเป็นท่าเรือแรกของดินแดนไครเส เคอร์โสนีส  ซึ่งในทางภูมิศาสตร์แล้ว จุดที่จะใช้ในการดินทางข้ามคาบทวีปมาลายู-ยวาทวีป จากเมืองท่าตักโกลาในฝั่งทะเลอันดามัน จะมาบรรจบกับเมืองท่าทางตะวันออกในฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เมือง “ศรีโพธิ หรือ ไชยา”
งานศิลปะตามคติความเชื่อของนิกายมหายาน จึงได้มาเริ่มต้นเป็นครั้งแรก ๆ บนคาบสมุทรมาลายูที่เมืองไชยา พร้อม ๆ กับดินแดน “กฏาหทวีปะ” (เมืองเกดะห์ หรือเคด้าห์ มาเลเซีย) ดินแดนหมู่เกาะสุมาตรา (Sumatra - Pulau Ameh) ดินแดนจามปาและดินแดนปากแม่น้ำโขงในวัฒนธรรมออกแอว (Óc Eo)   
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 จึงเริ่มปรากฏอิทธิพลพุทธศาสนาในนิกาย “วัชรยาน” (Vajrayāna) หรือ “มหายานตันตระ” (Mahāyāna –Tantra)  “พุทธตันตระยาน”  (Tantric Buddhism) หลังสมัยคุปตะในอินเดียเหนือ จากความนิยมของราชวงศ์วรรธนะ (Vardhana Dynasty) ต่อด้วยราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ในแคว้นพิหาร – เบงกอล (อินเดียเหนือ-ตะวันออก) เข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จารึกเกตุกัน บูกิต (Kedukan Bukit) จารึกตาลัง ตูโว (Tarang Tuwo) และจารึก โกตา การ์ปูร์ (Kota Kapur) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  ได้กล่าวถึงกลุ่มเมืองจากคาบสมุทร ที่นิยมคติพุทธมหายาน-วัชรยาน (ในความสนับสนุนของราชวงศ์ปาละ) ได้ยกกองทัพเรือลงไปตีเมืองในหมู่เกาะทางใต้จากสุมาตราไปจนถึงเกาะชวา ขยายอิทธิพลทางการเมืองและคติความเชื่อลงมายังหมู่เกาะ ที่เคยอยู่ในอิทธิพลของกลุ่มราชวงศ์สัญชัย (Sanjaya) ที่นิยมคติฮินดูในยุคก่อนหน้า
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 14   จึงเกิดมีนครศรีวิชัย-ศรีโพธิ์ขึ้นครั้งแรกที่เมืองท่าไชยา บนคาบสมุทรยวาทวีป ภายใต้การปกครองของ “ราชวงศ์ไศเลนทรา”  (Śailendra Dynasty) ดังที่ปรากฏพระนาม “...พระเจ้าศรีมหาราชา ....พระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งกรุงศรีวิชัย ผู้อยู่เหนือเหล่าพระราชาของแคว้นโดยรอบทั้งหมดบนพื้นพิภพ...” ในจารึกเสมาเมือง จารด้วยอักษรหลังปัลลวะ ในภาษาสันสกฤต ที่พบในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี (หรือนครศรีธรรมราช)  เมืองศรีวิชัยที่ไชยาคงเป็นใหญ่เหนือนครอื่น ๆ บนคาบสมุทรและหมู่เกาะชวากลาง นิยมใช้อักษรและภาษาแบบอินเดียอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนเปลี่ยนความนิยมมาใช้อักษรชวาโบราณและอักษรกวิ ตามแบบพื้นเมือง  ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชยนาศะ พระเจ้าวิษณุ พระเจ้าอินทรา จนมาถึงพระเจ้าสามาลาตังกะ ผู้สร้าง “ชินาลายา” (Jinalaya) หรือมหาเจดีย์บุโรพุทโธ (Candi Borobudur) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14
------------------------------
*** ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 กลุ่มนครรัฐศรีวิชัยที่ยังมีศูนย์กลางราชสำนักไศเลนทราอยู่บนเกาะชวา ได้สร้าง “จันทิ” (Candi) หรือ “กุฎี” ขึ้นที่เมืองศรีวิชัย-ศรีโพธิ์ (ชิ-ลิ-โพ-ชิ) (วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร  ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) เป็นประธานของพุทธสถาน รูปทรงปราสาทหลังเดี่ยว เรือนธาตุเป็นมีผังรูปกล่องสี่เหลี่ยม (Cella) ขนาดไม่ใหญ่นัก ก่อด้วยอิฐ ตามสถาปัตยกรรมนิยมของราชวงศ์ไศเลนทรา ประดับเสาหลอกที่มุมทั้ง 4 ด้าน กลางผนังมีมุขยื่นออกทั้ง 4 ทิศ ทำให้กลายเป็นอาคารแผนผังรูปกากบาท ตั้งบนฐานประทักษิณแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ยกเป็นเรือนสูงประดับด้วยเสาอิง ด้านหน้าฐานทำเป็นบันไดทางขึ้นเพียงด้านเดียว  
ชั้นหลังคายกเป็นวิมานย่อส่วนซ้อนชั้น ลดหลังแบบอินเดียใต้ขึ้นไป 3 ชั้น  ซุ้มประตูมุขทางเข้าด้านหน้า ประดับแง่งแหลมรูปหัวตัวมกรที่มุมของเรือนวิมานแต่ละชั้น วาง “สถูปิกะ” (Stupika) บนฐานปัทม์ขนาดเล็ก องค์ระฆังรัดอกด้วยเส้นลวดสังวาล เป็นเครื่องประดับอยู่ที่มุมทั้ง 8 (มุมเรือนวิมานและเหนือหลังคามุขซุ้มบัญชร) ส่วนยอดสุดแต่เดิมนั้นคงเป็นรูปพระสถูปใหญ่ในคติความหมายศูนย์กลางของมณฑลจักรวาลมันดารา-มัณฑละ (Mandala Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) 
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมโดยรวมของ จันทิศรีโพธิ์หรือพระบรมไชยาในภายหลัง คล้ายคลึงกับ “จันทิบูบราห์” (Candi Bubrah)  ในเขต“อุทยานทางโบราณคดีพรัมบานัน” (Prambanan Archacological Park)  ที่สร้างขึ้นประมาณช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 14   “จันทิเมนดุต” (Candi Mendut) ที่สร้างขึ้นโดย “พระเจ้าสามาลาตังกะ” (Samaratungga) และจันทิปะวน (Candi Pawon) ที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 ก่อนมีการสร้างจันทิบุโรพุทโธขึ้น 
แต่ด้วยรูปแบบของการยกมุขที่มีการประดับหน้าบันออกมาจากผนังทั้ง 4 ด้านอย่างชัดเจน รวมทั้งการประดับสถูปิกะบนหลังคาของมุขแต่ละด้านของจันทิศรีโพธิ์-พระบรมธาตุไชยา มีความคล้ายคลึงกับการจัดวางผังของ “จันทิกะลาสัน” (Candi Kalasan) และ “จันทิเซวู”  (Candi Sewu) หรือ “มัญชุศรีคฤหะ” (Manjusrigrha) ศาสนสานในคติพุทธวัชรยานขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ที่ให้ความสำคัญกับการจัดวางแบบแผนมณฑลมันดารา-มันฑละ ที่ประทับของพระชินพุทธะ 5 พระองค์  “ปัญจสุคต-ปัญจชินะ” (Paῆca Sugatā - Paῆca jina Buddhas) หรือ “พระธยานิพุทธเจ้า–ฌานิพุทธเจ้า” (Dhyāni Buddha) ตามคติของฝ่ายวัชรยานที่นิยมในราชวงศ์ปาละ 
--------------------------------
*** ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ราชสำนักไศเลนทราคงได้ย้ายกลับจากเกาะชวามาที่เมือง “คาฑารัม” (Kaḍarām) หรือ เมืองเกดะห์-เคด้าห์ ในประเทศมาเลเซียเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนถูกโจมตีและทำลายโดยกองทัพเรือของพระเจ้าราเชนทราที่ 1 (Rājendra) แห่งจักรวรรดิโจฬะ (Chola Empire) ในช่วงปี พ.ศ.1568  ตรงกับยุคของ “พระเจ้าสังกรมาวิชยศตุงคะวรมัน” (Saṅgrāma-vijayottuṅgavarman) นำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์ไศเลนทราที่มีความนิยมในนิกายวัชรยาน  พร้อมกับเมืองศรีโพธิ์-ศรีวิชัย ตามความที่ปรากฏใน "จารึกตัณจาวูร์" (Thanjavur Inscription) 

เครดิต; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love.

    ตอบลบ