“วิราธ”รากษสเฝ้าสวนชมพู่พวาทอง ผู้ลักพาตัวนางสีดา
ร่องรอยหลักฐานของคติเรื่องราวและภาพงานศิลปะของ “รากษส วิราธ (Rakshasa Virādha) รากษสเฝ้าสวนชมพู่พวาทองในป่าทัณฑกะ ผู้ลักพาตัวนางสีดาในภาค “อรัณยกัณฑ์” เพิ่งปรากฏครั้งแรกประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ในงานวรรณกรรมมหากาพย์รามายณะ (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) ของฝ่ายราชวงศ์โจฬะ-ทมิฬ ในอินเดียใต้
เรื่องราวของรากษสวิราธ ผู้เผ้าสวนชมพู่พวาทอง เป็นตอนที่พระราม พระลักษณ์และนางสีดาเสด็จออกจากเขาสัตกูฎ เพื่อหลบไม่ให้ชาวอโยธยาติดตามมาหา จึงพากันข้ามแม่น้ำอมฤตไปขึ้นฝั่งที่ป่า “ทัณฑกะ” (Dandaka) ซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำโคทาวารีกับ “แม่น้ำนรรมทา” (Narmada) (สำหรับแม่น้ำนรรมทานี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เนรพุทธะ” (Nerbudda) เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ในคติพุทธศาสนาเชื่อว่าแม่น้ำนี้มีรอยพระพุทธบาทประทับบนหาดทราย จากพุทธประวัติตอนที่ พระพุทธเจ้านำพระสาวก 500 รูปผ่านมาทางแม่น้ำ “นรรมทานาคราช” ได้ถวายสักการะ เมื่อทรงแสดงธรรมแก่นาคราชจนเสร็จแล้ว นาคราชทูลขอพระพุทธเจ้าได้ประทานสิ่งที่พึงบูชาไว้ ณ แม่น้ำนรรมทา พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเจติยะ เป็น รอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ) ทั้งหมดเดินหลงเข้าไปในสวนของรากษสวิราธโดยไม่รู้ตัว
แต่เดิมนั้น "รากษสวิราธ" เป็นคนธรรพ์แห่งสวรรค์ชื่อ "วิราธ" ได้บำเพ็ญตบะฌานบารมีจนเป็นฤๅษีนามว่า “พระพิราบ” พระพรหมธาดาได้ประสาทพรให้อยู่ยงคงกะพัน ศาสตราวุธใดก็ไม่สามารถสังหารให้ตายได้
แต่พระพิราบเกิดมามีสัมพันธ์สวาทกับ “นางวิรัมภา” เทพธิดาผู้รับใช้ใกล้ชิด “ท้าวกุเวร” พญายักษ์ให้พิโรธเป็นอย่างมาก จึงสาปให้พระพิราพกลายป็นรากษสผู้มีหอกยาวเป็นอาวุธ ไล่ลงมาจากสวรรค์ให้เฝ้าสวน “ชมพู่พวาทอง” (ชมพู่น้ำดอกไม้หวาน) ในป่าทัณฑกะ รอจนกว่าพระวิษณุจะอวตารมาเป็นพระราม แล้วให้พระรามและพระลักษณ์ช่วยกันสังหารรากษสวิราธด้วยพระหัตถ์เท่านั้น จึงจะพ้นจากคำสาป
หลังจากโดนคำสาปจากราชาแห่งยักษา วิราธรากษสจึงลงมาอาศัยอยู่ในป่าทัณฑกะ รอคอยเวลาที่พระรามและพระลักษณ์จะเดินทางมาถึงด้วยใจจรดจ่อ
แต่วิราธรากษสนั้นมีฤทธาอำนาจจากพรของพระพรหมธาดาให้ไม่ตายด้วยอาวุธใด ๆ ทั้งพร “กำลังมหาสมุทร” (ควบคุมน้ำ) และ “กำลังพระเพลิง” (ควบคุมไฟ) สามารถจับกินผู้คนที่หลงเข้ามาในเขตสวนได้ทั้งหมด จนเป็นที่ครั้นคร้ามเกรงกลัว ไม่มีใครกล้าเข้ามาตอแยต่อกรหรือล่วงล้ำเข้าไปในเขตป่าทัณฑกะอันกว้างใหญ่
แม้แต่พระอินทร์ที่เผลอไผลเหาะผ่านเข้ามา วิราธยังเข้าไปแย่งเอามงกุฎของพระอินทร์มาใส่เล่น
ภายในสวนมีต้นชมพู่พวาทองต้นหนึ่งที่มีรสหวานช่ำ วิราธหวงชมพู่หวานต้นนี้มาก จึงให้บริวารรากษสเฝ้ารักษาไว้ ตนเองไปอยู่วิมานที่ภูเขาอัศกรรณเจ็ดวันจึงจะกลับมาเที่ยวสวนอีกครั้ง เป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่พระราม พระลักษณ์และนางสีดา เหมือนถูกดลใจให้หลงเข้ามาในสวน พระรามเก็บชมพู่หวานจากต้นแสนรักแสนหวงของวิราธให้แก่นางสีดาทาน บริวารรากษสที่เฝ้าอยู่ ก็กรูเข้ามาจะทำร้าย พระลักษณ์จึงแผลงศรเข้าใส่จนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
ครบเจ็ดวันตามเวลา วิราธเดินทางกลับลงมาที่สวนพอดี พบบริวารล้มตาย ต้นชมพู่หวานก็หักล้มเป็นอันมาก จึงโกรธแค้น พอเห็นพระราม พระลักษณ์และนางสีดาก็เข้าทำร้ายหมายจับกินเป็นอาหาร จึงแอบกำบังกายด้วยอิทธิฤทธิ์เข้าไปใกล้ แล้วลักพาตัวนางสีดาแบกขึ้นไหล่ ร่ายมนตร์คาถาบันดาลให้ท้องฟ้ามืดมิด อุ้มนางสีดาหนีเข้าไปซ่อนไว้ในป่าลึก พระรามจึงแผลงศรเกิดเป็นแสงสว่างดังแสงอาทิตย์ ตามติดเข้าไปช่วย ต่อสู้กันอย่าไรก็ไม่สามารถสังหารรากษสวิราธด้วยอาวุธใด ๆ จนถึงต้องต่อสู้กันด้วยมือ จนวิราธถูกพระรามพระลักษณ์จับรั้งทั้งสองแขนไว้ ไม่สามารถขยับได้ พระรามสงสัยว่าทำไมวิราธถึงอ่อนแรงลงได้โดยง่าย ไม่แกล้วกล้าเหมือนในขณะที่รบกันด้วยอาวุธ จึงร้องถามความสงสัยแก่วิราธที่ถูกจับแขนไว้
วิราธเล่าให้ฟังว่าตนนั้นเดิมเป็นพระฤๅษีพิราพบนสวรรค์ จะสิ้นเคราะห์ตามคำสาปได้ก็ต่อเมื่อพระรามและพระลักษณ์สังหารตนด้วยมือเท่านั้น พระรามจึงแจ้งแก่วิราธว่า เรานี่แหละคือ “รามจันทราวตาร” วิราธดีใจจึงชี้ทางให้พระรามไปตามหานางสีดาที่ซ่อนไว้ แล้วขอให้ทั้งสองพระองค์ได้ช่วยปลดปล่อยตนจากคำสาป แต่ลำพังพละกำลังขององค์เทพเจ้าในร่างมนุษย์คงไม่สามารถสังหารรากษสให้ตายได้
พระรามกับพระลักษณ์จึงคิดแผนการอันแยบยลที่จะไม่ใช้อาวุธแต่ใช้เพียงมือสังหาร โดยการขุดหลุมใหญ่แล้วช่วยกันจับวิราธรากษสฝังทั้งเป็นในหลุมนั้นจนตาย
ยักษ์วิราธจึงได้คืนกลับเป็นพระฤๅษีพิราพ บนสรวงสวรรค์เช่นเดิม
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love.