วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563

นางอัปสรา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“นางอัปสราแสนงาม” ที่ปราสาทพระขรรค์
“ปราสาทพระขรรค์” (Preah Khan) เป็นหมู่ปราสาทแผนผังขนาดใหญ่ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณที่ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพจามปา ตามจารึกปราสาทพระขรรค์  (K.908) ที่กล่าวว่า “...พระองค์โปรดให้สร้างเมืองชยศรี (Jayaśrī - ปราสาทพระขรรค์) ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในทรงได้รับชัยชนะเหนือกองทัพจาม ที่นำทัพเรือเข้ามาตีนครยโสธรปุระ “...ทรงสถาปนาเมืองชยศรีที่มีการประดับตกแต่งด้วยทอง ดอกบัวและหิน เพื่อกลบร่องรอยคราบเลือดบนพื้นดินที่ได้เห็นในทุกวันนี้...” ( โศลก- verse 32) “...เพื่อให้นครแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับเมืองประยงค์ (Prayága  - เมืองอัลลาฮาบัด ในประเทศอินเดีย) ซึ่งเป็นที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง (คงคาและยมุนา) มาบรรจบกัน (โศลก 33) 
“...ทรงโปรดให้สร้างรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  พระนามว่า “พระศรีชยวรเมศวร” (Śrī-Jayavarmeśvara) อุทิศถวายแก่พระราชบิดา (ในรูปศิลปะของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี  (Bodhisattva Avalokitevara Irradiant) ที่มีเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าศรีธรณินทรวรมันที่ 2 ในวัยหนุ่ม ประดิษฐานอยู่ที่คูหามุขทางทิศเหนือของตัวปราสาทประธาน) ...ที่รอบ ๆ “อรยาอวโลกิเตศวร” (Ārya-Avalokiteśa) ยังโปรดให้สร้างรูปเทพเจ้าจำนวน 200 และ 83 องค์  ...ด้านตะวันออกโปรดให้สร้างเทวรูป 3 องค์ องค์แรก คือ “พระศรีตรีภูวนวรเมศวร” (Śrī Tribhuvanavarmeśvara)...ทางทิศใต้ โปรดให้สร้างเทวรูป 32 องค์ องค์แรกคือ “พระศรียโศวรเมศวร” (Śrī Yaśovarmeśvara)...ทางทิศตะวันตก โปรดให้สร้างเทวรูป 30 องค์ไว้ เริ่มต้นด้วย “พระศรีจามเปศวร”(Śrī Cāmpeśvara)...ทางทิศเหนือ โปรดให้สร้างเทวรูป 30 องค์ไว้ เริ่มต้นด้วยภาพพระศิวบาท (Śivapāda) ...เทวรูปองค์หนึ่งอยู่ในยุ้งข้าว ตรงทางรอบ ๆ ที่บูชา 10 องค์ อยู่ในศาลาที่พัก 4 องค์ อยู่ที่โรงพยาบาล 3 องค์...เทวรูป 24 องค์ อยู่ในประตูทางออกทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งหมด 430 องค์....” (โศลก 34 – 40) นอกนั้นเป็นพระเทวรูปที่สร้างไว้ตามจุดต่าง ๆ รวมเป็นพระเทวรูปทั้งหมด 515 องค์
“....รอบปราสาท...มีหมู่บ้าน 5,324 แห่ง ผู้คนชายหญิง 97,840 คน....ภายในปราสาทมีห้องเล็กทั้งหมด 439 ห้องกุฎี (kuṭis) โหราจารย์ 1 คน ผู้ช่วยอาจารย์ 15 คน นักบวช 338 คน ฝ่ายไศวะมี 39 คน และนักเรียน-ข้าวัด 1,000 คน... ....มีพ่อครัว 44 คน  ....พระองค์ได้พระราชทาน ข้าวสุก งา ถั่ว เนยเหลว นมข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมันงา น้ำมัน ผลไม้ ผ้าไหมกันยุง ผ้าสักหลาดสีขาวและสีแดง สำหรับตกแต่งรูปพระโพธิสัตว์ พร้อมด้วยผ้าสี่เหลืองแก่สำหรับคลุมเตียงและเก้าอี้ ....ยางสน  ไม้จันทน์ ไม้กฤษณา การบูร ไม้หอมและเครื่องหอมเป็นเครื่องสักการะ บูชาแก่เทวรูปที่เป็นมงคลตามคติการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา...”
“....มีการแจกจ่ายให้โดยไม่คิดมูลค่าแก่ผู้ที่อยู่ในบ้านของเหล่าคุรุ นักบวชและนักเรียนเป็นส่วนบุคคล ในเวลามีงานเทศกาลสงกรานต์ และงานนักขัตฤกษ์  จะโปรดให้ตั้งโรงทาน ...ประกอบด้วยข้าวสุกคุณภาพดีเยี่ยม งา ถั่ว นมข้น น้ำผึ้ง น้ำมันงา พริกไทย ขี้ผึ้ง เกลือ ไม้จันทร์ การบูร เส้นไหม ห่วงทอง โค ภิกษุ ทอง กระป๋อง คนโทใส่น้ำ เตียงนอน หมอนอ่างทำด้วยทองแดง มุ้งแพรจีน หมอนอิง เสื่อจีน หีบจีน ตลับใส่เครื่องหอม หนังวัวสี น้ำตาล รองเท้าไม้ โคภิกษาและเขาสัตว์หุ้มทอง ผ้าคลุมผ้าสีต่างๆ ช้าง ทาสหญิง ควาย....นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่ทำด้วยทอง แก้วไพฑูรย์ ทับทิม   ไข่มุกทองแดง ทองสำริด ชาม ทอง  ดีบุกสีขาว  ตะกั่ว ตะกั่วสีดา
ฯลฯ...”
-------------------------------------
*** ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการพบรูปสลักนูนสูงนางอัปสรา (Apsarā) มีงานรายละเอียดงานศิลปะที่งดงามมากกว่ารูปนางอัปสราที่เคยเห็นในยุคบายน ในซอกหลืบหินที่พังทลายลงมาของตัวกุฏีทรงปราสาทหลังเล็กคู่หนึ่ง ที่ตั้งอยู่ด้านในติดกับระเบียงคดชั้นนอกฝั่งทิศเหนือ ใกล้กับประตูเล็ก ๆ ช่วงปลายกำแพงเชื่อมต่อระหว่างวิหารผังกากบาทด้านหน้าของหมู่ปราสาทกับระเบียงคด
ด้วยเพราะถูกชิ้นส่วนหินก่อของยอดกุฏีพังลงมาทับ ภาพสลักนางอัปสรา 2 จึงรอดพ้นมาจากการกัดกร่อนของน้ำฝนและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็ได้มีการแต่งเรื่องเล่ากันว่ารูปอัปสราที่มีความงดงามทั้ง 2 นี้ คือรูปของ “พระนางชยราชเทวี” (Jayarajadevī) และ“พระนางอินทรเทวี” (Indradevī) มเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (จากจารึกปราสาทพิมานอากาศ K.485) เวลาที่มีนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาในโซนนี้ ก็จะมีแม่ชีเป็นพนักงานนำทาง และบริการธูปจุดเทียนให้กราบไหว้และบริจาคตามแต่กำลังศรัทธา   
*** แต่เหมือนว่าคนแต่งเรื่องนี้จะลืมชื่อพระนาม “พระนางราเชนทรเทวี” (Rājendradevī) พระมเหสีองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชมารดาใน “เจ้าชายวีรกุมาร” (Śrī-Vīírakumāra) พระโอรสที่เป็นผู้ให้จารเรื่องราวต่าง ๆ ในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่เป็นจารึกสำคัญของปราสาทหลังนี้เอง
อาคารกุฎีที่มีรูปสลักนางอัปสรา ประดับผนังข้างซุ้มประตูที่งดงามนี้ คงเป็นอาคารที่มีความสำคัญด้วยเพราะเป็นด้านหน้า ทั้งสองรูปประดับอยู่คนละหลัง หลังทางทิศใต้ที่ยังมียอดอยู่ดูจะมีอายุมากกว่า แต่มีรายละเอียดความงดงามมากกว่ารูปบนผนังทางทิศเหนือ ที่ดูงานเครื่องประดับประดับเหมือนกับรูปสลักนางอัปสราที่ปราสาทบายน ที่เป็นงานฝีมือระดับช่างหลวงในยุคสมัยเดียวกัน (แต่ไม่ถูกฝนชะล้าง จึงไม่สึกกร่อนมากนัก)
ส่วนรูปอัปสราฝั่งด้านใต้ ที่ถูกหินหลังคาหล่นจากอีกหลังหนึ่งถล่มลงมาทับปิดไว้จนเหลือเพียงซอกหลืบเล็ก ๆ ดูมีอายุมากกว่า มีสันจมูกโด่ง มีช่องกลมที่คิ้วเหมือนเคยมีการประดับอัญมณี ขีดเส้นโค้งในตาเป็นลูกตาดำแบบเปิดตา ยิ้มที่มุมปากแบบบายน คางเป็นร่อง กรอศอและสังวาลเม็ดกลมต่อกันเป็นแถบสายใหญ่ พาดกลางร่องอกที่เต่งตึงลงมาแยกออกไปคล้องสะโพก คล้องสายมาลัยถักยาว (วนมาลา) หน้าท้องใต้สะดือ มีเส้นขีด 3 ริ้ว ในความหมายของผู้หญิงที่มีอายุ (หรือมีลูกแล้ว) นุ่งผ้าซิ่นยาวลายดอกไม้จีน ทิ้งชายพกเป็นริ้วหางปลาปลายแหลม รัดเข็มขัดมีพู่อุบะเป็นระยะ ด้านข้างรูปสลักเป็นช่องแยกของผนังหิน ที่กลายเป็นทางน้ำไหลทำให้ผนังโดนน้ำซึมจนหินสลักแตกกะเทาะออกไป
*** หากยิ่งยืนพินิจในความงดงามที่แตกต่าง ท่ามกลางความมืดสลัวของรูปอัปสรานางนี้  ก็ชวนให้เชื่อแล้วว่า นี่อาจเป็นภาพสลักที่ทำขึ้นอุทิศแก่ “พระนางราเชนทรเทวี-ชยราชเทวี” บนผนังของอาคารกุฎีปราสาท ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทพระขรรค์นี้จริง ๆ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love.

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ