วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

มนุษย์นาค

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
จาก “นาคราชา – มนุษย์นาค” ในยุคเริ่มแรกของโลก สู่วัดเจดีย์สี่ห้อง เมืองโบราณสุโขทัย
เรื่องราวของ “นาคราชา – มนุษย์นาค” นามว่า  “นันทะ-นนฺท”  (Nanda Nāga kings) และ “อุปนันทะ-อุปนนฺท” (Upananda Nāga – นาคผู้น้อง) ปรากฏครั้งแรกในพระสูตร “ลลิตวิสตระสูตร” (Lalitavistara Sūtra) อันเป็นคัมภีร์พุทธประวัติที่มีเรื่องราวอำนาจปาฏิหาริย์ของพระมหาโพธิสัตว์-พระศากยุมนี  ในนิกาย “สรวาสติวาท” (Sarvāstivāda) อันเป็นนิกายหนึ่งของสถวีรวาท (หีนยานหรือเถรวาทในยุคเริ่มแรก) ในแคว้นคันธาระ (Gandhara) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-6  
ต่อมาเรื่องราวของนาคราชา–มนุษย์นาค “นันทะ- อุปนันทะ” ยังปรากฏในวรรณกรรมและพระสูตรสันสกฤตของฝ่าย “นิกายมหาสังฆิกะ” (Mahāsāṃghika)  ที่ได้พัฒนามาเป็น “นิกายมหายาน” (Mahāyāna Buddhism) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7  ทั้งใน “ทิวฺยาวทาน”  (Divyāvadāna) วรรณกรรมประเภทอวทาน (Avadāna - ประวัติการกระทำบุญกุศลของบุคคลสำคัญ) ที่รวบรวมมาจาก “อวทานศตกะ” (Avadānaśataka ) และ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร” (Saddharma Puṇḍarīka Sūtra) ที่ได้ใช้เนื้อความพุทธประวัติจากลลิตวิสตระสูตรมาประกอบ
ในวรรณกรรมสันสกฤต กล่าวว่า “....พระกุมารได้ประสูติออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) เบื้องขวา พระอินทร์และพระสหัมบดีพรหมช่วยกันรับพระมหาโพธิสัตว์ผู้เป็นกุมารซึ่งอยู่ภายในผ้าไหมทิพย์... ทันทีที่ประสูติ พระโพธิสัตว์ก็ก้าวลงสู่พื้นดิน เมื่อทรงหย่อนพระบาทลงสู่แผ่นดิน ดอกปัทมะใหญ่ก็ชำแรกมหาปัฐพีขึ้นมา เมื่อใดก็ตามที่พระบาทของเขาแตะพื้น ดอกบัวดอกบัวทองคำล้วน ก้านเป็นแก้ว ขนาดเท่าล้อเกวียน มีพันใบ ถูกเนรมิตผุดขึ้นจากพื้นดินเพื่อรองรับทุกก้าวย่าง  ราชานันทะผู้ยิ่งใหญ่และอุปนันทะได้เปิดเผยร่างกายส่วนบนของพวกเขาในท้องฟ้าเนรมิตสายบัวเป็นท่อน้ำเย็นและน้ำอุ่นสองสายเพื่อสรงสนานแก่พระโพธิสัตว์ องค์สักกะพรหม โลกบาลและเทวบุตรอื่นอันมากหลายแสน ต่างได้สรงสนานด้วยเครื่องหอม...”
ในวรรณกรรมสันสกฤต “ทิวฺยาวทาน”ช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ของฝ่ายมหายาน ได้เล่าถึงพุทธประวัติตอน  แสดงเทศนา “พระสัทธรรมปุณฑริกสูตร” ของพระศากยมุนีบนยอดเขาคิชฌกูฏ (Gṛdhrakūṭa)  ใกล้กับกรุงราชคฤห์ (Râgagriha)  ให้กับเหล่าอดีตพระพุทธเจ้าและเหล่ามหาโพธิสัตว์ 80,000 องค์ รวมทั้ง พุทธบริษัทและสัตว์โลกทั้งสามภพ โดยมีนาคราชา “นันทะ-อุปนันทะ” เป็นสะพานสายรุ้ง ยกก้าน  “ปัทม – รัตนบัลลังก์” จากพื้นโลกขึ้นสู่สวรรค์ ซึ่งพระศากยุมนีได้ทรงจำแนกคำสอนออกเป็น 4 ส่วน เพื่อสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายให้บรรลุนิพพาน สำหรับคำสอนขั้นสูงเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์จะทรงสอนให้แก่เหล่าพระโพธิสัตว์เท่านั้น
------------------------------------------
*** งานศิลปะ “นาคราชา–มนุษย์นาค” ทางพุทธศาสนาในยุคเริ่มแรก จะนิยมสร้างรูปของราชานันทะและอุปนันทะ ในความหมายของผู้เป็นใหญ่ในปัฐพี (Pṛthvī)  ผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระศากยมุนี ผู้ปกป้องศาสนาสถาน – ทวารบาล (Dvarapala The Guardian) และผู้บันดาล-ประทานทรัพย์ศฤงคารจากใต้ปัฐพี (เพราะทองคำขุดได้จากใต้ดิน) ปรากฏเป็นงานศิลปะตามวิหารถ้ำเจติยสถานทางพุทธศาสนา (Cave temples and Monasteries) แบบถ้ำขุดเจาะ (Rock-cut) ในเขตเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats) ขอบที่ราบสูงเดกข่าน (Deccan Plateau) ในบริเวณรัฐมหาราษฏระ ที่มีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 4  ทั้งที่หมู่ถ้ำอาชันต้า (Ajanta) หมู่ถ้ำเอลโลร่า (Ellora)  หมู่ถ้ำออรังกาบัด (Aurangabad) หมู่ถ้ำการ์ลี (Karli) หมู่ถ้ำนาสิค (Nasik) หมู่ถ้ำกัณเหรี (Kanheri)  
--------------------------------
*** คติและศิลปะนาคราชา–มนุษย์นาค ในพุทธศาสนามหายานจากอินเดียตะวันตก ได้ส่งอิทธิพลต่อมายังลังกา ปรากฏเป็นรูป มนุษย์นาค–นาคราชา มาประกอบเข้ากับคติ “หม้อปูรณฆฏะ”(Pūrṇa-ghạta)   “หม้อน้ำที่ปริ่มด้วยความเจริญงอกงามไม่สิ้นสุด” สัญลักษณ์มงคลที่หมายถึง “ความอุดมสมบูรณ์” ร่วมกับรูป “คนแคระ” (คุหยกะ Guhyaka - Dwarf) 2 ตน นามว่า “มหาปัทมนิธิ - สังขนิธิ” (MahāpadmaNidhi  - Śaṅkha Nidhi – นิธิแปลว่าทรัพย์ ) บริวารรักษาทรัพย์ของท้าวกุเวร (Kúbera) ในช่วงยุคศิลปะอนุราธปุระ – โปโลนนารูวะ ของลังกา ราวพุทธศตวรรษที่  14 โดยมีเรื่องเล่าปกรณัมกำกับว่า มนุษย์นาค- นาคราชาคือผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา และเป็นผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ (ผ่านสัญลักษณ์หม้อปูรณฆฏะ) โดยมีคนแคระ-คุหยกะ ช่วยเป็นผู้อำนวยโชคลาภสักการะประทานพรความมั่งคั่งร่ำรวยแก่สาธุชนที่มากระทำบุญแก่ศาสนสถาน จึงพบรูปงานศิลปะของมนุษย์นาค- นาคราชถือหม้อปูรณะฆฏะร่วมกับคนแคระ ในตำแหน่งของทวารบาล ด้านหน้าทางเข้าศาสนสถาน  เช่นที่  วิหารอิสสุรุมุณิยะ (Issurumuniya ) หรือวิหารวฏะทาเค (Vatadage) วิหารลังกาดิลก (Lankatilaka Viharaya) มาจนถึงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 
---------------------------------
*** ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 งานศิลปะและคติมนุษย์นาค–นาคราชา จากลังกาตะวันตก ได้ถูกส่งต่อมายังเขตรัฐสุโขทัย ปรากฏรูปศิลปะของมนุษย์นาค – นาคราชาปูนปั้นประดับที่ฐานผนังของฐานล่างเจดีย์ประธาน “วัดเจดีย์สี่ห้อง” นอกเมืองโบราณสุโขทัยทางทิศใต้ แต่กลับไม่ปรากฏการใช้รูปของคนแคระ-คุหยกะคู่ อยู่ร่วมกับมนุษย์นาคแบบในงานศิลปะลังกา ไม่ได้จัดวางไว้ในตำแหน่งทวารบาลทางเข้า ทั้งยังปรับรูปลักษณ์กลายมาเป็นรูป 4 กร ซึ่งอาจหมายถึงพระโพธิสัตว์ในคติตันตระ หรือพระวิษณุในคติฮินดู ผสมกับคติเทพพนม ตามแบบศิลปะเขมร-สุโขทัย 
ศิลปะมนุษย์นาค–นาคราชา จากยุคเริ่มแรกในอินเดียตะวันตก ได้เดินทางจากลังกา มาจบลงที่วัดเจดีย์ 4 ห้อง เมืองโบราณสุโขทัย เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งยังเป็นมนุษย์นาคที่มี 4 กร เพียงแห่งเดียวในโลก ไปพร้อมกัน
ส่วนคตินาคราชา “นันทะ – อุปนันทะ” เดิม จากพระสูตรสันสกฤตของฝ่ายมหายาน ได้ถูกฝ่ายเถรวาท(Theravāda) ลังกาวงศ์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 สร้างวรรณกรรมบาลีขึ้นใหม่ รวมทั้งสองชื่อเข้าด้วยกัน กลายมาเป็น “พญานาคนันโทปนันทะ-นันโทปนันทนาคราช” (Nandopānanda)  ผู้มีฤทธาอำนาจมากตัวหนึ่ง แต่ได้ถูกพระมหาโมคคัลลานะเถระกำราบครับ 
เครดิต; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ