วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐาน ณ วัดป่าโมกวรวิหาร เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๔ ถนนป่าโมกราษฎร์บำรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
   พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ถือได้ว่าเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของประเทศไทย มีความยาวจากพระเมาลี ถึงปลายพระบาท ๒๒.๕๘ เมตร วัสดุก่ออิฐถือปูนปิดทอง เป๋็นของเก่าแก่คู่กันมากับวัด
   พระองค์นี้ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาน่าอัศจรรย์โดยเล่าขานมาว่าได้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ชาวบ้านบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับองค์พระพุทธไสยาสน์ว่าเป็น พระพุทธรูปพูดได้ โดยมีการจารึกผู้บันทึกก็คือ เจ้าคุณพระปาโมกข์มุนี ( เจิม อิสฺสโร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหาร 
   ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรคระบาดในบ้านป่าโมกตามลิขิต ของเจ้าคุณพระปาโมกข์มุนีเมื่อครั้งยังเป็นพระครูป่าโมกขมุนี ได้บันทึกไว้พอสรุปได้ว่า 
   เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ พระภิกษุโต พระในวัดป่าโมกป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโตซึ่งอยู่ที่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสีกาเหลียน สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออกมาจาก พระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่างๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน พระโตก็หายเป็นปกติ
   จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมก แต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม ๓๐ คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูป่าโมกขมุนีให้จุดไฟรอบวิหารพระนอนเพื่อดูว่ามีใครมาทำโพรงหลังพระนอนแล้วแอบซ่อนมาพูดกับสีกาเหลียนหรือไม่ แต่พระสงฆ์และโยมวัดก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น วันต่อมาสีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัดรวม ๓๐ คน พากันเข้ามาในวิหารพระนอน สีกาเหลียนจุดธูปเทียนและถวายหมากพลูแก่พระพุทธไสยาสน์ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ คือหมากพลูที่สีกาเหลียนถวายหายไปในเวลา ๒ นาที พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลายประสบกัยเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์ให้พูดคุยกับพระครูปาโมกขมุนี ปรากฏว่าก็เกิดเสียงจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์อีก โดยในวันนั้นพระครูปาโมกขมุนีได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบและเครื่องยาที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่พระครูปาโมกขมุนีถามทุกประการ
   ต่อมาใน วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๘ เมื่อเวลา ๔ ทุ่ม สีกาเหลียน พระครูป่าโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัด รวมแล้วมีทั้งหมด ๓๕ คน ได้เข้าไปตรวจดูในวิหารพระนอนอีกครั้ง ก็ไม่พบพิรุธใดๆ ทั้งสิ้น สีกาเหลียนจึงบอกกล่าวกับพระพุทธไสยาสน์ว่า พระครูป่าโมกขมุนีอยากคุยด้วยอีก ก็เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พระครูปาโมกขมุนีได้ได้ถามพระพุทธไสยาสน์ว่าจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระและวิหารขึ้นใหม่ ก็บังเกิดเสียตอบรับมาจากพระอุระของพระนอนอีก โดยพระพุทธไสยาสน์เกิดความยินดีที่พระครูป่าโมกขมุนีจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระนอนและวิหาร พระครูปาโมกขมุนีจึงได้เขียนจดหมายนี้เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖ ครั้งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แต่พระองค์มิได้เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงยังมิได้ถวายจดหมาย
   เมื่อครั้งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จแวะมาทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า " มีอำแดงคนหนึ่งไปบอกหลวงพ่อพระนอน ขอให้ช่วยรักษาลุงซึ่งป่วย พระนอนนั้นบอกตำรายา แต่มิได้ตอบทางพระโอษฐ์เสียงก้องออกมาจากพระอุระ พระครูไม่เชื่อจึงได้ลองพูดดูบ้าง ก็ได้รับคำตอบทักทายเป็นอันดี แต่นั้นมาพระครูได้รักษาไข้เจ็บป่วยด้วยยานั้น เป็นอะไรๆ ก็หาย ห้ามมิให้เรียกขวัญข้าวค่ายา นอกจากหมากคำเดียว " 
โคลงพระราชนิพนธ์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รัชกาลที่ ๓๑ แห่งอาณาจักรอยุธยา เรื่องการชะลอพระพุทธไสยาสน์ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถวายสมเด็จพระที่นั่งท้ายสร พระบรมเชษฐาธิราช เป็นจำนวนโคลง ๖๙ บท มีสำนวนตามบทที่ ๒ ดังนี้
  ตะวันลงตรงทิศทุกัง       แทงสาย 
เซราะฝั่งพงรหุรหาย         รอดน้ำ 
ขุดเขื่อนเลื่อนทลมทลาย  ริมราก 
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ         รูปร้าวปฏิมา 

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love.

    ตอบลบ