“สัปตมาตริกา” ศักติเทวีสงคราม-ผู้พิทักษ์ ทั้ง 7
“สัปตมาตริกา – สัปตะมาตฤกา - ซัปตามาตริกา” (Sapta mātṛka) พระแม่ทั้ง 7 (Seven Mothers)หรือ พระศักติเทวีทั้ง 7 (Seven Goddess Śakti – พลังศักดิ์สิทธิ์แห่งเพศหญิง Divine feminine power) ปรากฏเป็นวรรณกรรมที่ชัดเจนในคัมภีร์ปุราณะของฝ่ายฮินดู มาตั้งแต่ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา
กำเนิดของเหล่าเทวีผู้พิทักษ์ – เทวีสงคราม ทั้ง 7 ในแต่ละคัมภีร์ปุราณะของแต่ละนิกายจะแตกต่างกัน ในคัมภีร์ “เทวี มาหาตมัยยะ” (Devi Māhātmya) และ “มารกัณเฑยปุราณะ”(Mārkaṇḍeya Purāṇa) เล่าถึง อสูรสองพี่น้องนามว่า “ศุมภ์-ศุมภะ-ศุมภาสูร (śumbha - Shumbha) กับ “นิศุมภ์–นิศุมภะ-นิศุมภาสูร” (Niśumbha-Nishumbha) ได้ขอพระจากองค์พระศิวะ ให้ตายได้เฉพาะจากสตรีที่มิได้เกิดจากครรภ์มารดา ต่อมาได้นำกองทัพอสูรออกอาละวาดไปทั่วสามโลก แต่ดันมาถูกหลอกให้หลงรักพระแม่อัมพิกา (Ambikā –แบ่งภาคจากพระนางปราวตี) เทวีแสนงาม มาประทับอยู่ที่เขา “วินธัย” (Vindya) นางประกาศว่าจะแต่งงานกับผู้ที่รบชนะตนเท่านั้น สองอสูรจึงรีบนำกองทัพมาท้ารบ พระนางได้เหล่าเทพเจ้าแบ่งภาคศักติมาเป็นเทวีสัปตมาตริกา (จามุณฑา – จันตี พราหมณี มเหศวรี เกามารี ไวษณวี อินทราณี วราหิณี) ลงมาช่วยรบ จนทั้งสองอสูรพ่ายแพ้ แต่มีอสูรตนหนึ่งนามว่า “รัคตภีตะ”(Raktabīja) ได้รับพรให้สังหารไม่ตาย และหาเลือดหนึ่งหยดตกลงพื้นก็จะเกิดเป็นอสูร 1,000 ตนขึ้นมา พระนางกาลี - กาลราตรี (Kaalratri) จึงได้กำเนิดขึ้นจากพระนลาฏแห่งพระแม่ทุรคา เข้าสังหารอสูรได้อย่างไม่ยากเย็น และใช้ลิ้นยาวกวาดละอองเลือดที่ลอยอยู่ในอากาศ มากลืนกินเข้าไปในท้องจนหมด
ในนิกายศากตะ (Śakta - บูชาพลังพระแม่ศักติ) กล่าวว่า เหล่าเทวีนั้นเกิดขึ้นจากพลังศักติ (เพศหญิง) ของเหล่าเทพเจ้าผสมพลังของเทวีปารวตี ในครั้งที่เหล่าอสูรอันได้แก่ มหิษาอสูร ศุมภะ นิศุมภะ จันทร มุนดา ทูมรักษะ รัคตะบีชะ ฯลฯ ที่ล้วนแต่ได้รับพรจากพระพรหม รวบรวมเหล่าอสูรร้ายบุกขึ้นสู่สวรรค์ เหล่าเทพเจ้าได้รวมตัวกันต่อสู้ โดยพระนางปารวตี ได้แปลงรูปเป็นพระแม่อาทิปาราศักติ 18 พระกรหรือพระแม่ทุรคาเทวี เหล่าเทพเจ้าจึงได้แยกภาคของพลังอิตถีศักติของตนออกมาเป็นเทวีสัปตมาตริกา ทั้ง 7 องค์ เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับเหล่าอสูรร้ายจนประสบชัยชนะ
ในปกรณัมเรื่อง “อันธกาสุรวธามูรติ” (Andhakasura-vadha-murti) และ “คชอสูราสังหาระมูรติ” (Gajasurasamhara Murti) จาก “มัตสยาปุราณะ” (Matsya Purāṇa ) เล่าถึงเรื่องราวการปราบ “อันธกาสูร” (Andhakasura) บุตรซึ่งเกิดจากพระเสโทของพระศิวะ ที่ได้รับการประสาทพรจากพระพรหมว่า จะสิ้นชีพก็ต่อเมื่อบังเกิดความรักต่อสตรีที่เปรียบเสมือนมารดา และหากถูกอาวุธใด ๆ จนมีเลือดออกจากร่างไม่ว่าจะมากหรือน้อย หยดเลือดนั้นจะกลายเป็นตัวอสูรอันธกะตนใหม่ขึ้นมาไม่สิ้นสุด พระศิวะจึงแบ่งภาคศักติมาเป็นพระแม่โยเกศวรี (มเหศวรี) และขอให้เหล่าเทพแบ่งภาคศักติมาเป็น พระแม่สัปตมาตริกาทั้ง 7 ประกอบด้วย ไวษณวี พราหมณี เกามารี อินทราณี วราหิ นาราซิมฮี (นรสิงหิณี) (หรือพระลักษมี) ลงมาช่วยรบกับอันธกาสูรมาช่วย คอยกินเลือดอสูรเพื่อไม่ให้กลายร่างขึ้นมาใหม่ แต่สู้ไม่ได้ จึงต้องขอให้พระวิษณุมาช่วยใช้สุทรรศนจักรตัดหัวอันธกาสูร โดยพระองค์ได้เนรมิตถ้วยรองรับโลหิตของอสูรทั้งหมดเอาไว้ และ ตอนที่พระศิวะเปลี่ยนภาคเป็น “มหาวีรภัทร” (Mahā Virabhadra) สังหารอสูรช้างนิลา (Nila) บริวารเอกของอสูรอันธกะ
---------------------------------------------
สัปตมาตริกา - เทวีสงคราม ทั้ง 7 ในปุราณะยุคแรก ประกอบด้วย “พระแม่พราหมณี (Brahmani) กำเนิดขึ้นจากศักติแห่งพระพรหม ถือหม้อน้ำกมัณฑลุ ทรงหงส์เป็นวาหนะ “พระแม่มเหศวรี” (Maheshwari) กำเนิดขึ้นจากศักติแห่งพระศิวะ ถือตรีศูล ทรงโคอุสุภราชเป็นวาหนะ “พระแม่เกามารี” (Kaumari) กำเนิดขึ้นจากศักติแห่งพระสกันทะ ถือหอก ทรงพญานกยูงเป็นวาหนะ “พระแม่ไวษณวี” (Vishnavi) กำเนิดขึ้นจากศักติแห่งพระวิษณุ ถือจักร ทรงพญาครุฑเป็นวาหนะ “พระแม่วราหิ” (Varahi) เกิดจากศักติแห่งพระยมราช มีพระพักตร์เป็นสตรีงามหรือหมูป่า ทรงหมูป่าหรือบังลังก์ป็นพาหนะ (แต่ในคัมภีร์มัสยาปุราณะอธิบายว่าพระแม่วราหิณี กำเนิดขึ้นจากพลังศักติแห่งพระวราหะ มีพระเศียรเป็นหมูป่า ซึ่งเป็นอวตารปางที่ 3 ของพระวิษณุ เรียกว่า “ปัญจามี” (Panchami) –ในความหมายลำดับที่ 5 ของเหล่าเทวีสัปตมาตริกา มีกระบือเป็นพาหนะ) “พระแม่อินทิราณี” อินทราณีหรือไอณทรี (Indirani) กำเนิดขึ้นจากศักติแห่งพระอินทร์ ถือวัชระ ทรงพญาช้างเป็นวาหนะ และ“พระแม่จามุณฑา-จันตี-จามุณฑี-จัณฑิกา-จามุนเดศวรี” (Chamundi–Charchika -Caṇḍī-Caṇḍika) กำเนิดขึ้นจากพระแม่อาทิปาราศักติ (ทรุคา-กาลี) พระพักตร์ดุร้าย ทรงกระบือเป็นวาหนะ เหยียบบนหัวอสูร
ในปุราณะและงานศิลปะฝ่ายไวษณพจะนิยมใช้ “พระนางลักษมี” (Lakshmi) ถือดอกบัว ทรงนกฮูก แทนพระนางจามุณฑา ในคติไศวะนิกาย บางศิลปะก็ปรากฏ“พระแม่นารายซิมฮี – นรสิงหิณี” (Narasimhi) ที่กำเนิดขึ้นจากพลังศักติของพระนรสิงห์ หรือ “พระแม่คเณศาณี – วินายกี” (Ganeshani -Vināyaki) ที่กำเนิดขึ้นจากพลังศักติของพระคเณศ
คติความเชื่อเรื่องศักติเทวีสัปตมาตริกา ยังคงได้รับความนิยมในอินเดียและเนปาลมาจนถึงในปัจจุบัน ผู้คนจะบูชาพระแม่ทั้ง 7 เพื่อการขอพรให้ปกป้องดูแลลูกหลาน ดังจะเห็นว่ารูปสลักของเหล่าเทวีในยุคโบราณนั้น จะประคองรูปเด็กมาตั้งแต่ในยุคคุปตะ สัปตมาตริกาจึงเป็นพระแม่-มารดาที่มีความเมตตากรุณา คอยดูแลปกป้องคุ้มครองทารกเกิดใหม่ให้แข็งแรงปลอดภัยมาโดยตลอด
--------------------------------------------------
*** งานศิลปะจากคติและปกรณัมศักติเทวีสงคราม ผู้พิทักษ์ทั้ง 7 ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (ที่ยังดูสมบูรณ์) อาจอยู่ที่ผาหินทรายใกล้กับหมู่บ้านบาโดล (Badoh) ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเวทิศา (Vidisha) ในรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) ประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นภาพเทวีสัปตมาตริกาทั้ง 7 ประทับบนเก้าอี้ มีพระศิวะเป็นประธาน ศิลปะแบบราชวงศ์คุปตะ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10
ภาพศิลปะเทวีสัปตมาตริกาที่มีความงดงามที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุด คงเป็นภาพสลักบนผนังเทวาลัยถ้ำ “ราเมศวร” (Ramesvara) ถ้ำเอลโลร่าที่ 21 รัฐมหาราษฏระ ในยุคพระเจ้ากฤษณะราชา (Krishnaraja) ราชวงศ์ฮินดูกาลาจูลี – กันยารี (Kalachuri) ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 มีภาพสลักศิวนาฏราช ภาพพระศิวะ- วีณาธรมูรติ (Veenadhara Murti) เป็นประธาน (มีรูปโคนนทิกำกับที่ฐานล่าง) พระแม่พรหมมณี พระแม่มเหศวารี พระแม่เกามารี พระแม่ไวษณวี พระแม่วราหิ (ในพระพักตร์แบบสตรีผู้มีเมตตา มีรูปหมูป่ากำกับด้านล่าง) พระแม่อินทิราณี และพระแม่ลักษมี โดยมีรูปพระคเณศ – พระคณปติ (ผู้เป็นประธาน) ปิดท้ายทางขวา ผนังติดกันสลักเป็นภาพของพระนางกาลี (ในร่างภูติผีที่น่าหลาดกลัว)
ยังมีภาพสลักเทวีสัปตมาตริกาบนผนังในห้องคูหาปีกตะวันออก “ถ้ำเอเลเฟนต้า” (Elephanta Cave) บนเกาะช้าง ใกล้เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ งานศิลปะในช่วงราชวงศ์ฮินดูกาลาจูลี กลางพุทธศตวรรษที่ 12
เช่นเดียวกับที่ถ้ำราเมศวร แสดงภาพสลักของเหล่าเทวีสัตปมาตริกา มีภาพพระคเณศและพระศิวะเป็นประธานที่ผนังด้านข้าง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพสลักจำนวนมากในถ้ำนี้ได้ถูกทหารโปรตุเกสและพวกมุสลิมเข้าทำลายอย่างยับเยินในช่วงเวลาหนึ่ง
ภาพสลักบนผนังเทวาลัย ถ้ำเอลโลร่าที่ 14 ในยุคราชวงศ์ราชฐากุฏะ (Rashtrakuta) ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 มีภาพพระศิวะเป็นประธานที่ผนังด้านซ้าย ผนังกลางแสดงภาพของเหล่าเทวีสัปตมาตริกาคู่กับรูปเด็ก เริ่มต้นจาก พระแม่พรหมมณี (รูปหงส์ที่ฐาน) พระแม่มเหศวรี (รูปวัว) พระแม่เกามารี (รูปนกยูง) พระแม่ไวษณวี (รูปครุฑ) พระแม่วราหิ (รูปหมูป่า) พระแม่อินทิราณี (รูปช้าง) พระแม่ลักษมี (รูปนกฮูก) จบที่พระคณปติ (พระคเณศ – รูปขนมโมทกะ) โดยทางขวาสุดเป็นภาพของพระนางกาลีในร่างภูตผีที่น่าสะพรึงกลัว
ภาพสลักของเทวีสัปตมาตริกาตามเรื่องราว “อันธกาสุรวธามูรติ” ยังปรากฏที่ผนังฐานเทวาลัยไกรลาสนาถ ถ้ำเอลโลร่าที่ 16 รัฐมหาราษฏระ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากฤษณะที่ 1 ในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 13 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 มีรูปของเหล่าเทวีนั่งอยู่ที่ปลายพระบาทของพระมหาวีรภัทร ร่วมกับรูปของพระนางกาลีกำลังร่ายรำ สังหารอสูรช้าง “คชอสูราสังหาระมูรติ” แผ่หนังอสูรช้างนิลาออกโดยรอบ
ในบางคติ-ศิลปะของเทวีสัปตมาตริกาที่เป็นรูปประติมากรรม โดยเฉพาะในคติไศวนิกาย ได้เปลี่ยนเอาพระแม่ลักษมีออกไปจากลำดับท้ายสุดมาเป็นพระนางจามุณฑา ในรูปของพระแม่กาลี บางรูปสลักก็จะวางรูปของพระศิวะไว้ด้านหน้าและมีเป็นประธานพระคเณศอยู่ด้านหลัง หรือวางเฉพาะพระศิวะไว้ด้านหน้าเท่านั้นครับ
---------------------------------------
*** งานศิลปะและคติเทวีสัปตมาตริกาจากอินเดีย ยังปรากฏอิทธิพลในวัฒนธรรมเขมรโบราณ แต่ก็คงไม่เป็นที่นิยมมากนัก ดังที่พบภาพสลักบนทับหลังในงานศิลปะบาปวนชิ้นหนึ่ง (ปัจจุบันหายสาบสูญไปแล้ว ?) และ ภาพปูนปั้นของศักติเทวีในกลุ่มสัปตมาตริกา ประดับผนังข้างซุ้มประตูปราสาทบริวารฝั่งทิศใต้ของปราสาทแปรรูป (Pre Rup)
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_