วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กัณฑ์วนประเวศน์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

วนประเวศน์

ข้อคิดประจำกัณฑ์  กัณฑ์วนประเวศน์

สี่กษัตริย์ต้องเดินดง ตั้งพระทัยมุ่งตรง
สู่เขาวงกต เพื่อจะทรงบำเพ็ญพรตเป็นฤาษี
  1.  ยามเข็ญใจ-ยามจน  ยามเจ็บ,ยามเจ๊ง,ยามจาก,เป็นยามที่ควรจะได้รับความเหลียวแลจากหมู่มิตร
  2.  ผลดีของมิตร คือ... ไม่ทอดทิ้งในยามเพื่อนทุกข์ ช่วยอุ้มชูยามเพื่อนอ่อนล้า ช่วยฉุดดึงยามเพื่อนตกต่ำ ช่วยค้ำยันยามเพื่อนสูงขึ้น
  3.  น้ำใจของคนดี-หากรู้ชัดว่าปกติสุขของคนส่วนมากจะตั้งอยู่ได้ เพราะการเสียสละของตน ก็สมัครสลัดโอกาสและโชคลาภอันพึงจะได้ ด้วยความแช่มชื่น
  4.  กัณฑ์วนประเวศน์


 ความย่อ

กัณฑ์ที่ 4 วันประเวศน์ มี 57 พระคาถา
พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระนางมัทรี และพระโอรสเสด็จดำเนินจาก พระนครสีพีด้วยความลำบากตลอดทาง ที่สุดก็ถึงเมืองเจตราชดังประสงค์ จึงแวะเข้าประทับพักพระกายอยู่ที่ศาลาหน้านคร
ครั้นชาวนครเจตราชได้เห็น และทราบความจริงก็ตกใจรีบส่งข่าวสารกราบทูลกษัตริย์นครเจตราช ต่อนั้นบรรดากษัตริย์ขัตติยวงศ์ทั้งหมด ก็พากันเสด็จออกมาเฝ้าเยี่ยม แล้วทูลว่า
เทว  ข้าแต่พระร่มเกศตระกูลแก่นกษัตริย์  อันว่าสิ่งสรรพพิบัติบีฑา พระร่มเกล้ายังค่อยครองพาราเป็นบรมสุข  สิ่งสรรพทุกข์ย่ำยีทั้งองค์สมเด็จพระชนนีนาถยังค่อยเสวยสุขนิราศโรคันตรายทั้งประชาชนชาวสีพีราชทั้งหลายไม่เดือดร้อน ยังค่อยเป็นสุขถาวรอยู่ฤาพระพุทธเจ้าข้า?
นุ  ดังเข้ามาสงกากินแหนงในยุบลเหตุ ดังฤาพระจอมปิ่นปกเกศมาเดินไพรนิราศร้างแรมไร้พระพารา ปราศจากจตุรงค์คณานิกรราชรถ ทั้งม้ามิ่งมงคลคช ที่เคยทรง มาดำเนินแต่สี่พระองค์ดูอนาถ   ฤาว่ามีหมู่อินทร์ราชมาราวี  เสียพระนครสีพีพินาศแล้ว  ทูลกระหม่อมแก้วจึงจากพรากพลัดขัตติวงศ์มาบุกป่าฝ่าพงพูนเทวษจนถึงนคเรศ ข้าพระบาทของพระองค์จงตรัสประภาษให้ทราบเกล้า แต่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเถิด
พระเวสสันดรได้ทรงสดับสาร จึงมีพระราชบรรหารเฉลยเหตุว่า ดูกรพระสหายผู้ผ่านนคเรศเจตราช เราขอบพระทัยที่ท่านไต่ถามถึงประยูรญาติราชปิตุรงค์ ซึ่งท้าวเธอก็ทรงสุขสถาพร ทั้งประชาชนชาวสีพีราชไม่เดือดร้อนระงับภัย ซึ่งเรานิราชเวียงชัยมาสู่ป่า เพราะว่าเราทรงพระราชศรัทธามาเสียสละ พระยาเศวตกุญชรพาหนะพระที่นั่งต้น อันเป็นสีสวัสดิ์มงคลคู่นคร แก่พราหมณ์ทิชากรกลิงคราษฎร์  ชาวพระนครเขามิยอมอนุญาตชวนกันกริ้วโกรธ ยกอธกรณ์โทษทูลพระปิตุเรศ ท้าวเธอจึงสั่งให้เนรเทศเราจากพระพาราด้วยเราทำผิดขัตติยราชจรรยาอย่างบุราณ
จ. พระพุทธเจ้าข้า  พระองค์เสด็จเดินพนัสกันดารดูลำบาก เป็นกษัตริย์ตกยากมิควรเลย ขอเชิญเสด็จหยุดพักพอเสวยสุทธาโภชน์สิ่งสรรพรสเอมโอชกระยาหาร ให้บรรเทาที่ทุกข์ทรมานลำบากองค์
ว. จึงตรัสว่า ประชาชนเขาแค้นเคืองทูลให้เนรเทศ เรานิราชมาแรมไพร พระบิดาก็มิได้เป็นใหญ่แต่พระองค์ ย่อมประพฤติโดยจำนงชาวสีพีราชถึงว่าท่านจะไปทูลให้ท้าวเธออนุญาตให้คืนกรุง ชาวเมืองก็จะหมายมุ่งประทุษจิตในสมเด็จบรมบพิตรผู้ร่มเกล้า เพราะเหตุด้วยรับเราเข้าคืนนคร
จ. พระพุทธเจ้า  เมื่อมิพอพระทัยคืนพระพิไชยเชตุดรก็ตามแต่พระอัยกาจะขอเชิญเสด็จขึ้นผ่านพระพาราเจตราช  เป็นจอมมิ่งมงกุฎ มาตุลนคร เป็นปิ่นปกประชากรเกษมสุข มิให้ท้าวเธอเสด็จไปทนทุกข์ที่กลางดง อันข้าพระบาทจะขอรองบทบงสุ์บรมกษัตริย์
ว. ครั้นพระองค์ได้ฟัง จึงตรัสบัญชาต่อว่า ซึ่งท่านจะมามอบเมืองเจตราช ให้แก่เราในครั้งนี้ เราก็มิได้มีพระทัยยินดีที่จะเสวยสิริสมบัติ ด้วยชาวเชตุดรเขาแค้นขัดให้เนรเทศ ท่ายจะมามอบนคเรศให้ครอบครองพระนครทั้งสองสิเป็นราชสัมพันธมิตร ก็จะเกิดกลวิปริตร้าวฉาน จากจารีตบุราณแต่ปางก่อน จะไม่สมัครสโมสรเสียประเพณี จะเกิดมหาโกลาหลเดือดร้อนทุกไพร่ฟ้าประชากรทั้งสองฝ่ายต่างจะมุ่งหมายประทุษกัน ก็จะเกิดมหาพิบัติภัยยันต์ไม่มีสุขเหตุด้วยเราผู้เดียว จะมานำทุกข์ให้ท่านทั้งปวง สมบัติอันใดในเมืองหลวงเจตราช ซึ่งท่านทั้งหลายมาอนุญาตยกให้  เราขอคืนถวายให้เสวยสุข ท่านจงอยู่นฤทุกข์อย่ามีภัย อันตัวเรานี้จะลาไปสู่วงกตจะทรงประพฤติพรหมพรตอิสีเพศ  เชิญท่านช่วยแนะแนววิถีทุเรศให้เราจรไปยังวงกตสิงขรโน้นเถิดฯ
เมื่อกษัตริย์เจตราชทั้งหลาย  ทูลเบี่ยงบ่ายจะเชิญเสด็จไว้  ครั้นแล้วท้าวเธอมิตามพระทัยก็สุดคิด  จึงทูลเชิญสมเด็จบรมบพิตรให้ประเวศพระนคร  หวังจะให้เสวยสุข  ไสยากรเกษมอาสน์  ต่อเวลาสุริโยภาสจึงค่อยครรไล
ท้าวเธอก็ถ่อมพระองค์ว่า  เข็ญใจไร้ศักดิ์มิได้เสด็จเข้าไปสำนักในพระพาราฯลฯ
ที่สุดกษัตริย์เจตราชก็ให้ตกแต่งศาลาที่ประทับปิดบังด้วยม่านแล้ว  ถวายอารักขาให้ดีที่สุด  จนสว่างแล้วถวายพระกระยาหารให้เสวย  ครั้นเสร็จแล้ว  ทูลอัญเชิญไปยังประตูป่า  ต้นทางที่จะไปยังเขาวงกตแล้วแนะนำมรรคาให้ทรงกำหนดหมายแล้วทรงตั้งเจตบุตรพรานไพร  ให้เป็นพนักงานรักษาประตูป่าถวายอารักขาคุ้มภัยให้เป็นพิเศษด้วย
ต่อนั้น พระเวสสันดรและพระนางมัทรีก็อำลากษัตริย์เจตราชอุ้มพระโอรสดำเนินไปตามแนวทางที่กษัตริย์เมืองเจตราชถวายคำแนะนำไว้ทรงพบพรานเนื้อพรานได้ถวายเนื้อย่าง พระเวสสันดรได้ประทานปิ่นทองเป็นรางวัลแล้วเสด็จต่อไปจนถึงเขาวงกต  พบศาลาอาศรมบทซึ่งพระวิษณุกรรม  เทพบุตรมานิรมิตตามเทวบัญชาของท้าวอัมรินทร์เทวาธิราช ก็ทรงโสมนัสที่สุด ทั้งสี่กษัตริย์ก็ทรงผนวชเป็นฤาษี สำนักอยู่ในอาศรมนั้นเสวยสุขตามควรแก่ถิ่นฐานทรงดำรงชีพด้วยผลาซึ่งนางมัทรีเป็นพนักงานแสวงหารจำเนียงกาลนานถึง ๗ เดือน   โดยกำหนด
จบความย่อ
ปี่พาทย์ทำเพลงพญาเดิน
อานิสงส์
ผู้บูชากัณฑ์วนประเวศน์  จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า  จะได้เป็นบรมกษัตริย์ในชมพูทวีปเป็นผู้ทรงปรีชาเฉลียวฉลาดสามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไป

2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ