ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
เรื่องปลาชื่อกปิละ ตัวเป็นทอง แต่ปากเหม็นมาก เพราะทำกรรมดีและกรรมชั่วคละกัน
เหตุแห่งปากเหม็น
คนบางคน หรือสัตว์บางตัว มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยทางร่างกายในตัว ทั้งนี้ก็เพราะว่าเคยทำกรรมทั้งดีและชั่วคละเคล้ากันมาเมื่อครั้งอดีตชาติ ดังเช่นเรื่องของปลากปิละตัวนี้
เรื่องนี้ถูกนำขึ้นมาเป็นประเด็น เมื่อคราวที่พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภปลาชื่อกปิละ ตรัสพระธรรมเทศนาที่ขึ้นต้นด้วยคำนี้ว่า มนุชสฺส เป็นต้น
ในอรรถกถาพระธรรมบทเล่าเรื่องว่า ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่ากปิละ เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เพราะความเป็นพหุสูตทำให้พระกปิละมีลาภสักการะและบริวารมาก และได้กลายเป็นคนหัวดื้อสำคัญตนว่ามีความฉลาดมากกว่าภิกษุอื่น อะไรที่เหมาะที่ควร พระกปิละก็บอกไม่เหมาะไม่ควร ส่วนอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร พระกปิละก็บอกว่าเหมาะว่าควร
เมื่อภิกษุทั้งหลายมีความเห็นแตกต่างตรงกันข้ามว่ากล่าวตักเตือน พระกปิละก็จะโต้ตอบว่า เป็นคำวิจารณ์ของพวกไม่มีความรู้ ด้วยเหตุนี้พวกภิกษุผู้มีศีลจึงทอดทิ้งไม่ยอมคบหากับพระกปิละ ในขณะที่พระทุศีลทั้งหลายพากันไปแวดล้อมพระกปิละ
ในวันอุโบสถวันหนึ่ง ขณะที่พระทั้งหลายกำลังสวดพระปาฏิโมกข์อยู่นั้น พระกปิละกล่าวว่า ไม่มีธรรม ไม่มีวินัย จะมีประโยชน์อะไรกับการที่จะฟังหรือไม่ฟังพระปาฏิโมกข์ จากนั้นก็ได้ลุกขึ้นจากอาสนะไม่ฟังพระปาฏิโมกข์
เพราะผลของอกุศลกรรมครั้งนี้ ทำให้พระกปิละได้ไปเกิดในอเวจีมหานรกในระหว่างสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า ในกาลต่อมา พระกปิละได้มาเกิดเป็นปลาใหญ่ในแม่น้ำอจิรวดี ตัวมีสีเหมือนทองคำ แต่มีปากเหม็นมาก
วันหนึ่งปลาตัวนี้ถูกชาวประมงจับได้ และเพราะเป็นปลาตัวใหญ่มากและมีตัวเหลืองอร่ามเหมือนทอง จึงได้ถูกนำขึ้นเรือไปขึ้นน้อมเกล้าถวายพระราชา พระราชาได้ทรงนำปลาประหลาดตัวนี้ไปยังสำนักพระศาสดา เมื่อปลาอ้าปากออกเท่านั้น ทั่วทั้งวัดพระเชตวันก็เหม็นคละคลุ้ง
พระราชากราบทูลถามพระศาสดาถึงสาเหตุที่ปลาตัวนี้มีกลิ่นปากเหม็นมาก พระศาสดาได้ตรัสกับพระราชาและมหาชนที่มาชุมนุมกันว่า “มหาบพิตร ปลานี้ ได้เป็นภิกษุชื่อกปิละ เป็นพหูสูต มีบริวารมาก ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ถูกความทะยานอยากในลาภครอบงำแล้ว ด่าบริภาษพวกภิกษุผู้ไม่ถือคำของตน ยังพระศาสนา ของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ให้เลื่อมลงแล้ว เขาบังเกิดในอเวจีด้วยกรรมนั้นแล้ว บัดนี้เกิดเป็นปลาด้วยเศษแห่งวิบาก ก็เพราะเธอบอกพระพุทธวจนะ กล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน จึงได้อัตตภาพมีสีเหมือนทองคำนี้ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เธอได้เป็นผู้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของเธอ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น”
พระศาสดาได้ตรัสถามปลากปิละว่าในชาติหน้าจะไปเกิด ณ ที่ไหน ปลากปิละกราบทูลว่า จะกลับไปเกิดในอเวจีมหานรกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกราบทูลจบ มันก็ได้สะบัดหัวของตัวเองฟาดกับเรือจนเสียชีวิต สร้างความสังเวชและสยดสยองให้แก่มหาชนที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้น
พระศาสดาทรงตรวจดูวารจิตของมหาชน ที่มาชุมนุมกันอยู่นั้นแล้ว ทรงทราบว่าธรรมที่เหมาะสมกับอัธยาศัยของพวกเขาคือความใน กปิลสูตร ในสุตตนิบาต จึงตรัสว่า “นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้กล่าวการประพฤติธรรม 1 การประพฤติพรหมจรรย์ 1 นั่น ว่าเป็นแก้วอันสูงสุด” จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สี่พระคาถานี้ว่า
มนุชสฺส ปมตฺตจาริโน ตณฺหา วฑฺฒติ มาลุวา วิย โส ปริปฺลวติ หุราหุรํ ผลมิจฺฉํว วนสฺมึ วานโร ฯ
(อ่านว่า) มะนุชัดสะ ปะมัดตะจาริโน ตันหา วัดทะติ มาลุวา วิยะ โส ปริบละวะติ หุราหุรัง ผะละมิดฉังวะ วะนัดสะหมิง วานะโร.
ยํ เอสา สหตี ชมฺมี ตณฺหา โลเก วิสตฺติกา โสกา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ อภิวุฏฺฐํว วีรณํ ฯ
(อ่านว่า) ยัง เอสา สะหะตี ชัมมี ตันหา โลเก วิสัดติกา โสกา ตัดสะ ปะวัดทันติ อะพิวุดถังวะ วีระนัง.
โย เจตํ สหตี ชมฺมี ตณฺหํ โลเก ทุรจฺจยํ โสกา ตมฺหา ปปตนฺติ อุทพินฺทุว โปกฺขรา ฯ
(อ่านว่า) โย เจตัง สะหะตี ชัมมี ตันหัง โลเก ทุรัดจะยัง โสกา ตัมหา ปะตันติ อุทะพินทุวะ โปกขะรา.
ตํ โว วทามิ ภทฺทํ โว ยาวนฺเตตฺถ สมาคตา ตณฺหาย มูลํ ขนถ อุสีรตฺโถว วีรณํ มา โว นฬํ โสโตว มาโร ภญฺชิ ปุนปฺปุนํ.
(อ่านว่า) ตัง โว วะทามิ พัททัง โว ยาวันเตดถะ สะมาคะตา ตันหายะ มูลัง ขะนะถะ อุสีรัดโถวะ วีระนัง มา โว นะรัง โสโตวะ มาโร พันชิ ปุนับปุนัง.
(แปลว่า)
ตัณหา ดุจเถาย่านทราย ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประพฤติประมาท เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยใหญ่ ดังวานรตัวปรารถนาผลไม้โลดไปในป่า ฉะนั้น.
ตัณหานั่นเป็นธรรมชาติลามก มักแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆในโลก ย่อมครอบงำบุคคลใดได้ ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดุจหญ้าคมบางอันฝนตกรดแล้วเจริญอยู่ ฉะนั้น.
แต่ผู้ใด ย่อมย่ำยีตัณหานั่น ซึ่งเป็นธรรมชาติลามก ยากที่ใครในโลกจะล่วงไปได้ ความโศกทั้งหลาย ย่อมตกไปจากผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำฝนตกไปจากใบบัว ฉะนั้น.
เพราะฉะนั้น เราบอกกะท่านทั้งหลายว่า ความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่ประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ท่านทั้งหลาย จงขุดรากตัณหาเสียเถิด ประหนึ่งผู้ต้องการแฝก ขุดหญ้าคมบางเสีย ฉะนั้น มารอย่าระรานท่านทั้งหลายบ่อยๆ ดุจกระแสน้ำระรานไม้อ้อ ฉะนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง บุตรของชาวประมงทั้ง 500 ถึงความสังเวช ปรารถนาการทำที่สุดแห่งทุกข์ จึงบวชในสำนักพระศาสดา และทำที่สุดแห่งทุกข์ ต่อกาลไม่นานเท่าไร หลังจากนั้นทุกท่าน เป็นผู้ปฏิบัติอเนญชาวิหารธรรมและสมาปัตติธรรมเช่นเดียวกับพระศาสดา.
|
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_