ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
นายภัตตภติกะ ได้ดำแหน่งเศรษฐีในแบบทันตาเห็น เพราะถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ
ในเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบท เรื่องสุขสามเณร พระพุทธโฆษาจารย์ เล่าถึงอดีตชาติของบิดาของสุขสามเณรไว้ว่า
มีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อคันธเศรษฐี เป็นชาวเมืองพาราณสี มีทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาล ไม่ชอบทำบุญสุนทาน ชอบหาความสุขใส่ตน ดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ท่านเศรษฐีมีคฤหาสน์หลังใหญ่โต มีเครื่องใช้ไม่สอยในบ้านล้วนหรูหราราคาแพงๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ โต๊ะอาหาร เก้าอี้ ถาดใส่อาหาร ห้องอาหาร ตั่งรองถาดอาหาร สิ่งของเหล่านี้ล้วนแต่ละอย่างมีราคาเหยียบแสนกหาปณะ ส่วนค่าอาหารแต่ละมื้อของเศรษฐีก็แพงมากถึงมื้อละเหยียบพันกหาปณะ และในเวลาเศรษฐีรับประทานอาหารก็จะมีคนมาฟ้อนรำขับร้องให้ดูให้ชมด้วย ก่อนที่เศรษฐีจะลงมือรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ก็จะมีประชาชนมาคอยดูความโอ่อ่าอลังการในการรับประทานอาหาร ทั้งนี้ก็พราะเศรษฐีจะส่งคนไปตีกลองป่าวประกาศเรียกให้คนให้มาดูความโอ่อ่าและฟุ่มเฟือยในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อของตนนั่นเอง
ครั้งนั้นก็มีชาวบ้านนอกฐานะยากจนคนหนึ่ง ขับเกวียนบรรทุกฟืนและของป่าเข้ามาขายในเมืองพาราณสี และได้มีโอกาสมาเห็นการรับประทานอาหารอันแสนจะโอ่อ่าหรูหราของคันธเศรษฐี ก็นึกอยากจะได้รับประทานอาหารอย่างนั้นสักมื้อบ้าง แต่ด้วยเหตุที่ตัวเองเป็นคนยากคน ไม่มีทางจะมีเงินพอจะซื้อหาอาหารที่มีราคาแพงถึงขนาดนั้นได้ จึงได้ไปตกลงยอมเป็นคนใช้ของคันธเศรษฐีอยู่เป็นเวลายาวนานถึงสามปี เขาทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ทนหนักเอาเบาสู้ และได้สะสมค่าจ้างแรงงานเก็บไว้ในบัญชีครบหนึ่งพันกหาปณะ คันธเศรษฐีก็ได้จ่ายทรัพย์หนึ่งพันนั้นให้คนตระเตรียมอาหารเพื่อให้นายภัตตภติกะรับประทาน และมอบเครื่องใช้สอยไม้สอยที่มีราคาแพงในบ้านสำหรับการรับประทานของตนทุกอย่างให้แก่เขาด้วย
ขณะที่นายภัตตภติกะกำลังล้างมือเตรียมจะนั่งรับประทานอาหารมื้อโอ่อ่าหรูหราของตนอยู่นั่นเอง พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ซึ่งเพิ่งออกจากสมาบัติ เหาะมาจากภูเขาคันธมาทน์ มายืนอยู่ในท่ามกลางของผู้คนที่มายืนชมการรับประทานอาหารของนายภัตตภติกอยู่นั้น พอนายภัตตภติกะเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใส มีความคิดว่า ก็เพราะเขาไม่เคยทำบุญให้ทานมาก่อน ในชาตินี้ถึงได้มาเกิดเป็นคนยากจน ต้องมาเป็นคนรับใช้ของเศรษฐีอยู่ยาวนานถึง 3 ปี ก็ได้แค่อาหารมื้อเดียวเท่านี้เอง หากเขารับประทานอาหารมื้อนี้ มันก็จะเข้าไปอยู่ในท้องของเขาแค่วันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้นเอง พอพรุ่งนี้มันก็จะกลายเป็นอุจจาระ แต่หากเขาถวายอาหารมื้อนี้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็จักเป็นบุญกุศลส่งเป็นอานิสงส์นานถึงพันโกฏิกัปแน่ๆ
คิดเช่นนี้แล้วนายภัตตภติกะก็ได้ยกถาดภาชนะนั้นเดินไปที่พระปัจจเจกพุทธเจ้า ส่งถาดภาชนะฝากคนที่ยื่นอยู่ใกล้ให้ถือไว้ แล้วก้มลงกราบพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยืนขึ้นรับถาดภาชนะจากมือของคนที่ฝากไว้นั้น น้อมกายเอามือเกลี่ยอาหารลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้าจนหมดถาด ไม่เหลือเอาไว้ให้ตนรับประทานแม้แต่นิดเดียว แม้พระปัจเจพุทธเจ้าจะเอามือปิดบาตรเป็นเชิงบอกว่า เอาแค่ครึ่งหนึ่งก็พอ ที่เหลือเก็บไว้รับประทานเองเถิดก็ตาม แต่นายภัตตภติกะเรียนท่านว่า ตนขอถวายทั้งหมด จะไม่แบ่งไว้รับประทานสำหรับเอง “ท่านอย่าสงเคราะห์ผมในโลกนี้เลย ขอจงทำการสงเคราะห์ในปรโลกเถิด ผมจะถวายหมดทีเดียว ไม่ให้เหลือ “ คือคำพูดของนายภัตตภติกะ และนายภัตตภติกะก็ยังเรียนท่านด้วยว่า ตนทำงานรับจ้างมานานถึง 3 ปีกว่าจะได้ค่าจ้างเพื่อจะนำมาซื้ออาหารมื้อนี้ ต้องลำบากกายมาอย่างแสนสาหัส เขาได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า “ บัดนี้ ขอความสุขจงมีแก่กระผมในที่ที่ไปบังเกิด ขอกระผมพึงมีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้วเถิด”
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้ให้พรโดยกล่าวว่า “ขอจงสมคิด เหมือนแก้วสารพัดนึก ความดำริอันให้ความใคร่ทุกอย่าง จงบริบูรณ์แก่ท่าน เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ” จากนั้นท่านก็เหาะมุ่งหน้าไปทางภูเขาคันธมาสน์ และได้แบ่งอาหารถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า อีก 500 รูป ได้ฉันเป็นที่เพียงพอของทุกรูป ทั้งนี้ด้วยอานุภาพของพระปัจเจกพุทธเจ้า บันดาลให้อาหารที่เราคิดว่าน้อยนั้นกลายเป็นอาหารมีจำนวนมากขึ้นมาได้
การกระทำของนายภัตตภติกะในครั้งนี้อยู่ในสายตาของประชาชน พวกเขาได้ส่งเสียงโห่ร้องแสดงความชื่นชมในการกระทำของเขา ด้วยเหตุที่การถวายทานของนายภัตตภติกะครั้งนี้ เป็นมหาทาน เพราะถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบ(สัมปทา)ครบ 4 อย่าง คือ 1.วัตถุสัมปทา (ผู้รับคือพระปัจจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระอรหันต์) 2.ปัจจยสัมปทา (สิ่งของถวายได้มาโดยบริสุทธิ์ คือมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของนายภัตตภติกะเอง) 3.เจตนาสัมปทา (ก่อนให้เขาก็ยินดี,ขณะให้เขาก็ยินดี,เมื่อให้ไปแล้วเขาก็ยินดี) และ คุณาติเรกสัมปทา(พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ) จึงส่งผลตามมิติ กฎแห่งกรรม คือ ทิฎฐธัมมเวทนียกรรม (คือให้ผลทันตาเห็น) กล่าวคือ
ข้างคันธเศรษฐีได้ยินเสียงโห่ร้องของชาวบ้าน ก็สอบถามเมื่อรู้ความจริงว่านายภัตติกถวายข้าวชามนั้นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสในความเป็นคนดีของนายภัตตภติกะ ได้มอบทรัพย์จำนวน 1000 กหาปณะให้แก่เขา มิหนำซ้ำยังมอบทรัพย์สมบัติที่ตนมีอยู่อย่างมหาศาลครึ่งหนึ่งให้เขาเสียอีกด้วย และเมื่อความทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าพาราณสี พระองค์ก็ได้รับสั่งให้พาตัวเข้าเฝ้า แล้วพระราชทานทรัพย์ให้ 1000 กหาปณะ และสิ่งของพระราชทานอีกมากมาย กับได้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้ด้วย เขาจึงมีชื่อว่า “ภัตตภติกเศรษฐี” (เศรษฐีผู้รับจ้างทำงานเพื่ออาหาร) ผู้เสวยผลตาม กฎแห่งกรรม ในข้อ ทิฎฐธัมมเวทนียกรรม ดังบรรยายมาข้างต้นนั้น ซึ่งต่อมาในสมัยพุทธกาล เศรษฐีภัตตภติกผู้นี้ก็คือผู้ที่มาเกิดเป็นบิดาของสุขสามเณรนั่นเอง.
|
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_
ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always beloved. _/|\_