วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พระนางมัลลิกาเทวี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

คติของพระนางมัลลิกา

เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี บำเพ็ญกุศลไว้มาก แต่ก่อนตาย นึกถึงกรรมชั่วแค่เล็กน้อย ต้องไปตกนรกก่อน ถึงจะไปเกิดในสวรรค์

เรื่องนี้เป็น กฎแห่งกรรม ในมิติ อปราปริยเวทนียกรรม(กรรมที่ให้ผลในภพชาติต่อมา) และยังแสดงให้เห็นว่ากรรมนิมิตในช่วงจุติจิตสำคัญมาก คือ หากตอนจะสิ้นใจคนป่วยจิตจดจ่ออยู่กับกรรมใด กรรมนั้นจะส่งผลให้เขาไปเกิดตามกรรมนิมิตที่มาปรากฏในจิตช่วงนั้น ดังนั้น ในช่วงที่คนป่วยหนัก เขาจึงแนะนำให้หาสิ่งที่ดีงามมาให้คนป่วยได้ดู และได้ฟัง และเมื่อใกล้จะสิ้นใจ ก็ให้ญาติบอกทางสวรรค์คือให้บอก “อะระหัง “ที่ใกล้หูคนที่จะสิ้นใจ

เรื่องนี้เกิดขึ้นในคราวที่พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางมัลลิกาเทวี ตรัสพระธรรมเทศนาที่ขึ้นต้นด้วยบาทพระคาถานี้ว่า ชีรนฺติ เว ราชรถา สุจิตฺตา เป็นต้น


ในอรรถกถาพระธรรมบทเล่าว่า วันหนึ่ง พระนางมัลลิกาเทวี พระราชเทวีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปในห้องสรงสนาน ทรงชำระพระโอษฐ์แล้ว ทรงน้อมพระสรีระลงเพื่อจะชำระพระชงฆ์ มีสุนัขตัวโปรดตัวหนึ่ง เข้าไปพร้อมกับพระนาง พอมันเห็นพระนางน้อมพระสรีระลงเช่นนั้น จึงเข้าไปประกบเสพสมกับพระนางทางเบื้องหลัง พระนางทรงยินดีและพึงพอใจกับการกระทำของมัน จึงได้ประทับยืนนิ่งเพื่อรับการเสพสมนั้น

พระราชาทรงทอดพระเนตรทางพระแกลในปราสาทชั้นบน ทรงเห็นการกระทำอันพิลึกพิลั่นนั้น และในเวลาที่พระนางเทวีเสด็จออกมาจากที่สรงสนานนั้น จึงตรัสว่า “หญิงถ่อย เจ้าไปทำอะไรกับสุนัขในห้องน้ำมาใช่หรือไม่ ?” “หม่อมฉันไปทำอะไรหรือ เพคะ” “ก็ไปเสพสมกับสุนัขมานะสิ” “เป็นไปไม่ได้ดอก เพคะ” “พี่เห็นมากับตา ไม่ต้องมาแก้ตัว อีหญิงถ่อย” “หากพระองค์ไม่เชื่อหม่อมฉัน ก็ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปยังที่สรงสระหนานนั้นเถิด หม่อมฉันจะแลดูพระองค์ทางพระแกลนี้”

พระราชาทรงหลงกลของพระเทวี เสด็จเข้าไปยังห้องสรงสนานนั้น ฝ่ายพระเทวีทรงยืนทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล ทูลว่า “พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสพสมกับแม่แพะ” แม้พระราชาจะทรงปฏิเสธว่าพระองค์มิได้ทรงกระทำเช่นนั้น พระนางก็ทรงยืนยันว่าพระนางเห็นด้วยดวงเนตรของพระนางอย่างนั้นจริงๆ พระราชาทรงสดับคำของพระเทวี ก็ทรงเชื่อว่า ผู้เข้าไปยังที่สรงสนานแห่งนั้น แม้จะเข้าไปผู้เดียว ก็จะปรากฏเป็นสองคน

ตั้งแต่วันนั้นมาพระเทวีมีความเสียพระทัยที่ได้ทรงกล่าวเท็จกับพระราชา ว่าทรงมีเพศสัมพันธ์กับแม่แพะ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเทวีในเวลาใกล้จะสิ้นพระชนม์ แทนที่พระนางจะทรงนึกถึง อสทิสทาน (ท่านล้ำเลิศหาทานใดเสมอเหมือนมิได้) ที่พระนางเคยทำร่วมกันกับพระราชา ก็กลับไประลึกถึงกรรมชั่วที่เคยกล่าวเท็จเมื้อครั้งเสพสมกับสุนัขนั้น พอสิ้นพระชนม์ ก็จึงไปบังเกิดในอเวจีนรก

หลังจากพระราชารับสั่งให้พระราชทานเพลิงพระศพของพระนางแล้ว ก็ทรงครุ่นคิดอยู่เสมอว่า จะทรงกราบทูลถามพระศาสดาถึงสถานที่บังเกิดใหม่ของพระเทวี แต่พระศาสดาได้ทรงบันดาลให้พระราชาทรงลืมถึงเรื่องที่จะทูลถามนั้นทุกครั้งที่ท้าวเธอเสด็จมา เป็นเวลา 7 วัน ที่พระศาสดาทรงกระทำเช่นนี้ ก็เพราะไม่ทรงต้องการทำลายความรู้สึกของพระราชา และไม่ทรงต้องการให้พระราชาสิ้นศรัทธาในพระศาสนา ด้วยเหตุทรงเข้าพระทัยผิดว่า คนที่บำเพ็ญกุศลไว้มากมายอย่างพระนางเทวีไปเกิดในอเวจี ซึ่งท้าวเธอก็จะทรงคิดต่อไปว่า แล้วอย่างนี้ท้าวเธอก็ควรเลิกนิตยภัตที่ทรงพระราชทานแก่ภิกษุสงฆ์ 500 รูปในพระราชวังเสียทั้งหมด

แต่พอถึงวันที่ 8 พระเทวีทรงสิ้นกรรมในอเวจีนรกแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเพราะกุศลกรรมให้ผล ในวันนี้พระศาสดาทรงดำเนินไปเพื่อบิณฑบาต ได้เสด็จไปยังประตูพระราชวัง เพียงลำพังพระองค์เดียว และได้ทรงแสดงทีท่าว่าจะประทับนั่งในโรงราชรถ พระราชาจึงทูลอัญเชิญพระศาสดาให้ประทับนั่ง ณ ที่นั้น หลังจากที่ได้ถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาแล้ว ได้กราบทูลถามถึงที่เกิดใหม่ของพระเทวี

เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “ในดุสิตภพ มหาบพิตร” พระราชาทรงสดับแล้วก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กราบทูลว่า หากคนดีมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างพระนางมัลลิกาเทวีไม่ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต คนอื่นใครเล่าจะไปบังเกิดได้ และได้กราบทูลด้วยว่า หลังจากที่พระนางเทวีสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวเธอรู้สึกว่าร่างกายจะไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า

พระศาสดาจึงตรัสกับท้าวเธอว่า อย่าทรงคิดมากไปเลย นี้เป็นธรรมอันแน่นอนของสัตว์ทุกจำพวก แล้วตรัสต่อไปว่า “มหาบพิตร ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูรถของพระเจ้าปู่ของพระองค์ ว่าคร่ำคร่ากว่ารถของพระชนกของพระองค์ และรถของพระชนกของพระองค์ก็คร่ำคร่ากว่ารถของพระองค์เอง ความคร่ำคร่าบังเกิดแม้แก่ท่อนไม้ที่เขาเอามาทำเป็นรถได้ ก็ไม่ต้องพูดถึงว่าความคร่ำคร่าจะไม่มาถึงสรีระร่างกายของคนเรา มหาบพิตร ความจริง ธรรมของสัตบุรุษเท่านั้น ไม่มีความชรา ส่วนสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าไม่ชรา ย่อมไม่มี”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า


ชีรนฺติ เว ราชรถา สุจิตฺตา
อถ สรีรมฺปิ ชรํ อุเปติ
สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ
สนฺโต หเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ ฯ


(อ่านว่า)

ชีรันติ เว ราชะระถา สุจิดตา
อะถะ สะรีรัมปิ ชะรัง อุเปติ
สะตันเจ ทำโม นะ ชะรัง อุเปติ
สันโต หะเว สับพิ ปะเวทะยันติ.

(แปลว่า)

ราชรถ ที่วิจิตรดี ยังคร่ำคร่าได้แล
อนึ่ง ถึงสรีระ ก็ย่อมถึงความคร่ำคร่า
ธรรมของสัตบุรุษหาเข้าถึงความคร่ำคร่าไม่
สัตบุรุษทั้งหลายแล ย่อมปราศรัยกับด้วยสัตบุรุษ.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ทำดีได้ชั่วฉันใด
การที่บุคคลทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่วนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าขึ้นอยู่กับ อาสันนกรรม ซึ่งหมายถึง กรรมจวนเจียน คือกรรมที่ทำขณะจะสิ้นใจ และส่วนมากจะเป็นมโนกรรมเพราะคนที่กำลังจะตายนั้นสังขารมักไม่อำนวยให้ประกอบวจีกรรมหรือกายกรรม อาสันนกรรมจะส่งผลให้บุคคลที่กระทำก่อนกรรมอื่น ๆ ถ้าเป็นกรรมดีจะส่งผลให้บุคคลที่ทำกรรมนั้นไปสู่สุคติในนาทีที่ดับจิตลงไป เช่น บุคคลหนึ่งทำกรรมชั่วมามาก แต่มีกรรมดีอยู่บ้าง ตอนจะตายจิตผ่องใส เพราะนึกถึงกรรมดีที่ตนเคยทำ เมื่อจิตผ่องใส สุคติย่อมเป็นที่หมาย ดังพระบาลีว่า “ จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา – เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ ” จิตไม่เศร้าหมองก็คือจิตผ่องใสนั่นเอง กรรมที่นำเขาไปเกิดในสุคติเป็นกรรมดี มิใช่กรรมชั่ว ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่ทำกรรมดีไว้มาก มีกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย แต่ตอนตายจิตเศร้าหมองเพราะไปนึกถึงกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หมาย ดังพระบาลีว่า “ จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคติ ปาฏิกงฺขา – เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคติเป็นอันต้องหวัง ”
ตัวอย่างของบุคคลที่ทำกรรมดีไว้มาก มีกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย เมื่อตายไปแล้ว ไปเกิดในทุคติภูมิก็คือ พระนางมัลลิกา มเหสีของพระเจ้าปเสนทิ แห่งแคว้นโกศล เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ พระนางเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และประกอบกรรมดีไว้มาก แต่มีกรรมชั่วอยู่เล็กน้อย คือ เคยโกหกพระสวามี เมื่อพระนางจะสิ้นใจ แทนที่จะนึกถึงกรรมดีที่ทำไว้มากนั้น กลับไปนึกถึงกรรมชั่วคือการโกหกพระเจ้าปเสนทิ จิตจึงเศร้าหมอง เมื่อตายขณะที่จิตเศร้าหมอง จึงไปเกิดในนรกอเวจีอยู่ ๗ วัน ครั้งหมดอกุศลกรรมแล้ว กุศลกรรมก็มาให้ผล พระนางได้จุติจากนรกอเวจีไปอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต (จุติ หมายถึงตาย ส่วนมากใช้กับเทวดา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า หมายถึงเกิด)
เมื่อพระนางมัลลิกาสิ้นชีพ พระเจ้าปเสนทิทรงโศกาดูรเป็นอันมาก ได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน เพื่อทูลถามว่าพระนางมัลลิกามเหสีของพระองค์ไปอุบัติที่สวรรค์ชั้นไหน พระพุทธองค์ทรงชวนสนทนาเรื่องอื่นๆ ให้ทรงเพลิดเพลินเพื่อให้ลืมเรื่องที่ตั้งพระทัยมาทูลถาม การณ์เป็นอยู่อย่างนี้กระทั่ง ๗ วันผ่านไป เมื่อพระนางมัลลิกาไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสตอบพระเจ้าปเสนทิว่า พระนางมัลลิกาเป็นคนดี บัดนี้พระนางได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต พระเจ้าปเสนทิได้สดับดังนั้นก็ทรงตบพระชานุเสียงดังฉาดรับสั่งว่า “ นั่นยังไงล่ะ ถ้าคนดี ๆ อย่างพระนางมัลลิกาไม่ไปเกิดในสวรรค์ แล้วใครจะไปเกิด ”
เหตุที่พระพุทธองค์ทรงรอให้เวลาผ่านไป ๗ วันเสียก่อน ก็เพื่อจะให้พระเจ้าปเสนทิสบายพระทัย เพราะพระองค์กำลังเศร้าโศกที่พระมเหสีจากไป ถ้าทรงทราบว่าพระนางไปตกนรกอเวจีก็จะทรงโทมนัสหนักขึ้น และจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษอีกต่อไป ด้วยทรงเห็นว่า คนทำความดีไยจึงตกนรก แต่ถ้าพระพุทธองค์จะตรัสสาเหตุที่พระนางไปตกนรก ก็จะเป็นการไม่สมควรเพราะพระเจ้าปเสนทิไม่ทรงทราบว่าพระนางมัลลิกาโกหกพระองค์ แต่พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้ด้วยพระญาณ อีกประการหนึ่งทรงเห็นว่าการนำเรื่องไม่ดีของผู้อื่นมากล่าวนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด จึงทรงรอให้เหตุการณ์วิกฤตนั้นผ่านพ้นไปก่อน
ในอรรถกถากล่าวไว้ว่า การที่พระนางมัลลิกาไปตกนรกอเวจีนั้นถือเป็นการดี เพราะพระนางจะได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับความทุกข์ และเกิดความเบื่อหน่ายในการที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เมื่อพระนางไปอุบัติเป็นเทพบุตร จึงมิได้ประมาทมัวเมาหลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในความสุขเหมือนเหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย แต่ท่านได้ปฏิบัติธรรมกระทั่งบรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันในที่สุด เป็นอันว่าท่านสามารถทำ วิกฤต ให้เป็นโอกาส จนสามารถเปลี่ยน ทุกขะ ให้เป็น ทุกขขัย ได้ เพราะพระโสดาบันนั้นจะเวียนว่ายอยู่ในสุคติภูมิอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เป็นการตัดขาดจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง
สรุปว่าผู้ที่ตายขณะจิตผ่องใสจะไปเกิดในสุคติ ผู้ที่ตายขณะจิตเศร้าหมองจะไปเกิดในทุคติ ดังเช่นพระนางมัลลิกาที่เล่ามา ส่วนผู้ที่ตายขณะที่จิตเป็นกลาง ๆ คือไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล จะไปเกิดเป็นพวกสัมภเวสี แปลว่า พวกแสวงหาภพ (สัมภเวสีอีกความหมายหนึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องเกิดอีก จึงหมายตั้งแต่ปุถุชนไปจนถึงพระอนาคามี ส่วนพระอรหันต์ไม่เป็นสัมภเวสี เพราะท่านเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกิดอีก) พวกนี้ยังไม่ได้เกิดเป็นที่ตามกรรมที่ตนทำไว้ พวกสัมภเวสีก็คือพวกที่เราเรียกว่าผี นั่นเอง เมื่อพวกผีเหล่านี้นึกถึงกรรมที่ตนทำไว้ก็จะไปเกิดตามกรรมนั้น ๆ เช่น นึกถึงกรรมดีก็ไปเกิดในสุคติ นึกถึงกรรมชั่วก็ไปเกิดในทุคติ จึงหยุดเร่รอนหาที่เกิดไปชั่วคราว เพราะไปเกิดเป็นที่เป็นทางแล้ว
จะเห็นได้ว่าเรื่องของกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ตัวเองทำเอง ไม่มีใครมาทำให้แต่ประการใด ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ชัดเจนมาก ดังปรากฏในพระสูตรว่า “ หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักได้รับผลของกรรมนั้น ”

จากหนังสือ รู้อย่างนี้ เป็นคนดีตั้งนานแล้ว
รศ.ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ