วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ภาพสลักชาดก 500 ชาติ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ภาพสลักชาดก 500 พระชาติ” ในอุโมงค์เรือนมณฑป วัดศรีชุม   
.
แผ่นหินจารลายเส้นเล่าเรื่องราว “ชาดก 500 พระชาติ” พร้อมอักษรกำกับเรื่องราวที่เรียกว่า “จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม” สลักขึ้นจากหินดินดาน พบติดประดับอยู่บนเพดานของช่องทางเดิน ช่องบันไดและช่องหน้าต่าง เฉพาะในอุโมงค์ทางเดินภายในผนังกำแพงอาคารเรือนมณฑป (Maṇḍapa) ประธานของวัดศรีชุม เมืองโบราณสุโขทัย ที่เริ่มต้นจากบริเวณช่องข้างผนังด้านซ้ายของซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ (ทางด้านขวาทางเดินพังทลายลงมา) แผ่นหินแต่ละแผ่นมีขนาดไม่เท่ากัน บางแผ่นอาจจารภาพได้เพียงเรื่องเดียว แต่บางแผ่นอาจจารได้มากถึง 3-6 เรื่องในแผ่นเดียว  แผ่นหินดินดานส่วนใหญ่จะชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและตัวอักษรลบเลือน มีที่จารเป็นชาดกจำนวน 40 แผ่น จากทั้งหมด 52 แผ่น ที่เหลือเป็นภาพบัวบานและพระพุทธบาท  
.
แผ่นหินสลักเรื่องชาดกแผ่นหนึ่ง พบข้อความอักษรเขียนว่า “เป็นคำรบที่ห้าร้อย” หมายความว่า แผ่นหินนั้นเป็นชาดกเรื่องที่ 500 แสดงเจตนาว่าต้องการจะสลักให้ครบ ตรงกับข้อความในจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 39 ความ “... มีแห่งมหานิทานแลพระเจดีย์สูงใหญ่รอบนั้นฉลักหินห้าร้อยชาติ ติรเทศงามพิจิตรหนักหนาแก่กมตรุก....”
.
จากข้อความในจารึก เคยมีการสันนิษฐานกันมาว่า ภาพสลักชาดกบนหินดินดานทั้งหมดนี้เคยประดับอยู่ โดยรอบพระเจดีย์ใหญ่ ที่อาจหมายถึงเจดีย์วัดมหาธาตุ (หรือวัดใดวัดหนึ่ง) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายมาประดับภายในอุโมงค์ พร้อมกับการเคลื่อนย้ายจารึกวัดศรีชุม มาไว้ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นในภายหลัง
.
ประกอบกับมุมมองทางศิลปะ ที่แสดงว่า ภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหิน สลักขึ้นพร้อม ๆ กัน มีรูปแบบทางศิลปะที่มีอิทธิพลของคติลังกาและงานศิลปะแบบรามัญ-พุกาม ที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนมุมมองตัวอักษรไทยที่จารึกกำกับเรื่องในแต่ละแผ่นนั้น มีอายุอักษรในช่วงปลายสมัยพระญาลิไท (ฦๅไทย-ลิเทยฺย) ไปถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20  
.
ส่วนในมุมมองทางด้านคติชน-ความเชื่อ เรื่องราวชาดก 500 พระชาติ ทั้งหมดอยู่ใน “อรรถกถาชาดก”  (Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลี ที่มีทั้งหมด 547 (550) เรื่อง ตามคติของฝ่ายเถรวาท (Theravāda) เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตนของพระโพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติก่อนจะมา ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการกระทำความดีและความชั่วผ่านเรื่องเล่าในนิทาน เป็นคติที่ได้รับความนิยมในอาณาจักรพุกามต่อเนื่องมาจนถึงอาณาจักรมอญหงสาวดี ที่เริ่มปรากฏความนิยมในรัฐสุโขทัยประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากความนิยมในคติวัชรยานแบบเขมรและกัมโพชสงฆ์ปักขะแบบละโว้หมดความนิยมไป      
.
*** แต่งานศึกษาของ “ปิแอร์ ปิชาร์ด” (Pierre Pichard) สำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาพสลักชาดกหินที่พบในอุโมงค์นั้น ไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากวัดอื่น ในยุคก่อนหน้า แต่ถูกติดตั้งไปพร้อม ๆ กับการสร้างผนังอาคารเรือนมณฑปตั้งแต่ครั้งแรกสร้าง เพื่อทำหน้าที่เป็น “ฝ้าเพดาน” และ “คานหิน” รองรับน้ำหนักโครงสร้างก่ออิฐด้านบนทางเดินอุโมงค์โดยตรง  หินดินดานแต่ละแผ่นจึงมีขนาดและความหนาที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะมีขนาดเท่ากันในส่วนทางตรงของอุโมงค์ทางเดิน เฉพาะบริเวณมุมหักของทางเดินและช่องหน้าต่างจะเป็นแผ่นหินที่มีขนาดใหญ่ หินแต่ละแผ่นจะมีพื้นที่ขอบด้านข้างเพื่อสอดยึดเข้ากับช่องผนังแตกต่างกัน ส่วนที่ว่างอยู่จะกลายเป็นเพดาน จึงได้มีการจารเส้นและจารึกเป็นเรื่องราวชาดก ไม่ได้เรียงลำดับตามคัมภีร์อรรถคาถาชาดก ไล่ขึ้นไปในระหว่างการก่อสร้าง  
.
ปิชาร์ดสันนิษฐานว่า การก่อสร้างอาคารเรือนธาตุของวัดศรีชุม ควรเป็นการสร้างพระเจดีย์ทรงปราสาท (ผัง 4 เหลี่ยม) ชั้นซ้อนขนาดสูงใหญ่ อาคารที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเรือนธาตุของเจดีย์ใหญ่ทรงปราสาทชั้นแรก ไม่ใช่เป็นอาคารมณฑปอย่างที่เรียกขานกัน ที่จะซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นไปอีก 3-7 ชั้น โดยสังเกตจากผนังเรือนที่มีความหนา ยกมุมเสริมผนังด้านในที่ด้านบนเอียงเหลื่อมเข้าสู่ภายในด้วยองศาที่เท่ากันทุกมุมตามแบบการลดหลั่นยอดอาคารแบบปราสาทเขมร 
.
เหตุผลสำคัญที่ภาพสลักชาดกบนหินดินดานมีอยู่เพียง 100 พระชาติแรก บนแผ่นหิน 40 แผ่น ไม่ครบ 547 พระชาติ ด้วยเพราะการก่อสร้างนั้นได้ยุติลงเพียงเรือนธาตุสี่เหลี่ยมที่ชั้นแรกเท่านั้น    
.
ซึ่งแนวคิดของปิแอร์ ปิชาร์ด ในเรื่องการใช้งานของแผ่นหินภายในอุโมงค์และแนวคิดการสร้างพระเจดีย์ซ้อนชั้นทรงสูง สอดรับกับมุมมองทางศิลปะ อายุอักษรที่จารึกและคติความเชื่อที่นิยมในช่วงเวลานั้น ที่ล้วนแสดงว่า แผ่นหินชาดกและเรือนธาตุ (มณฑป) ใหญ่ ถูกสร้างขึ้นพร้อม ๆ กัน ในช่วงปลายสมัยพญาลิไท ซึ่งน่าจะเริ่มต้นดำเนินการโดยพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสวามี (มหาเถระศรีศรัทธา) ไปจนสิ้นบุญ ของท่านในช่วงหลังยุคพระญาลิไท และได้หยุดการก่อสร้างด้วยเหตุผลทางการเมือง ความพร้อมทางเศรษฐกิจและความนิยมของราชสำนักที่เปลี่ยนแปลงไปตามกษัตริย์พระองค์ใหม่ (พระมหาธรรมราชาที่ 2)
.
*** รูปแบบปราสาทของเรือนธาตุชั้นแรก (มณฑป) แผนผังสี่เหลี่ยมที่มีการสร้างอุโมงค์ทางเดินภายใน อาจได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบพุกามผ่านทางล้านนา โดยมีแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมยกสูงแบบ “สัตตมหาปราสาท” ที่มหาเถระศรีศรัทธาได้พบเห็นมาจากเมืองโปโลนนารุวะ เมื่อครั้งที่ได้เดินทางจาริกแสวงบุญไปเกาะลังกาครับ
Ref : Pierre Pichard สำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ ,The Mondop at Wat Si chum : New Prespective ใน Past Live of the Buddha: Wat si chum Art Architecture and Inscriptions สำนักพิมพ์ River Books 2551 แปลโดย อ.พีระพัฒน์ สำราญ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ