วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

วัดหลักเมือง สุโขทัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“วัดหลักเมือง” เจดีย์ทรงปราสาทเขมรองค์สุดท้ายในรัฐสุโขทัย
ในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 16 ได้เริ่มมีการสร้างปราสาท (อิฐ) ในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่มียอดหลังคาเป็นชั้น “วิมานลดหลั่น” ขึ้นครั้งแรกในเขตรัฐสุโขทัย ตามคติไกรลาววิมานของฝ่ายไศวะนิกาย (Shaivism) บนยอดเขาปู่จ่า ในตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองโบราณสุโขทัยไปทางใต้ประมาณ 14 กิโลเมตร 
.
ต่อมาในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18  ได้มีการสร้างปราสาทหินตามแบบสถาปัตยกรรมหลังคาทรงวิมานแบบเขมรโบราณหลังเดี่ยว ตามคติฮินดู “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism)  ที่นิยมในราชสำนักฝ่ายเมืองพระนครในช่วงเวลานั้นขึ้นภายในกำแพงเมืองสุโขทัยโบราณค่อนไปทางเหนือ  ที่  “ปราสาทศาลตาผาแดง”ครับ
.  
ต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 มีการสร้าง “ปราสาทพระพายหลวง” ปราสาทศิลาแลงสามหลังบนฐานไพทีเดียวกัน ตามคติวัชรยาน-บายน (Mahāyāna Buddhism-Vajrayāna-Tantra) ขึ้นบริเวณทางเหนือของเมืองโบราณสุโขทัย 
.
ในเวลาต่อมาเมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้ปกครองดินแดนจากลุ่มเชื้อสายเขมร-ละโว้เดิม มาเป็นกลุ่มลูกครึ่งขอม – ไท/ลาว ชนชั้นปกครองตระกูลไทและกลุ่มไทเลืองจากเมืองบางขลัง บางยาง เมืองราด ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19  ก็ยังคงปรากฏความนิยมในการสร้างอาคารประธานของศาสนสถานตามแบบสถาปัตยกรรมทรงปราสาทยอดวิมานแบบเขมร ทั้งที่  “ปรางค์สามยอดวัดศรีสวาย” ทางใต้ภายในเมืองโบราณสุโขทัย “ปรางค์ (ปราสาท) วัดเจ้าจันทร์” เมืองศรีสัชนาลัย (เชลียง-เชียงชื่น) และปรางค์ทิศของวัดมหาธาตุกลางเมืองโบราณสุโขทัย รวมทั้งปรางค์ขนาดเล็กในรัฐสุโขทัยที่ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงเรือนธาตุและการจัดลำดับชั้นวิมานที่แตกต่างไปจากปราสาทเขมรมากขึ้นครับ
.
ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ก่อนปรากฏอิทธิพลและการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์ (งาเนียม) แบบอยุทธยาที่ศรีสัชนาลัยและการสร้างครอบทับที่วัดศรีสวาย  รัฐสุโขทัยเคยได้มีพัฒนาการเจดีย์ทรงปราสาทยอดวิมานหรือที่เรียกว่า “ปรางค์” เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างไปจากปรางค์แบบรัฐอยุทธยา โดยอาจได้รับอิทธิพล รูปแบบสถาปัตยกรรมเรือนธาตุมาจากล้านนา ที่ “วัดหลักเมือง” เมืองโบราณศรีสัชนาลัยครับ
------------------------
*** “วัดหลักเมือง” ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเยือนเมืองสุโขทัย-ศรีสชันาลัย-กำแพงเพชร ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า  "...ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ใช่วัดพระพุทธศาสนาเป็นแน่ และมิใช่โบสถ์พราหมณ์ แต่จะเกี่ยวกับศาลผี หรือเทวดาอันใดอันหนึ่ง จึงได้เล่าต่อไปว่าบางทีอาจจะเป็นหลักเมือง..." ทรงเชื่อว่าวัดแห่งนี้คือสถานที่ฝังดวงเมืองที่มีพระปรางค์ครอบอยู่ จึงพระราชทานนามว่า “หลักเมือง” ต่อมาจึงได้เรียกกันต่อมาว่า “วัดหลักเมือง” ครับ
.
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ทรงปราสาทประธานของวัดหลักเมือง ยังคงลักษณะเด่นของเรือนปราสาทแบบเขมร คือมีฐานล่างเป็นฐานปัทม์ใหญ่ คาดแถบลูกฟักเหลี่ยมซ้อนชั้นที่ท้องไม้ ยกมุมเก็จประธานทั้ง 4 ด้าน แต่เพิ่มมุขหน้าเก็จยื่นยาวออกมาแบบผนังเรียบแทนที่จะเป็นซุ้มประตูแบบเดิม กลายเป็นทรงจัตุรมุข-กากบาท วิมานชั้นที่ 2 ยังคงรักษามุมตามแบบเรือนธาตุ ลดหลั่นขนาดเรือน ซ้อนชั้นขึ้นไป 3 ชั้นเชิงบาตร แต่มีการวางฐานบัวยกท้องสูงเป็น “ฐานคั่น” ทำหน้าบันซุ้มบัญชรเหนือหน้ามุขแต่ละด้านในแต่ละชั้น แทนที่จะวางหน้าบันในระดับเชิงบาตรเหนือตัวเรือนวิมานที่มีท้องสูงกว่า วางกลีบขนุนบนมุมทั้งชั้นฐานบัวและชั้นเรือนวิมานลดหลั่นขนาดขึ้นไปทุก ๆ ชั้น
.
การยกชั้นวิมานซ้อนแบบแยกชั้นขาดกันเป็น “พีระมิด” ของปรางค์วัดหลักเมือง แสดงให้เห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นภายหลังรูปแบบปราสาทที่วัดเจ้าจันทร์ที่ยังคงรักษารูปแบบหน้าบันชั้นซ้อนทั้ง 4 ด้านและการยกชั้นวิมานเป็นชั้น ๆ เชิงบาตร โดยไม่มีชั้นฐานบัวใหญ่มาคั่นระหว่างชั้นตามแบบสถาปัตยกรรมปราสาทเขมรอยู่ แต่ดูเหมือนว่าปรางค์วัดหลักเมืองที่สร้างในยุคหลังกว่า ได้พยายามรักษารูปแบบวิมานลดหลั่นที่คงแยกเป็นชั้น ประดับหน้าบันมุขและกลีบขนุนตามแบบปราสาทเจ้าจันทร์  แต่ได้ปรับเปลี่ยนหน้ามุขมาทำเป็นผนังเรียบตามแบบเรือนธาตุของเจดีย์ และยังปรับกลีบขนุนฝังชิดผนังจนกลายเป็นกาบประดับ 
.
ด้วยรูปแบบที่แตกต่างไปจากปราสาทเขมรอย่างวัดพระพายหลวง แต่ยังคงรักษารูปแบบการยกชั้นเชิงบาตรลดหลั่นจากเรือนธาตุขึ้นไป มีหน้าบันซุ้มบัญชรและกลีบขนุนแบบปรางค์วัดเจ้าจันทร์ แต่ทำตัวเรือนทึบแบบเรือนธาตุฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม่มีซุ้มประตูแบบล้านนาของปรางค์ประธานวัดหลักเมือง ปรางค์แบบสุโขทัยนี้จึงควรถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังของกลางพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 1950 – 1970)  เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ที่ยังคงรับอิทธิพลสถาปัตยกรรมปราสาทเขมรเป็นองค์สุดท้ายในรัฐสุโขทัย     
.
*** ถึงรูปแบบปรางค์ทรงซ้อนชั้นพีระมิดของวัดหลักเมืองจะไม่ได้รับความนิยมในรัฐสุโขทัย แต่ก็ยังปรากฏร่องรอยของพัฒนาการส่วนหลังคาที่เปลี่ยนมารวบชั้นวิมานมาต่อซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นไปหลายชั้นเป็นทรงกรวย จบที่ยอดหม้อน้ำ โดยไม่มีหน้าบันซุ้มบัญชรและกลีบขนุนประดับ อย่างที่พบจากเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถวในเมืองโบราณศรีสัชนาลัยและเจดีย์รายที่วัดชนะสงครามในตัวเมืองโบราณสุโขทัยครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น