วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

วิสาขปุรณมีบูชา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
วันนี้ วันพระใหญ่ 
พุทธศิลป์จิตรกรรมฝาผนัง “วิสาขปุรณมีบูชา” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
"การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" การกระทำบุญกุศลในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะหรือเดือนหก ( ในปีนี้มีเดือน 8 สองหน จึงเลื่อนมาเป็นวันเพ็ญเดือน 7  ตามปฏิทินจันทรคติไทย) เป็นกลบทที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อเตือนสติให้พุทธศาสนิกชนจากทุกนิกายความเชื่อ ได้ร่วมกันรำลึกและทบทวนถึงพระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ ที่ได้อธิบายถึงแก่นพระธรรมความจริงแท้แห่งวัฏสงสารของความเป็นมนุษย์ จากเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ 3 เหตุการณ์ ถูกนำมากำหนดรวมไว้ในช่วงเดือนเดียวกัน คือพุทธประวัติตอนประสูติ ตอนตรัสรู้ และการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระสมณโคตมพุทธเจ้า เพื่อมาใช้เป็นตัวอย่าง แสดงถึงการเกิดมีชีวิตขึ้นมาของปุถุชนบนโลก การมีชีวิตที่มีคุณค่าแก่โลกและความตายที่จะกลายเป็นความว่างเปล่า คงเหลือไว้แต่ความดีงามที่ได้กระทำไว้ให้กับผู้อื่นครั้งที่ยังมีชีวิต
.
*** ในคติความเชื่อทางพุทธศาสนา การประสูติของพระพุทธเจ้านั้น เกิดขึ้นที่ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน เมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งในยุคเริ่มแรกจะนิยมสร้างงานพุทธศิลป์เป็นรูป “พระพุทธบาทคู่” เป็น สัญลักษณ์แทนการประสูติ ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นรูปพระนางมายาเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ โดยมีรูปพระกุมารสิทธัตถะประสูติออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) เบื้องขวา  
.
*** ในพุทธประวัติตอนตรัสรู้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เกิดขึ้น ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองพุทธคยา ที่ในยุคก่อนมีการสร้างรูปเหมือนนั้น นิยมทำรูปต้นศรีมหาโพธิ์ (Sri Mahabodhi) ประดับประดาด้วยถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องหอมดอกไม้มาลัย ต่อมาเมื่อเกิดงานศิลปะเป็นรูปบุคคล จึงมีการสร้างเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนดอกบัวใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และพัฒนาทมาเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ในท่าภูมิสปรรศมุทรา (Bhumisparsha mudra) หรือปางมารวิชัย “การแจ้งแก่แผ่นดินโลกให้เป็นประจักษ์ในชัยชนะเหนือมาร” (Earth Bearing Witness)   
.
*** ในการเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้นเกิดขึ้น ณ สาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา เติมเดิมนั้นจะสร้างงานพุทธศิลป์เป็นรูป “สถูปเจดีย์” (Stupa) ต่อมานิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปนอน–ปางมหาปรินิพพาน-นิรวาณ (Reclining Buddha MahaParinirvana-Nirvana) ขึ้นแทนความหมายของการเสด็จสู่มหาปรินิพพาน
.
-------------------------------
*** งานพุทธศิลป์ “จิตรกรรมฝาผนัง” (Mural painting)  ตามพุทธประวัติตอนประสูติ ตรัสรู้และมหาปรินิพพาน ในวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”ที่พบในประเทศไทย ที่จัดได้ว่ามีความเก่าแก่ที่สุดและหลงเหลือเป็นหลักฐานให้พบเห็น คงเป็นภาพจิตรกรรมในห้องกรุใต้ดินของพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ที่มีอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 และภายในห้องครรภธาตุของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุราชบุรี ที่มีอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ทั้งสองแห่งวาดภาพจิตรกรรมตามคติ “คัมภีร์พุทธวงศ์” ของฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์เดียวกัน โดยภาพจิตรกรรมที่ปรางค์ราชบูรณะยังคงเหลือเป็นเค้าโครงภาพให้เห็นมากกว่า เขียนเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้า 24 องค์ จาก 12 กัลป์ โดยมีภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสมณโคตมในช่องกรอบเส้นลวด ทั้งแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสและแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน 30 ช่อง โดยใช้ภาพพระพุทธบาท 4 รอย และช่อดอกไม้ทั้ง 3 หรือตรีรัตนะแทนการประสูติ  ภาพตอนตรัสรู้ ภาพตอนพญามารทูลเสด็จให้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานและภาพตอนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน อีกทั้งภาพตอนเสวยวิมุตติสุข ภายหลังจากการตรัสรู้ และภาพของพระอสิติมหาสาวก “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” 80 องค์ครับ  
.
*** ภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนประสูติที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แบบที่ยังคงมองเห็นเป็นภาพสมบูรณ์ เขาถึงได้โดยง่ายในปัจจุบัน เป็นภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถของวัดเกาะแก้วสุทธาราม ริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันออก ด้านทิศใต้ของตัวเมืองเพชรบุรี ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ที่ตามหลักฐานจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยช่วงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ช่วงปี พ.ศ. 2277 แสดงภาพพระนางสิริมหามายาโน้มกิ่งสาระ โดยมีภาพพระกุมารในกรอบพื้นแดงบนพานแว่นฟ้าใกล้กับพระปรัศว์ด้านขวา มุมบนซ้ายเป็นภาพท้าวมหาพรหมถือร่มฉัตร อัญเชิญพระกุมารเสด็จลงมาจุติ โดยมีภาพพระอินทร์เป่าสังข์ทางด้านขวา ด้านล่างเป็นภาพข้าบาทบริจาริกานางในและผู้ติดตามฝ่ายบุรุษ  
.
ภาพพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ที่เก่าแก่ที่สุดแบบที่ยังพอเหลือให้มองเห็นภาพได้ เป็นภาพมารผจญของผนังสกัดภายในอุโบสถวัดช่องนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร  อายุการวาดประมาณช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ซึ่งเป็นพุทธประวัติตอน “ผจญมาร” (Assualt of Mara)  แสดงปางมารวิชัย  ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ก่อนการตรัสรู้ ซึ่งในขนบแบบแผนงานประกอบศิลป์ของไทย รูปลักษณ์ตอนตรัสรู้จะหมายถึงพระพุทธรูปที่เป็นรูปประติมากรรมประธานประธานในอุโบสถ จึงไม่มีภาพจิตรกรรมตอนช่วงตรัสรู้โดยตรง แต่จะนิยมวาดเป็นรูปตอนผจญมารไว้บนผนังสกัดหุ้มกลองแทนครับ
.
ภาพพุทธประวัติตอนปรินิพพาน ไม่หลงเหลือให้พบเห็นแล้วในงานศิลปะอยุธยา ภาพที่เก่าแก่ที่สุดและยังสามารถมองเห็นภาพได้ในปัจจุบัน  จึงเป็นภาพพุทธประวัติก่อนปรินิพพานที่ “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” หรือ “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล กรุงเทพมหานคร ที่วาดขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แต่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงรัชกาลที่ 3  เป็นภาพตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังประชวรหนักใกล้จะดับขันธ์ปรินิพพาน บรรทมอยู่ระหว่างต้นสาละคู่ในเมืองกุสินารา นายสุภัททะปริพาชก ได้เข้ามาเพื่อทูลถามข้อข้องใจในพระธรรม แต่พระอานนท์เห็นว่าจะเป็นการรบกวนพระพุทธองค์ จึงห้ามไว้ไม่ให้เข้าเฝ้า  “..อย่าเลยสุภัททะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลำบากมากแล้ว อย่าได้เบียดเบียนพระตถาคตอีกเลย...” แต่พระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้า ทรงแสดงพระธรรมจนสุภัททปริพาชกบังเกิดปิติเลื่อมใสทูลขออุปสมบท ทรงเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็น "พระสุภภัททะ" และได้บรรลุอรหันตผลในคืนปรินิพพานนั้น เป็นปัจฉิมสักขิสาวก หรือสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้าครับ 
.
*** ขอผลบุญกุศลในความรู้เพื่อการสืบทอดพระศาสนา ในวันวิสาขปุรณมีบูชาปีนี้ จงมีสวัสดิมงคลแก่ทุก ๆ ท่านครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น