วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พญาวานรถวายรวงผึ้ง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พญาวานร ถวายรวงผึ้งแก่พระพุทธองค์” ที่นครเวสาลี 
งานพุทธศิลป์ของฝ่ายอินเดียเหนือตั้งแต่สมัยราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 10 จนถึงราชวงศ์ปาละ-อินเดียตะวันออก (Pala Dynasty) พุทธศตวรรษที่ 17 จะนิยมกล่าวถึงนครเวสาลี(Vaishali) แคว้นวัชชี ทางเหนือของกรุงปัตนะ ในเรื่องราวพุทธประวัติตอน “การโปรดสั่งสอน-ทรมานพญาวานร” เป็นหนึ่งใน “อัษฏมหาปาฏิหาริย์ – อัฐฏมหาปาฏิหาริย์” (Aṣṭa mahā  Pratiharya) ของสังเวชนียสถานสำคัญที่ควรระลึกถึงพระพุทธเจ้า 8 แห่ง ที่เรียกว่า “อัษฏมหาสถาน” (Aṣṭa Mahastan)  
.
ในพุทธประวัติเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปนครเวสาลีหลายครั้ง แต่ละครั้งจะทรงประทับที่กูฏาคารศาลา (Kutagarshala Vihara) ภายในป่ามหาวันอันร่มรื่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในครั้งแรก พญาวานรเป็นใหญ่ในป่ามหาวันได้นำเหล่าบริวารมาขุดสระน้ำใหญ่ (ปัจจุบันคือสระรามกุณฑ์ - Ram Kund ใกล้กับ พระอนันตสถูป - Ananda Stupa) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระพุทธองค์ ทั้งยังนำฝูงวานรมาคอยปรนนิบัติดูแล ถวายภัตตาหารมิให้ขาดตกบกพร่องครับ 
.
วันหนึ่ง พญาวานรได้นำรวงผึ้งใหญ่ (Honeycomb) ที่ยังมีผึ้งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมาถวายแก่พระพุทธองค์ที่ประทับอยู่ใต้ต้นมะม่วง แต่ในครั้งนี้พระองค์มิได้รับไว้ พญาวานรจึงทรมานใจจนถึงขั้นนอนป่วยไข้ ด้วยเพราะคิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติดูแลพระพุทธองค์ได้ไม่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าจึงได้เทศนาธรรมสั่งสอนแก่พญาวานร ถึงเรื่องการเบียดเบียนทำลายชีวิตที่พวกมนุษย์มักมองข้าม ด้วยเพราะมองไม่เห็น ด้วยเพราะไม่ใส่ใจ ด้วยเพราะไม่คำนึงถึง ด้วยเพราะดูถูกความด้อยค่าของชีวิตผู้อื่น พระพุทธองค์ให้พญาวานรได้คำนึงถึงชีวิตในรวงผึ้งใหญ่ ที่แม้จะขับไล่ตัวผึ้งออกไปทั้งหมดแล้ว แต่ภายในช่องรวงก็ยังมีตัวอ่อนที่ยังมีชีวิตอีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล
.
พญาลิงจึงประจักษ์ในเหตุผลของพระธรรม แต่กระนั้นก็ไม่ได้ละความพยายาม เขาได้นำรวงผึ้งใหญ่มาบรรจงแคะเอาตัวอ่อนออกทีละช่องอย่างทะนุถนอม มิให้สิ้นชีวิต  ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้เห็นถึงความพยายามนั้น เมื่อพญาลิงได้นำรวงผึ้งมาถวายอีกครั้ง จึงได้ทรงรับเอาไว้ แต่กระนั้นพระองค์ก็มิได้ฉัน ด้วยเพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิตโดยรู้ตัวและตั้งใจครับ
.
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับรวงผึ้งที่เขาตั้งใจถวาย พญาวานรมีความตื่นเต้นในใจที่เบิกบาน เขาดีใจที่ได้กระทำการปรินิบัติแก่พระพุทธองค์ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงกระโดดจากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นหนึ่งไปมา แต่แล้วก็พลัดตกลงมา กระแทกไม้แหลมจนสิ้นชีวิต อย่างไรก็ตาม ด้วยกุศลผลบุญจากความตั้งใจในการกระทำบุญ จากความเอื้ออาทรของเขาที่บริสุทธิ์ใจแก่ผู้อื่น พญาลิงจึงได้เกิดใหม่เป็นเทพบุตรบนสรวงสวรรค์ไตรตรึงษ์ (Trāyastriṃśa) ในที่สุดครับ 
.
พุทธประวัติตอนสั่งสอน-ทรมานพญาวานร ที่นครเวสาลี ที่กล่าวถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ได้ถูกยกให้เป็น 1 ใน 8 “มหาปาฏิหาริย์” สำคัญมาตั้งแต่ยุคโบราณ นิยมทำรูปศิลปะพระพุทธรูปปางประทานพร (วรมุทรา Varada Mudra) หรือรูปประทับนั่งถือบาตร ประกอบรูปพญาวานรแสดงท่าถวายรวงผึ้ง the King Monkey bringing a honeycomb- King Monkey offers Honey to Shakyamuni Buddha) อาจมีรูปบริวารอีก 2 – 3 ตัว อยู่ใกล้เคียงกัน
.
แต่เรื่องราวของพญาวานรถวายรวงผึ้งที่เวสาลีในอินเดีย กลับไม่ปรากฏความนิยมในพุทธประวัติฝ่ายลังกาวงศ์ ที่มานิยมพุทธประวัติตอน “" พญาช้างปาลิเลยะ – ปาเลไลยกะ” (Pārileyya- Pārileyyaka) แห่งป่ารักขิตวันสัญธะ (Rakkhitavanasanda Forest) และโขลงช้างคอยปรนนิบัติถวายภัตตาหารทั้งน้ำสะอาดและผลไม้ ในครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จหลีกออกมาจากความวุ่นวายจากการทะเลาะวิวาท ขาดความสามัคคีของคณะสงฆ์วัดโฆสิตาราม ทางใต้ของนครโกสัมพี (Kosambhi) ในแคว้นเจตี (Cedi) ด้วยเพียงเรื่องว่าสามารถทิ้งที่ตักน้ำไว้ในส้วมได้หรือไม่ พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อการทะเลาะเบาะแว้งเริ่มสงบลง ทรงเทศนาธรรมแห่งความสามัคคี โดยทรงชี้ไปที่พญาช้างปาลิเลยะ และโขลงช้างแห่งป่ารักขิตวันสัญธะ เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขครับ
.
----------------------------------
*** เมื่อพุทธประวัติเรื่อง “พญาวานรถวายรวงผึ้ง ที่ป่ามหาวัน นครเวสาลี” จากคตินิยมของฝ่ายอินเดียเหนือ ราชวงศ์คุปตะ-ปาละ และเรื่อง “พญาช้างปาลิเลยและโขลงช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้า ที่ป่ารักขิตวันสัญธะ เมืองโกสัมพี” จากคติความนิยมของฝ่ายลังกา ได้เข้ามาผสมผสานกันครั้งแรกในคติพุทธศาสนาในพุกามมอญและกัมพูชา ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 คงด้วยเพราะอิทธิพลของฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์จะได้รับความนิยมมากว่า พุทธประวัติที่ได้รับความนิยมแตกต่างกันจากทั้งสองภูมิภาค จึงได้เอาชื่อพญาช้างมาเป็นชื่อป่าและเอาเรื่องลิงถวายรวงผึ้งรวมกัน กลายมาเป็น “ปางป่าลิไลยก์” (Pārileyyaka) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ไปในที่สุด 
.
คติพญาวานรถวายรวงผึ้งจากฝ่ายราชวงศ์ปาละในอินเดีย ที่ผ่านมายังอาณาจักรพุกาม–รามัญ ถึงจะได้พัฒนากลายเป็นปางป่าลิไลยก์ตามคติฝ่ายลังกาไปแล้ว แต่ก็ยังคงเค้าร่องรอยใน “เทศกาลถวายน้ำผึ้ง” (The Honey offering Festival) ช่วงเดือน 10 (กันยายน) ที่ยังคงนิยมในกลุ่มชาวมอญ (ตักบาตรน้ำผึ้ง) ชาวพุทธบางส่วนในบังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย เมียนมาร์และศรีลังกาครับ  
*** ประติมากรรม พญาวานร ถวายรวงผึ้งแก่พระพุทธองค์ ที่ป่ามหาวัน นครเวสาลี พุทธศิลป์แบบราชวงศ์ปาละ กลางพุทธศตวรรษที่ 17 จัดแสดงที่บริติช มิวเซียม (British Museum)
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น