“พระปรางค์วัดมหาธาตุราชบุรี” พระปรางค์ทรงงาเนียมกับการสิ้นสุดรัฐสุพรรณภูมิที่ลุ่มน้ำแม่กลอง
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 กลุ่มเมืองตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง เมืองศัมพูกปัฏฏนะ (จอมปราสาท ราชบุรี) เมืองชยสิงหปุระ (เมืองสิงห์ กาญจนบุรี) ชยราชปุรี (ราชบุรี) และศรีชยวัชรบุรี (เพชรบุรี) อาจเคยเป็นกลุ่ม “รัฐตันหลิวไหม” (Deng Liu Mei) ตามชื่อนามใน “บันทึกซูฟันชิ” (Zhu Fan Zhi) ช่วงราชวงศ์ซ่ง และยังอาจหมายถึง “เหล่าพระราชาในแดนตะวันตก” จากจารึก “จารึกปราสาทตอว์” (K.692) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ที่กล่าวถึงการกลับเข้ามาครอบครองดินแดนตะวันตกและที่ราบภาคกลางในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่เป็นถิ่นฐานของกลุ่มชาวรามัญ-ทวารวดี เช่นเดียวกับการทำสงครามกับอาณาจักรจามปา (Campāpura) ทางตะวันออก
.
“...พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือจามปา …และเหล่าพระราชาในแดนตะวันตก (King of the west- inam aparaṃ) ...” (โศลกที่ 35, 45)
.
จนเมื่อสิ้นสุดจักรวรรดิบายนในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 กลุ่มรัฐนี้อาจได้พัฒนามาเป็นรัฐ “ปี้ชาปู้หลี” (Bi Cha Bu Li) จากบันทึก“ต้าเต๋อ หนานไห่จื้อ” (Ta děi Nan hi tchih) หรือภูมิศาสตร์ทะเลใต้สมัยต้าเต๋อ ที่บันทึกโดย “เฉินต้าเจิ้น” (Chen Ta-Chin) ตามบันทึกราชวงศ์หงวนที่กล่าวถึงการส่งเครื่องบรรณาการของกลุ่มรัฐนี้ โดยมีศูนย์กลางราชสำนักอยู่ที่เมืองเพชรบุรี (ศรีชยวัชรบุรีเดิม) และราชบุรี (ชยราชปุรี) นครชุมทางใหญ่บนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรมาลายู (Malay Peninsula) ทั้งเส้นทางบกลงไปยังรัฐตามพรลิงค์และคุมเส้นทางช่องเขาตะนาวศรีออกไปฝั่งทะเลเบงกอล เดินทางไปสู่โลกตะวันตกครับ
.
เมื่ออำนาจจากราชสำนักบายน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนครศรียโสธระปุระหมดลง กลุ่มชนในลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขาตอนบน ทั้งกลุ่มตระกูลไทเลืองที่ศรีสัชนาลัยสุโขทัย (ซั่งสุ่ยสูกูตี่) กลุ่มลูกผสมรัฐละโว้และเมืองท่าอโยธยา (รัฐหลอหู่) กลุ่มรามัญ-ทวารวดีเดิมรัฐสุพรรณภูมิ-สุวรรณปุระ (เสียน กั๋ว กวั่น) รวมไปถึงนครบนเส้นทางการการค้ารัฐเพชรบุรี (ปี้ชาปู้หลี) ที่ต่างก็เคยเป็น “ขอมเจ้าพระยา” มีความสัมพันธ์ร่วมในจักรวรรดิเดียวกันมาก่อน ต่างก็ได้แยกตัวออกเป็นรัฐอิสระแบบกลุ่มเครือญาติไปตามภูมิภาค ยังไม่มีการรวมรัฐเล็กรัฐน้อยขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่
.
*** ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 กลุ่มรัฐเพชรบุรี (ปี้ชาปู้หลี – ลูกครึ่งเขมร/รามัญ) อาจได้ถูกกลุ่มรัฐสุพรรณภูมิ-สุวรรณปุระที่เป็นรัฐของชาวรามัญ-ทวารวดีเดิมจากทางเหนือเข้ายึดครองด้วยการดองญาติระหว่างผู้ปกครอง แต่ก็อาจมีการสงครามที่รุนแรง โดยเฉพาะเมืองบายนเดิมในกลุ่มลุ่มน้ำแม่กลองและต้นน้ำสาขา ที่ หลายแห่งถูกทำลาย ไม่มีร่องรอยการอยู่อาศัยหรือสร้างศาสนสถานต่อเนื่องมาในยุคหลัง
.
รัฐเพชรบุรี รวมทั้งเมืองชยราชปุรี ได้ผนวกรวมเข้ากับรัฐสุพรรณภูมิ ตามเขตวัฒนธรรมและเส้นทางการค้าของชาวรามัญ-ทวารวดีเดิมก่อนอิทธิพลเขมร กลับกลายเป็นรัฐใหญ่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ตามชื่อนาม “เสียน” จากบันทึกในยุคราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิงครับ
.
-----------------------------------
*** ที่เมืองชยราชปุรี ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อรัฐสุพรรณภูมิ (รามัญ-ทวารวดีเดิม) ที่นิยมการสร้างพระเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม จากอิทธิพลเจดีย์ทรงถะแบบจีนที่ผ่านมาทางเมืองหริภุญชัยและพุกามได้กลับเข้ามาครอบครองเมืองราชบุรีอีกครั้ง กลุ่มราชสำนักใหญ่ได้มีการปรับเปลี่ยนศาสนสถานศูนย์กลางของเมือง ที่เคยเป็น “ปราสาทหิน” ในงานสถาปัตยกรรมแบบเขมรในยุคบายน มาเป็นพระเจดีย์ในคติ “มหาธาตุ” กลางนครตามความเชื่อของฝ่ายเถรวาทรามัญ โดยสร้างพระเจดีย์ 8 เหลี่ยมใหญ่ ตามแบบเจดีย์ประธานวัดมรกตและวัดเจดีย์หักและเจดีย์บริวารของวัดมหาธาตุสุพรรณบุรี ที่เป็นเจดีย์ทรงสูงชะลูด ส่วนฐานเขียง-ฐานตรีมาลาวางผัง 8 เหลี่ยมต่อขึ้นมาถึงเรือนธาตุผนังสูงที่ซ้อนขึ้นไป 2 – 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังเรียวสูงคล้ายทรงลอมฟาง (ลูกฟักผ่าครึ่ง) จากอิทธิพลพุกาม-หริภุญชัย บนฐานปัทม์กลมหรือ 8 เหลี่ยม ด้านบนไม่มีชั้นบัลลังก์ (หรรมิกา) หรืออาจมีบัลลังก์ 8 เหลี่ยมไม่มีเสาหาน ต่อก้านฉัตรปล้อง-ไฉน-ฉัตรวลี เป็นวงแหวนลดหลั่นแบบแยกห่างกันขึ้นไปถึงปลียอด วางเจดีย์ประธานใหญ่และเจดีย์บริวารไว้ทางด้านหลังปราสาทหินบายนที่เป็นศูนย์กลางเดิม
.
ถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ราชสำนักสุพรรณภูมิที่เมืองราชบุรี ที่มีอิสระจากราชสำนักสุพรรณภูมิที่เมืองสุพรรณบุรี-สรรค์บุรีในระดับหนึ่ง ก็ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับรัฐอยุทธยา-ละโว้ (หลอหู่) จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงพระมหาธาตุกลางนคร จากเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม มาเป็นพระปรางค์แบบอยุทธยา โดยได้รื้อปราสาทเขมรเดิมด้านหน้า นำวัสดุมาใช้สร้างวิหารหลวงขนาดใหญ่และได้นำมาใช้เป็นวัสดุสร้างเจดีย์ทรงปราสาท-พระปรางค์ ขึ้นครับ
.
ฐานล่างของปรางค์ประธานที่สร้างขึ้นแทนเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยมยุคสุพรรณภูมิเดิม ทำเป็นฐานเขียง (อุปานะ) สูง ซ้อนด้วยฐานปัทม์ซ้อนชุดฐานลดหลั่นขึ้นไป 3 ชั้นแบบพีระมิด ท้องไม้แต่ละชั้นคาดแถบบัวลูกฟักเหลี่ยมขนาดใหญ่คับท้องไม้ จนดูเหมือนว่าเป็นการ “เซาะร่อง” ท้องไม้เป็นเส้นติดกับลวดบัวคว่ำบัวหงายมากกว่า มีรูปแบบเดียวกับการคาดแถบบัวลูกฟักที่ท้องไม้และการยกชั้นฐานสูงของปรางค์ประธานวัดพระราม แต่แตกต่างไปจากชั้นฐานบัวลูกฟักของวัดราชบูรณะ ที่ยังคงรักษาขนบตามแบบปราสาทเขมร-ละโว้อย่างชัดเจน
.
ด้านบนฐานสูงเป็นเรือนธาตุเป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยม ยกเก็จประธานซ้อน 4 กระเปาะ จนเกิดเป็นการยกมุมถี่แตกต่างไปจากการยกมุมเก็จของปราสาทเขมรละโว้ ตรงกลางยกซุ้มประตูซ้อนเพียง 2 ชั้นหน้าบัน เหนือบัวรัดเกล้าเป็นชั้นอัสดงที่ไม่มีรูปประติมากรรมครุฑเหินขนาดใหญ่ประดับมุม (ครุฑยุดนาครับไขรา) แต่กลายเป็นมุมหลักที่ประดับด้วยกลีบขนุนแบบชะลูดแหลม (แตกต่างไปจากกลีบขนุนแบบละโว้ที่ยังอ้วนป้อมกว่า) ปั้นปูนรูปรูปทวารบาล –หรือเทพเจ้าในซุ้มบัญชร ยกชั้นวิมาน (รัดประคด-เชิงบาตร) แยกจากกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป 6 ชั้น ประดับกลีบขนุน (บัวกาบขนุน) เรียงชิดกัน เหลือช่องว่างระหว่างกลีบเพียงเล็กน้อยตามการยกมุมของแต่ละชั้นวิมาน กลีบขนุนของมุมหลักในแต่ละชั้นยังมีขนาดใหญ่กว่ามุมย่อย แผ่นบรรพแถลงวางในระดับเดียวกับกลีบขนุนเหนือลวดบัวเชิงบาตรของมุขหน้าเก็จประธานในแต่ละชั้นทำเป็นรูปใบเสมา ขนาดเท่ากับกลีบขนุน ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนเป็นลักษณะเด่นของพระปรางค์ไทย ที่หลุดออกจากงานสถาปัตยกรรมเขมร-ละโว้แล้วครับ
.
------------------------------
*** และเมื่อพิจารณาแผนผังเปรียบเทียบระหว่างปรางค์ประธานวัดมหาธาตุสุพรรณในยุคแรก ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ กับปรางค์ประธานวัดมหาธาตุราชบุรี จะพบว่า องค์ประกอบของทั้งสองพระปรางค์มีขนาดของระเบียงคด ปรางค์ประธาน ใกล้เคียงกัน มีการจัดวางวิหารที่มีท้ายจระนำแทรกเข้ามาภายในระเบียงคด รวมทั้งตำแหน่งของเจดีย์ 8 เหลี่ยมคู่แบบสมมาตรทั้งภายในระเบียงคดและนอกระเบียงคด ล้วนแต่มีการจัดวางตำแหน่งเดียวกัน
.
ลวดลายภาพเขียนสีอดีตพระพุทธเจ้าตามคติเถรวาทลังกาวงศ์ภายในห้องคูหาประธาน (Cella) ยังปรากฏลวดลายดอกไม้ทิพย์-ดอกบัว ลายเมฆริ้วหรือลายเครือเถาจากอิทธิพลศิลปะจีน ที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ลายปราสาทยอดแหลมในคติคันธกุฏีวิหาร รูปพระสาวกขนาบข้าง ลายเครื่องแต่งกายกษัตริย์ แสดงอิทธิพลของงานศิลปะแบบพุกาม-รามัญ ของงานช่างศิลปะเดิมที่นิยมในภูมิภาคครับ
.
อีกทั้งรูปแบบของปรางค์ที่มีลักษณะเด่นของ “พระปรางค์ทรงงาเนียม” (หลังคาทรงวิมานอ้วนป้อมสอบโค้งเข้า เพิ่มชั้นวิมาน-เชิงบาตรมากกว่า มีการปรับจำนวนชั้นและการจัดเรียงบัวกาบขนุน (กลีบขนุน) ให้กระชับเข้ามาชิดกันตามจำนวนมุมที่เพิ่มขึ้น แตกต่างไปจากทรงวิมานแบบเขมร-ละโว้ ที่นิยมในอยุทธยาเดิมอย่างเห็นได้ชัด) ฐานยกสูง 3 ชั้นบนฐานไพทีใหญ่ การวางแถบบัวลูกฟักใหญ่เต็มท้องไม้ ที่เป็นพระราชนิยมในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ อย่างพระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี พระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงและพระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก อีกทั้งการจัดวาง “ทับหลังปลอม” ภายในช่องจระนำของซุ้มประตู รวมทั้งการเปลี่ยนเครื่องปักมุมชั้นอัสดงจากรูปประติมากรรมลอยตัว อย่างครุฑยุดนาคมุมไขราและรูปทวารบาลเดิมมาเป็นกลีบขนุน ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระปรางค์ประธานวัดพระราม ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21
.
ต่อมาได้มีการต่อเติมเพิ่มมุขฐานปัทม์คาดบัวลูกฟักแถบใหญ่ล้อตามแบบฐานเดิม ต่อเติมเป็นอาคารคูหายาว ด้านหน้า รวมทั้งเพิ่มมุขฐานเฉพาะชั้นล่างตรงกับหน้าซุ้มประตูยาวออกไปทั้ง 3 ด้าน สร้างเป็นพระปรางค์บริวารที่ปลายมุขฐาน ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายของกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ช่วงสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครับ
.
ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ภายหลังจากการสร้างปรางค์บริวารจึงได้มีการก่อฐานไพทีสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ถมทับส่วนฐานเขียงของพระปรางค์ใหญ่ ปรางค์บริวารและฐานล่างของเจดีย์ 8 เหลี่ยมบริวารเดิมที่อยู่ตามมุมทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน (ภายหลังจากการบูรณะ) ได้มีการเปิดส่วนฐานให้เห็นร่องรอยการก่อถมฐานไพทีให้เห็นอยู่ที่มุมตะวันตกเฉียงใต้
.
*** พระปรางค์วัดมหาธาตุราชบุรี มหาธาตุกลางนครชยราชปุรี จึงควรถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ปลายสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อแสดงพระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ทรงผนวกรวมรัฐสุพรรณภูมิกลุ่มสุดท้ายที่ลุ่มน้ำแม่กลอง เข้ามาอยู่ในอาณาจักรกรุงศรีอยุทธยาอย่างสมบูรณ์ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น