วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

จารึกแผ่นทองแดงเมืองโบราณอู่ทอง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“จารึกแผ่นทองแดง” ปริศนาพระนามกษัตริย์อีศานปุระ ที่เมืองโบราณอู่ทอง
เมื่อราวกว่า 60-70 ปีที่แล้ว มีการขุดหาลูกปัดและวัตถุโบราณมากมายที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มต้นจากเนินพลับพลาบริเวณหน้าโรงพยาบาล บ้านวังขอน บ้านปลายน้ำ บ้านสะพานดำ บ้านนาลาว สะพานท่าพระยาจักร เนินหลังพิพิธภัณฑ์ วัดช่องลม ขยายตัวไปทั่วอำเภอและต่างอำเภอทั้งในเขตบ้านนาลาว บ้านหนองหลุม บ้านโคกสำโรง บ้านสะพานดำ บ้านดอนสุโข รวมไปถึง สวนแตง ดอนระฆัง ดอนเจดีย์ จนไปทั่วจังหวัดสุพรรณบุรี
.
ในระหว่างการขุดหาวัตถุโบราณบนเนินตรงข้ามโรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย นางแถม เสือคำ เจ้าของที่ดินได้ขุดพบ “ม้วนแผ่นทองแดง” ซึ่งในบริเวณเดียวกันยังมีชาวบ้านคนอื่นขุดพบภาชนะดินเผาใส่เหรียญกษาปณ์จำนวนกว่า 70 – 80 เหรียญ มีทั้งเหรียญเงิน ทอง ทองแดงและสำริดขนาดต่าง ๆ  มีเหรียญรูปหอยสังข์ รูปหม้อน้ำปูรณะกลศ รวมทั้งเหรียญรูปอุณาโลม-หอยสังข์ รูปพระอาทิตย์อุทัย (ขึ้นที่ขอบฟ้าตะวันออก) ที่อีกด้านหนึ่งเป็นรูปสัญลักษณ์มงคลในคติฮินดู ทั้งรูปปราสาทศรีวัตสะ สวัสดิกะ พระอาทิตย์ พระจันทร์ กลองบัณเฑาะห์ - ฑมรุ" (Damaru) เหรียญรูปวัวแม่ลูกในคติแม่โคสรุภีและลูกวัวมโนรัตถะ อีกด้านเป็นจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อ่านว่า “ศฺรีทฺวารวดีศฺวรปุณฺย”ครับ 
.
ม้วนแผ่นทองแดงที่นางแถมขุดได้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาว 28*42 เซนติเมตร  มีการจารอักษร จำนวน 6 บรรทัด เมื่อข่าวการพบม้วนแผ่นทองแดงที่มีจารึกแพร่สะพัดออกไป นายเจริญ ผานุช หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 2 จึงได้ติดต่อนางแถม เพื่อขอรับม้วนแผ่นทองแดงที่อาจมีความสำคัญดังกล่าวมาเป็นสมบัติของแผ่นดินในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 
.
ต่อมาได้มีการศึกษาและแปลความอักษรที่จารึกบนแผ่นทองแดง โดย ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ  พบว่าเป็นอักษรหลังปัลลวะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 ถอดเนื้อความตามภาษาสันสกฤตได้ว่า “...อากิรฺณฺณากิรฺณฺติปุญฺชสฺย ราชฺญศฺ ศฺรีศานวรฺมฺมณะ นปฺตา ศฺรีหรฺษวรฺมฺมาสฺ ลพฺสึหาสนะ กฺรมาตฺ นฺฤตฺตตฺฤรฺยฺยาทิสํปนฺนํ ศิวกํ รตฺนาทิฤษิตำ ส สาตปตฺรำ ปฺรหิโน จฺ ฉฺรีมทฺ มราตเกศฺวเร ปศุจาจฺ จ ศามฺภวโกศํ วรูปฺรกรไณรฺยุยตมฺ ส ศฺรีธาเรศฺวเร ททยา นุ นาฏฺยคีตาทิสงฺกลมฺ...”
.
 “..ศรีหรรษวรมัน เป็นพระราชนัดดาของศรีอีศานวรมันผู้ทรงพระเกียรติอันแผ่ไปทั่ว ผู้ได้รับสิงหาสนะมาโดยลำดับ พระองค์ได้ส่งศรีวิกาอันประดับด้วยรัตนะเป็นต้น พร้อมกับฟ้อนรำและดนตรีเป็นอาทิ เป็นทักษิณาถวายแด่ พระศรีมัตอัมราตเกศวร และภายหลังท้าวเธอได้ถวายของควรแก่การอุปกรณ์อันประเสริฐ และหมู่คนมีความสามารถในฟ้อนรำและขับร้องเป็นต้น แด่พระศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์ศรีธาเรศวร...”
.
ต่อมา “ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์” (George Coedès) ได้สันนิษฐานชื่อพระนาม “พระเจ้าอีศานวรมัน-ศฺรีศานวรฺมฺมณะ” ที่พบในแผ่นจารึกนี้ ว่าควรหมายถึงพระเจ้าอีศานวรมัน (Īśānavarmman)  กษัตริย์เมือง (รัฐ) อีศานปุระ (สมโปร์ไพรกุก) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ส่วนชื่อนาม “พระศรีมัตอัมราตเกศวร” คือพระนามของพระศิวลึงค์องค์สำคัญในช่วงก่อนยุคเมืองพระนครครับ
.
แต่ศาสตราจารย์ฌ็อง บัวเซอลีเยร์ (Prof. Jean Boisselier-ฝรั่งเศส) และ ดร.ควอริช เวลล์  (H. G. Quaritch Wales-อังกฤษ) มองว่า ชื่อพระนาม “ศรีหรรษวรมัน-ศฺรีหรฺษวรฺมฺมาสฺ” ในแผ่นจารึกทองแดง ควรเป็นพระนามของกษัตริย์ฮินดู-ไศวนิกาย (Shaivism) ในท้องถิ่นลุ่มน้ำจระเข้สามพัน ไม่น่าจะเป็นชื่อพระนามกษัตริย์จากเมืองอีศานปุระ  
.
*** จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นชื่อพระนามของกษัตริย์ในท้องถิ่น สอดรับกับร่องรอยหลักฐานของกลุ่มศาสนสถานโบราณคอกช้างดิน ติดกับแนวเขาคอก-เขาถ้ำเสือ-น้ำตกพุม่วง ห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโบราณอู่ทองประมาณ 3 กิโลเมตร  เหนือคุ้งน้ำโค้งของแม่น้ำจระเข้สามพันที่ไหลขึ้นมาจากทางใต้ ที่ได้พบร่องรอยของฐานอาคารกว่า 18 จุด ระบบการจัดการน้ำด้วยคันดินสูง 4 แห่งตามแนวน้ำตกพุม่วง (ที่เรียกกันว่าคอกช้างดิน) อีกทั้งยังมีการพบรูปประติมากรรมพระศิวลึงค์ (Shiva Lingam) ทั้งเอกามุขลึงค์ (มีพระพักตร์ของพระศิวะยื่นออกมา) มุขลึงค์ (ศิวลึงค์แบบติดกับฐานโยณีโทริณี) ที่ล้วนเป็นรูปประติมากรรมในคติไศวะนิกาย-ปศุปตะ (Paśupata -Pashupata Shaivism) ที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 -12 ครับ
.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ยังได้การขุดพบเหรียญกษาปณ์จำนวน 9 เหรียญ ทั้งรูปหอยสังข์-ศรีวัตสะปราสาท (แบบมีรูปหม้อกลศ ปลา แซ่จารมร ขอช้าง พระอาทิตย์ กลองบัณเฑาะห์ – ฑมรุ) เหรียญพระอาทิตย์ขึ้น-ศรีวัตสะ เหรียญรูปแม่วัวลูกวัว-จารึก “ศฺรีทฺวารวดีศฺวรปุณฺย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลในคติฮินดู และก้อนแร่เงินแบ่งขนาดขนาดต่าง ๆ จำนวน 38 ชิ้น บรรจุอย่างตั้งใจในภาชนะดินเผาทรงคนโท บนเนินกลุ่มฐานอาคารคชด.7 ซึ่งอาจได้แสดงถึงร่องรอยพิธีกรรมของมนุษย์เพื่อการวางศิลาฤกษ์ศาสนสถานด้วยสิ่งของมีค่าอย่างเงินกษาปณ์และแร่เงิน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 13    
.
แต่ถึงแม้ว่าจะมีร่องรอยของกลุ่มศาสนสถานในคติฮินดู-ปศุปตะ ที่อาจมีอายุเก่าแก่ไปถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 ก่อนอายุอักษรที่พบในจารึกแผ่นทองแดงในบริเวณใกล้เคียงเมืองโบราณอู่ทองก็ตาม แต่ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ได้มีการพบเหรียญกษาปณ์ที่เป็นจารึกเป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีคำว่า “ศฺรี” ในกรอบวงกลม ล้อมรอบด้วยอักษรที่เรียงเป็นคำว่า “ศานว(รฺ)มฺนาถะ” อีกด้านหนึ่งอ่านว่า “อาชญา” ที่หมายถึง “อาญา-อำนาจ” อีกเป็นจำนวนมากในเขตเมืองโบราณอู่ทองครับ
.     
รูปแบบและการเรียงอักษร “ศรี ศานว(รฺ)มฺ ...” บนเหรียญ มีความคล้ายคลึงกับการวางรูปและเรียงอักษรของ “ศฺรีศานวรฺมฺ...” ที่ปรากฏอยู่บนจารึกแผ่นทองแดง ที่มีอายุอักษรอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14  ประกอบกับคำว่า “อาชญา-อาญา” อีกด้านหนึ่งของเหรียญ อาจเป็นหลักฐานแสดงว่า ชื่อนาม “ศรีอีศานวรมัน” นั้น เป็นพระนามของผู้มีอำนาจในเขตพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองในช่วงระยะเวลานี้    
.
เมื่อเปรียบเทียบชื่อพระนามศรีอีศานวรมันจากจารึกกรอบประตู “ปราสาทเดิมเจร็ย” (Daem Chrei – ต้นไทร-N.18) เมืองสมโบร์ไพรกุก จังหวัดกำปงธม และจาก “จารึกกรอบประตู K.1419” ที่พบจากตรุเปรียงคะตำ (Trupeang Khtum) เขตบาเส็ท (Baset) จังหวัดกำปงสปือ (Kompong Speu) ที่มีอายุในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12  ก็จะพบว่า มีความแตกต่างเฉพาะการวางอักษร “รี” หลังอักษร “ศ” ที่ทางอู่ทองนิยมใช้เส้นต่อแบบไม้ม้วนไว้ด้านหลังอักษร “ศ” แต่ตัวอักษรอื่นก็ยังคงวางเรียงสะกดตามแบบภาษาสันสกฤตเหมือนกัน รวมทั้งการไม่ปรากฏอักษร “อิ” นำหน้า “ศาน” และ อักษร “ร” ต่อ อักษร “ว” ในคำว่า “วรฺมฺ” แบบเดียวกันครับ
.
*** จึงเป็นไปได้ว่า ในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 พระเจ้าอีศานวรมัน (ผู้ทรงพระเกียรติแผ่ไปทั่ว- ผู้ทรงเป็นราชาเหนือเหล่าราชา ในจารึก ษ.1419) จากกลุ่มลูกครึ่งIndianizations/อินเดียเมืองอีศานปุระ อาจได้เคยมีอิทธิพลทั้งในด้านความเชื่อและการเมือง เชื่อมโยงสนับสนุนกับกลุ่มชุมชนฮินดูไศวะนิกายที่เป็นกลุ่มเครือญาติสาแหรกหนึ่ง ที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เชิงเขา (คอกช้างดิน) ในเขตเมืองโบราณอู่ทอง ดังปรากฏพระนามในเหรียญกษาปณ์ จนมาถึงช่วงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 13 พระนัดดาที่มีนามว่าหรรษวรมมะ (ไม่ได้เป็นกษัตริย์) ได้เดินทางมานมัสการพระศิวลึงค์ (พระศรีมัตอัมราตเกศวร) ที่เป็นพระศิวลึงค์เก่าแก่ในยุคพระเจ้าอีศานวรมัน ได้เคยนำมาประดิษฐานไว้ พร้อมถวายศรีวิกา การฟ้อนรำและดนตรีถวายองค์พระศิวะ (ศรีธาเรศวร)       
.
*** ผู้คนและความนิยมในคติฮินดูที่คอกช้างดินได้เริ่มหายไปจากภูมิภาคเมืองโบราณอู่ทอง ประมาณตั้งแต่หลังพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา โดยมีกลุ่มคนที่นิยมในคติความเชื่อแบบพุทธศาสนาแบบอานธระ-ลังกา และจารึกในภาษาบาลี ในวัฒนธรรมทวารวดี (ลูกครึ่งอินเดียอีกกลุ่มหนึ่ง) ได้เข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น