วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พระพิฆคเนศ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระคเณศ-พระพิฆคเณศ-พระเทวกรรม” ในงานศิลปะอยุทธยา
ดูเหมือนว่าก่อนหน้ากลางพุทธศตวรรษที่ 20 จะแทบไม่ปรากฏความนิยมในการสร้างรูปงานศิลปะและคติความเชื่อเรื่อง “พระคเณศ” (Ganesha) “วินายกะ” (vināyaka) “พระคณปติ” (Ganapati) (“ปิลไลยาร์” (Pillaiyar) ในภาษาทมิฬ) ในรัฐอยุทธยาเริ่มแรก (ละโว้+สุพรรณภูมิ) นอกจากความนิยมคติฮินดูในยุคก่อนหน้าจากรูปงานศิลปะแบบเขมรโบราณ ที่พบในรัฐละโว้เท่านั้น 
.
ซึ่งก็อาจเป็นเพราะ รัฐสุพรรณภูมิและดินแดนในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงนิยมในคติพุทธศาสนาแบบรามัญนิกายมาตั้งแต่ยังคงอยู่ในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี ตามด้วยอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19  จึงไม่นิยมรูปเคารพในคติฮินดู ที่นิยมในรัฐขอม-ละโว้ครับ
.
จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ปี พ.ศ. 1974 อยุทธยาได้ตีเมืองพระนครศรียโสธระปุระ ศูนย์กลางอาณาจักรเขมรโบราณจนแตกพ่าย ถึงช่วงปี พ.ศ. 1986 อยุทธยายังส่งกองทัพใหญ่เข้าไปปราบกบฏเจ้าพระยาญาติ-เจ้ายาด–เจ้าพญาคามยาต ที่เมืองจัตุมุขอีกครั้ง  อยุทธยาได้กวาดต้อนเชลยศึกเป็นจำนวนนับแสนคน ซึ่งก็รวมถึงเจ้านายในราชสำนัก นักบวชพราหมณ์ฮินดูและช่างประติมากร-ศิลปะกรรมทั้งหมดกลับมา อีกทั้งยังขนย้ายรูปประติมากรรมสำริดจำนวนมากที่มีทั้งรูปพระศิวะ เหล่าเทพเจ้าฮินดู รูปพระโคนนทิ ช้างเอราวัณ รวมทั้งรูปทวารบาลจากเมืองพระนครธมมายังอยุทธยาอีกด้วย   
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 นี้ ราชสำนักอยุทธยาที่นิยมคติเถรวาท จึงอาจได้รับอิทธิพลของคติพราหมณ์-ฮินดู จากราชสำนักหลวงเมืองพระนครเข้ามาผสมผสานในระหว่างพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ในงานพิธีกรรมหลวงและการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ (คติรามาธิบดี – โองการแช่งน้ำ) ของราชสำนักอยุทธยาเป็นครั้งแรก ๆ ครับ  
.
เหล่านักบวชพราหมณ์หลวงจากราชสำนักเมืองพระนครเดิม จึงได้ขอให้ราชสำนักอยุทธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สร้าง “เทวสถาน” (Devasthāna - Place of Deities)  “พระเทวาลัย” (ศาลพระกาฬ) ใกล้กับตะแลงแกงขึ้น เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมและประดิษฐานรูปเคารพเฉพาะของฝ่ายตน และคงได้มีการสร้างกลุ่มเทวสถานทางตะวันออกของบึงพระรามใกล้กับสะพานชีกุน (Chikun Bridge) ริมคลองประตูจีนในเวลาไล่เลี่ยกัน 
.
ซึ่งต่อมาเมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ไม่นาน ทรงโปรดให้ย้ายเทวสถานมาอยู่รวมกันที่สะพานชีกุนทั้งหมด โดยสร้างโคกเทวสถาน (ใกล้กับวงเวียนโรงเรียน พร้อมกับการสร้างเสาชิงช้าตามแบบพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ว่า “...ลุศักราช 998 ปี (พ.ศ. 2179) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้รื้อเทวสถานพระอิศวร พระนารายณ์ขึ้นมาตั้งยังชีกุน ในปีนั้นให้ยกกำแพงพระราชวังออกไป ให้สร้างพระมหาปราสาท พระวิหารสมเด็จ...” 
.
ด้วยเพราะในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททอง กลุ่มพราหมณ์หลวงแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชา (ตามพรลิงค์ - ลิกอร์ Ligor ในภาษาโปรตุเกส) เชื่อมต่อกับพราหมณ์เมืองรามราช (เมืองราเมศวารัม Rāmeśvaram -พาราณสีแห่งอินเดียใต้) ช่วงราชวงศ์นายกะแห่งมธุไร  (Madurai Nayakas)  ซึ่งในเวลานั้น กรุงศรีอยุธยาต้องยกกองทัพลงไปปราบกบฏเมืองนครศรีธรรมราชที่มีเชื้อสายชาวใต้-มาลายู  ที่กลับเข้ามายึดครองเมืองเตรียมสถาปนากษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ใหม่ขึ้น โดยไม่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา 
.
การกลับเข้ายึดครองและพัฒนาเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ปี พ.ศ. 2174 นำมาซึ่งความนิยมในคติพราหมณ์-ฮินดู และงานศิลปะ ตามแบบ “นครศรีธรรมราช-รามราช” ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมาเป็นอย่างมากครับ
.
----------------------------
*** รูปประติมากรรมพระคเณศ ที่อาจเก่าแก่ที่สุดในช่วงยุคกรุงศรีอยุธยาอาจเป็นรูปพระคเณศสำริดสองกร ความสูง 31.4 เซนติเมตร จาก Metropolitan Museum of Art  ที่มีรูปแบบศิลปะในช่วงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ประทับในท่านั่งโยคีขัดสมาธิบนฐานปีฐกะขาสิงห์ยกสูง ทรงเทริดครอบประดับตาบดอกมี่กลีบ 4 ด้าน กรวยรัดเกล้าครอบด้านบน ใบพระกรรณเล็ก สวมกำไลข้อพระบาทและ พาหุรัดรูปงู  คล้องสายยัชโญปวีต (Yajñopavīta) แบบสายเส้นด้ายแต่มีปลายบนพระอังสาซ้ายเป็นรูปเศียรนาค   ถืองาหักที่พระหัตถ์ขวา  ถืออังกุศ- – ขอสับช้าง ” (Ankusha-Eelephant Goad) ในพระหัตถ์ซ้าย 
.
พระคเณศสองกรหินทรายสีเขียว จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยามี พระกรรณใหญ่บานออกด้านข้าง สวมอุณหิสทรงเทริดมีกระบังครอบ ยอดรัดเกล้าทรงกระบอกสอบเป็นกรวย คล้องสายยัชโญปวีต (Yajñopavīta)  เป็นสายตัวนาคมีพระเศียรอยู่ตรงพระอุระ พระหัตถ์ขวาถืองาหัก พระหัตถ์ว้ายถือ “ถ้วยโมฑกะพัตรา” (Modakapātra) มีส่วนปลายงวงติดอยู่ ประทับในท่าชันเข่าไขว้ข้อพระบาทแบบ “โยคาสนะ” (Yogāsana) มีสายนาคเป็นสายโยคปัฏฏ์ (Yogapaṭṭa) รัดพระชงฆ์ทั้งสองข้าง (ตามคติการทรมานเพื่อบำเพ็ญตนของฝ่ายไศวะนิกาย) นุ่งภูษสมพตสั้น มีริ้วผ้าเป็นลายเส้น อาจถูกสลักขึ้นในกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ช่วงสมัยสมเด็จพระรามิบดีที่ 2 เพื่อประดิษฐานในพระเทวาลัย (ศาลพระกาฬ) ครับ 
.
ประติมากรรมพระคเณศ 4 พระกรหินทรายสีเขียวอีกรูปหนึ่งที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีความสูง 110 เซนติเมตร พระกรรณใหญ่บานออกด้านข้าง แต่แตกหักเสียหายทั้งหมด สวมอุณหิสศิราภรณ์ทรงเทริดมีกระบัง  ยอดรัดเกล้าทรงกรวยแหลมแยกแบบเป็นชั้น ๆ ที่เรียกว่า “การัณฑมงกุฎ” มีรูปดอกไม้ ทรงข้าวหลามตัดที่กลางพระนลาฏ คล้องสายยัชโญปวีตเป็นสายนาคมีพระเศียรอยู่ตรงพระอังสาซ้าย พาหุรัดรูปนาคทั้งสองพระกร นั่งยกชันเข่าข้างขวาในท่า “มหาราชะลีลาสนะ” (Mahārājalīlāsana) พระหัตถ์ขวาถืองาหัก (แตกหัก) พระหัตถ์ซ้ายถือ “ถ้วยโมฑกะพัตรา” (สภาพแตกหัก แต่มีส่วนงวงโค้งตวัดเข้าไปหาตามขนบศิลปะการถือถ้วยขนมโมทกะ) ส่วนพระกรหลังแตกหักออกไปทั้งหมด 
.
*** รูปพระคเณศ 4 กร ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม มีองค์ประกอบทางศิลปะแบบเดียวกับรูปพระคเณศ 4 กร ที่ประดิษฐานอยู่ภายในอาคารหลังกลาง เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร ด้านข้างซ้ายของรูปพระคเณศสำริดประธานทั้งสองรูปมีลักษณะทางศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะราชวงศ์วิชัยนครา(Vijayanagara) ในอินเดียใต้ (พระอุทรอ้วนใหญ่ พระกรรณแผ่ออกข้าง มี 4 พระกร นั่งในท่ามหาราชาลีลาสนะ สวมการัณฑมงกุฎ มีมวยเกศาด้านหลังเป็นรูปพวงดอกไม้) ผสมผสานกับศิลปะแบบอยุธยา ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างเร็วครับ  
.
*** ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานการนับถือพระคเณศอย่างชัดเจน ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงการโปรดให้หล่อรูปพระพิฆเนศวร์ ในฐานะ “พระเทวกรรม” บรมครูแห่งคชศาสตร์ “...แลในปีวอก (จ.ศ. 1018 พ.ศ. 2199 ) นั้น ตรัสให้หล่อรูปพระเทวกรรม สูงประมาณศอกมีเศษพระองค์หนึ่ง สวมทองเครื่องอาภรณ์ประดับแหวนถมราชาวดี...”  รวมทั้งยังโปรดให้หล่อรูปประติมากรรมสำริดตามคติฮินดูองค์อื่น ๆ “...พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว บำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการ แลให้หล่อรูปพระอิศวรเป็นเจ้ายืน สูงศอกคืบมีเศษ พระองค์หนึ่งรูปพระษิวาทิตย์ยืนสูงศอกมีเศษพระองค์หนึ่ง รูปพระมหาวิคเนศวรพระองค์หนึ่ง รูปพระจันทรธรณีศวรพระองค์หนึ่ง และ รูปพระเจ้าทั้งสี่พระองค์นี้ สวมด้วยทองนพคุณและเครื่องอาภรณ์ ประดับนั้นถมราชวดี ประดับแหวนทุกพระองค์ ไว้บูชาสำหรับการพระราชพิธี...”
.
“... ครั้นปีระกานพศก (จ.ศ. 1019 พ.ศ. 2200) ทรงพระกรุณาตรัสให้หล่อพระเทวกรรมทองยืน สูงศอกหนึ่ง หุ้มด้วยทองเหนือแล้ว และเครื่องอาภรณ์นั้นถมราชาวดีประดับด้วยแหวน ไว้สำหรับการพระราชพิธีคชกรรมสืบไป...”
.
*** ซึ่งรูปประติมากรรมสำริด พระพิฆเนศวร์-พระเทวกรรม ที่หล่อขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ควรเป็นรูปพระคเณศสำริด 2 พระกร พระหัตถ์ขวาถืองาหัก ส่วนของในพระหัตถ์ซ้ายหายไป (ซึ่งก็ควรถืออังกุศ-ขอสับช้าง) ที่ประดิษฐานเป็นองค์ประธานในอาคารหลังกลาง เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ที่ย้ายมาจากเทวาลัยในกรุงศรีอยุธยานั่นเองครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น