วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พระยอดธง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
รูปประติมากรรมสำริด บน “ยอดเสาธงชัย”  
.
ว่ากันว่า มนุษย์เริ่มใช้สัญลักษณ์ “ธง” (Flag) เป็นเครื่องสื่อสารความหมายสัญลักษณ์แสดงตัวตนของกลุ่ม มาตั้งแต่ราว 4,000 ปีที่แล้ว แต่ในยุคแรกเริ่มนั้นยังไม่ได้ใช้ผ้ามาทำเป็นเนื้อธง แต่จะสลักขึ้นจากไม้ ในความหมายของ “สัญลักษณ์ - เครื่องหมายนำทาง” จนถึงในช่วง 3,500 ปีที่แล้ว จักรวรรดิเอลาไมท์ (Elamite Empire) ในอิหร่านได้ใช้ธงที่ทำขึ้นจากแผ่นโลหะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก 
.
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการใช้ผ้าทอเป็นธง ปรากฏเป็นภาพสลักบนประตูหิน “โตรณะ” ของสถูปสาญจี ที่สร้างขึ้นในยุคราชวงศ์ศุงคะ ราวพุทธศตวรรษที่ 4  เป็นรูปขบวนช้างของกษัตริย์ บนหลังช้างมี “ธงชัย”(Flag of Victory) ผืนยาวที่มีรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ประดับอยู่ ปลายธงมีก้านรับปลายทั้งสองด้านต่างระดับแบบโค้งม้วนคล้ายใบเรือสำเภา ยอดเสาธงทำเป็นรูปสัญลักษณ์ของ “เมล็ดพันธุ์แห่งความเจริญงอกงาม” ครับ
.
ธงในอินเดียโบราณมีอยู่ 3 ประเภท อย่างแรกเรียกว่า “ธช หรือ ธวชะ” หมายถึงผ้ารูปร่างต่าง ๆ ทั้งสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมที่ผูกไว้ตรงปลายเสา อย่างที่สองเรียกว่า “ปฏากะ” หมายถึงธงชัยมงคล ธงประจำเทพเจ้า หรือธงศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการถวายบูชาเทพเจ้าทั้งในคติฮินดูและพระพุทธเจ้าในคติพุทธ และอย่างสุดท้ายคือ “โตรณะ” ก็คือธงราว ธงเล็ก ๆ ที่เรียงเป็นแถว มีสายเชือกผูกโยงขึงไว้ระหว่างเสา หรือพาดลงมาเชื่อมกับวัตถุมงคลสำคัญ
..
------------------------
*** ข้ามมาในวัฒนธรรมเขมรโบราณ  “ธงชัย”มีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสูงในการถวายเครื่องบูชาแด่เทพเจ้า และเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เป็นหลักครับ
.
รูปธงบนภาพสลักนูนต่ำบนกำแพงระเบียงคดที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน ล้วนแสดงหลักฐานของการใช้ธงประกอบในเรื่องราวต่าง ๆ  ทั้งในขบวนเกียรติยศ-เฉลิมพระเกียรติ ขบวนทัพ การต่อสู้ระหว่างเทพเจ้า ธงชัยจะทำหน้าที่บ่งบอกฐานะของผู้ใช้ธงนั้นว่ามีระดับชั้นความสำคัญขนาดไหนในสังคม โดยมีรูปแบบหลัก ๆ อยู่ 3 แบบ คือ ธงผืนยาวเป็นริ้ว - พลิ้วโค้งที่ด้านบน ธงผืนใหญ่มีชายสามเหลี่ยม 3 – 5 ชาย และธงรูปสามเหลี่ยม
.
จากภาพสลัก ธงชัยผืนผ้ารูปแบบต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้ประกอบร่วมกันกับเครื่องสูงชนิดอื่น ๆ ในขบวนแห่แหน ทั้ง กลด – ฉัตรสัปทน บังแทรกบังสูรย์ แส้จามร เครื่องพัดโบก พัดวาลวิชนีหางนกยูง ธงผืนยาวเป็นริ้วจะทำหน้าที่บ่งบอกความสำคัญหรือฐานะของบุคคลสำคัญในภาพสลักอย่างกษัตริย์ แม่ทัพหรือขุนพล แต่ละธงชัยก็นิยมจะสลักเป็นลวดลายดอกไม้ ลายต่อก้านขดหรือลายมงคลเป็นเส้นบาง ๆ ไว้บนเนื้อธง (ที่สลักบนหิน) อย่างสวยงาม รวมทั้งธงตระแกรง (ในขบวนกองทัพที่ปราสาทบายน) ที่ใช้ในการป้องกันลูกธนูจากฝ่ายข้าศึกครับ  
.
แต่ในขบวนแห่แหนในภาพสลักทั้งขบวนเฉลิมพระเกียรติ ขบวนกองทัพและขบวนพิธีพรามหณ์ จะปรากฏเสาที่มีรูปประติมากรรมบนยอดเสา (Flagpole tops) ที่อาจเรียกว่า “ยอดเสาธงชัย” นำอยู่ด้านหน้ากลุ่มภาพที่เป็นขบวนสำคัญ บ่งบอกระดับฐานะทางสังคมของผู้เป็นใหญ่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละขบวน ความสัมพันธ์กับกษัตริย์ รวมทั้งอาจยังได้แสดงถึงความสามารถในเชิงการสงครามของผู้เป็นใหญ่ในแต่ละกองทัพอีกด้วย
.
รูปประติมากรรมบนยอดเสาธวัช-ธงชัย (Dhvaja) ในภาพสลักรูปขบวนกองทัพทั้งที่ปราสาทนครวัดและบายน จะพบว่า มีรูปพระวิษณุประทับบนครุฑพ่าห์ (นารายณ์ทรงสุบรรณ) ในท่าเหาะเหินก้าวขาข้างหนึ่งยาวไปด้านหน้า  นำหน้ากระบวนกองทัพพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2  (วรบาท กมรเตงอัญ ปรมวิษณุโลก) ประธานของขบวนลำดับที่ 12  หมายถึงกองทัพกษัตริย์ผู้เป็นเสมือนอวตารของพระวิษณุตามคติฝ่ายไวษณพนิกาย (Vaishnavism –Vishnuism) ที่ก็ยังได้รับความนิยมสืบเนื่องต่อมาในกลุ่มรัฐขอมเก่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในคติ “พระรามาธิบดี”ครับ
.
ลำดับรองลงมาเป็นรูป “ครุฑเหิน” (ธงชัย-ครุฑาธุช) นำหน้า กองทัพลำดับที่ 3 ที่นำโดย “อนัก สัญชัก กันจัสปรยัก” ตำแหน่ง “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีวีรายุทธวรรมม” ขบวนทัพลำดับที่ 6 ที่นำทัพโดย “อนัก สัญชัก วิทยาศรม” ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีวีรวรรมม” ซึ่งรูปครุฑพ่าห์นี้อาจแสดงความเกี่ยวข้องของแม่ทัพ ในฐานะพระญาติของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2  
.
ลำดับรองลงมาเป็นรูปวานรถือพระขรรค์ (ธงชัยกระบี่ธุช) แสดงท่าฮึกเหิม ยกขาด้านหนึ่งขึ้นสูง หันฝ่าเท้าไปด้านหน้า บางรูปไม่ถือพระขรรค์ บางรูปแสดงท่าร่ายรำ บนเสาที่นำหน้าหลายขบวนกองทัพ อย่างขบวนที่ 4 ที่นำทัพโดย “อนัก สัญชัก มัตคนัน ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีวชยา ยุทธวรรมม” ขบวนทัพที่ 5 นำโดย “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีมหิปตินทรวรรมม” ผู้ปกครอง “จันลัตไต” ขบวนทัพที่ 11 นำโดย “กมฺรเตง อัญ ธนัญชัย” ขบวนทัพที่ 13 นำโดย “อนัก สัญชัก ไตรโลกยปุระ” หรือ ขบวนทัพที่ 14 นำทัพโดย “วฺร กมฺรเตง อัญ มูล ศรีวรรทธะ” ขบวนทัพที่ 15 นำโดย “อนัก สัญชัก อโส ลนิส” ตำแหน่ง “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีราเชนทร วรรมม” ขบวนทัพที่ 19  ที่นำทัพโดย “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีสิงหวีรวรรมม”ครับ  
.
*** ซึ่งรูปวานรในคติความเชื่อฝ่ายไวษณพนิกายนั้น มาจาก  วรรณกรรม “มหากาพย์รามายณะ” (Rāmāyaṇa) หรือ “รามาจันทราวตาร” (Ramachandra Avartar) ที่หมายถึงเหล่าแม่ทัพวานรที่มีความเก่งกาจ ทั้งพญาหนุมาน (Hanuman) พญาวานรสุครีพ (Sugriva) พญาวานรพาลี (Vaali) พญาองคต (Angada)  ในสงครามพิชิตท้าวราพณ์ – ราวานะ (Ravana) รากษสผู้ปกครองนครพิชัยลงกา
.
รูปบนยอดเสายังมีรูปบุคคลที่ควรหมายถึงเทพเจ้าในท่าฟ้อนรำ แสดงความกล้าหาญไม่เกรงกลัว คล้ายท่าฮึกเหิมแบบเดียวกับวานร (กระบี่ธุช) ในขบวนแห่ที่ 16 นำหน้าหอพระเพลิงกลาโหม-พระสังเวียนพิธีกูณฑ์ (ไฟศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพ - กลาโหม) รูปเทพเจ้าฟ้อนรำบนยอดเสาชัย จึงเกี่ยวเนื่องเฉพาะกับในพิธีการของฝ่ายศาสนาพรามหณ์-ฮินดูเท่านั้นครับ
.
*** สำหรับภาพสลักขบวนทัพที่ปราสาทบายนนั้น จะพบแต่รูปวานร-กระบี่ธุชนำหน้าขบวนทั้งหมด ไม่ว่าเป็นขบวนกองทัพหรือขบวนพิธีกรรม เช่น แห่พระเพลิง 
.
-------------------------------
***  รูปประติมากรรมบนยอดเสาที่ปรากฏในภาพสลัก เป็นรูปประติมากรรมสำริดบน “ยอดเสาธงชัย” ที่มีการนำมาใช้งานในชีวิตจริง ได้มีการพบ “รูปประติมากรรมสำริดยอดธง” (Bronze Statue Flagpole tops) ตามรูปแบบที่ปรากฏในภาพสลัก ทั้งรูปพระวิษณุครุฑพ่าห์ รูปครุฑพ่าห์ กระบี่ธุช รวมทั้งยังมีรูปประติมากรรมสำริดที่แตกต่างไปจากภาพสลัก ทั้งรูปครุฑยุดนาค กระบี่ธุช (วานร) ในท่าร่ายรำ กระบี่ธุชและสิงห์ในท่ายกแขนขึ้นสูง (ที่อาจหมายถึงการประกาศศักดา-เดชานุภาพของขบวนเดินทางบุคคลสำคัญระดับราชสำนักระดับต่าง ๆ) รูปเทวดาร่ายรำพร้อมแสดง (ท่า) การประกาศศักดา ที่อาจเป็นรูปนำหน้าขบวนเดินทางของนักบวชพราหมณ์คนสำคัญครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJaeb Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น