เสาซุ้มประตูติดผนัง กับ “นางอัปสรา-พระทวารบาล”ปริศนา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ในห้องจัดแสดงโบราณวัตถุในงานศิลปะเขมรโบราณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีเสาซุ้มประตูติดผนังหินทราย สลักเป็นรูปของ “นางอัปสรา” (Apsarā) ถือดอกบัว ส่วนด้านข้างเป็นรูป “พระทวารบาล” (Dvārapāla) “พระนันทิเกศวร-พระนนฺทีศะ” (Nandikeśvara) พระทวารบาลในรูปพระพักตร์เทพเจ้าถือคทาวุธ (กระบอง) โดยมีลายกระหนกพุ่มดอกไม้แตกใบแฉกต่อเนื่องขึ้นไปด้านบน
.
เสาซุ้มประตูติดผนังถูกอธิบายว่ามาจากปราสาทหินพิมาย แต่ก็เป็นที่น่าสงสัย ด้วยเพราะไม่เคยปรากฏ รูปลักษณ์ทางศิลปะของนางอัปสรา ที่นิยมกันในฝ่าย “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism –Vishnuism) ในงานศิลปะแบบปราสาทพิมาย ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วรูปนางอัปสรา-พระทวารบาลบนเสาซุ้มประตูชิ้นนี้ ควรมาจากไหนกันแน่
.
ซึ่งเมื่อหากพิจารณาแบบแผนทางศิลปะที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดเป็นอันดับแรก ก็คงต้องเริ่มจากรูปนางอัปสรา-พระทวารบาลบนเสาซุ้มประตูฝั่งทิศเหนือปราสาทประธานที่ “กลุ่มปราสาทศีขรภูมิ” (ปราสาทระแงง - ต้นติ้ว) ปราสาทก่ออิฐ 5 หลัง จังหวัดสุรินทร์ เป็นภาพสลักนางอัปสราถือดอกบัวหยอกเย้ากับนกแก้ว สลักอยู่บนเสาเดียวกับรูปพระทวารบาลครับ
.
จากภาพถ่ายเก่าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนสุรินทร์โดยรถไฟ ในปี พ.ศ. 2472 ได้แสดงให้เห็นว่า ซุ้มประตูติดผนังที่สลักด้วยหินทราย 5 ส่วน ทั้งบัวเชิงเสา เสาซุ้มประตู บัวหัวเสา คานหินรับหน้าบันและรูปนาคปลายหน้าบัน ที่จะใช้ประกบเข้ากับช่องกรอบประตูด้านหน้าปราสาทเป็น “ซุ้มประตูติดผนัง” คงเหลือสมบูรณ์อยู่เฉพาะที่ตัวปราสาทประธานเท่านั้น ส่วนอีก 4 หลัง คงเหลือเฉพาะบัวเชิงเสา บัวหัวเสา รวมทั้งหัวนาคปลายหน้าบันและคานหินรับหน้าบันไม่กี่ชิ้น แต่ไม่มีเสาซุ้มประตูที่มีรูปนางอัปสรา-พระทวารบาลหลงเหลืออยู่เลย
.
เสาซุ้มประตูชิ้นนี้ จึงน่าจะเป็นชิ้นส่วนซุ้มประตูติดผนังของปราสาทบริวารองค์ใดองค์หนึ่งของปราสาทศีขรภูมิ ครับ
.
*** แต่ ... ก็ปรากฏซุ้มประตูติดผนังที่ประกอบด้วย บัวหัวเสา คานรับหน้าบันและนาคปลายหน้าบัน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ที่ไม่ระบุที่มาอย่างชัดเจน มีเพียงคำอธิบายว่า นายอำเภอปรางค์กู่มอบให้ ที่เมื่อดูแบบผิวเผินแล้ว มีรูปแบบงานศิลปะเดียวกับซุ้มประตูของปราสาทประธานของปราสาทศีขรภูมิ
.
อีกทั้งเมื่อพิจารณาลวดลายกระหนกพุ่มดอกไม้ต่อเนื่องที่เหลืออยู่ของส่วนปลายด้านล่างของบัวหัวเสา กับลวดลายของเสาซุ้มประตูที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีลวดลายเดียวกัน โดยมีก้าน 3 ข้อขึ้นมาจากดอกไม้ 4 กลีบ แตกยอดเป็นพุ่มสามเหลี่ยมคล้ายดอกบัว แตกก้านเป็นดอกปลายบานแบบรูปพัดทั้งสองด้าน ด้านล่างทั้งสองฝั่งเป็นกลุ่มก้านและใบขดในกรอบใบไม้แหลมเฉียงแยกลงทางด้านล่างทั้งสองฝั่ง เป็นแม่ลายหลักที่ต่อเนื่องขึ้นด้านบนเหมือนกัน
.
ทั้งยังมีรูปสลัก “ครุฑเหินไขรา” ที่บริเวณมุมลวดบัวหงายใหญ่ ที่สลักเป็นกระหนกบัวรวน-พุ่มใบขดอย่างวิจิตรและลายกลีบใบไม้ 4 ใบ ในกรอบสี่เหลี่ยมหรือดอกไม้ X และลายกลีบบัวหงายของส่วนบัวหัวเสา ที่เป็นการจัดวางลวดลายในแบบแผนเดียวกันทั้งหมด
.
จึงน่าจะเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เสาซุ้มประตูที่ พช.พระนคร รวมทั้งชิ้นส่วนซุ้มประตูที่ พช.พิมาย ควรเป็นชิ้นส่วนซุ้มประตูติดผนังของปราสาทบริวารองค์ใดองค์หนึ่งของปราสาทศีขรภูมิเช่นเดียวกันครับ
.
*** แต่.... เมื่อได้กลับมาพิจารณาชิ้นส่วนคานรับหน้าบันที่หักครึ่งชิ้นหนึ่ง วางจัดแสดงกลางแจ้งอยู่ที่ตัวปราสาทศีขรภูมิ ที่มีรูปแบบเดียวกับการเข้าหินของคานรับหน้าบันกับหัวนาคปลายหน้าบันของปราสาทประธาน ก็จะพบว่ามีความแตกต่างไปจากชิ้นส่วนซุ้มประตูที่ พช.พิมาย ทั้งร่องคานหินรับหน้าบันที่แคบกว่า การวางลวดลายกรอบคอสองและการเข้าหินหัวนาคที่รูปมกรก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าจะมีส่วนคล้ายคลึงกันในลวดลายสลักบางส่วนก็ตาม
.
*** ชุดหินซุ้มประตู (ติดผนัง) ที่รวมถึงรูปนางอัปสรา-พระทวารบาลนี้ จึงไม่น่าใช่ซุ้มประตูของปราสาทบริวารองค์ใดองค์หนึ่งของปราสาทศีขรภูมิแล้วครับ
.
หรือซุ้มประตูแบบประกบติดผนังที่มีรูปนาคอัปสรา-พระทวารบาลชุดนี้ (ทั้งจาก พช.พระนคร-พช.พิมาย) จะมาจาก “ปราสาทปรางค์กู่” กลุ่มปราสาท 3 หลัง หันหน้าไปทางตะวันออกบนฐานไพทีศิลาแลงเดียวกัน
ที่อยู่ห่างจากปราสาทศีขรภูมิไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 23 กิโลเมตร ในเขตอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ตามข้อมูลที่ระบุว่า นายอำเภอปรางค์กู่เป็นผู้มอบให้
.
*** แต่ .... เมื่อได้มาพิจารณาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของปราสาทปรางค์กู่จะพบว่า ปราสาทประธานและปราสาทหลังทิศใต้ที่ก่อสร้างด้วยอิฐในช่วงศิลปะแบบปราสาทบาปวน ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ในขณะที่ปราสาทฝั่งทิศเหนือก่อตัวเรือนด้วยหินศิลาแลงแตกต่างไปจากหลังอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งก็อาจถูกสร้างขึ้นภายหลังในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ในงานศิลปะแบบปราสาทพิมาย ตามรูปแบบทับหลังตอน “ศึกอินทรชิต” ที่องค์รามและองค์ลักษมัณกับเหล่าวานรถูกศรนาคบาศมัดไว้ ที่พบครับ
.
ซึ่งผนังยกเก็จด้านหน้าของปราสาทประธานหลังกลางและปราสาทฝั่งทิศใต้ ยังคงปรากฏร่องรอยการก่ออิฐขึ้นเป็นส่วนประกอบของซุ้มประตูทั้งหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ซุ้มประตูประกบติดผนังแต่อย่างใด แต่ปราสาทบริวารหลังทางทิศเหนือที่เป็นศิลาแลง ยังคงปรากฏร่องรอยการเว้นช่องสำหรับประกบซุ้มประตูติดผนังเหลือให้เห็นอยู่ รวมทั้งร่องรอยของเส้นลวดฐานบัวเชิงต่อเนื่องต่อจากหินซุ้มประตูออกไป (ชิ้นส่วนหินบัวเชิงซุ้มประตูอีก 2 ชิ้น ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ก็อาจนำมาจากปรางค์กู่เช่นเดียวกัน)
.
ถ้ากลุ่มรูปประติมากรรมซุ้มประตูหินทราย เคยประดับอยู่ที่ปราสาทบริวารทิศเหนือของปราสาทปรางค์กู่ ก็อาจได้แสดงว่า ในช่วงที่มีการสร้างปราสาทศีขรภูมิ ปลายพุทธศตวรรษที่ 17 นั้น ช่างแกะสลักหินงานประดับจากปราสาทศีขรภูมิคงได้เดินทางเข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทปรางค์กู่ และปรางค์กู่สมบูรณ์ ชุมชนสฺรุกตามเส้นทางโบราณในยุคก่อนหน้าที่อยู่ไม่ห่างไกลออกมามากนัก
.
**** แต่... ชิ้นซุ้มประตูประกบติดผนังก็อาจจะมาจากปราสาทหลังอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทั้งปราสาทศีขรภูมิและปราสาทปรางค์กู่ แต่จะเป็นที่ไหน ก็คงต้องหาหลักฐานมา “มโน” กันต่อไปในอนาคตครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น