ลำดับพระนามกษัตริย์สุโขทัยใหม่ ที่ไม่มี “พรญาไสลือไท” ในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ล่าสุด
การศึกษาของ ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร นำเสนอในงานเสวนาเรื่อง “...ไม่มี “พรญาไสลือไท” ในจารึกสุโขทัย-สางปมกาลวิทยารัชกาล “มหาธรรมราชาที่ 2” จากจารึกสุโขทัย...” เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ได้ลำดับชื่อพระนามกษัตริย์ผู้มีอำนาจทางการเมืองปกครองราชสำนักกรุงสุโขทัยขึ้นใหม่จากจารึกสุโขทัยหลักต่าง ๆ ที่เป็น “หลักฐานชั้นต้น” โดยแยกออกจากชื่อนามและเรื่องราวที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์เดิมนำเอาหลักฐานฝ่ายอยุธยา (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ หมิงสือลู่ จารึกฐานพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง) และหลักฝ่ายล้านนา(ชินกาลมาลีปกรณ์ (สีหลปฏิมา) ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานหอสมุดวชิรญาณ) เข้ามาร่วมจัดชื่อพระนามและลำดับ
.
การจัดเรียงลำดับพระนามกษัตริย์สุโขทัยในอดีต เริ่มต้นจาก พระนิพนธ์พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เริ่มจาก
1. ศรีอินทราทิตย์
2. บาลเมือง
3. รามคำแหง
4. ฤทัยชัยเชษฐ (อุทกโชตถ)
5. มหาธรรมราชาลิไท
6. ไสยฤๅไทย (พระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลก)
.
ต่อมา อาจารย์ประเสริฐ ณ นคร ได้ลำดับเพิ่มเติมเป็น
1. ศรีอินทราทิตย์ (พ.ศ. 1792 - ?)
2. บาลเมือง (? – พ.ศ. 1822)
3. รามคำแหง (พ.ศ. 1822 – พ.ศ. 1841)
4. เลอไท (พ.ศ. 1841– ?)
5. งั่วนำถม ( ?- พ.ศ. 1890)
6. มหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท-ลือไท) (พ.ศ.1890 – พ.ศ.1916)
7. มหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไท) ( ?-พ.ศ.1942)
8. มหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) (พ.ศ.1943–พ.ศ.1962)
9. มหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) (พ.ศ.1962–พ.ศ.1968)
.
โดย อาจารย์พิเศษ เจียรจันทร์พงษ์ ได้ลำดับใหม่ โดยผสมผสานหลักฐานเชิงการเมืองในหลักฐานประวัติศาสตร์ฝ่ายอยุธยา เป็น
1. ศรีอินทราทิตย์
2. บาลเมือง
3. รามคำแหง
4. เลอไท
5. งั่วนำถม (ชิน อุทกโชตกตะ)
6. มหาธรรมราชาลิไท (พ.ศ.1890 – พ.ศ.19 ?)
7. พระขนิษฐาของพญาลิไท
8. ศรีเทพาหูราช (บุตรพระขนิษฐา)
9. มหาธรรมราชาธิราช (ไสลือไท ?)
10. มหาธรรมราชา-รามราชา (สุโขทัย)
11. มหาธรรมราชาบรมปาล (พิษณุโลก)
.
-----------------------
*** งานศึกษาลำดับพระนามกษัตริย์สุโขทัยของ ดร.ตรงใจ เลือกเชื่อมโยงเฉพาะหลักฐานประเภท “จารึก” (Inscriptions) ของรัฐสุโขทัยโดยตรง ที่ในปัจจุบันมีการพบและแปลความกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยใช้จารึกเรียงลำดับอายุการจารเริ่มจาก “จารึกวัดป่ามะม่วง” (พ.ศ.1904) “จารึกเขาสุมนกูฏ” (พ.ศ.1911) “จารึกวัดพระยืน” (พ.ศ.1914) “จารึกพ่อนมไสดำ (พ.ศ. 1921) “จารึกวัดตระพังช้างเผือก (ป้านางคำ)” (พ.ศ.1922) “จารึกวัดช้างล้อม” (พ.ศ. 1927) (ร่วมกับเนื้อความที่เกี่ยวเนื่องในจารึกวัดศรีชุม หลังปี พ.ศ. 1917 จารึกลานทองพระมหาเถรจุฑามณี พ.ศ.1919 และจารึกแผ่นดีบุกวัดมหาธาตุ ประมาณปี พ.ศ.1920 จารึกวัดกำแพงงาม ประมาณระหว่างปี พ.ศ. 1930-1935 )
.
“จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด” (ประมาณปี พ.ศ. 1936-กล่าวสมัญญาพระนามกษัตริย์ว่า “มหาธรรมราชา”เป็นครั้งแรก) (ร่วมกับจารึกรายนามสงฆ์ และจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม หลังปี พ.ศ.1935) “จารึกตาเถรขึงหนัง” (พ.ศ.1947) “จารึกวัดอโสการาม” (พ.ศ.1942) “จารึกสองแคว” (พ.ศ.1947) “จารึกวัดป่าแดง/จารึกวัดพญาดำ” (พ.ศ. 1949) “จารึกวัดบูรพาราม” (พ.ศ.1956) “จารึกวัดสรศักดิ์” (พ.ศ.1960) “จารึกวัดหินตั้ง” (ประมาณระหว่างปี พ.ศ. 1952-1962) “จารึกลานเงินเสด็จพ่อพญาสอย” (พ.ศ.1963) “จารึกเจดีย์น้อย” (พ.ศ. 1963) “จารึกกฎหมายลักษณะโจร” (พ.ศ.1964) (ร่วมกับ จารึกพระพุทธรูปนายทิดไท/จารึกฐานพระพุทธรูปทิดไสหง/จารึกพระพุทธรูปผ้าขาวทอง พ.ศ.1965 จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ พ.ศ.1966) “จารึกรอยพระพุทธยุคลบาท วัดบวรฯ” (พ.ศ. 1969) “จารึกคำปู่สบถ” (ประมาณช่วงหลังของพุทธศตวรรษที่ 20)
.
เมื่อใช้หลักฐานจากข้อความในจารึกที่พบในรัฐสุโขทัย มาจัดเรียงลำดับกษัตริย์สุโขทัยใหม่
1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ.ศ. ?)
2. พ่อขุนบาลเมือง (พ.ศ. ?)
3. พ่อขุนรามคำแหง (?- พ.ศ.1842)
4. พรญาเลอไท (พ.ศ.1842-พ.ศ.1883)
5. มหาธรรมราชา 1 (ลือไท) ครั้งแรก (พ.ศ.1883-?)
6. - พรญางั่วนำถุม ?
- มหาธรรมราชา 1 (ลือไท) ครั้งที่ 2 (พ.ศ.1890-1917)
- คณะบุคคล เจ้าพรหมชัย/ศรีเทพาหูราช (พ.ศ.1917-1927)
7. มหาธรรมราชาที่ 2 (เลอไท) (พ.ศ.1927– 1952)
8. มหาธรรมราชาที่ 3 (พรญาราม-รามราชา) (พ.ศ.1956 – 1969)
9. มหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) (พ.ศ.1969- ?)
.
*** ประวัติศาสตร์นิพนธ์ เรื่องลำดับกษัตริย์สุโขทัยจากหลักฐานจารึกของ ดร. ตรงใจ อาจสรุปว่า
.
1. พรญาลือไท (ลิไท) ที่ปรากฏสมัญญานามว่า “มหาธรรมราชา” ครั้งแรกในจาก “จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด” ที่จารขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1936 ถูกแย่งชิงอำนาจโดยพรญางั่วนำถุม (อุทกโชตถ อุทกโชตถตรา-พญาจมน้ำ) ประมาณ 5-7 ปี จึงยกทัพจากศรีสัชนาลัยกลับมาชิง (ปราบจลาจล) กรุงสุโขทัยคืนได้ ในปี พ.ศ. 1890 ครองราชย์รวม 27 ปี
.
2. หลังสิ้นพรญาลือไท (ฦๅไทย –ลิไท-มหาธรรมราชา) ราชสำนักสุโขทัยอยู่ในการปกครองของคณะบุคคล เจ้าพรหมชัย/ศรีเทพาหูราช ราชบุตรของบุตรพระขนิษฐา (น้องสาว) ของพรญาลิไท เป็นเวลาประมาณ 10 ปี
.
3. ต่อมา พระมหาธรรมราชาที่ 2 มีพระนาม ว่า “เลอไท” ระบุในจารึกวัดบูรพารามว่า ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1927 สวรรคตในปี พ.ศ. 1952 รวม 25 ปี ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 1945 ปรากฏพระนามว่า “พรญาไสลือ” ในเอกสารของฝ่ายล้านนา ยกทัพขึ้นไปช่วยท้าวยี่กุมกามชิงราชสมบัติเวียงเชียงใหม่จากพญาสามฝั่งแกน
.
4. หลักฐานจารึกฝ่ายสุโขทัยจึงไม่เคยมีกษัตริย์พระนามว่า “พระญาไสลือไท” เพราะเป็นองค์เดียวกับพระญาเลอไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ 2
.
*** อนึ่ง ถึงจารึกตาเถรขึงหนัง (พ.ศ.1947) ได้ระบุว่า ในปี พ.ศ. 1943“...สมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ โอรสสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา มหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลงแม่ ขึ้นเป็นกษัตริย์ ศรีสัชนาไลสุโขไทย.." อาจแตกต่างไปจากจารึกวัดบูรพาราม แต่ก็ยังคงหมายถึงพระมหาธรรมราชาที่ 2
.
5. ภายหลังรัชกาลพรญาเลอไท พระญาบรมปาล-พระยาบาลเมืองและพระญารามราชแย่งชิงอำนาจ (ในพงศาวดารหลวงประเสริฐ) ราชสำนักสุโขทัยว่างกษัตริย์อยู่ 4 ปี จนถึงปี พ.ศ. 1956 พรญาราม-รามราชา จึงได้ขึ้นครองกรุงสุโขทัย เป็นมหาธรรมราชาที่ 3 ครองราชย์รวมเวลา 16 ปี
.
6. พระญาบรมปาล ขึ้นครองราชย์เป็นมหาธรรมราชาที่ 4 ในปี พ.ศ. 1969 รวมเวลา 12 ปี จนสวรรคตในปี พ.ศ. 1981 (ในพงศาวดารหลวงประเสริฐ) รัฐสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอยุทธยาอย่างสมบูรณ์
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always beloved.