“ประติมากรรมทวารบาลสำริด” ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในงานศิลปะเขมรโบราณ
การขุดแต่งปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้ขุดพบ “รูปประติมากรรมสำริด” (Bronze Statue) บริเวณด้านหน้าฝั่งด้านในของบันไดทางขึ้นอาคารโคปุระด้านทิศใต้ ในสภาพนอนตะแคง หันพระเศียรไปทางตะวันตก ที่อาจเป็นได้ทั้งรูปประติมากรรมขององค์พระศิวะ (Shiva- Śivā) ถือตรีศูล หรือ “พระนันทิเกศวร-พระนนฺทีศะ”” (Nandikeśvara) พระทวารบาลในรูปเทพเจ้า ที่กำเนิดขึ้นจากพระปรัศว์ขององค์พระศิวะ หรือ “พระมหากาล – มหากาฬ” ผู้กลืนกินทุกสรรพสิ่ง (Mahākāla) พระทวารบาลในรูปอสูร ที่กำเนิดขึ้นจากมหาไภรวะ-ความโกรธาแห่งองค์พระศิวะ ตามคติพระทวารบาลผู้ปกป้องรักษาประตู (The Gate-Keepers) ด้านทิศตะวันออกของเขาไกรลาสในคติฮินดู ฝ่ายไศวะนิกาย (Shaivism)
.
รูปประติมากรรมสำริดที่พบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ แต่พระกรด้านขวาเหนือพระศอหักหายไป ส่วนด้านซ้ายหักเหลือแต่พระหัตถ์เท้าเอวอยู่ที่พระโสณี ส่วนเครื่องประดับทองคำสำหรับรูปเคารพและหินมีค่าประดับได้สูญหายไปทั้งหมดก่อนหน้าการขุดพบแล้วครับ
.
ด้วยเพราะรูปประติมากรรมสำริด มีลักษณะการยืนแบบยกพระกรซ้าย (ข้างที่ไม่ถนัด) ขึ้นมาเท้าสะเอว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของรูปทวารบาล รูปประติมากรรมสำริดนี้ จึงควรเป็นรูปของ “พระทวารบาล” (Dvārapāla) มากกว่าจะเป็นรูปขององค์พระศิวะเอง
.
ประติมากรรมสำริดทวารบาลสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย มีความสูงจากพระเศียรถึงปลายพระบาท 140 เซนติเมตร ฐานกว้าง 35 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร มีเดือยใต้ฐานยาว 34 เซนติเมตร ส่วนพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระเกศาหวีเสยเรียบไปด้านหลัง ขอบพระเกศาเป็นแนวเส้นโค้งตรงเหนือพระนลาฏ เว้าเป็นมุมแหลมที่ขมับ วกโค้งเป็นจอนยาวลงไปตามแนวข้างพระพักตร์ไปจรดกับพระทาฒิกะ (เครา) ที่บริเวณพระหนุ (คาง) ซึ่งในส่วนพระเศียรนี้ อาจมีเครื่องทองประดับเป็นศิราภรณ์อุณหิสทรงกระบังอยู่เหนือพระนลาฏอีกทีครับ
.
พระเนตรของรูปสำริดเบิกกว้าง มีพระมัสสุ (หนวด) เหนือพระโอษฐ์ มีร่องแบ่งกึ่งกลางพระหนุจรดพระทาฒิกะ ส่วนพระเนตร พระขนง(คิ้ว) พระมัสสุและพระทาฒิกะ เจาะเป็นร่องลึกลงไปจากผิว เพื่อประดับหินสี-อัญมณีสีขาวดำ ใต้พระศอเหนือพระอุระประดับด้วยกรอศอสามเหลี่ยม คาดลายลูกปะคำขนาบด้วยลายกลีบใบไม้แหลมมีแง่ง ซ้อนต่อกันไล่จากเล็กไปใหญ่ตรงกลาง ตัวห้ามกรอศอเป็นแผ่นตาบสี่เหลี่ยมรูปดอกไม้กลมสี่กลีบ สายกรอศอด้านหลังห้อยพวงอุบะยาวเส้นห่างเป็นระยะ ต้นพระกรสวมพาหุรัดที่มีลวดลายเดียวกับกรอศอ ข้อพระหัตถ์ทรงทองกรลายกลีบบัวสองวง ข้อพระบาททรงกรทองพระบาทมีลายบัวกุมุทยื่นเป็นสันกลาง
.
รูปประติมากรรมนุ่งภูษาสมพตแบบผ้ารัดจนเกิดเป็นริ้วจีบแนบติดพระวรกาย ดึงบริเวณด้านข้างพระโสณีรั้งขึ้นสูง จนขอบบนโค้งย้อยมาใต้พระนาภี ม้วนชายพกที่มีเส้นเชือกลายลูกปัดกลมตรงกลางออกมาสองด้าน ปลายชายพกด้านขวามีขนาดใหญ่กว่า ขอบผ้าด้านหลังยกสูงขึ้นมาถึงพระปฤษฏางค์ คาดรัดพระองค์ใต้ระดับพระโสณี สลักลายวงกลม 3 ระดับซ้อนกัน 2 ชั้น ตรงกลางรัดพระองค์เป็นลายดอกไม้ ใต้รัดพระองค์ห้อยพวงอุบะยาวเว้นเป็นระยะโดยรอบพระวรกาย ส่วนปลายสุดของภูษาสมพตด้านข้าง เว้าออกในระดับต้นพระชงฆ์ครับ
.
ตรงกลางของภูษาสมพตใต้รัดพระองค์มีร่องรอยผ้าชักชายพกทิ้งลงมาเป็นแถบยาว (แต่หักหายไปทั้งหมด) ซึ่งตามรูปแบบขนบศิลปะนิยมจะเป็นการทิ้งชายพกสองระดับ ระดับบนจะสั้นกว่าคลี่ปลายออกเป็นรูปโค้งใหญ่ด้านหนึ่ง ส่วนปลายสุดอีกระดับจะยาวกว่า ทิ้งชายผ้าเป็นหางปลาเฉียงสองฝั่ง ปลายผ้าฝั่งล่างจะยาวแหลมลงมา
.
*** ด้วยรูปแบบศิลปะการแต่งกาย เครื่องประดับ และหลักฐานจารึกกรอบประตูโคปุระด้านทิศตะวันออก ที่กล่าวถึงชื่อนาม “ศรีพฤทเธศวร” (Srī Vrddheśvara) และการถวายที่ดิน ข้าทาสบริวารและทรัพย์สิน แก่ “กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร” ในวันวิศุวสงกราณต์ มหาศักราช 964 ตรงกับช่วงปีพ.ศ. 1585 รูปประติมากรรมทวารบาลสำริดนี้ จึงเป็นงานศิลปะนิยมแบบพระวิหาร (ก่อนบาปวน) ในสมัยของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 อย่างแท้จริงครับ
.
*** ซึ่งหลังจากการขุดพบมาจนถึงในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการขุดพบรูปทวารบาลสำริดเพิ่มเติมอีก รูปสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จึงถือเป็นรูปทวารบาลสำริดที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในงานศิลปะเขมรโบราณ ทั้งที่พบทั้งในไทยและกัมพูชา
.
---------------------------
*** แต่ก็ได้ปรากฏ รูปประติมากรรมสำริดอีกองค์หนึ่งจัดแสดงที่ The Metropolitan Museum of Art (Collection of Walter H. and Leonore Annenberg) เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีลักษณะรูปแบบทางศิลปะที่คล้ายคลึงกันกับรูปทวารบาลสำริดของปราสาทสระกำแพงใหญ่ในทุกส่วนประกอบ แต่มีความสมบูรณ์มากกว่า ทั้งยังคงมีส่วนของกรวยรัดเกล้าทรงวิมานยอดแหลมสำริดเหลืออยู่ ซึ่งรูปทวารบาลสำริดของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ก็อาจเคยมีกรวยรัดเกล้าแบบเดียวกันเหนือพระเศียรด้วยเหมือนกันครับ
.
ถึงแม้ว่ารูปประติมากรรมทั้งสองจะมีรูปแบบทางศิลปะร่วมสมัยเดียวกัน จนอาจคิดได้ว่ารูปสำริดที่อยู่ในการครอบครองของ The Metropolitan Museum of Art นั้นอาจเป็นรูปทวารบาลสำริดที่เคยอยู่คู่กัน แต่อาจได้ถูกโจรกรรมออกไปจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ แต่ด้วยขนาดความสูงจากพระเศียรลงมาที่ปลายพระบาท 105.4 เซนติเมตร ฐานสูง 23 เซนติเมตร กว้างประมาณ 49 เซนติเมตร ที่เป็นขนาดที่แตกต่างไปจากรูปทวารบาลสำริดจากปราสาทกำแพงใหญ่เป็นอย่างมาก
.
รูปสำริดที่อยู่ในการครอบครองของ The Metropolitan Museum of Art ถึงจะมีรูปแบบศิลปะเดียวกัน แต่ไม่ควรเป็นรูปทวารบาลที่ได้มากจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ แต่เป็นรูปประติมากรรมสำริดชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งจากปราสาทหินหลังใดหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในยุคของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 โดยเฉพาะปราสาทสำคัญอย่างปราสาทพระวิหารหรือปราสาทพิมานอากาศ ที่พระราชวังหลวงก็ได้ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น