พระเศียรของ “พระพุทธรูปประธาน” แห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์
*** ในบรรดาชาวต่างประเทศที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อาจมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้เคยเห็นองค์พระศรีสรรเพชญ์ทองคำ ภายในพระอารามของพระราชวังหลวง และได้ทำการจดบันทึกไว้ คือ บาทหลวงคณะเยซูอิคนามว่า “กี ตาชาร์ด” (Guy Tachard ) ที่เดินทางเข้ามา 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1685 และครั้งที่ 2 ในปี 1687 – 1688 ท่านได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม (A relation of the voyage to Siam) พิมพ์ครั้งแรกในปี 1688 (พ.ศ.2231) ส่วน “นิโกลาส์ แชร์แวส” (Nicolas Gervaise) ที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี 1681 – 1686 (พ.ศ. 2224 – 2229) และได้เขียนบันทึกในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่ง ราชอาณาจักรสยาม” (Histoire naturelle et politique du royaume de Siam) พิมพ์ครั้งแรกในปี 1690 (พ.ศ. 2233) อาจเป็นเพียงบันทึกที่คัดลอกมาจากการสัมภาษณ์และจากบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด
บันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด ได้แสดงความชัดเจนในการพบเห็นพระพุทธรูปทองคำแห่งอาณาจักรด้วยตนเอง ท่านประสงค์ที่จะเห็นพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ตามที่มีคนมาเล่าให้ฟัง เมื่อได้รับอนุญาต ท่านจึงได้เดินทางเข้าไปในวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยมี ม. ก็องสตั้งซ์ รอรับอยู่ และได้เดินตรงไปที่วิหารพระศรีสรรเพชญ์ ที่มีหลังคาสีขาว (มุงหลังคาด้วยแผ่นตะกั่วผสมดีบุก) 3 ตับ ท่านได้บันทึกไว้ว่า
“....พระวิหารนี้มีความยาวมาก แต่ค่อนข้างแคบ เมื่อเข้าไปข้างใน มีการประดับสีทองคําเป็นลวดลายกระหนกที่ต้นเสา ผนัง ฝ้าเพดาน บนรูปประติมากรรมทุกรูปปิดทองคำเปลวไว้อย่างงดงาม ... ด้านในเป็นฐานที่ประดิษฐานรูปปฏิมากรรม (พระพุทธรูป) ขนาดเท่ากับบุคคลเป็นสีทองคำทั้งหมด 3 - 4 องค์ เป็นรูปยืน รูปนั่งขาขัดไขว้ (สมาธิ) ตามความนิยมของคนสยาม ด้านในสุดยกฐานสูง ....เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีมูลค่ามากที่สุดของอาณาจักร มีชื่อพระนามตามชื่อนามของวัด เป็นพุทธรูปประทับแบบยืน ยอดพระเศียรสูงจรดหลังคาพระอุโบสถ ความสูงประมาณ 13.7 เมตร ( 45 ฟุต) และกว้างประมาณ 2 – 2.4 เมตร (7-8 ฟุต) เป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ทั้งองค์ .....เล่ากันมาว่าพระพุทธรูปทองคำนี้ ได้มีการเททองหลอมกันตรงที่ประดิษฐานนั่นเอง แล้วจึงมีการสร้างพระวิหารหลวงขึ้นครอบในภายหลัง พระพุทธรูปองค์นี้มีมูลค่ามหาศาลอาจมากกว่ารูปกางเขนศักดิ์สิทธิ์ในยุโรปทั้งหมดรวมกัน...” บาทหลวงตาชาร์ด ได้กล่าวถึงความประทับใจที่ได้เข้ามาเห็นพระศรีสรรเพชญ์ และยังได้กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ว่า
.
“.....ที่ใกล้เคียงกันกับพระพุทธรูปทองคำใหญ่ ก็ยังมีพระพุทธรูปขนาดย่อมลงมาอีกหลายองค์ แต่ละองค์ก็ล้วนประดับด้วยทองคําและอัญมณี เล่ากันว่ายังมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่มีพุทธลักษณะอันงดงามประดิษฐานอยู่ในวิหารอีกอยู่หลายแห่งภายในวัดแห่งนี้...”
ในขณะที่นิโกลาส์ แชร์แวส ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ได้บันทึกเรื่องราวของวัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่ดูเหมือนว่า บันทึกของเขาจะเป็นการคัดลอกคำบอกเล่าจากหลายบุคคลโดยเฉพาะจากบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด โดยที่ไม่ได้เข้าไปเห็นด้วยตัวเอง ในบันทึกภาคที่ 4 บทที่ 6 เขาได้พรรณนาถึงเรื่องทรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์ภายในพระราชวังหลวงและในส่วนของวัด โดยบันทึกว่า “... ในพระเจดีย์ (Le Pagode) ที่อยู่ในวังหลวงนั้นมีทรัพย์สมบัติมากมายเป็นที่รับรู้กันของชาวต่างประเทศในกรุงศรีอยุธยา เล่ากันว่าภายในวัดมีรูปทองคำบริสุทธิ์ (Idole d'or, tout pur,) สูงประมาณ 12.7 เมตร (42 ฟุต - quarantc-deux pieds) หล่อขึ้นตรงบริเวณที่ประดิษฐาน แล้วจึงสร้างวิหารครอบขึ้นภายหลัง....”
ในข้อความนี้ แชร์วาสอาจได้เข้าใจผิดจากการสับสนในงานคัดลอก โดยเขาได้ทึกทักไปว่า “...พระพุทธรูปทองคำนี้ ประทับนั่งแบบขาขัดไขว้ตามความนิยมของชาวสยาม...” (quoy qu'elle foit affife les jambes croifées à la façon des Siámois) ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับที่บาทหลวงตาชาร์ดเคยเขียนไว้ หมายถึงพระพุทธรูปขนาดย่อมกว่าองค์อื่น ๆ ที่อยู่ในวิหารหลวง ไม่ใช่หมายถึงองค์พระศรีสรรเพชญ์โดยตรง
เขายังได้กล่าวถึงเรื่องสงครามเสียกรุงครั้งหลังสุด ที่ชาวพะโค (les Pegus) ได้ตัดพระกร (ส่วนข้อศอกไปจนถึงมือ) ของพุทธรูปทองคำออกไปข้างหนึ่ง “.... ซึ่งถ้าไม่หนักเกินไป พวกเขาก็คงจะยกเอาไปทั้งองค์แล้ว ...” (fi elle n'euft point cfté fi lourde ils l'auroient volontiers emporté toute entiere) แต่ภายหลังชาวสยามได้ทำการบูรณะต่อพระกรขึ้นใหม่ “...แต่ก็น่าเสียดายว่า พระกรที่ต่อขึ้นใหม่นั้น สีของทองคำไม่สุกปลั่ง แวววาวเหมือนเดิม ทำให้ความความงดงามของรูปเคารพนี้ลดลงไปอย่างมาก...” (mais par malheur T'or dont ils luy ont fait un autre bras s'eft trouvé plus pafle que celuy du refte du corps; & cette difference a beaucoup diminuë de la beauté de cette Idole.)
จากหลักฐานชาวต่างประเทศ 2 ชุดนี้ ประกอบกับพระราชพงศาวดารหลายฉบับของฝ่ายไทยที่มีเนื้อความใกล้เคียงกัน เศียรพระพุทธรูปสำริด (เนื้อแก่ทอง) ที่ระบุเพียงว่าพบจากซากวัดพระศรีสรรเพชญ์ เคยเก็บรักษาอยู่ที่อยุธยาพิพิธภัณฑ์ พระราชวังจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยานั้น จึงไม่ใช่พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปทองประทับยืนที่บาทหลวงตาชาร์ดเคยเห็น ประกอบกับเรื่องเล่าที่ว่าองค์พระทองคำเคยถูกตัดพระกรข้างหนึ่งโดยพม่า เมื่อมีการต่อใหม่ก็ทำให้สีทองคำที่เคยสุกแวววาวแตกต่างไป ตามบันทึกของแชร์วาส
-----------------------------------------
*** แล้วพระเศียรนี้เป็นเศียรพระพุทธรูปอะไร ทำไม่ถึงได้มีความงดงามขนาดนี้ ?
เมื่อนำพระเศียรที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นหลักฐานในการสืบหาก็จะพบว่า พระเศียรนั้นมีขนาดความสูงประมาณ 1.70 เมตร ส่วนพระพักตร์กว้างสุดที่ประมาณ 1.1 เมตร หากอยู่ครบทั้งกระหม่อมอุษณีษะ (Ushnisha) และพระเกตุมาลา (Ketumala) พระเศียรจะมีความสูงประมาณ 2.5 - 3 เมตร และเมื่อนำไปเทียบเคียงอัตราส่วนกับพระพุทธรูปในงานศิลปะอยุธยา ก็จะพบว่ามีความสูงทั้งหมดรวมประมาณ 7 เมตร พระอุระจะกว้าง 1.5 – 1.7 เมตร หน้าตักส่วนนั่งขัดสมาธิจะกว้างประมาณ 5.5 เมตร แต่หากจะวัดอัตราส่วนแบบพระยืนก็จะมีความสูงรวมประมาณ 9.5 -10 เมตร เท่านั้น (ซึ่งพระศรีสรรเพชญ์ทองคำ สูงประมาณ 12 – 13 เมตร ตามบันทึกของชาวต่างประเทศ ส่วนในพระราชพงศาวดาร ระบุความสูงไว้ถึง 16 เมตร)
ซึ่งเมื่อนำความกว้างของส่วนหน้าตักพระพุทธรูปในอัตราส่วนที่ได้ประมาณ 5.5 เมตร มาประกอบกับการสำรวจ เปรียบเทียบกับขนาดของ “ฐานชุกชี” ก่ออิฐที่พบภายในวิหารขนาดใหญ่แต่ละหลังภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ก็จะพบว่า วิหารพระโลกนาถนั้นมีฐานชุกชีกว้างประมาณ 4.4 เมตร พระที่นั่งจอมทองฐานชุกชีกว้าง 3.5 เมตร ฐานชุกชีของวิหารป่าเลยไลยก์ มีขนาดกว้าง 4.6 เมตร วิหารจัตุรมุขท้ายพระมหาเจดีย์ มีฐานชุกชีพระประธานในคูหาปีกทิศเหนือกว้าง 1.5 เมตร ทิศตะวันตกกว้าง 4 เมตร ทิศใต้กว้าง 7.5 เมตร และทิศตะวันออก 7.5 เมตร แต่ยังคงมีซากของพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 7 เมตร เหลืออยู่ ส่วนฐานชุกชีของวิหารหลวงพระศรีสรรเพชญ์กว้างประมาณ 7.5 เมตร และฐานชุกชีของพระอุโบสถมีความกว้างประมาณ 6 เมตร และไม่ปรากฏร่องรอยว่าเคยมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนเหลืออยู่ด้านบนของฐาน
พระอุโบสถของวัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างอยู่เหนือชั้นดินใหม่ด้านบนสุด ทับซ้อนฐานอาคารอิฐในยุคก่อนหน้า ผนังกำแพงที่เหลืออยู่ส่วนท้ายอาคาร แสดงให้เห็นความสูงของตัวอุโบสถ อีกทั้งยังปรากฏใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่ที่เป็นศิลปะนิยมในช่วงอยุธยาตอนกลางในยุคที่ราชวงศ์สุโขทัย (มหาธรรมราชา) จากเมืองพิษณุโลก ลงมาครอบครองกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 (จนมาถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง รวมระยะเวลาประมาณ 60 ปี) ปักวางอยู่โดยรอบ
และเมื่อกลับพิจารณาลักษณะพุทธศิลป์ของพระเศียร จะพบว่าไม่ได้มีกลิ่นอายศิลปะอยุธยาในยุคต้น ที่ยังมีความเป็นศิลปะเขมรตะวันตก (ลวปุระ) ให้เห็นอยู่มาก ถึงจะมีมวยพระเกศาม้วนแหลมขนาดเล็กตามแบบศิลปะหลวงอยุธยา แต่ส่วนที่เหลือกลับมีพุทธศิลป์แบบเมืองพิษณุโลก ที่มีใบพระพักตร์กลมอิ่ม พระขนงที่โก่งโค้งเป็นสันคมมาบรรจบกันที่ตรงกลางเหนือพระนาสิก โดยเว้นช่องกลางพระนลาฏไว้เพื่อต่อเป็นสันโด่งของพระนาสิก โปนพระเนตรโค้งใหญ่รับกับพระขนง พระเนตรล่างที่เปิดเหลือบเป็นลอนโค้งปลายแหลม แอ่นโค้งที่ตรงกลางพระกาฬเนตร พระนาสิกโด่งตรงสมส่วน ริมพระโอษฐ์บาง ปลายแหลมโค้งขึ้นตรงกับพระกาฬเนตรแบบแย้มพระสรวล พระกรรณตั้งโค้งเว้าปลายแหลมแบบหูบายศรีล้านช้าง ติ่งพระกรรณเจาะเป็นช่องยาว เว้าออกส่วนปลายแหลมแบบยอดกลีบบัวมีสัน ใต้พระศอนั้นยังปรากฏร่องรอยของช่องรูอยู่โดยรอบจำนวนมาก ใช้เพื่อการยึดหมุดตามเทคนิคการประกอบพระแซ่วของเมืองเหนือ อีกทั้งการประดับ"อุณาโลม" (Unalome) รูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับอัญมณีตรงกลางพระนลาฏ แบบเดียวกับพระพุทธชินราช ที่มีคตินิยมเฉพาะกับรูปพระสำคัญที่สุดของวัด
-------------------------------------------------
*** ด้วยขนาดของฐานชุกชีพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่กว่าอัตราส่วนของหน้าตักเล็กน้อย ใบเสมาหินชนวนศิลปะนิยมแบบพิษณุโลก-สุโขทัย พุทธศิลป์เมืองเหนือของพระพักตร์ที่สอดรับเข้ากับยุคสมัยของพุทธศตวรรษที่ 22 อุณาโลมประดับอัญมณี ที่ได้บ่งบอกถึงความสำคัญของเศียรพระพุทธรูปสำริดสีแก่ทองนี้ รวมทั้งอิทธิพลของรัฐพิษณุโลกเหนือกรุงศรีอยุธยาที่ชัดเจนในหลักฐานประวัติศาสตร์ พระเศียรนี้จึงควรเป็นพระเศียรของพระประธานใหญ่ที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชญ์ มากที่สุด
เครดิต
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_