วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปราสาทเขมร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
เทวาลัยบนยอดเขา “พระจันทร์เสี้ยวแห่งพระศิวะ” นครศรียโศธระปุระ
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 เมื่อ “พระเจ้าอินทรวรมัน” (Indravarman) เสด็จสวรรคต ในพระนาม“อิศวรโลก” (Īśvara-Loka) ผ่านประตูแห่งเทวราชา ศิวลึงค์ที่มีพระนามว่า “อินทเรศวร” (Indraśvara) ประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทบากอง (Bakong) สรวงสวรรค์ไกรลาสแห่งนครหริหราลัย (Hariharālaya) ( ร่อลั่ว – โลเลย  (Roluos) ในปัจจุบัน)  โอรสผู้เก่งกล้า 3 พระองค์ ได้ก่อสงคราม 3 เส้า เพื่อแย่งชิงบัลลังก์นาคา ที่จบลงด้วยชัยชนะของ “ยโศกุมาร” (Yaśo Kumāra) โอรสที่พระราชบิดามิได้ต้องการให้ขึ้นครองอาณาจักร  
ภายหลังสงครามกลางเมือง บ้านเมืองหริหราลัยเสียหายอย่างยับเยิน พระเจ้ายโศวรมันจึงได้ย้ายราชสำนักมาสร้างเมืองใหม่ ที่ “ศรียโศธรปุระ” (Sri Yaśōdharapura)  ทางเหนือของหริหราลัยเดิม ทรงให้พราหมณ์ “วามะศิวะ” (Vāmaśiva) ประกอบพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “เทวราชา” (Devarāja) เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ที่ปรากฏในกายมนุษย์ ทรงสถาปนามหาปราสาทพีรามิดบนยอดเขา  "ศรียโศธรคีรี" (Yaśōdharagiri) หรือ "พนมบาเค็ง - พนมกังดาล" (Phnom Bakheng - Phnom Kandal) ที่ประดิษฐาน “ศิวลึงค์ (ปลอก) ทองคำ” ประตูสู่สรวงสวรรค์แห่งเทวราชา นามว่า “ยโศธเรศวร” (Yaśōdhareśvara) ขึ้นเป็นศูนย์กลางจักรวาล-อาณาจักรแห่งใหม่ ที่ยิ่งใหญ่กว่าสมัยพระราชบิดาของพระองค์
ภายหลังการขึ้นครองอาณาจักรกัมพุชะเทศะ พระเจ้ายโศวรมันทรงยกกองทัพไปตีนครอินทรปุระ-อาณาจักรจามปาทางตะวันออกและขยายอิทธิพลมายังดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจได้ยึดครองเมืองลวปุระ ทรงโปรดให้สร้างเทวาลัยที่เรียกว่า “ศรียโสธราศรม” (Yaśōdharashrams) เป็นศูนย์กลางของชุมชนสฺรุกแห่งกัมพุชะเทศะขึ้นทั่วอาณาจักร  ทรงโปรดให้ยกบาราย "อินทรตะฏากะ" (Indratataka) และสร้างปราสาทโลเลยขึ้นบนเกาะที่กลางบารายเพื่ออุทิศถวายแก่พระราชบิดา 
พระองค์ได้ทรงโปรดให้มีการยกบารายเก็บน้ำขนาดใหญ่ ดักแม่น้ำจากพนมกุเลน เรียกว่า “ยโศธรตะฏากะ” (Yaśōdharatataka) หรือ “บารายตะวันออก” ขนาดประมาณ 1.8 * 1.5 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมของอาณาจักร
--------------------------------------
*** ในช่วงการก่อสร้างมหาพีรามิดพนมบาแค็ง พระเจ้ายโศวรมันยังโปรดให้สถาปนาปราสาทบนยอดเขาใกล้เคียงกับพนมบาแค็ง ศูนย์กลางของนครศรียโศธระปุระ คือ “ปราสาทพนมบก” (Phnom Bok) บนยอดเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือ และ “ปราสาทพนมกรอม” (Phnom Korm) ภูเขาลูกโดดทางใต้ ใกล้กับโตนเลสาบ ซึ่งภูเขาทั้งสองนั้นตั้งอยู่ในรูปที่ต่อเนื่องกันเป็นรูปโค้ง “พระจันทร์เสี้ยว” (Crescent moon) ปิ่นปักบนมวยพระเกศาชฏามุกุฎ (Jaṭāmukuṭa)  หรือ “จันทราศิขระ” (Chandrasekhara) แห่งองค์พระศิวะ โดยมีปราสาทพนมบาแค็งตั้งอยู่ตรงกลาง ตามชื่อนามพนมกังดาลที่แปลว่า “ภูเขาที่ตั้งอยู่ตรงกลาง” ที่อาจเป็นความตั้งใจ-พระราชประสงค์โดยตรงของพระองค์ ผู้ศรัทธาในคติเทวราชา แห่งไศวนิกาย (Shavisim) เช่นเดียวกับพระราชบิดา 
ปราสาทพนมกรอมและปราสาทพนมบก ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบแผนผังเดียวกัน แต่มีการจัดวางอาคารประกอบด้านหน้าที่แตกต่างกันเล็กน้อย เป็นปราสาท 3 หลัง ที่หมายถึงอำนาจแห่งพระ “ตรีมูรติ” (Trimūrti)  อันประกอบด้วยพระศิวะ พระวิษณุและพระพรหม
ปราสาทพนมกรอม ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 140 เมตร ใกล้กับโตนเลสาบ ทางใต้ของเมืองเสียมเรียบประมาณ 12 กิโลเมตร ตัวปราสาทและลวดลายที่เคยสลักประดับอยู่ถูกกัดกร่อนจากการกระทำของกระแสลมและน้ำตามธรรมชาติ จนผุกร่อน หลายส่วนแตกกะเทาะลบเลือนไปเป็นอย่างมาก
ส่วนปราสาทพนมบกนั้น ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 221 เมตร ห่างจากเมืองเสียมเรียบไปประมาณ 25 กิโลเมตร ตัวปราสาทยังคงมีลวดลายสลักที่สมบูรณ์ แต่ก็ปรากฏร่องรอยการทุบ-กะเทาะทำลายโดยมนุษย์อย่างตั้งใจ ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของตัวปราสาทประมาณ 100 เมตร ยังเป็นที่ตั้งของอาคารก่อฐานศิลาแลงประดิษฐานพระศิวลึงค์ขนาดใหญ่ ที่ถูกระเบิดทำลายในยุคสงครามกลางเมือง ซึ่งพระศิวลึงค์นี้ อาจเป็น “ยโศธเรศวร” ที่ถูกย้ายไปราชสำนักใหม่ที่นครลึงคปุระ (เกาะแกร์ – โฉกครรกยาร์)  ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ต่อมาจึงได้ถูกย้ายกลับมาในยุคของพระเจ้าราเชนทรวรมัน  (Rajendravarman) ที่ได้ฟื้นฟูนครศรียโสธระปุระขึ้นใหม่  
--------------------------------------
*** เมื่อพระเจ้ายโสวรมันเสด็จสวรรคตในพระนาม “ปรมศิวะโลกา” (Parama Śiva loka) ในปี พ.ศ. 1453  ปราสาท 5 หลัง บนยอดจักรวาลที่ล้อมรอบด้วยวิมานเทพเจ้า 108 องค์ ตรงจุดกึ่งกลางอาณาจักรและพระจันทร์เสี้ยวแห่งองค์พระศิวะ ได้ถูกใช้เป็นประตู นำพระวิญญาณหลังความตายเสด็จไปรวมพระภาคกับองค์พระศิวะ 
“...พระบรมศพของพระองค์ อาจถูกฝังลึกใต้กรุของปราสาทหลังกลางลงไป ภายในพระโกศสลักหินสี่เหลี่ยมที่มีรูเจาะอยู่ที่ด้านล่าง เพื่อระบายพระบุพโพ (น้ำเหลือง) ในพิธีกรรมมีการโยงสายสิญจน์สีขาวออกจากฝาพระโกศ เพื่อเชื่อมโยงไปยังเหล่าพระโอรส พระมเหสีและพระญาติ เพื่อการรำลึกถึงพระองค์ในระหว่างการประกอบพิธีบูชาไฟ...”
“... เมื่อพระบรมศพแห้งและและได้ฤกษ์งามยามดี ก็อัญเชิญขึ้นพระเมรุมาศถวายพระเพลิง นำพระบรมสรีรางคารไปลอยในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์  แล้วนำพระบรมอัฐิมาเก็บไว้ในพระโกศหินใต้พระศิวลึงค์ เพื่อให้ดวงพระวิญญาณของพระองค์ไปสถิตอยู่ในยโศธเรศวร รวมเป็นนหึ่งเดียวกับองค์พระปรเมศวร
“... แต่เมื่อสิ้นอำนาจของราชวงศ์ ห้องกรุที่เคยเก็บพระบรมอัฐิและสมบัติมีค่าที่อุทิศแก่พระองค์ภายใต้พระศิวลึงค์ บัดนี้ได้ถูกรื้อถอน ปลอกทองคำแห่งพระยโศธเรศวรถูกขโมย พระศิวลึงค์ถูกเคลื่อนย้ายออกไป...”
เครดิต
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า 

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ