พ่อขุนเม็งราย
“พ่อขุนเม็งราย” หรือที่คนล้านนารู้จักกันในนาม “พญามังราย” เป็นราชโอรสของ “พระเจ้าลาวเมง” แห่งราชวงศ์ลวจักราช ผู้ครองหิรัญนครเงินยาง กับ
“พระนางอั้วมิ่งจอมเมือง” หรือ “พระนางเทพคำ” ขยาย ราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าเมืองเชียงรุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุนเอกศกจุลศักราช 601 ตรงกับพุทธศักราช 1781 เมื่อมีพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระบิดาได้สู่ขอ ธิดาเจ้าเมืองเชียงเรืองมาเป็นคู่อภิเษกแล้วโปรดให้เมงรายเป็นมหาอุปราช เมื่อพระเจ้าลาวเมงสวรรคตในปี พ.ศ.1802 เมงรายราชโอรสจึงได้ครอง “เมืองหิรัญนครเงินยาง” สืบแทน ในขณะที่มีพระชนม์ 21 พรรษา
คนล้านนาถือ “พญามังราย” เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังรายและสร้างความรุ่งเรืองให้กับอาณาจักรล้านนาก่อนที่จะถูกพม่าปกครองเป็นเวลา 200 กว่าปี พญามังรายมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญทั้งหมด 4 เรื่อง ดังต่อไป
1. ทรงสร้างเมืองเอกในแว่นแคว้นถึง 3 เมืองได้แก่
-เมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ.180
-เมืองกุมกาม (ปัจจุบันคืออำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่) เมื่อ พ.ศ.1829
-เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1834
นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ทรงบูรณะ “เมืองหิรัญนครเงินยาง” และในปี พ.ศ.1811 ได้บูรณะเมืองฝางเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมไพร่พลของพระองค์ (ซึ่งแต่เดิมเมืองฝางตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองหิรัญนครเงินยางมาก่อน) และโปรดให้ “ขุนอ้ายครือคำลก” หรือ “ขุนเครื่อง” ราชโอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองฝาง
2. ทรงแผ่พระเดชาในทางการรบ
กล่าวคือหลังจากได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำได้แล้ว ในปี พ.ศ.1824 ตีเมืองหริภุญชัยจาก “พระยายีบา” กษัตริย์ขอม พระยายีบาหลบหนีไปอยู่กับพระเบิกที่นครเขลางค์พ.ศ.1828 พระยายีบา และพระยาเบิกยกทัพขอมมาเพื่อตีเมืองหริภุญชัยคืน พ่อขุนเมงรายจึงทรงแต่งตั้งพระโอรสคือ ขุนคราม ยกทัพออกไปต้านทาน ได้รบกับ “พระยาเบิก” และจับพระยาเบิกสำเร็จโทษ พระยายีบารู้ข่าวว่าเสียบุตรจึงทิ้งเมืองเขลางค์หนีไปพึ่งพระยาพิษณุโลก เจ้าขุนครามจึงได้เมืองเขลางค์อีกเมืองหนึ่งนับว่าดินแดนภาคเหนือทั้งหมดพ่อขุนเมงรายได้ครอบครองโดยทั่วอาณาจักรลานนาในรัชสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างไกลดังนี้
ทิศเหนือ จรด สิบสองปันนา
ทิศใต้ จรด อาณาจักรสุโขทัย
ทิศตะวันออก จรด แคว้นลาว
ทิศตะวันตก จรด แม่น้ำสาละวิน
พ.ศ.1829 ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี “พระเจ้าหงสาวดีเจงพยุเจง” เกรงพระบารมีจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นไมตรีโดยยกพระราชธิดาพระนามว่า “นางปายโค” (ตะละแม่ศรี) ให้เป็นบาทบริจาริกาแด่พ่อขุนเม็งราย พ.ศ.1832 ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระเจ้าอังวะให้ราชบุตรนำเครื่องบรรณาการมาต้อนรับขอเป็นไมตรี
3. ทรงนำความเจริญในด้านศิลปกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมมาสู่แคว้นลานนา
โดยเมื่อครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระองค์ได้นำช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างฆ้อง, ช่างทอง และช่างเหล็ก ชาวพุกามเข้ามาฝึกสอนชาวลานนาไทย จึงเข้าใจว่าศิลปต่างๆ ของพุกามที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบันน่าจะเริ่มมาแต่นั้นเมื่อจำนวนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์มีมากขึ้น ก็ทรงจัดหาทำเลที่เหมาะสมในการเกษตร และการค้าเพื่อให้มีอาชีพทั่วหน้า
4. ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถและประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง
“พ่อขุนเมงราย” ทรงเลื่อมใน และศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเป็นองค์ศาสนูปถัมภก และทรงนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการปกครองราษฎรของพระองค์ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมีศีลธรรมอันดีมีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี แก่คนทั่วไปซึ่งเป็นมรดกด้านคุณธรรมที่ตกทอดถึงลูกหลานชาวลานนา จนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักรบผู้แกล้วกล้า แต่การใดที่เป็นทางนำไปสู่ความหายนะเป็นเหตุให้เสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกัน พระองค์จะทรงหลีกเลี่ยง ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงรับไมตรีจากเจ้าผู้ครองนครต่างๆ และการกระทำสัตย์ปฏิญาณระหว่างสามกษัตริย์ดังกล่าว
พระปรีชาสามารถในด้านการปกครองอีกเรื่องหนึ่งได้แก่ การวางระเบียบการปกครองหรือกฎหมายที่ทรงตราขึ้นไว้เป็นพระธรรมศาสตร์ ใช้ในการปกครองแผ่นดิน เรียกว่า “กฎหมายมังรายศาสตร์” เพื่อให้ลูกขุนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจรณาในการพิพากษาผู้กระทำผิดสมควรแก่โทษานุโทษโดยมิให้เลือกเห็นแก่หน้าว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย หัวหมู่ หรือไพร่น้อยเมื่อกระทำผิดย่อมต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน
วัดเชียงมั่น วัดแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่
กล่าวโดยสรุปแล้วพระราชกรณียกิจที่สำคัญทั้ง 4 เรื่องที่พญามังรายได้ทำให้อาณาจักรล้านนามีความเจริญรุ่งเริ่มได้ทำเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการขยายอาณาจักรสร้างเมืองต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ เวียงกุมกามและเมืองเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อพระองค์ขยายอาณาจักรล้านนาไปครบทั้ง 4 ทิศแล้วก็ได้นำศิลปวัฒนธรรมจากเมืองต่างๆ ที่พระองค์ได้ไปตีมานำมารวมกันไว้ที่ศูนย์กลางของอาณาจักร สุดท้ายพญามังรายยังถือว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองที่ใช้หลักธรรมทางศาสนาเชกเช่นกับพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) สิ่งเหล่านี้ทำให้อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และปัจจุบันยังคงเหลือรากอารยธรรมล้านนาให้ลูกหลานสืบสานต่อไปในอนาคต
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_