วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

มหาปูริสลักษณะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
พระพุทธรูป  “สัญลักษณ์แห่งมหาบุรุษผู้ทรงพุทธานุภาพพิชิตมาร” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
“มหาปุริสลักขณะ – มหาปุริสลักษณะ” (Mahapurisalakkhana - Mahāpuruṣa Lakṣaṇa) หรือ “มหาบุรุษ” 32 ประการ  (Thirty-two Characteristics of a Great Man – Buddha) ในคติความเชื่อทางพุทธศาสนา คือลักษณะสำคัญของ "พระโพธิสัตว์"  ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  
ลักษณะแห่งมหาบุรุษ ปรากฏในพระสูตรคัมภีร์ของทั้งฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) และฝ่ายสถวีรวาทิน-วิภาชยวาทิน – หีนยาน ที่พัฒนามาเป็นนิกาย “เถรวาท” (Sthāvirīya - Vibhajjavāda  - Hīnayāna  - Theravāda ) ทั้ง “ลลิตวิสตระสูตร” (Lalitavistara Sūtra) คัมภีร์พุทธประวัติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่มีเรื่องราวอำนาจปาฏิหาริย์ของพระมหาโพธิสัตว์-พระศากยุมนี  เริ่มต้นจาก “นิกายสรวาสติวาท” (Sarvāstivāda) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 -6 พัฒนามาเป็นพุทธประวัติสำคัญของฝ่ายมหายาน จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะแห่งมหาบุรุษ 32 ประการ ยังปรากฏใน “ลักขณสูตร” พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค  และ “คัมภีร์ชินมหานิทาน” รวมถึงข้อปลีกย่อยแห่งมหาบุรุษอีก 80 ประการ ใน “"อสีตยานุพยัญชนะ - อนุพยัญชนะ”  ของฝ่ายนิกายเถรวาท
---------------------------------------------
*** ในพุทธประวัติตอน “ผจญมาร” (Assualt of Mara) ที่ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตครั้งสำคัญที่พระโพธิสัตว์กำลังจะตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้า แต่ต้องเผชิญกับพญามารวัสวดีและพลพยุหเสนา (อวิชชาทั้งปวง) ดังความในลลิตวิสตระสูตร ว่า “...พญามารได้นำไพร่พลเข้าโจมตีพระโพธิสัตว์ “....จัดเสนาองค์ 4 ขนาดใหญ่ เลือกที่เป็นนักเลงกล้าหาญในสงครามมีกำลังมาก น่ากลัว เป็นที่น่าขนลุกขนพอง เทวดาและมนุษย์ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยิน เปลี่ยนแปลงหน้าตาด้วยวิธีต่าง ๆ ...” พระโพธิสัตว์ได้เรียกพระภูมิเทวีแห่งโลกมาเป็นสักขีพยานในคุณธรรม “แผ่นดินเอ๋ย ...จงให้ความเป็นพยานให้แก่เราในที่นี้” 
“....เราอยู่บนอาสนะในที่นี้ จะบรรลุโพธิอันปราศจากธุลี คือ เกลศ ดูกรมารา เราจะชนะท่านผู้ซึ่งถูกทำลายแล้วพร้อมทั้งไพร่พลพร้อมทั้งกองทัพ และเราเว้นแล้วซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดและการเกิดแห่งโลกนี้ นิรวาณเป็นความระงับทุกข์และเป็นความเย็น...”(ลลิตวิสตระ – มหายาน)
“...เทวดามากมายถึงขนาดนี้ละทิ้งเราไว้ผู้เดียวแล้วก็พากันหนีไป ในที่นี้ พระชนกพระชนนีหรือพระภาดา ตลอดจนพระประยูรญาติคนใดคนหนึ่งของเราไม่มีเลย ก็พระบารมีทั้งสิบเหล่านี้แหละเปรียบเสมือนปริชนของเรามานานนักหนา เพราะฉะนั้นเราควรเอาบารมีทำเป็นโล่กำบังแล้วรบกับพระยามารด้วยศัตราวุธ คือ บารมีแล้วกำจัดหมู่พลมารให้พ่ายแพ้ไป....” (ชินมหานิทาน – เถรวาท)  
เมื่อพญามารและเหล่าพยุหเสนาเข้าโจมตีพระโพธิสัตว์  “....เครื่องอาวุธเหล่านั้น พอยกขึ้นทุ่มก็เป็นเหมือนพวงมาลัยดอกไม้หลายอย่าง เป็นเหมือนเพดานดอกไม้สถิตอยู่ และดอกไม้แก้วมุกดาทั้งหลายก็เกลื่อนกลาดแผ่นดิน พวงมาลัยและเครื่องแขวนทั้งหลายก็ประดับต้นโพธิแล้ว...” (ลลิตวิสตระ – มหายาน)
“...พระยามารก็บันดาลให้ฝนเครื่องประหารตั้งขึ้นอีกศัตราวุธต่าง ๆ เป็นต้นว่า ดาบ หอก และมีดโกนมีคมข้างเดียว หรือสองข้างก็ลุกโพลงรุ่งโรจน์ขึ้นลอยมาทางอากาศ พอมาถึงพระโพธิสัตว์ก็ได้กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ ถ่านเพลิงมีสีเหมือนดอกทองกวาวลอยมาทางอากาศ พอมาถึงพระโพธิสัตว์ก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ ตกลงใกล้บาทมูลของพระโพธิสัตว์...” (ชินมหานิทาน – เถรวาท)   
 พญามารยังได้เพียรส่งบุตรสาวทั้ง 3 เข้าทำลายพระโพธิสัตว์  “...ครั้นนั้นแล มารชั่วร้ายได้เรียกธิดาของตนมาว่า เจ้าทั้งหลายผู้เป็นสาวงาม จงเข้าไปยังควงต้นโพธิ์ จงเข้าไปทดลองพระโพธิสัตว์ว่ายังคงนิยมในราคะอยู่หรือไม่ ครั้งนางทั้งสามเข้าไปยืนต่อหน้าพระโพธิสัตว์แล้ว จึงได้แสดงมารยาสตรี 32 ประการ....” (ลลิตวิสตระ – มหายาน)
พระโพธิสัตว์ผู้พร้อมด้วยหมาบุรุษ 32 ประการ ได้แสดงพุทธานุภาพ “...รัศมีกำจัดมณฑลสรรพมารของพระโพธิสัตว์ออกมาจากพระอุณาโลม ที่อยู่ระหว่างพระโขนง ซึ่งเป็นรัศมีฉวัดเฉวียนเขย่าแสงสว่าง ในพิภพของมารทั้งปวงในโลกธาตุ คือ เทวโลกและมนุษย์ให้สั่นสะเทือนและรัศมีนี้ได้แผ่ไปด้วยแสงสว่างอันใหญ่ยิ่งคือโลกธาตุ คือ เทวโลกและมนุษยโลกทั่วไปและมารชั่วร้ายได้ยินเสียงเช่นนี้ด้วยแสงสว่างนั้น...” (ลลิตวิสตระ – มหายาน)
“...มีตาข่ายเลิศประดับในมือขวา มีเล็บแดงงาม มีลายกงจักรซึ่งมีซี่ตั้งพันบันเทิงด้วยบุญญาอันงามเหมือนรัศมีทองชมพูนุท ตั้งแต่พระเศียรถึงพระบาทมีสัมผัสนุ่มนวล” (ลลิตวิสตระ – มหายาน)
“...ทรงลูบพระกายของพระองค์ด้วยพระหัตถ์ขวา ซึ่งสะสมเครื่องอุปกรณ์คือกุศลมูลหาประมาณมิได้ตลอดกัลป์ไม่มีสิ้นสุด พระหัตถ์ขวานั้น อ่อน นุ่ม นิ่ม ประดับด้วยเล็บแดงงามที่สุด ปกคลุมด้วยเพดานข่าย กลางพระหัตถ์ มีสังข์ ธงชัย ปลา กลศ สวัสติกะ ขอช้าง จักร คทา...” (ลลิตวิสตระ – มหายาน)
 ในมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ  กล่าวว่า พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้งสองข้างมีลายรูปจักรอันวิจิตร (สีขาวมีประกายเหมือนเปลวไฟ) มีซี่กำได้ข้างละพัน มีกงมีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง และที่กลางพระนลาฏ มีขนอ่อนเกิดที่ระหว่างพระขนง (อุณาโลม - อุณณาโลม) สีขาวเหมือนน้ำค้างหรือเงินยวง อ่อนนุ่มเหมือนนุ่นสำลี (อูรฺณา- ในภาษาสันสกฤตแปลว่านุ่น)  
*** สัญลักษณ์ของลักษณะความเป็นมหาบุรุษในช่วงของการต่อสู้กับพญามารนี้ จึงได้ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุด
---------------------------------------------
*** พระพุทธรูปสลักหินองค์หนึ่ง พบจากจังหวัดบุรีรัมย์ เคยถูกใช้เป็นหน้าปกของงานนิทรรศการ “ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย” ที่จัดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ได้แสดงรูปแบบทางศิลปะที่สะท้อนคติพุทธประวัติตอนมารผจญ ได้อย่างงดงาม ทั้งยังเป็นปรากฏสัญลักษณ์ของมหาบุรุษ (ผู้ทรงอานุภาพ) พิชิตมาร อย่างชัดเจน
พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งในท่าวัชรปรรยงค์ (ขัดสมาธิเพชร) แสดง “ภูมิสปรรศมุทรา” (Bhūmiśparṣa Mudrā) โดยวางพระหัตถ์เลยลงมาจากพระเพลา ให้พระองคุลี (นิ้ว) แตะที่พสุธา (ฐาน) ครองจีวรห่มเฉียง ทิ้งชายผ้าสังฆาฏิจากพระอังสาทบเป็นริ้วซ้อน อีกฝั่งหนึ่งคลี่ออกเป็นริ้วเหมือนผ้าจริง คลุมพระกรลงมาถึงพระเพลาซ้าย พระอุทรโค้งอ้วน
ส่วนพระเศียรเป็นงานพุทธศิลป์แบบวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีใบพระพักตร์ที่ป้านกลม พระพระนลาฏ (หน้าผาก) แบนแคบ พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน เบิกพระเนตรกว้าง มีเส้นพระกาฬเนตร พระนาสิกเป็นสัน พระโอษฐ์ล่างหนา ติ่งพระกรรณยาวเป็นร่อง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยใหญ่วางตัวสับหว่างต่อขึ้นไป ไม่ปรากฏอุษณีษะชัดเจน   
ที่กลางพระนลาฏปรากฏสัญลักษณ์ “อุณาโลม” (Unalome)  แสดงความเป็นมหาบุรุษ ขีดรูปศิลปะเป็นเส้น “หอยสังข์” (Sankha) อันเป็นสัญลักษณ์มงคล (Sacred Symbols) จากคติฮินดูโบราณ ที่ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทยังแสดงสัญลักษณ์รูป “จักร” (Cakra) ขีดลายเส้นโค้งตวัดออกมาทั้ง 4 ด้าน ในความหมายของการเปล่ง “พลังออร่า” (Aura) หรือ “ฉัพพรรณรังสี” (Prabashvara) พลังพุทธานุภาพเพื่อกำราบพญามาร
งานศิลปะที่แสดงรูปสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจทั้งอุณาโลมที่กลางพระนลาฏ จักระที่กลางฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท การแสดงภูมิสปรรศมุทรา การนั่งแบบโยคะในท่าขัดสมาธิเพชร ที่สอดรับตรงกับคติมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ และการแสดงพุทธานุภาพแห่งมหาบุรุษในพุทธประวัติตอนมารผจญที่ปรากฏในลลิตวิสตระสูตรของฝ่ายมหายาน ล้วนเป็นหลักฐานที่ได้แสดงความสำคัญของประติมากรรมพระพุทธรูปสลักหินจากจังหวัดบุรีรัมย์องค์นี้ ว่า เป็นงานพุทธศิลป์ “มหาบุรุษผู้ทรงพุทธานุภาพพิชิตมาร” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และอาจเป็นเพียงพระพุทธรูปองค์เดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สร้างขึ้นตามพุทธประวัติมารผจญใน “ลลิตวิสตระสูตร” ของฝ่ายมหายาน 
เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อของฝ่ายมหายานที่ได้รับอิทธิพลมาจากราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) วัฒนธรรมทวารวดีในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 14 ที่ได้แผ่อิทธิพลจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าไปในดินแดนอีสานใต้พร้อม ๆ กับคติพุทธศาสนาฝ่ายคณะมหาวิหาร-ลังกา
เครดิต; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
Ref : สมบัติ สมศรีพลอย ลักษณะพระโพธิสัตว์จากคัมภีร์พุทธประวัติ ตอน “ผจญมาร”
ตามแนวคิดแบบเถรวาทและมหายาน 2561

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ