ปูนปั้น “นารายณ์ทรงครุฑ” ที่หายไปจากวัดพระสี่อิริยาบถ กำแพงเพชร
ในปี พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นในเขตอรัญวาสี – อรัญญิก (Āraṇya-vāsī -Buddhist forest monastery - Forest renunciates) หรือวัดป่านอกเมือง ทางเหนือของเมืองป้อมกำแพงเพชรโบราณ ทรงมีพระราชนิพนธ์ ถึงวัดพระสี่อิริยาบถไว้ว่า
“...ตั้งชื่อไว้ว่าวัดพระยืน มีสะพานข้ามคู...ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจัตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า เห็นว่าให้ชื่อว่าวัดพระยืนไม่เข้าเค้า จึงเปลี่ยนให้เรียกว่าวัดพระเชตุพนไปพลาง กว่าจะมีชื่ออื่นดีกว่า เหตุด้วยเมืองสุโขทัยมีวัดเชตุพน บางทีเขาจะตั้งชื่อซ้ำกันบ้าง...”
ภาพถ่ายเก่าในครั้งเสด็จประพาสต้น ปรากฏรูปปูนปั้นนารายณ์ทรงครุฑขนาดใหญ่ในท่ามกลางรากไม้ใหญ่ชอนไชที่ยอดของสันมุมด้านหนึ่งฝั่งขวาของพระยืน อาจเป็นปางแสดงธรรม หรือปางประทานอภัย (พระกรฝั่งซ้ายตั้งฉาก มีร่องรอยของรูเดือยยึดโครงไม้ แต่ได้แตกหักหายไปทั้งหมด) อย่างชัดเจนครับ
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ มกุฏราชกุมาร ได้เสด็จประพาสวัดในเขตอรัญวาสีนอกเมืองกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 2450 ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ ถึงวัดพระสี่อิริยาบถความว่า
“…ที่วัดพระสี่อิริยาบถนั้น มีชิ้นสำคัญอยู่ คือวิหารสี่คูหา มีพระยืนด้านหนึ่ง พระนั่งด้านหนึ่ง พระลีลาด้านหนึ่ง พระไสยาสน์ด้านหนึ่ง พระยืน พระนั่ง พระลีลา ยังอยู่พอเป็นรูปร่างเห็นได้ถนัด แต่พระนอนนั้นชำรุดจนไม่เป็นรูป รอบวิหารมีผนังลูกกรงโปร่ง มองเข้าไปได้ทั้งสี่ด้าน แต่วัดนี้เหมือนวัดเชตุพนที่สุโขทัยเกือบจะไม่มีผิด…”
จากภายถ่ายเก่าเมื่อครั้งเสด็จประพาส ที่มุมสันของผนังแกนฝั่งขวาของพระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัย (ที่ยังไม่พังทลายลงมา) ยังคงมีรากไม้ชอนไชอยู่เช่นเดิม ซึ่งนั้นก็ได้แสดงว่ารูปปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑยังไม่ได้หักพังหายไป
แต่ภาพถ่ายเก่าประมาณปี พ.ศ. 2510 - 11 ภายหลังจากการบูรณะเมืองกำแพงเพชรเป็นครั้งแรก กลุ่มรากไม้ที่ชอนไชปกคลุมบริเวณมุมสันอาคารประธานและรูปปูนปั้นนารายณ์ทรงครุฑได้หายไปทั้งหมดครับ
-----------------------------------------
*** วัดพระสี่อิริยาบถ ตั้งอยู่ในเขตอรัญวาสี ทางทิศเหนือนอกเมืองป้อมกำแพงเพชร มีอาคารเจติยะประธาน เป็นมณฑปยอดเครื่องไม้หลังคาแหลม (?) ตรงกลางก่อเป็นผนังทึบระหว่างเสาใหญ่สี่ต้นบนฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกสูง กลายเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมแท่งสูงรองรับเรือนหลังคาเครื่องไม้ด้านบน มีเสาขนาดใหญ่รองรับคานโครงสร้างเครื่องไม้หลังคาออกไปด้านหน้าของผนังแต่ละด้านเป็นผังจัตุรมุข โดยทำผนังโค้งเว้าเข้าทั้ง 4 ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูป 4 อิริยาบถ คือ ปางเดิน (ลีลา) ทางด้านหน้าทิศตะวันออก ในพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ปางยืน (แสดงธรรม) ทางตะวันตก ในพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา (หรือปางประทานอภัย) ปางนั่ง (มารวิชัย) ทางทิศใต้ ในพุทธประวัติตอนตรัสรู้ และปางนอน (ไสยาสน์) ทางทิศเหนือ ในพุทธประวัติตอนปรินิพพาน
-----------------------------------------------
*** คติการสร้างพระ 4 อิริยาบถ ปรากฏในรัฐสุโขทัยครั้งแรกในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 จากอิทธิพลการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ทั้ง 4 ที่ “กัลวิหาร”(Gal Vihara) - กัลวิหารรายา (Gal Viharaya) วัดอุตตราราม (Uttararama) เมืองโปโลนนารุวะ (Polonnaruwa) ที่สร้างขึ้นตามคติสังเวชนียสถานในพุทธประวัติของพระสมณโคตม (Samaná Gautama) ฝ่ายเถรวาท-ลังกาวงศ์ ซึ่งได้มีการสังคยนาครั้งใหญ่โดยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช (Parakramabahu I) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18
แตกต่างไปจาก พระ 4 ทิศของฝ่ายรามัญนิกาย – พุกาม ที่มีความหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ในภัทรกัลป์ (Bhadda-Kalpa) หรือในยุคปัจจุบัน ที่ประกอบด้วย พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมนะพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้าและพระสมณโคตมพุทธเจ้าครับ
ความนิยมในคติพระ 4 อิริยาบถ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ยังพบที่วัดพระเชตุพนและวัดพระพายหลวง เขตเมืองโบราณสุโขทัย และยังส่งอิทธิพลไปยังงานศิลปะอยุธยาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ที่ปรางค์วัดเชิงท่า
--------------------------------------------
*** รูปนารายณ์ทรงครุฑประดับยอดสันมุม คงได้ถูกปั้นปูนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่อพระบรมไตรโลกนาถได้กลับเข้ามายึดเมืองกำแพงเพชรคืนจากอาณาจักรล้านนา เป็นงานศิลปะในคติพระวิษณุทรงครุฑตามแบบคติเขมร ที่เปรียบกษัตริย์ประดุจพระอวตารแห่งพระวิษณุ พัฒนามาเป็นคติ “พระรามาธิบดี” (พระราม) นิยมในงานศิลปะอยุธยามาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ดังปรากฏลวดลายปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑ (ยุดนาคน้อย) ประดับปลายหน้าบันตามแบบศิลปะละโว้ – เขมร ที่ปรางค์วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก
------------------------------
*** รูปนารายณ์ทรงครุฑจึงเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงอำนาจของกรุงศรีอยุทธยา ในการเข้าครอบครองดินแดนของรัฐสุโขทัยเดิมทั้งหมดได้โดยสมบูรณ์
เครดิต;
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_