วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วัดตระพังทองหลาง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ประติมากรรมปูนปั้น “มหาปาฏิหาริย์” ที่วัดตระพังทองหลาง กรุงสุโขทัย
วัดตระพังทองหลาง ตั้งอยู่ทางตะวันออกนอกเมืองโบราณสุโขทัย ห่างจากประตูเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร บนเกาะกลางน้ำของตระพังทองหลางที่ได้ตื้นเขินไปมากแล้ว จึงทำให้ดูเหมือนว่าเป็นเพียงแค่คูน้ำล้อมรอบ ซากอาคารที่เหลืออยู่มีวิหารผนังโปร่งด้านหน้า มีเจติยะประธานรูปทรงมณฑปเรือนกล่องสี่เหลี่ยม (Cella – Cube) ไม่ลดสันมุม ภายในมีซากโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งเต็มพื้นที่ระหว่างผนัง 
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ราชสำนักสุโขทัยเกิดความนิยมในสถาปัตยกรรมเรือนปราสาทผังสี่เหลี่ยม ที่มียอดหลังคาก่ออิฐหน้าจั่ว-หลังคาลาด แทรกเข้าไประหว่างกลางตัววิหารและพระเจดีย์ที่เป็นประธานของวัด อย่างวัดสวนแก้วอุทยานน้อย เมืองโบราณศรีสัชนาลัย และมณฑปหลังคาทรงกรวยเหลี่ยม ซ้อนชั้นด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องยอดแหลมเดี่ยว อย่างที่วัดศรีชุม ประดิษฐานพระพุทธรูปภายในอาคารแบบเต็มพื้นที่จนดูคับแคบตามคติ  “พระคันธกุฏี” (Gandha kuti) ที่ประทับของพระพุทธเจ้า จากอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมพุกาม – รามัญและล้านนา ผสมผสานงานศิลปะสุโขทัยเดิม ที่มีอิทธิพลของฝ่ายเขมรและเถรวาท-ลังกา จากยุคโปโลนารุวะ
คติความนิยมในพุทธประวัติแบบเถรวาทจากลังกาผสมผสานกับคติพุทธประวัติแบบ “อัษฏมหาปาฏิหาริย์ – อัฐฏมหาปาฏิหาริย์” (Aṣṭa Mahā Pāṭihāriya) จากสังเวชนียสถาน 8 แห่ง ที่เรียกว่า “อัษฏมหาสถาน” (Aṣṭa  Mahā sthāna- caitya) ที่เริ่มต้นความนิยมในยุคราชวงศ์คุปตะ ส่งต่อมายังราชวงศ์ปาละในอินเดียตะวันออก เข้าสู่อาณาจักรพุกามและล้านนา จนเกิดการสร้างศิลปะแบบ “ผสมผสาน” (Assimilation) ระหว่างคติและศิลปะจากลังกากับปาละขึ้นที่กรุงสุโขทัยอย่างกลมกล่อม
นอกจากการสร้างมณฑปเพื่อเป็นประธานของวัดแทนพระเจดีย์แล้ว ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21  ยังมีความนิยมในการสร้างเจดีย์เรือนกล่องสี่เหลี่ยมแบบพุกาม ยอดทรงปราสาทย่อมุมปลายยอดเป็นพุ่มดอกบัวตูมหรือเจดีย์ลังกาขึ้นหลายแห่ง ทั้งที่เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองโบราณศรีสัชนาลัย เจดีย์รายข้างเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัย รวมทั้งการสร้างมณฑปที่มีความสูงใหญ่เพื่อประดิษฐาน “พระอัฏฺฐารส” ที่นิยมในรัฐสุโขทัยมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้า
--------------------------------------
*** เจติยะทรงมณฑป เรือนธาตุทรงกล่องสี่เหลี่ยมแบบพุกามที่วัดตระพังทองหลาง ตั้งบนฐานบัว ลวดลูกฟักเหลี่ยมแคบคาดที่ท้องไม้ ด้านหน้าทำเป็นมุขอาคารยื่นออกมาเล็กน้อย ซ้อนชั้นด้วยซุ้มประตูชั้นลด ยอดซุ้มประตูโค้งแหลม (Arch) แบบใบหอก กลางผนังเรือนอีก 3 ด้าน ยกซุ้มแคบ ๆ ออกมาจากผนัง ในระดับต่ำกว่าซุ้มประตู โดยไม่ยกเก็จประธานที่ฐาน ซ้อนด้วยจระนำซุ้มเป็นชั้นลด ยอดซุ้มโค้งหน้านางในงานศิลปะลังกา ภายในช่องปั้นปูนประดับ เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติที่เกี่ยวเนื่องกับกับกระทำปาฏิหาริย์-อภินิหารของพระพุทธเจ้าเจ้าในอัษฏมหาปาฏิหาริย์ ที่เป็นคติความนิยมจากอิทธิพลฝ่ายปาละผ่านมาทางพุกาม 
ซุ้มฝั่งตะวันออกด้านหน้าเป็นซุ้มประตูใหญ่เข้าสู่เรือนธาตุ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือภูมิสปรศมุทรา ตามพุทธประวัติ ตอนผจญมาร (Assualt of Mara)  ที่ทรงกระทำปาฏิหาริย์ แสดงพลังอำนาจกำราบกองทัพพญามารท้าววสวัตตีจนพ่ายแพ้
ซุ้มฝั่งทิศใต้ปั้นปูนเป็นรูปปางลีลา-เดิน (พระเจ้าหย่อนตีน) เส้นขวางในความหมายของบันได ที่มีพระอินทร์และพระพรหม 4 พักตร์ ถือเศวตรฉัตรกั้นที่ด้านข้าง เหล่าเทพยดา แสดงสาธุการอัญชลี  เป็นพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (Buddha Descending from Tavatimsa - Trayastrimsa) โดยบันไดแก้วมณี ที่เมืองสังกัสสะ (Sankassa) ทรงกระทำปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสาม เชื่อมพรหมโลก อเวจีมหานรก โลกมนุษย์และจักรวาลหลายแสนเป็นเนื้อเดียวกัน เทพยดาจึงได้แลเห็นพวกมนุษย์และสัตว์นรก มนุษย์ได้เห็นเทพยดาและสัตว์นรก สัตว์นรกได้เห็นมนุษย์และเทพยดา
ซุ้มฝั่งทิศตะวันตกปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวก ในพุทธประวัติตอนโปรดช้างนาฬาคีรี (Nalagiri Elephant) ที่กรุงราชคฤห์ (Rajgriha) พระพุทธเจ้ายืนในปางประทานอภัยหรืออภยมุทรา (Abhaya Mudra) ในประภามณฑลยอดโค้งกลม พระรัศมีด้านในเป็นข้อสังวาลกลมและสี่เหลี่ยมต่อเนื่อง ด้านนอกเป็นเปลวเพลิวปลาย 5 แฉก คล้ายปลายพู่-ธงลู่ลม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะแบบโปโลนาลุวะ (Polonnaruwa) จากลังกา พื้นหลังเป็นดอกมณฑารพ – มนฺทารว - มณฑาทิพย์ (Mandāra) ดอกไม้ทิพย์จากสวรรค์ คล้ายคลึงกับงานศิลปะดอกไม้ของล้านนาจากอิทธิพลจีน  โดยมีรูปช้างขนาดเล็กที่มุมล่างแต่กะเทาะหายไป ด้านหลังเป็นรูปพระอานนท์เถระแสดงอัญชลี
ด้านบนของซุ้มทางทิศตะวันตกนี้ ยังคงเหลือลวดลายปูนปั้นประดับแบบโค้งหน้านาง ตรงกลางเป็นหน้ากาลคายมาลัยที่ปลายเป็นรูปกินร – กินรี ตวัดกระหนกหางเป็นพุ่มใหญ่ ตามอิทธิพลของงานศิลปะลังกา ในขณะที่ปลายซุ้มมุขด้านบนยังคงนิยมทำเป็นหัวนาคปลายหน้าบันตามงานศิลปะสุโขทัย-เขมรเดิม   
ซุ้มทางฝั่งทิศใต้ ปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางลีลาในกรอบรัศมีโค้งบนยอดต้นมะม่วง (มีใบเรียวยาว) ในท่ามกลางเหล่าเทพยดาและนางฟ้า (มีประภามณฑลยอดแหลม) ควรเป็นพุทธประวัติตอน “มหาปาฏิหาริย์”  (Mahā Pāṭihāriya)  ที่เมืองสาวัตถี (Sravasti)  ความว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้รับคำท้าทายจากเดียรถีย์ ทรงได้แสดงพระประสงค์จะอาศัยร่มไม้มะม่วงทำกระทำปาฏิหาริย์ เมื่อพวกเดียรถีย์รู้  ก็รีบพากันโค่นล้มต้นมะม่วงทั้งในเมืองและนอกเมืองจนหมดสิ้น แต่มีมะม่วงทวายมีมดแดงทำรังหุ้มอยู่กำลังสุกลูกหนึ่ง ที่นายคัณฑะ ผู้ดูแลพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศลนำมาถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าได้ฉันน้ำปานะที่เกิดแต่ผลมะม่วงแล้ว ได้ทรงส่งเมล็ดมะม่วงให้นายคัณฑะนำไปปลูก บังเกิดมหาปาฏิหาริย์ เป็น “ต้นคัณฑามพฤกษ์” ใหญ่ สูง 12 วา 2 ศอกแผ่กิ่งก้านยาวออกไปถึง 50 ศอก แต่ละช่อตกดอกออกผล ทั้งผลดิบและผลสุกแลอร่ามไปทั้งต้น ร่วงหล่นจนเกลื่อนไปทั่ว ซึ่งในบ่ายวันเดียวกันนั้น จึงทรงได้แสดง “ยมกปาฏิหาริย์” (Yamaka- Pāṭihāriya) กำราบพวกเดียรถีย์ที่ต้นคัณฑามพฤกษ์นี้
รูปปูนปั้นทรงกลมที่ล้อมรูปต้นมะม่วง จึงควรหมายถึงเมล็ดมะม่วงที่พระพุทธเจ้าได้แสดงมหาปาฏิหาริย์ปลูกขึ้น ส่วนปางลีลานั้น หมายถึงการเสด็จออกจากคันธกุฏี ไปยังต้นคัณฑามพฤกษ์ เพื่อแสดงยมกปาฏิหาริย์นั่นเอง
----------------------------------------------
*** ที่วัดตระพังทองหลาง ช่างผู้สร้างงานประติมากรรมปูนปั้นและพระพุทธรูปประธานภายในมณฑป ได้ เลือกพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงมหาปาฏิหาริย์  4 เหตุการณ์ จากคติของฝ่ายปาละ–พุกาม-ล้านนา มาผสมผสานกับงานศิลปะนิยมแบบลังกา-สุโขทัย–เขมร ได้อย่างงดงามลงตัว    
เครดิต;
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ