วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

โทษของการเป็นผู้ว่ายาก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
#โทษของการเป็นผู้ว่ายากสอนยาก

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อแรกบวช มีความตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ครั้นนานเข้า ก็เกิดความเบื่อหน่าย คลายความเพียร เมื่อพระเถระและเพื่อนพระภิกษุด้วยกันตักเตือนเท่าไร ก็ไม่เชื่อฟังกลับดื้อรั้นโต้เถียงไม่ลดละ ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ทรงซักถามได้ความเป็นจริงแล้ว จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ได้เป็นคนดื้อเฉพาะแต่ในชาตินี้เท่านั้นหรอกนะ แม้เมื่อชาติก่อน เธอดื้อด้านเสียจนกระทั่งต้องไปติดบ่วงตายมาแล้ว" จากนั้น พระพุทธองค์ทรงนำเอาเรื่องราวในอดีตมาตรัสว่า
ในอดีตกาล พระธิสัตว์ได้กำเนิดเป็นพญากวาง มีบริวารเป็นอันมาก ล้วนแต่มีระเบียบวินัยและอยู่ในโอวาทของพญากวางผู้เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว และเมตตาปรานีต่อบริวาร โดยสั่งสอนวิธีหากินและเอาตัวรอดจากภยันตรายของกวาง อย่างไม่เห็นแต่เหน็ดเหนื่อยตลอดมา
วันหนึ่ง น้องสาวพญากวางพาลูกชายมาฝากให้ช่วยสอนวิชามฤคมายาแก่ลูกกวางของตนด้วย แต่เมื่อถึงกำหนดนัดเวลาเรียน ลูกกวางนั้นไม่เคยมาเรียนเลย บ่นกับเพื่อนลูกกวางด้วยกันว่า “ไม่อยากไปเรียน ไม่เห็นจะน่าสนุกเลยเรื่องตะกุยดิน เบ่งท้องให้พองลมทำเป็นตายน่ะ ถึงไม่เรียนก็ทำได้ ไม่เห็นยากเลย” เพื่อนๆ ก็ค้านว่า “โธ่พญากวาง ท่านพญากวางท่านอุตส่าห์สละเวลามาสอนให้พวกเราโชคคีจะตาย มีโอกาสแล้ว รีบไปเรียนกันเถอะ” แต่ลูกกวางนั้นก็ยังดื้อดึงไม่สนใจฟังคำตักเตือนของเพื่อนๆ หนีเรียนมาทุกครั้ง ซ้ำยังพูดว่า “พวกเธอไปเรียนกันเถอะ ไม่ต้องมาห่วงฉันหรอก ฉันโตพอแล้ว เอาตัวรอดได้นะ” แล้วลูกกวางนั้นก็ไม่สนใจไปเรียนกับพญากวางผู้เป็นลุงของตน เลยเที่ยวไปวิ่งเล่นในป่าอย่างสบายใจ ด้วยความเพลิดเพลินและประมาทจึงไปติดบ่วงของนายพรานเข้า
ฝ่ายนางกวางไม่เห็นลูกกลับมาจนเวลาล่วงไปถึง ๗ วัน ก็เอะใจและกังวลมาก รีบไปหาพญากวาง ถามถึงลูกตนว่า “พี่สอนหลานให้เรียนมายาของเนื้อแล้วหรือไม่” พญากวางจึงตอบว่า “น้องเอ๋ย ตั้งแต่วันที่เจ้าเอาลูกมาฝากให้พี่สอนวิชา นัดวันและเวลาเรียนแล้วก็ไม่เคยเห็นหน้าเจ้าหลานชายนี้อีกเลย ตลอดทั้ง ๗ วัน จนถึงวันนี้” นางกวางตกใจมากรีบไปถามบรรดาเพื่อนๆ ของลูกชายจึงรู้ว่าลูกของนางวิ่งเล่นจนไปติดบ่วงนายพรานและถูกฆ่าตายเสียแล้ว นางเศร้าโศกเสียใจมากร้องไห้คร่ำครวญว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมลูกไม่เชื่อฟังแม่ ลูกของแม่ต้องมาตายเสียตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะความดื้อรั้นแท้ๆ เทียว ถ้าลูกตั้งใจเรียนไม่หนีไปเที่ยวเล่นก็คงไม่ต้องตายจากแม่ไปเช่นนี้” นางกวางร้องไห้สะอึกสะอื้นปานจะขาดใจ พญากวางจึงกล่าวให้สติว่า “ขราทิยาเอ๋ย เจ้าอย่าได้เศร้าโศกเสียใจกับลูกหัวดื้อไม่ยอมอยู่ในโอวาทนั้นเลย พี่ไม่อาจสั่งสอนเจ้าลูกกวางผู้มีเขาคดตั้งแต่โคนจนถึงปลายและดื้อด้าน ไม่มาเรียนได้จนถึง ๗ วันเช่นนี้”
ครั้นพระพุทธองค์ตรัสเรื่องในอดีตจบลงแล้ว ทรงตรัสประชุมสรุปว่า กวางผู้เป็นหลานดื้อในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุหัวดื้อว่ายาก ไม่ตั้งใจเรียนรูปนี้ กวางขราทิยาได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี ส่วนพญากวางได้มาเป็นพระองค์เอง

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า นิสัยของคนเรา ไม่ว่าดีหรือเลว จะติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้ คนที่มีนิสัยดื้อรั้นควรรีบแก้ไขเสีย มิฉะนั้นจะไม่มีใครอยากแนะนำตักเตือน ควรถือว่า บุคคลที่ชี้โทษว่ากล่าวตักเตือนเรา เป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ เพราะทำให้เรารู้จุดที่ควรจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องใดที่แปลกใหม่ อย่ารีบปฏิเสธ อันเป็นวิสัยของคนดื้อ ว่ายาก แต่ก็ไม่เชื่อฟังทันที เพราะจะเข้าลักษณะคนหูเบา หลงงมงาย ควรพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน จึงค่อยตัดสินใจว่าควรเชื่อหรือไม่ และให้คิดเสมอว่า ตนเป็นผู้ไม่รู้ พึงต้องมีครู

อ่านเพิมเติมได้ที่:
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=15
https://m.youtube.com/watch?v=gibDayqtODo

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น