หินทับหลัง “พระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว” ศิลปะประดับยอดสันหลังคากำแพงบายน
รูปแบบกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน ยุคเมืองพระนครตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา นิยมใช้ศิลาแลง (Laterite) เป็นวัสดุหลักในการก่อ รองพื้นด้วยทรายละเอียดอิ่มน้ำ ส่วนฐานกำแพงวางเรียงหินกว้าหนา ส่วนฐานล่างติดกับรากทำเป็นบัวเชิง เดินเส้นลวดขีดสลักเป็นเส้นยาวเข้าไปในเนื้อหิน ผนังกำแพง (ท้อง) มีความแคบกว่าส่วนฐาน ก่อขึ้นทั้งแบบตั้งตรงและแบบแอ่นท้องเล็กน้อย ก่อนไปขยายเป็นบัวยอดชุดใหญ่ด้านบน สกัดเป็นเส้นลวดเป็นคิ้วรองใต้หน้ากระดาน ด้านบนสุดของกำแพงทำเป็นโค้งประทุนเรือ หรือ สามเหลี่ยม เป็นหลังคา (จำลอง) บนสันยอดสุดจะเซาะร่องตรงกลางเพื่อวางแนวหินสลักเป็นหินทับหลังเพื่อประดับส่วนยอดกำแพงแบบอีกที
หินทรายสลักเป็นทับหลังประดับบนสันยอดกำแพง นิยมทำเป็น “บราลี” แบบหม้อน้ำต่อฝายอดแหลมมน เจาะพื้นสันกลางเป็นเดือยปักวางเรียงเป็นแถว ในความหมายว่าตัวกำแพงคือเรือนวิมาน (มีหลังคา) ที่ล้อมรอบศูนย์กลางจักรวาล ยอดกำแพงจึงทำหลังคาโค้งแบบเดียวกับหลังคาวิมานที่มีการปักประดับเครื่องบราลี ซึ่งในเวลาต่อมา ได้มีการพัฒนารูปทรง อย่างแท่งบราลีโค้งขึ้นไปเป็นสันแหลมที่ต่อกันเป็นแท่งยาววางบนสันกำแพง ที่พบจากปราสาทกู่เปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น
ในยุคจักรวรรดิบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ยังคงมีความนิยมในการประดับสันหลังคากำแพงด้วยหม้อน้ำบราลีทั้งแบบสั้นและยาว แบบติดกันและแยกออกจากกัน ทำจากหินศิลาแลงและหินทราย แต่ก็ได้เกิดความนิยมในการสร้างสรรค์งานศิลปะรูป “พระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว” ในซุ้มสามเหลี่ยมต่อกันเป็นแท่งยาว มาวางเรียงเป็น “ทับหลัง” ประดับบนยอดสันหลังคากำแพง ตามคติความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน-วัชรยาน ที่เป็นความนิยมของราชสำนักในช่วงเวลานั้น
ภาพสลักพระพุทธเจ้าปางสมาธิ หรือ “ธยานะมุทรา” (Dhyana Mudra) ในกรอบซุ้มสามเหลี่ยมเรือนแก้ว – ใบระกา ตวัดปลายเป็นกระหนกหัวนาค ต่อกันเป็นแท่งละ 2 – 3 กรอบ ของทับหลังยอดกำแพง มีความหมายถึง “พระตถาคต-พระพุทธเจ้า” ใน “มหามันดารา – พุทธเกษตร” (Mandala Universe - Buddha-kṣetra) จักรวาลแห่งผู้บรรลุสู่ความเป็นพุทธะ-โพธิสัตว์) จำนวนมากมายที่สถิตอยู่ในแต่ละทิศ ล้อมรอบศาสนสถานที่หมายถึงศูนย์กลางจักรวาลอันเป็นที่สถิตแห่งพระพุทธเจ้าสูงสุด หรือพระมหาไวโรจนะ-วัชรสัตว์พุทธะ (Mahāvairocana – Vajrasattva Buddha) หรือพระอาทิพุทธะ ( Ādi – Buddha) พระพุทธเจ้าพระองค์แรก ที่ให้กำเนิดพระฌานิพุทธเจ้า “ปัญจสุคต” (Paῆca Sugatā) ทั้ง 5 พระองค์
งานประดับหินสลักรูป “พระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว” ของทับหลังบนยอดหลังคากำแพง ในช่วงศิลปะนิยมแบบบายน นิยมใช้กับศาสนสถานทางพุทธศาสนาที่มีความสำคัญ ระดับ “ราชวิหาร” (ราชวิภาระ - ราชวิภารนามฺนี” (Rājavibhāra nāmnī) หรือ “ศาสนวิหาร” ในความหมายของ “พระอารามหลวง” ทั้งในเขตเมืองพระนคร อย่าง ปราสาทตาพรหม ปราสาทพระขรรค์ ปราสาทบันทายกุฎี ปราสาทตาสม ปราสาทตาไน ปราสาทบันทายธม หลายแห่งต่างก็มีการประดับทับหลังกำแพงแบบเดียวกัน อีกทั้งนอกพระนคร อย่างที่ปราสาทบากันที่กำปงสวาย ปราสาทตาพรหมโตเลบาตี ปราสาทนอร์กอบาเจ็ย ปราสาทบันทายฉมาร์
แต่เมื่อถึงยุคการฟื้นฟูคติฮินดู ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กษัตริย์ผู้ศรัทธาลัทธิเทวราชาไศวะนิกาย ได้เกิดการทุบทำลายรูปของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในคติวัชรยาน ที่กระทำขึ้นอย่างเป็นระบบ จนแทบไม่มีรูปประติมากรรมทางพุทธศาสนาที่ยังคงความสมบูรณ์เหลือรอดมาจนถึงในปัจจุบัน
รูปเคารพในคติความเชื่อความศรัทธาจากยุคจักรวรรดิบายน ที่เคยประดิษฐานในอาคารศาสนสถานในคติพุทธศาสนาวัชรยาน ก็ถูกรื้อถอน มัดฉุดลากออกจากที่ตั้ง พระพุทธรูปใหญ่แห่งจักรวรรดิที่ปราสาทบายน ก็ถูกทุบทำลายทิ้งลงในบ่อน้ำใต้ปราสาทให้จมดิ่งลงสู่ใต้โลก ในหลายพระอารามราชวิหารมีการทุบทำลายก่อนแล้วค่อยนำไปฝังกลบ ส่วนของใบหน้ารูปสลักที่เหลือรอด ก็ยังปรากฏร่องรอยของการทุบตี ทั้งแบบตีแรง ๆ ตีถี่ ๆ ให้กะเทาะ จนส่วนที่ยื่นออกมาอย่างพระนาสิก พระเนตรหรือพระกรรณแตกหัก พระเศียรถูกทุบแยกออกจากพระวรกายเกือบทุกรูป
รูปสลักพระพุทธเจ้าที่ประดับอยู่บนทับหลังสันหลังคากำแพงในเขตอำนาจเมืองพระนครยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 นอกจากแบบที่ยังไม่ได้สลัก ก็จะถูกสกัดทำลายแทบทั้งหมด หรือไม่ก็ถูกสลักแก้เป็นรูปฤๅษีสวดภาวนาในท่านั่งโยคะสนะ ซึ่งก็ยังคงมีรูปสลักพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้วอีกหลายชิ้น เหลือรอดหลงหูหลงตาของผู้รับเหมาทำลายอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมืองที่อยู่นอกอำนาจเมืองพระนครหลายแห่ง อย่างที่ปราสาทบันทายฉมาร์ ปราสาทตาพรหมแห่งโตนเลบาตี ก็ไม่ได้ถูกกะเทาะทำลายตามเมืองในอำนาจของราชสำนักยุคนั้นไปด้วย
--------------------------------------
*** ที่วิษัยนคร “ชยราชปุรี” (Jaya-Rájapurí) ชื่อนามเมืองที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ (K.908) บทที่ 114 -121 ที่กล่าวถึงเรื่องของการถวาย "พระรัตนตรายา" (Ratnatraya) "ชัยพุทธมหานาถ” (Jayabuddhamahánáthas) ไปยังเมือง 23 วิษัย (Viṣaya) สำคัญทั่วจักรวรรดิบายน หรือ บริเวณวัดมหาธาตุราชบุรี ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง เป็นที่ตั้งของศาสนวิหารแบบพระอารามหลวงสำคัญในยุคจักรวรรดิบายน ศูนย์กลางของวิษัยชยราชปุรี ที่ยังคงปรากฏร่องรอยของซากชิ้นส่วนของหินศิลาแลงและเศษชิ้นส่วนของหินทรายสีแดงที่กระจายอยู่โดยทั่วไป ทั้งที่เป็นฐานของอาคารปราสาทประธาน บรรณาลัย ระเบียงคดและซุ้มประตูโคปุระ รวมทั้งเศษชิ้นส่วนของงานสลักหินทรายประดับปราสาทและรูปประติมากรรม
แต่ที่ยังคงความสมบูรณ์ที่สุดจากยุคจักรวรรดิบายน คือ อาคารโคปุระทิศตะวันออก และกำแพงศิลาแลง ที่มีการประดับทับหลังยอดสันหลังคารูปพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว ที่ทำขึ้นจากหินทรายแดง ยังคงปรากฏลวดลายอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ได้ถูกสกัดออกแบบเดียวกับราชวิหาร – ศาสนวิหารเมืองพระนคร
ก็อาจนับได้ว่า กำแพงที่มีการประดับทับหลัง “พระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว บนยอดสันหลังคา ที่วัดมหาธาตุราชบุรี นี้ เป็นกำแพงจากยุคจักรวรรดิบายนที่คงเหลือรอดมาจากยุคสมัยแห่งความรุ่งเรือง ที่ยังคงสมบูรณ์แบบ งดงามมากที่สุดแล้วจากกำแพงในยุคจักรวรรดิบายนทั้งหมด
-------------------------
*** ส่วนที่วิษัยนคร “ศรีชยสิงหบุรี” (Śrí Jaya-Siṃhapurí) หรือ “ปราสาทเมืองสิงห์” ริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ยังมีโครงหินที่สกัดจากหินศิลาแลง (หินทรายไม่ใช่วัสดุที่พบในท้องถิ่น) รูปสามเหลี่ยมต่อเนื่อง เหลือให้เห็นบนยอดสันหลังคากำแพงที่ล้อมรอบตัวปราสาท ยังไม่มีร่องรอยการปั้นปูนประดับเป็นรูปพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_