วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปราสาทบายน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ปราสาทบายน
ศิลปะอันงดงามที่ “ซอกรักแร้” บายน  
“รักแร้” ในที่นี้ หมายความถึง “มุม”  (Corner) ที่ผนังสองด้านชนเข้าหากันแบบตั้งฉาก ทั้งแบบหักเข้าด้านในเป็น “ซอก” และ “สันมุม” ที่เป็นการชนตั้งฉากกันแบบ “หักออก” แบบเดียวกับการยกเก็จบนผนังเรือนสี่เหลี่ยมที่ทำให้เกิดผนังใหม่ยื่นออกมาจากผนังเรือนเดิม จึงมีเก็จประธานยกขึ้น 1 กะเปาะ เกิดเป็นสันมุมทั้งสองด้าน หรือ การ “ยอมุม – ย่อมุมไม้ - ยกมุม” ที่คล้ายกับการยกเก็จ แต่จะลดขนาดของเรือนสี่เหลี่ยมที่มุม พอ ๆ กับการเพิ่มมุม ทำให้เกิดสันมุมเพิ่มได้เป็นจำนวนมากที่บริเวณมุม ทั้ง 4 ด้านของตัวเรือนเท่านั้น
ซอกรักแร้ ที่มีผนังหักมุมตั้งฉากเข้าไปเป็นซอกมุม เป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาคารแบบต่าง ๆ ทั้งปราสาท กําแพง  อุโบสถ เทวาลัย 
ซอกรักแร้ ในงานสถาปัตยกรรมโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นมุมฉาก แต่ในงานก่อสร้างปราสาทเทวาลัยที่มีการวางเรือนธาตุของวิมานซ้อนชั้นที่มีขนาดใหญ่มีเรือนสี่เหลี่ยมตรงกลางขนาดใหญ่กว่า มุมที่ยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน กมุมของเรือนธาตุก็จะแทรกออกมาตรงมุมรักแร้ ทำให้เกิดเป็นสันมุมใหญ่ขึ้นมา แต่หากยอดปราสาทมีขนาดใหญ่ เพิ่มมุมขึ้นมากกว่า 1 มุม ตามมุมของเรือนวิมานซ้อนชั้น (ยอดปราสาทด้านบน) ก็จะเกิดการยกสันมุมจากมุมหลักขนาดใหญ่ของเรือนที่มุมรักแร้เพิ่มขึ้น 
-----------------------------------
*** ในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 งานศิลปะแห่งราชสำนักบายน ได้เกิดเทคนิคการก่อหินขยายซอกมุมรักแร้ เพื่อเสริมผนังกำแพงมุขรองรับน้ำหนักเรือนวิมานที่มีขนาดใหญ่ จึงได้มีการแกะสลักงานศิลปะลวดลายประดับหินที่ก่อเสริมซอกรักแร้ จนทำให้ตัวอาคารมีความสวยงามโดดเด่น แตกต่างจากยุคก่อนหน้าที่เป็นเพียงการสลักลวดลายบนผนังว่างของซอกรักแร้ ทั้งแบบมุมฉากหรือสันมุมที่ยกขึ้นตามการยกมุมของเรือนธาตุเท่านั้น
งานศิลปะแกะสลักที่ซอกมุมรักแร้ที่ดูงดงามที่สุดก็คงต้องยกให้ ซอกรักแร้ของซุ้มประตูเมืองพระนครธม-พระนครหลวง “นครชยศรี”(Nokor - Nagara Jaya sri) ทั้ง  5 ประตู ที่เป็นประตูก่อซุ้มโค้ง (Arc) ขนาดใหญ่ ซ้อนด้วยยอดปราสาท 3 ยอด ยอดกลางสูง 23 เมตร สลักเป็นรูปใบพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในฐานะที่ทรงเป็น “พระมหาโพธิสัตว์” ผู้ดูแลคุ้มครองอาณาจักรไปทั่วทุกทิศ
ที่ซอกรักแร้ซุ้มประตูมีการก่อหินขยายมุม เพื่อเสริมผนังกำแพงมุขรองรับน้ำหนักเรือนวิมานขนาดใหญ่ที่ด้านบน สลักเป็นรูปพระอินทรา (พระอินทร์ ท้าวสักกะเทวราช) และพระมเหสี ทรงช้างไอราวตตะ – เอราวัณ (Airavata - Airāvana) 3 เศียร ในท่ามกลางสระบัว โดยช่างได้ประยุกต์ให้ปลายงวงช้างยุดดึงกอบัวขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเสารองรับน้ำหนักหินสลักส่วนหน้าช้างและงวงที่ยื่นออกมา
ในคัมภีร์ “ฤคเวท” (Rigveda) ของฝ่ายฮินดู และวรรณกรรม “มหากาพย์รามายาณะ” (Ramayana story Sanskrit epic) เล่าว่า เมื่อพระอินทร์ทรงช้างไอราวตตะ ไปปราบอสูรงูยักษ์ “วฤตระ” (Vritra) ที่ยึดครองน้ำไปเก็บไว้ใต้ยมโลก เมื่อได้รับชัยชนะพระอินทร์ได้แหวกท้องอสูร เพื่อนำน้ำกลับคืนมา ในบางสำนวนเล่าว่า “...ช้างผู้ยิ่งใหญ่ได้ใช้งวง ยื่นลงไปดูดน้ำจากยมโลกกลับขึ้นมา และได้ก็พ่นน้ำขึ้นไป ทำให้เกิดเป็นเมฆบนท้องฟ้า พระอินทร์ทรงใช้วัชระเป็นสายฟ้าบันดาลให้เกิดลมฝนและพายุ น้ำฝนฉ่ำเย็นโปรยปรายลงมาจากนภา เกิดเป็นแม่น้ำหล่อเลี้ยงแผ่นดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับโลก....” 
คติพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จึงหมายถึงเป็นเทพเจ้าผู้พิชิตความแห้งแล้ง เทพเจ้าผู้สร้างเมฆฝนและเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ ส่วนช้างไอราวตตะในยุคโบราณ หมายถึง “ช้าง (ผู้เป็น) เมฆฝน” (Elephant of the clouds) 
ในวรรณกรรมฝ่ายพุทธศาสนากล่าวถึงช้างเอราวัณว่ามี 33 หัว แต่ละเศียรมีงา 7 งา งาแต่ละงายาวถึง 4 ล้านวา งาแต่ละงามีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบ มี 7 เกสร แต่ละเกสรมีปราสาทอยู่ 7 หลัง ปราสาทแต่ละหลังมี 7 ชั้น แต่ละชั้นมี 7 ห้อง แต่ละห้องมี 7 บัลลังก์ แต่ละบัลลังก์มีเทพธิดาสถิต 7 องค์ เทพธิดาแต่ละองค์มีบริวาร องค์ละ 7 นาง เทพธิดาบริวารแต่ละนางมีนางทาสีนางละ 7 ทาสี รวมทั้งนางเทพอัปสรทั้งหมดประมาณ 190,248,432 นาง เทพธิดา บริวารรวมกันทั้งหมดประมาณ 13,331,669,031 นาง  แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสระบัวโบกขรณีที่เป็นสัญลักษณ์ของช้างไอราวตตะ-เอราวัณ วรรณกรรมพุทะศาสนาบางสำนวนเล่าว่า ในยามที่โลกสงบสุข ปราศจากความแห้งแล้งและทุกข์ยาก พระอินทร์เมื่อมีเวลาว่าง ก็จะพาพระมเหสีทรงช้างเอราวัณชมอุทยานสวรรค์ “จิตรลดา” ในท่ามกลางสระบัว (สระโบกขรณี) ที่ชื่อว่า “สุนันทา” บนสวรรค์ดาวดึงส์ (Trāyastriṃśa) 
งานศิลปะสลักรูปช้างเอราวัณเกี่ยวรั้งกอบัวที่มุมรักแร้ซุ้มประตูเมืองนครชยศรี (นครธม) จึงมีความหมายถึงความสงบสุขและความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร อันเกิดขึ้นจากพระมหาโพธิสัตว์ (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ) ที่ปรากฏเป็นรูปสลักส่วนพระพักตร์ขนาดใหญ่อยู่เหนือยอดประตูนั่นเอง
----------------------------
*** งานสลักประดับมุมรักแร้ที่มีความวิจิตรอลังการที่สุด น่าอยู่ที่  “ปราสาทพระถกล” (Preah Thkol) หรือที่เรียกกันว่า “ปราสาทแม่บุญ” (Mebon) ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางบารายใหญ่ ทางตะวันออกของเมืองรูปสี่เหลี่ยม  “ปราสาทพระขรรค์แห่งกำปงสวาย” (Preah Khan Kampog Svay) นครใหญ่ทางตะวันออกในยุคจักรวรรดิบายน
ภาพลายเส้นที่ “หลุยส์ เดอลาพอร์ต” (Louis Delaporte) นักสำรวจและจิตรกรชาวฝรั่งเศส ได้เคยบันทึกในช่วงทศวรรษที่ 2400 ได้แสดงรูปสลักที่ซอกรักแร้ของเรือนธาตุ สลักเป็นรูปช้างไอราวตตะ 3 เศียรดึงกอบัวในท่ามกลางหมู่นางอัปสราและเทพยดาบนสวรรค์ผุดออกจากดอกบัวถวายอัญชลี ด้านบนขึ้นไปทำเป็นครุฑมีแผงขนคอรอบหัวตามแบบศิลปะบายนกำลังยุดนาคเหนือหน้าเกียรติมุขขนาดใหญ่ที่มุมหลักของเรือนธาตุ หัวนาคผุดออกออกด้านข้าง โดยครุฑยกแขนกางปีกแบกชั้นบัวรัดเกล้าที่ด้านบนสลักประดับเป็นรูปหมู่หงส์เหิน
เป็นที่น่าเสียดายว่า รูปสลักอันงดงามที่กำปงสวายได้ถูกปล้นสะดม สกัดหินตัดออกไปขายในช่วงสงครามกลางเมือง คงเหลือความงดงามจากอดีตเพียงไม่มากนัก 
----------------------------
*** ที่ซอกรักแร้ของซุ้มประตูด้านนอกสุดที่ปราสาทตาพรหม ปราสาทบันเตียกะเดย (บันทายกุฎี) ปราสาทบันทายฉมาร์ อันเป็นศาสนสถานราชวิหาระ-ศาสนวิหารในยุคสมัยราชสำนักบายนเดียวกัน ปรากฏงานสลักรูป “ครุฑยุดนาค” (Khrut yut nak - Garuda holding Nāga) ในความหมายของความดีเหนือความชั่ว  ที่ฝ่ายพุทธศาสนามหายานยืมรูปศิลปะมาจากคติฮินดูโดยไม่มีพระวิษณุมาประกอบ โดยสลักเป็นรูปพญาครุฑมีแผงขนรอบหัวแบบศิลปะบายน กางปีกยกแขนที่จับหางนาคชูขึ้น ส่วนกงเล็บพญาครุฑจับตัวนาคตรงส่วนหัวที่แยก (ส่ายเป็น 5 หัว) ออกเป็นสามทาง
เครดิต;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ