วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระศรีอริยเมตไตรย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ศรีอาริยเมตไตรย
“ศรีอาริยเมตไตรย” อนาคตพุทธเจ้า
คติเรื่อง “พระอนาคตพุทธเจ้า”  ทั้งฝ่าย“สถวีรวาท-เถรวาท” (Sthāvirīya -Theravāda)  และฝ่ายมหาสังฆิกะ-มหายาน (Mahāsāṃghika - Mahāyāna) ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ลลิตวิสตระสูตร” (Lalitavistara Sūtra) ของนิกายสรวาสติวาท (Sarvāstivāda) อันเป็นนิกายหนึ่งของสถวีรวาท  ปรากฏครั้งแรกในแคว้นคันธาระ (Gandhara) มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 – 6 เป็นนิกายที่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้ากนิษกะ(Kanishka) แห่งราชวงศ์กุษาณะ (Kuṣāṇa Dynasty) กล่าวถึงเรื่องราวของ “พระมหาโพธิสัตว์” (Bodhisattva)  บนสวรรค์ชั้นดุสิต (Tuṣita) ได้มอบมงกุฎกษัตริย์เพื่อสืบต่อภาระหน้าที่ในอนาคตกาลจากพระมหาโพธิสัตว์องค์ที่จะลงมาตรัสรู้เป็นพระศากยมุนี (Shakyamuni)  เป็นพระมานุษิพุทธเจ้าองค์ที่ 4 บนโลก     
ฝ่ายมหายาน จะเรียกพระพุทธเจ้าอนาคตตามเสียงสันสกฤตว่า “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ  (Bodhisattva Maitreya) ส่วนฝ่ายเถรวาท จะเรียกตามเสียงบาลีว่า  “พระศรีอาริยเมตไตรย” (Phra Sri Ariya Metteyya) โดยทั้งสองนิกายใหญ่ จะมีเรื่องราวของพระอนาคตพุทธเจ้าแตกต่างกันตามความเชื่อและงานศิลปะในแต่ละท้องถิ่น แต่ทั้งสองฝ่ายก็นิยมจะสร้างรูปงานศิลปะเป็น “รูปทรงเครื่องกษัตริย์-สวมมงกุฎ” คล้ายคลึงกันครับ
ตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 พุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงได้รับอิทธิพลจากฝ่ายเถรวาท “ลังกาวงศ์” ผ่านทางนิกายรามัญ   มากขึ้นกว่าฝ่ายมหายานจากอินเดียตะวันตกในราชวงศ์ปาละผ่านทางพุกาม คติพระ พระศรีอาริยเมตไตรยหรือ “พระศรีอาริย์” ในความหมายของพระโพธิสัตว์ที่กำลังบำเพ็ญสมาธิประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต ที่จะลงมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัปป์-กัลป์ (Bhadda-Kalpa) ที่เคยมีอดีตพระเจ้า พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า มีพระสมณโคดมพุทธเจ้า (Samaná Gautama) เป็นพระพุทธเจ้าปัจจุบันในช่วง 5,000 ปี และพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้าจึงจะเสด็จลงมาจุติ 
ยังปรากฏความเชื่อว่า พระสรีระสังขารของพระกัสสปพุทธเจ้านั้นยังคงไม่ได้มีการถวายพระเพลิง คงอยู่ในถ้ำบนเขา “กุกกุฏสัมปาตบรรพต” หรือเขา “คุรุบาท” (Gurupada) ใกล้กับกรุงราชคฤห์  ตามบันทึกของ “หลวงจีนฟาเหี้ยน” (Faxian ,Fa-Hien) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 (บ้างก็ว่าถ้ำนี้อยู่ที่เชียงตุง บ้างก็ว่าอยู่ที่เขาในเมืองโมนยั้ว – มั๊วะย่องมิ้วในเขตมัณฑะเลย์)   เพื่อรอพระศรีอริยเมตไตรยที่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว  ยกพระสรีระสังขารวางบนพระหัตถ์ขวา ประกาศสรรเสริญแล้วเกิดเป็นพระเพลิงลุกโพลงขึ้นเอง เผาสรีระบนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตรพุทธเจ้า 
คติการถวายเครื่องประดับของกษัตริย์ แก่รูปพุทธปฏิมาพระศรีอาริยเมตไตรย และการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง ตามพระราชประสงค์ของพุทธกษัตริย์ที่ต้องการไปจุติเป็นพระศรีอาริย์ในอนาคต อาจเริ่มต้นจากฝ่ายลังกา ดังปรากฏความในคัมภีร์จุลวงศ์ (Calavamsa) มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 
อิทธิพลจากพุทธศาสนาในลังกา เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างงานพุทธศิลป์ “พระพุทะรูปทรงเครื่องกษัตริย์” เพื่อเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของกษัตริย์ ที่มีพระราชประสงค์หลังการสวรรคตต้องการไปจุติเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคต ได้รับความนิยมในหลายรัฐที่ราชสำนักนิยมในคติเถรวาท มาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19    
-------------------------------
*** พระพุทธรูปทรงเครื่อง หน้าตักกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 1.53 เมตร พบจากเมืองเก่าสุโขทัย จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำริดประทับขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ สวมศิราภรณ์ทรงเทริดยอดชัย (เดินหน)  มีรัดเกล้าทรงกรวยชิ้นเล็กประกอบอยู่ด้านข้างแบบกรัณฑมงกุฎ ทัดด้วยครีบข้าง (หูเทริด) ปลายแหลมคั่นหน้าพระกรรณ (หู)  พระพักตร์รูปไข่ตามแบบศิลปะอยุธยา สวมกรองศอคาดเป็นแถบใหญ่ ทิ้งสังวาลประดับ 1 คู่ และสายห้อยตาบทับทรวงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดปลายงอน สวมพาหุรัดทองข้อพระกรและข้อพระบาท นุ่งพระภูษาสมพต 2 ชั้น  ตามแบบ “ทรงเครื่องใหญ่” ของกษัตริย์หรือพระจักรพรรดิราชา ตามคติ “พระศรีอาริยเมตไตรย” ที่ยังไม่มีการห่มจีวรคลุมดอง จึงเป็นศิลปะแบบอยุธยาผสมผสานลายเส้นลวดถัก-ดอกไม้แบบล้านนาและจีน ที่นิยมในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 
เครดิต;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ