วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระประโทณเจดีย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

“พระประโทณเจดีย์” พระมหาธาตุกลางเมือง องค์แรกของประเทศไทย
เมืองนครชยศรี หรือเมืองโบราณนครปฐม (ในจารึกปราสาทพระขรรค์ อาจหมายถึงชื่อนามของเมือง "ศรีชยปุรี" - Śrí Jayapurí) เป็นเมืองรูปวงกลมสูงจากระดับแนวชายฝั่งน้ำหลาก – ทะเลตม ในยุคโบราณประมาณ 3 - 4 เมตร มีร่องรอยของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินมาจนถึงยุคเหล็ก ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตามแนวลำน้ำ-แม่น้ำ ที่ติดต่อออกไปสู่ชายฝั่งทะเล มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 5 
จนเมื่อชาวอินเดียจากแคว้นต่าง ๆ ในชมพูทวีป หลากหลายผู้คน ความเชื่อและสาขาอาชีพ ต่างเดินทางเข้ามาแสวงหาทรัพยากรและเสี่ยงโชคในโลกใหม่ นำเอาวัฒนธรรม คติความเชื่อ เทคโนโลยี ศิลปะ ผสมกันระหว่างเผ่าพันธุ์ ทำให้เกิดกลุ่มคนลูกผสมใน Generations ใหม่เข้าครอบครองดินแดน "สุวรรณภูมิ" เกิดเป็นชุมชนแบบบ้านใหญ่ของเหล่า “โคตรตระกูล” เดียวกัน มีสัญลักษณ์ประจำตระกูลและผู้นำไปตามชุมชน กระจายตัวลึกเข้ามาในภาคพื้นทวีปตามลำน้ำ จนตั้งถิ่นฐานรวมตัวกันเป็นเมืองเริ่มแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 9-10
ถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 จึงเกิดการขุดคูน้ำและสร้างแนวคันดินขึ้นเป็นคันเมืองรูปวงกลมเป็นครั้งแรก เพื่อการชลประทานหรือการควบคุมน้ำในการเกษตรกรรม และการปกป้องชุมชนจากผู้คนที่แตกต่างกัน มีการสถาปนาพระสถูปมหาธาตุขึ้นกลางเมืองศูนย์กลางของรัฐเริ่มแรก ครั้งแรกในแผ่นดินสุวรรณภูมิ
พระประโทณเจดีย์และพระประธม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏภาพในแผนที่โบราณ  “สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6” ที่มีภาพของพระปรางค์สองแห่งในเขตเมืองนครชัยศรี (ไชศรี) เขียนว่า “ปทม” (พระปฐมเจดีย์) และ “ปโทน” (พระประโทณเจดีย์) เขียนกำกับว่า “ปโทน เมื่อสาสนาได้ 1199 ปี”
ฐานล่างของพระปรางค์ด้านบน และใบเสมาหินทรายแดงแบบสุพรรณภูมิ อาจได้แสดงว่า ในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ได้มีการสร้างพระเจดีย์ 8 เหลี่ยม ตามสถาปัตยกรรมแบบรัฐสุพรรณภูมิขึ้นบนยอดเนินร้างของตัวองค์สถูปเดิมที่พังทลาย ต่อมาในช่วงอยุธยาตอนปลาย ยังได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างพระปรางค์เข้าแทนที่องค์ระฆังที่อาจพังทลายลงมา โดยยังคงใช้ฐาน 8 เหลี่ยมของพระเจดีย์จากยุคสุพรรณภูมิอยู่
---------------------------------------
“พระประโทณเจดีย์” เป็นสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพระปฐมเจดีย์ (ก่อนมีสร้างเจดีย์ทรงระฆังใหญ่ครอบทับในช่วงรัชกาลที่ 4 ) มีฐานแผนผังรูปจัตุรัส กว้างยาวประมาณ 40 * 40 เมตร ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองโบราณรูปวงกลม ตามคติความเชื่อเรื่องพระมหาธาตุกลางนครของนิกายเถรวาท (Theravāda) หรือ “คณะมหาวิหาร” (Maha-vihāra) เมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) จากลังกา ที่สัมพันธ์กับนิกายสถวีรวาท -หินยาน (Sthāvirīya - Hīnayāna) ที่นิยมในแคว้นอานธระ–อมราวดี สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ในยุค “ภารตะภิวัฒน์”  (Indianization) ของวัฒนธรรมทวารวดี
ตำนานเล่ากันว่า  พระประโทณเจดีย์ เป็นที่อยู่ของพราหมณ์ตระกูลหนึ่งเรียกว่า "โทณะพราหมณ์" ที่เดินทางมาจากชมพูทวีป นำ "ทะนานทอง" ที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุติดตัวมาด้วย โทณะพราหมณ์ได้สร้างเรือนหินเพื่อเป็นที่เก็บรักษาทะนานทอง และสร้างพระประโทณเจดีย์ขึ้นเก็บรักษาทะนานทองเอาไว้ ซึ่งตำนานเล่าว่า บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระสถูป กว่า 1,000 พระองค์ (ยังมีเรือนหินอีกแห่งหนึ่ง เป็นโบราณสถานที่มีซากกองอิฐปรักหักพังเป็นเนินดินสูง สมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้สร้างตำหนักสวนราชฤดี ใกล้พระประโทณเจดีย์ จึงได้รื้อทำลายสถูปอีกองค์หนึ่งเพื่อนำอิฐและปูนมาถมทำถนนที่ตัดจากนครปฐมไปสู่ตำหนักวัดพระประโทณ)
ในนิทานพระยากง-พระยาพานเล่าว่า พระยาพานเป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์เพื่อล้างบาปที่ฆ่าพ่อ และสร้างพระประโทณเจดีย์ขึ้น เพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม ผู้เลี้ยงตนมาตั้งแต่เป็นทารก 
พระประโทณเจดีย์ มีสภาพเป็นเนินดินทับถมรกร้างมานานนับพันปี ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มาถึงล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงได้มีการรื้อฟื้นวัดพระประโทณเจดีย์ขึ้นใหม่ ได้ขุดพบโบราณวัตถุในสมัยทราวดีเป็นจำนวนมากรอบ ๆ พื้นที่ เช่น พระพุทธรูป เบ้าหลอมเครื่องประดับ รูปปูนปั้น ศีรษะบุคคล หัวยักษ์ หัวสัตว์ เศียรพระพุทธรูป ฯลฯ โบราณวัตถุเหล่านี้บางส่วนได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
พระครูสมถกิติคุณ (ชุ่ม) เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ได้สร้างเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่งด้านหน้าเขตสังฆาวาส โดยนำโบราณวัตถุ ศิวลึงค์ พระพุทธรูป ศีรษะปูนปั้น เศียรพระ ลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ ใบเสมาอยุธยาและวัตถุโบราณที่ขุดได้โดยรอบวัดพระประโทณเจดีย์มาฝังผนังปูนซีเมนต์ไว้ อีกทั้งยังมีถ้วยชามสังคโลกติดผนังเจดีย์ไว้ด้านใน
.
พระปรางค์ด้านบน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระราชเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน โดยเสริมฐานของพระปรางค์ขึ้นใหม่ ทำทางขึ้นและเทปูนฉาบผนังและทำระเบียงขึ้นด้านบน รวมทั้งทำผนังด้านฐาน รื้ออิฐและเศษปูนมาถม เทปูนทำเขื่อนเป็นฐานประทักษิณขึ้นใหม่โดยรอบเนินดินพระเจดีย์โบราณครับ
.
จนปี พ.ศ. 2550 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เนินดินพระประโทณเจดีย์ ซึ่งภายหลังการขุดแต่งเนินดินทับถมออกทั้งหมด จึงรู้ว่าภายในของเนินดินพระประโทณเจดีย์โบราณนั้น เป็นฐานเจดีย์ยกเก็จ 8 กะเปาะ ทำบันไดขึ้นตรงเก็จกลางที่ยกขึ้นสูงกลางเก็จมุมทั้ง 4 ด้าน มีชุดฐาน “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” 2 ชั้น มี “บัววลัย” (Bua Valai) และขื่อปลอมคั่นเป็นองค์ประกอบ ตามรูปแบบของสถูปเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเหนือ
.
---------------------------------
***  พระประโทนเจดีย์โบราณมีฐานขนาดใหญ่ จัดชุดลวดลายของชั้นฐานโดยใช้ผนังหน้ากระดานสลับเสาอิง (กว้าง) ต่อกันสองชุด เพื่อทำให้เป็นผนังสูงแบบเดียวกับที่วิหารวัดโขลง เมืองโบราณคูบัว ชั้นฐานล่างเป็น ฐานเขียงเป็นผนังสูง เรียกว่า “ชคตี” (Jagatī) รองรับฐานเส้นลวดเหลี่ยม “อุปานะ” (Upāna) ที่ไม่มีการ ฐานยกเก็จชั้นล่าง ประกอบด้วยลวดบัวคว่ำคล้ายบัววลัย (กุมุท) ขนาดใหญ่ รองรับผนังหน้ากระดานที่มีผนังเจาะเป็นช่องตื้น ๆ และเสาที่มีความกว้างสลับกัน เหนือขึ้นไปทำเป็นชุดลวดบัวท้องไม้ที่มีการเจาะสลับช่องคล้ายขื่อปลอม ทำหน้าที่คล้าย "บัวเชิง" ซ้อนด้วยลายหน้ากระดานชั้นบน (ปัฏฏะ) ที่มีความสูงน้อยกว่าหน้ากระดานชั้นล่าง มีเสากว้างรองรับคานปลอมด้านบน จบด้วยลวดเหลี่ยมอุปานะครับ
.
ชุดลวดลายของฐานยกเก็จชั้นที่สอง ชั้นล่างเป็นลวดบัววลัย รองรับท้องไม้ที่เจาะช่องแบบชื่อปลอม ขึ้นไปเป็นชั้นหน้ากระดานสูง ประดับเสากว้างแบ่งเป็นช่อง ชั้นบนสุดของชุดทำเป็นหน้ากระดานท้องไม้ที่เจาะเป็นช่องคล้ายขื่อปลอม จบด้วยลวดเหลี่ยมอุปานะ
.
ส่วนฐานชั้นที่สาม ส่วนล่างยังคงทำเป็นฐานบัววลัยที่มีลวดบัวหน้ากระดานท้องไม้เจาะเป็นช่องแบบขื่อปลอม รองรับผนังของอาคารยกเก็จที่มีการประดับเสาอิงติดผนังขนาดใหญ่ ระหว่างเสาทำเป็นซุ้มอาคารปราสาทจำลอง 3 ชุดในแต่ละด้าน มีหน้าบัญชร-กูฑุซ้อนชั้นหลากหลายขนาดประดับอยู่ครับ
.
ชั้นเหนือขึ้นไป น่าจะสิ้นสุดเป็นเนินโอคว่ำโค้งใหญ่ ที่เรียกว่าอัณฑะ (Anda)  มีแท่นบัลลังก์ขนาดใหญ่ปักด้วยหม้อน้ำและฉัตรวลีตามแบบพระประธม หรืออาจก่ออิฐ ทำปล้องไฉนและฉัตร แบบหม้อน้ำซ้อนชั้นสอบไล่ลำดับขึ้นไปจนถึงยอดเม็ดน้ำค้างกลมหรือบัวตูมที่ด้านบนสุด
*** เมื่อนั่งรถผ่านไปตามเส้นทางเพชรเกษม ก่อนสะพานโค้งเข้าตัวเมืองนครปฐมเล็กน้อย ทางขวามือคือ “พระประโทณเจดีย์" สถูปทวารวดีที่สร้างขึ้นตามคติ “พระมหาธาตุกลางนคร” องค์แรกของดินแดนแถบนี้ ที่อาจนับได้ว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
เครดิต; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น