“กวนเกษียรสมุทร” แห่งปราสาทเขาพระวิหาร
....ภายหลังจากที่เหล่าเทพเจ้าโดนคำสาปให้อ่อนแอ โดยพระ “ฤๅษีทรุวาส” (Sage Durvasa) เจ้าอารมณ์ จนไร้ทางต่อสู้กับพวกอสูร จึงเกิดเป็นเรื่องราวปกรณัม ตอน “การกวนเกษียรสมุทร” (The churning of the Ocean of Milk) และ “กูรมาวตาร” (Kurma Avatar) ที่เหล่าเทพเจ้าและอสูร ต่างร่วมมือกันกวนน้ำยาอายุวัฒนะ หรือ”น้ำอมฤต” โดยใช้แกนของโลกมนุษย์ เขา “มัทรคีรี” (Mandaragiri) 1 ใน 4 มหาคีรีที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ มาใช้เป็นไม้กวน “พญานาควาสุกรี” สายนาคสังวาลแห่งองค์พระศิวะ ถูกนำมาใช้เป็นเชือกพันรอบคล้องเขามัทรคีรี เพื่อใช้ยุดฉุดทั้งสองฝั่ง...
...การกวนเกษียรสมุทรสะเทือนเลื่อนลั่น เหล่าสิ่งมีชีวิตในทะเลน้ำนม ถูกแรงกระแทกจนร่างแหลกสลาย เขามันทรคีรีทำท่าจะทะลุพื้นเกษียรสมุทรลงไปสร้างความพินาศแก่โลกมนุษย์ องค์พระวิษณุประธานแห่งทวยเทพจึงได้อวตารเป็นเต่ายักษ์นามว่า “กูรมะ” เอากระดองหลังเข้ารองรับแรงกระแทกเสียดสีของเขามัทรคีรี ที่ปลายเสาใต้ทะเล มิให้ทะลุลงไปยังโลก...
....ฝ่ายอสูรยุดนาคทางด้านเศียร ส่วนฝ่ายเทวดานั้นยุคนาคทางด้านหาง ยุดฉุดสลับกันเป็นเวลานานนับพันปี ก่อนที่น้ำทะเลที่ผสมด้วยพืชพันธุ์สมุนไพรจะเริ่มเหือดแห้ง ภายหลังการเคี่ยวกวนน้ำอมฤตกันมายาวนานจนเกือบกลายเป็นตังเม จึงบังเกิด “สิ่งมงคลอันเป็นอัศจรรย์” ในระหว่างการเคี่ยวยาอมฤตให้เข้มข้น เคี่ยวกันจนเกล็ดทองของพญาวาสุกรีถลอกปอกเปิก....
....สิ่งมงคลอย่างแรกที่บังเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร คือ “แม่โคกามเธนุ” หรือ “โคสุรภี” (ผู้บันดาลทุกอย่างตามที่ปรารถนา) ติดนมเนยพร้อมเครื่องหอมขึ้นมาด้วยอย่างมากมาย ในความหมายของความอุดมสมบูรณ์ พระฤๅษีกัศยปะเทพนำแม่โคไป แล้วจัดส่งลูกวัวตัวผู้นามว่านนทิ กลับมาถวายแก่พระศิวะเทพ...
...ถัดมาเป็น ม้าแก้วแปดหัวนาม “อุไฉศะรพ” พระสูริยะได้นำม้าไปใช้เทียมราชรถ บางปุราณะว่าพระอินทราเทพยกให้ท้าวพาลี หัวหน้าเหล่าอสูร อันดับสาม คือ “ช้างเอราวัณ” ช้างสามเศียรสีขาว มีงาสี่กิ่ง องค์อินทราเทพเอาไปใช้เป็นพาหนะ อันดับสี่คือแก้ว “มณีแก้วเกษฏุก-เกาสตุภะ” (อธิษฐานอะไรก็ได้) พระวิษณุนำไปเป็นเครื่องประดับ อันดับห้าคือ “ต้นปาริชาติ” พฤกษาชาติที่มีกลิ่นหอมลึกถึงวิญญาณ ที่ว่าบุคคลใดได้กลิ่นก็จะหลงในห้วยมหรรณพจนถึงขั้นระลึกชาติได้...
...อันดับหก คือ “นางอัปสรสุดา” จำนวน 60 โกฏิ นางสุรางคณาผู้บำเรอเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ โฉมงามผู้เย้ายวนที่ผุดขึ้นมามากมายจากฟองคลื่นอมฤต
อันดับเจ็ด คือ “เสี้ยวจันทรา” ที่องค์ศิวะมหาเทพคว้าไปปักที่มวยพระเกศา ...
....อันดับแปด “เทวีลักษมีถือดอกปทุมา ประทับในดอกบัวหลวง” เมื่อดอกบัวหลวงเปิดออก เกิดเป็นเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าดังกึกก้อง “อรรธมาตังค์” หรือเหล่าคชสารแห่งนภากาศ ต่างพากันเทน้ำบริสุทธิ์จากหม้อทองคำชำระพระวรกายให้กับพระนางที่ยังมีเรือนร่างเปลือยเปล่า พระวิษณุนำผ้าอาภรณ์มาคลุมกายให้ เหล่าทวยเทพและอสูรต่างหวังแย่งชิงจะได้ครอบครองนางเป็นชายา แต่องค์พรหมเทพผู้อาวุโสได้ขอให้นางตัดสินใจเลือกเอง พระลักษมีไม่ได้แลมองใครเลย ทรงเลือกถวายดอกบัวคู่ในพระหัตถ์แด่องค์วิษณุเทพ ก้มกราบพระบาทขอเป็นพระชายาในทันที ("ปดิวรัดา" นางผู้รักและมั่นคงในสามี)....
อันดับที่เก้า คือ “วารุณี” เทวีแห่งสุรา ธิดาแห่งพระวรุณ ด้วยเพราะนางไม่ได้ลอยขึ้นมาตัวเปล่า แต่ในมือของนางถือคนโทเหล้าน้ำหมักไร้สีดั่งวอสก้าขึ้นมาด้วย ผู้ที่ได้เคยลิ้มลองอย่างเช่นเหล่าอสูรจะไม่ให้ความสนใจในตัวนาง เพราะเทวีวารุณีคือต้นเหตุที่ทำให้เหล่าอสูรซึ่งอดีตเคยเป็นเทวดาบนสรวงสวรรค์ ถูกหลอกให้ดื่มเมรัยจนเมามาย แล้วถูกอินทราเทพขับไล่ลงจากมา เทพผู้พ่ายแพ้ต่างพากันสาบานตนว่าจะไม่แตะต้องน้ำเมาใด ๆ อีกเลย เพราะเป็นต้นเหตุให้พวกอสูรเมาหัวราน้ำ จนรบแพ้ ถูกขับตกจากสวรรค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “อสุรา” หรือ “อสูร” (ที่แปลว่างดเหล้าแม้ไม่ใช่วันเข้าพรรษา)
...อันดับสิบคือ “ปัญจชันยสังข์” สังข์แห่งชัยชนะ พระวิษณุดอยไป อันดับสิบเอ็ด “หริธนู” หรือธนูที่ยิงไปไม่มีวันพลาดเป้า ว่ากันว่า พระหริ (วิษณุ – นารายณ์) ก็ดอยไปอีก
...อันดับสิบสอง ปรากฏเป็นอัปสรานามว่า “รัมภา” เป็นนางอัปสรไทวิกะที่มีความงดงามที่สุดในจักรวาล
...อันดับสิบสาม ก่อนที่จะเกิดน้ำอมฤต เกิดฟองพิษ “พิษหลาหล” หรือ “กาลกุต” กระจายตัวไปทั่วมหาสมุทร เป็นพิษที่เกิดจากสมุนไพรพิษและพิษของนาควาสุกรีที่พ่นออกมาออกมาอย่างลืมตัวเพราะความเจ็บปวด (ก็แน่ละสิ เอาลำตัวเป็นเชือกไปพันรอบไม้เคี่ยวอย่างเขามันทรคีรี) เหล่าเทพเจ้าและอสูรไม่อยากเข้าใกล้ พระศิวะเห็นว่าหากพิษร้ายได้ตกลงมายังโลก ก็จะเกิดเป็นเพลิงกาฬทำลายมนุษย์และโลก จึงดื่มพิษหลาหลเสียเอง เทวีปารวตีชายาของพระศิวะเกรงว่าพระสวามีจะเกิดเป็นอันตราย จึงบีบพระศอของพระศิวะไว้ไม่ให้พิษล่วงพ้นลงไปภายใน แต่ด้วยความร้อนแรงแห่งพิษทำให้พระศอของพระองค์กลายเป็นสีน้ำเงินเข้ม ด้วยเหตุนี้ องค์ศิวะมหาเทพจึงมีอีกสองพระนาม คือ “วิษกัณฐ์” หมายถึง ผู้มีพิษอยู่ที่คอ และ “นิลกัณฐ์” ....ที่มีความหมายถึง ผู้มีคอสีน้ำเงิน (จากเทพปกรณัมนี้ จึงมีการเปรียบความรักว่า สีแห่งความรักที่แท้จริง คือสีน้ำเงินดำหรือสีดำบนพระศอของศิวะมหาเทพ ผู้เสียสละด้วยความรักอันยิ่งใหญ่แก่จักรวาล)
....ในระหว่างการบีบพระศอ ก็มีพิษบางส่วนกระเซ็น กระเด็นลงสู่โลกมนุษย์ สัตว์และพืชที่โดนหรือตั้งใจดื่มพิษนั้น ก็จะกลายเป็นสัตว์และพืชที่มีพิษร้ายในโลก ท้ายสุดจึงได้บังเกิดเป็นองค์ “ธันวันตริ” (Dhanvantari) มหาแพทย์แห่งสรวงสวรรค์ ทูน "หม้อน้ำอมฤต (Amarita)" ผุดขึ้นมาจากมหาสมุทร....
----------------------------
ที่หน้าบันซุ้มประตูชั้นนอกของมุขด้านทิศใต้ โคปุระชั้นที่ 3 ปราสาทเขาพระวิหาร มีภาพสลักเรื่องราวปกรณัมในตอนกวนเกษียรสมุทร แบบภาพสมมาตร มีเขามัทรคีรีในรูปแบบของแท่งเสาแบ่งตรงกลางภาพ พระวิษณุ 4 กร ประคองแท่งเสา มีพญานาควาสุกรีใช้ตัวพันเสา อสูรยุดอยู่ด้านขวา 3 ตน เทพเจ้ายุดอยู่ทางด้านซ้ายของภาพ 3 องค์ ปลายเสาด้านล่างเป็นรูปเต่า มีหม้ออมลกะอยู่บนหลังกระดอง ปรากฏรูปม้าอุจไฉศะรพ และรูปบุคคลชายในท่าชันเข่า ที่หมายถึงเทวแพทย์ "ธันวันตระรี" ผู้ทูนหม้ออมฤต ที่ด้านข้าง
ด้านล่างขวามือของภาพ เป็นภาพของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านซ้ายของภาพ เป็นภาพพญาครุฑ โดยมี นาง "ปุณิฑาวาธียาร์” (Punithavathiyar) หรือ “กาไลการ์ อัมไมยาร์” (Kāraikkāl Ammaiyār -Karaikkal Ammaiyar) สาวกหญิงแห่งองค์พระศิวะที่มีร่างกายผอมแห้ง ตรงมุมของกรอบภาพ
ถัดขึ้นไปด้านบน ส่วนกลางของภาพสลักเป็นรูปของ “สัปตฤๅษี” (Saptarishis) มหาฤๅษีทั้ง 7 ผู้เป็นใหญ่ในคติไศวะนิกาย ที่ประกอบด้วย กัศยปะ(Kashap) อตริ (Atri) วศิษฐ์ (Vashistha) เกาตมะ (Gautam) อังคีรส (Angiras) ภรัทวาช (Bhardwaja) และวิศวามิตรฤๅษี (Vishwamitra) สวดภาวนาพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างการกวนเกษียรสมุทร
ด้านบนของกรอบภาพเป็นภาพบุคคลในกรอบวงกลม ได้แก่พระอาทิตย์และพระจันทรา เป็นพยานของความยาวนานที่เป็นนิรันดร์ “ตราบเท่าที่สูริยันและจันทรายังคงปรากฏอยู่” และภาพของพระพรหมสี่พักตร์ ผู้เป็นประธานแห่งพิธีบนยอดเสาเขามัทรคีรี
Credit ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น