หลวงพ่อดำ วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง มีเขตตอนเหนือติดกับจังหวัดลพบุรีและอ่างทอง ด้านตะวันออกติดกับจังหวัดสระบุรี ด้านใต้จรดจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม ส่วนทางตะวันตกจรดจังหวัดสุพรรณบุรี เคยมีชื่อเสียงในฐานะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ชาวบ้านโดยทั่วไปนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "กรุงเก่า" หรือ "เมืองกรุงเก่า" สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ พระราชวังและวัดต่างๆ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มีวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง นาม "วัดพุทไธศวรรย์" เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง
วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของพระมหาราชวังโบราณสถานประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ใน ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นในบริเวณท้องพระโรงของตำหนักเวียงเหล็ก สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง โปรดฯให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1896 มีอาณาเขตพื้นที่ 46 ไร่ 2 งาน 46 ตารางวา เพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ มาตั้งพระนครอยู่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นอนุสรณ์ความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ปัจจุบันยังมีโบราณสถานเหลืออยู่ เช่น พระปรางค์องค์ใหญ่ วิหารครอบพระปรางค์ และตำหนักสมเด็จพระโฆษาจารย์ ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ยอดพระปรางค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2441 มีชาวอยุธยาร่วมบริจาคเงินซ่อมแซมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันที่บริเวณหน้าศาลาการเปรียญของวัดได้มีการจัดสร้าง รูปหล่อของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ ที่มีประวัติความเป็นมาในการกอบกู้เอกราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความผูกพันกับวัดพุทไธศวรรย์ทั้งสิ้น
วัดพุทไธศวรรย์ ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรงครองราชย์ ครบ 60 ปี ปัจจุบันมีพระครูภัทรกิจโสภณ หรือหลวงพ่อหวล พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของพระนครศรีอยุธยา ด้านอยู่ยงคงกระพัน เจ้าตำรับเหล็กไหล เป็นเจ้าอาวาส วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนนิยมนำวัตถุมงคลมาทำพิธีปลุกเสกบ่อยครั้ง จนมีชื่อเสียงไปทั้งประเทศ ใกล้กับพระวิหารด้านขวายังเป็นที่ประดิษฐานของ องค์พ่อจตุคามรามเทพ ขนาดใหญ่ที่ประชาชนจากทั่วสารทิศศรัทธาไปกราบไหว้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพุทไธศวรรย์ เป็นโบราณสถานได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478
ประวัติหลวงพ่อดำ วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดพุทไธศวรรย์ ยังเป็นที่ประดิษฐานของ "หลวงพ่อดำ" เป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ "หลวงพ่อดำ" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ลักษณะปูนปั้นทาด้วยสีดำ พระพักตร์รูปไข่ เป็นศิลปะอู่ทอง หรืออยุธยาตอนต้น เชื่อว่าสร้างควบคู่มาพร้อมกับการสร้างพระอุโบสถ ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า "หลวงพ่อดำ" ด้วยการสร้างในสมัยก่อน นิยมลงรักด้วยสีดำทั้งองค์ โดยไม่มีการนำสีทองมาทาจนนานมาก เมื่อชาวบ้านเข้าไปสักการบูชา ชาวบ้านเลยเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อดำ มีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ใครเจ็บป่วยไข้ เมื่อผ่านมาที่วัดแห่งนี้จะขึ้นไปสักการะหลวงพ่อดำ เพื่อขอให้หายเจ็บป่วย และทุกคนที่ไปบอกกล่าวจะหายเจ็บหายไข้ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมมาขอพรหลวงพ่อดำให้ช่วยดลบันดาลให้คนที่อยากจะมีบุตรได้มีบุตรสมความปรารถนา ซึ่งส่วนมากจะประสบผลสำเร็จ ทำให้เป็นที่กล่าวขวัญกันเรื่อยมาจนถึงในปัจจุบัน วัดแห่งนี้ตามประวัติศาสตร์ยังเป็นสถานที่ฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร ก่อนจะออกศึกสงคราม ในปัจจุบันเป็นสำนักดาบวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งคนโบราณมักจะพูดกันว่าสถานที่แห่งนี้หรือดินแดนแห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวกับทางด้านอยู่ยงคงกระพัน ส่วนสิ่งของที่นิยมนำไปสักการบูชาหลวงพ่อดำ จะเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมสีสันสวยงาม เช่น ดอกมะลิ ดอกจำปี เป็นต้น
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564
หลวงพ่อดำวัดพุทไธศวรรย์
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น