วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

กลองมโหระทึก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

เรื่องเล่าคติชน บนหน้ากลอง "มโหระทึก"
…นิทานเก่าแก่ของชาวจ้วง ในมณฑลกว่างซีจ้วง เล่าต่อกันมาว่า “...เมื่อนานมาแล้ว ปู่รู้ทั่ว (ลูกหลานที่เกิดจาก “แม่ลูกสือ”ผู้สร้างโลก) ได้ช่วยสั่งสอนให้มนุษย์อยู่อย่างสงบสุข จนเจริญรุ่งเรือง มีสุขภาพแข็งแรง แต่ก็ขยายเผ่าพันธุ์มากจนเกิดการขาดแคลนอาหาร…
…“ตัวฟ้า” (จ้าวฟ้าผ่า – พญาแถน) พี่คนโตของปู่รู้ทั่วที่หนีไปครองฟ้า สั่งผู้คนบนโลกว่าให้เอาเนื้อของคนที่แก่ คนที่เจ็บป่วยอ่อนแอและคนที่ตายแล้วมาแบ่งกันกิน ผู้คนเกรงกลัวอำนาจตัวฟ้าต่างกินเนื้อคนด้วยกันมานานแล้ว…
….ครั้งหนึ่งเด็กน้อยชื่อ “เท่ออี” ฝืนคำสั่งของตัวฟ้า เอาเนื้อม้ามาแจกจ่ายให้ผู้อื่นกินแทนเนื้อตากแห้งของแม่ ตัวฟ้าโกรธมากและจะลงโทษเขา เท่ออีรีบไปขอคำปรึกษาจากปู่รู้ทั่ว ปู่รู้ทั่วรู้ว่าตัวฟ้ามีกลองมโหระทึก ที่มีอำนาจทำให้ฟ้าผ่าคนตาย จึงแนะนำให้เท่ออีเอาหนังม้ามาขึงเป็นหน้ากลอง แล้วชวนพี่น้องช่วยผลัดกันตีกลองสู้…
….เมื่อตัวฟ้าตีกลองมโหระทึกเพื่อให้เกิดฟ้าผ่าลงโทษเท่ออี แต่กลับมีเสียงกลองหนังม้าดังกลบขึ้นมา จึงตกใจ สั่งให้ตัว “กบ” ผู้เป็นบุตร ลงไปสืบความ ซึ่งฝ่ายปู่รู้ทั่วกับเท่ออีก็รู้อยู่ว่าตัวฟ้าจะส่งตัวกบลงมา จึงชวนพี่น้องช่วยกันจับกบเอาไว้ และข่มขู่กบให้บอกถึงรูปร่างของกลองมโหระทึกอันทรงอำนาจของตัวฟ้า ไม่เช่นนั้นก็จะทำลาบกบกิน กบจึงรีบเล่าลักษณะของกลองว่า…
…“กลองของแถนฟ้านั้นทำจากสำริด แต่ละทิศบนหน้ากลองจะมีรูปของพวกข้า (ตัวกบ) อยู่ตามมุม เมื่อตีแล้วจะมีเสียงกังวานมาก ให้ทั้งคุณคือน้ำฝน ให้ทั้งโทษคือฟ้าผ่า”…
….ฝ่ายมนุษย์จึงรีบหล่อกลองมโหระทึกขึ้นตามแบบที่ตัวกบ บุตรแห่งจ้าวฟ้าเล่า แล้วตีกลองสนั่นไปทั่วแผ่นดิน เสียงกลองดังสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วปฐพี ก้องไปทั่วแดนฟ้า ทำเอาเหล่าเมฆพากันสั่นกลัว หน้าตาหมองคล้ำร้องไห้ น้ำตาไหลลงมาจากฟ้า กลายมาเป็น “ฝน” อันชุ่มช่ำ…
….เมื่อตัวฟ้า (แถน) พ่ายแพ้ศึกตีกลองมโหระทึกแก่มนุษย์ ผู้คนจึงเลิกกินเนื้อคนด้วยกันเอง แล้วหันมากินเนื้อสัตว์และพืชผัก ซึ่งกลายมาเป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์เป็นครั้งแรก….
….แต่ตัวฟ้าก็ยังกังวลใจ จึงขอให้ตัวเงือก (เจ้าน้ำ) และตัวเสือ (เจ้าป่า) ไปขโมยกลองมโหระทึกมาจากมนุษย์ แต่ก็ทำการไม่สำเร็จ เพราะมโหระทึกส่งเสียงขับไล่ จนตัวเงือกและตัวเสือหนีหายไป….
… ส่วน “ตัวกบ” ลูกแถน (ตัวฟ้า) เมื่อผู้คนให้ความเคารพบูชา ทั้ง ปู่รู้ทั่ว ตัวฟ้า ตัวเงือกและตัวเสือ สืบต่อเนื่องกันมาอย่าสม่ำเสมอ จึงลงจากแดนแถนสวรรค์มาอยู่ร่วมกับมนุษย์ เพื่อมาบันดาลความอุดมสมบูรณ์ คอยเตือนเวลาของฟ้าฝนและช่วงเวลาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กับมนุษย์...”
---------------------------------
*** ชาวจ้วงในปัจจุบัน ยังต้องเอาโซ่ล่ามกลองมโหระทึกของตนเอาไว้ เพื่อมิให้ส่งเสียงข่มขู่ตัวเงือกและตัวเสือ เพราะเชื่อกันว่า กลองมโหระทึกยังคงโกรธตัวเสือและตัวเงือกอยู่ และในหลายชุมชนของตระกูลไท – ลาว ยังคงมีการเอากลองมโหระทึกฝังดินไว้ ไม่ให้ออกอาละวาดตัวเงือกและตัวเสือจนทำให้ฟ้าฝนตกเป็นพายุปั่นป่วน เมื่อจะทำพิธีกรรมเซ่นไหว้บูชาประจำปีจึงค่อยขุดขึ้นมาใช้งาน
*** สัญลักษณ์สำคัญหนึ่งบนหน้ากลองมโหระทึกโบราณ จะนิยมใส่รูปลักษณ์ของ “ตัวกบ-กบ” เอาไว้บริเวณริมขอบของหน้ากลอง มีความหมายถึง “ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณจากฟ้าฝน” (Plentiful) หรือพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (Fertility Ritual) ในการดำรงอยู่ของชีวิต สังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ สอดคล้องกับนิทานเก่าแก่ ที่ยกให้ “กบ” เป็นตัวแทนของการเริ่มต้นฤดูฝน ช่วงเวลาและสัญลักษณ์เริ่มต้นของการเพาะปลูก
รูปลักษณ์ของกบที่ถูกนำมาถูกสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะ ได้มาจากความเป็นจริงตามธรรมชาติจากการสังเกตของมนุษย์ โดยเฉพาะรูปกบที่กำลังผสมพันธุ์กันในช่วงต้นฤดูฝน (ต้นฤดูกาลเพาะปลูกของวัฒนธรรมมนุษย์) จะทำเป็นรูปกบ 2 ตัว ขึ้นคร่อมกัน และด้วยความเป็นจริง กบตัวผู้ที่ตัวเล็กกว่าตัวเมีย อาจพยายามขึ้นค่อมตัวเมียพร้อมกันถึงสองตัว กลายมาเป็นรูปของกบเรียงขึ้นไปสามชั้นบนหน้ากลอง (กบตัวผู้มีเยอะ กบตัวเมียมีน้อย)
---------------------------
*** บนหน้ากลองดินเผา หรือ “หินดาว” ที่พบในเขตหลวงพระบาง ซึ่งมีอายุในราว 3,000 ปี มีการขีดลวดลายเรขาคณิตธรรมชาติ ตรงกลางเป็นรูปวงกลมหลายแฉก หมายถึง “ลายตะวัน” หรือพระอาทิตย์ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และการเพาะปลูก รูปลายเส้นวงกลมล้อมรอบ แทนความหมายของจักรวาลและดวงดาวบนท้องฟ้าที่มนุษย์มองเห็นอันหมายถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นวัฏจักรของรอบปี ถัดออกมาเป็นลายเส้นเกลียวม้วนของน้ำ เมฆ ลายเส้นของผู้คนและสัตว์ ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ
เมื่อภูมิปัญญา เทคโนโลยี ศิลปะและการโลหกรรมพัฒนาขึ้น ที่หน้ากลองกลองมโหระทึกจึงเกิดการสร้างลวดลายที่มีความละเอียดมากขึ้นกว่ายุคก่อน แต่ก็ยังคงรักษาคติความเชื่อเรื่อง “ความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ" สืบต่อมาไว้อย่างครบถ้วน ลายหน้ากลองยังคงเป็นลายแฉกของพระอาทิตย์ตรงกลาง ขนาบด้วยลวดลายของดวงดาวที่กลายมาเป็นลายเส้นแบบเรขาคณิตแบบต่อเนื่อง ทั้งลายสับหว่าง ลายเกลียวเชือกฟั่น ลายกลม ลายฟันซี่หรือลายซี่หวี ลายก้างปลา สลับด้วยช่องแสดงลายเส้นของผู้คนที่แต่งกายในพิธีกรรมสวมหมวกทรงเทริดสูง (ประดับด้วยพวยดอกไม้ ลูกไม้ หรือขนนก) งานเฉลิมฉลอง ธงทิว พิธีล่องเรือในสายน้ำ สรรพสัตว์และนกสวรรค์บนท้องฟ้า
เช่นเดียวกับคติความอุดมสมบูรณ์ที่เคยใช้กบเป็นรูปสัญลักษณ์สำคัญ ก็ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมมาใช้เป็นรูปของคน สัตว์ สิ่งของที่มีความหมายเดียวกันเข้าไปแทนที่ ตัวอย่างหน้ากลองมโหระทึก ที่กลองที่พบจากท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ รูปสัญลักษณ์ถูกเปลี่ยนจากกบมาทำเป็นรูปของหอยฝาเดี่ยวแบบหอยโข่ง อันเป็นสัตว์น้ำจืดที่พบเห็นได้ในนาข้าวในช่วงฤดูฝนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กลองมโหระทึกที่พบในเขตวัฒนธรรมตระกูลไท(จ้วง) ทางตอนใต้ของประเทศจีน นอกจากการสร้างรูปประติมากรรมจำลองของงานพิธีกรรมเฉลิมฉลองในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบรูปลอยตัวบนหน้ากลอง ที่มีทั้งบ้านเรือน ผู้คน วิถีชีวิตและการฟ้อนรำจรเต็มหน้ากลองแล้ว ยังมีรูปลอยตัวแบบดั้งเดิมที่วางตำแหน่งไว้บริเวณขอบของหน้ากลอง แต่ทำเป็นรูปอื่น ๆ อย่าง “คนขี่ม้า” ที่อาจมีความหมายถึงการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและบ้านเมืองด้านการค้าขาย รูปของสัตว์อย่าง “ควายที่กำลังไถนา” อันเกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูกข้าว รูปของ “นก” ทั้งตัวเดียวและคู่ที่มีความหมายถึงเหล่านกที่อาศัยในนาข้าว สื่อถึงความความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต อีกทั้งรูปของฝูงเป็ด ซึ่งอาจหมายความถึงงานปศุสัตว์อันอุดมสมบูรณ์ของพวกเขา
*** เรื่องเล่าบนหน้ากลองมโหระทึก คือคติความเชื่อและงานศิลปะของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากแรงปรารถนา คำอ้อนวอนอธิษฐานขอให้อำนาจเหนือธรรมชาติ (Animism) ทั้งหลายทั้งมวล ได้ช่วยอำนวยฟ้าฝน สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ชุมชนและสังคมเกษตรกรรมของพวกเขาในอดีตนั่นเองครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น