วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระกฤษณะสังหารช้าง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พระกฤษณะสังหารช้าง “กุลวัลยปิถะ” 
ในมหากาพย์มหาภารตะ (The Great Epic Mahābhārata) วิษณุปุราณะ (Viṣṇu Purāṇa) อัคนีปุราณะ (Agni Purāṇa) หริวงศ์  (Harivaṃśa) และภาควัตปุราณะ (Bhāgavata Purāṇa) ได้กล่าวถึงเรื่องราวการอวตารของพระวิษณุในภาคของ “กฤษณาวตาร” (Krishna-Kṛṣṇa Avatar)  เพื่อลงมาปราบท้าว (อสูร) “กังสะ” (Kansa Kaṃsa) หรือพญากงส์ เพิ่อขจัดยุคเข็ญให้กับมวลมนุษย์ โดยเล่าถึงตอนกำเนิดว่า
.
ครั้งเมื่อ “กษัตริย์อุกรเสนา” (Ugrasenā) ผู้ครองเมืองมถุรา มีพระมเหสีคือ “พระนางปวารนะเรขา” (Pavanarekha) พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม เป็นที่รักใคร่ของไพร่ฟ้าประชาชน ปกครองบ้านเมืองร่วมกันอย่างมีความสุขมาช้านาน
.
วันหนึ่งพระนางปวารนะเรขาเสด็จออกไปประพาสป่า ถูกอสูรตนหนึ่งแปลงร่างจำแลงตนเป็นกษัตริย์อุครเสนมาร่วมเสพสังวาส เกิดเป็นพระโอรสนามว่ากังสะ กษัตริย์อุครเสนก็หลงคิดว่าเป็นโอรสของพระองค์มาโดยตลอด 
.
กังสะกุมารเมื่อเติบโตก็เริ่มแสดงออกถึงความชั่วร้าย ไม่เคารพบิดา สังหารเด็กอื่น ๆ ใช้กำลังขู่บังคับเอาธิดาทั้งสององค์ของ กษัตริย์ชรสันธะ (Jarāsandha) แห่งแคว้นมคธ มาเป็นชายาของตน สุดท้ายก็จับตัวกษัตริย์อุกรเสนะและพระมารดาไปคุมขังไว้ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน นอกจากนี้ยังขยายอาณาเขตด้วยการสงครามออกไปอย่างกว้างขวางจนเกิดเป็นกลียุค
ทั้งยังสั่งห้ามมิให้ผู้ใดบูชาหรือกล่าวถึงพระนามแห่งพระวิษณุอย่างเด็ดขาดครับ
.
พระวิษณุจึงได้อวตารลงมาบนโลกมนุษย์เพื่อปราบท้าวกังสะหรือพญากงส์ โดยการจุติเป็นบุตรของฤๅษีวสุเทวะ (Vāsudeva) และนางเทวกี (Devakī) ธิดาองค์ที่เจ็ดของพระเจ้าเทวกา ลุงของพญากังสะ ทรงถอนเส้นพระเกศาดำของพระองค์และเส้นผมขาวของพญาอนันตนาคราช ส่งไปยังครรภ์ของนางเทวากี  โดยเส้นผมขาวของพญานาคเกิดเป็นบุตรคนที่เจ็ด นามว่า “พระพลราม” (Balarāma) ส่วนเส้นพระเกศาดำของพระองค์บังเกิดเป็นบุตรคนที่แปด นามว่า “พระกฤษณะ” (Krishna)
.
แต่กระนั้น ในหมู่เทพเจ้าก็มีเสือหมอบแมวเซาของฝ่ายมารซ่อนอยู่  ในงานสมรสของพระวาสุเทพและนางเทวกี มีเสียงกระซิบลงมาจากสวรรค์ที่ข้างหูของท้าวกังสะ “...พระวิษณุกำลังจะอวตารมาสังหารท่าน โดยจะกำเนิดเป็นบุตรแห่งนางเทวกี....” พญากงส์จึงคิดจะสังหารนางเทวากีในทันทีทันใด แต่พระวาสุเทวะได้วิงวอนขอร้องเอาไว้ โดยให้สัญญาว่าจะนำบุตรที่เกิดกับนางเทวากีทุกคนมามอบให้พญากงส์
.
พญากงส์ได้ให้จับท้าววาสุเทพและนางเทวกี ไปขังไว้ในคุกใต้ดิน
.
เมื่อนางเทวกีคลอดบุตรหกคนแรกออกมา พระวาสุเทวะได้นำบุตรของตนมาให้กับพญากงส์ ซึ่งทั้งหมดถูกสังหารจนสิ้น จนมาถึงคนที่ 7  พญาอนันตนาคราชอวตารลงมาก่อนตามคำบัญชาของพระวิษณุ เมื่อเข้าสู่ครรภ์เพื่อให้เป็นบุตรของนางของนางเทวกีแล้ว จนใกล้คลอด พระวิษณุก็ทรงใช้ฤทธิ์อำนาจสับเปลี่ยนเอาบุตรในครรภ์ของนางเทวกีไปใส่ในครรภ์ของนางโรหินี (Rohini) แทน โดยพระวาสุเทพได้ฝากให้ นันทะ (Nanda) คนเลี้ยงโค (โคปาล) เป็นผู้ดูแล ซึ่งก็ได้กำเนิดมาเป็นพระพลราม โดยพญากังสะคิดว่าบุตรของนางเทวกีเสียชีวิตในครรภ์มารดาไปแล้ว
.
พระวิษณุได้อวตารลงมาจุติเป็นโอรสองค์ที่ 8 ผู้มีผิวสีดำสนิท  เมื่อกำเนิดเป็นทารกแล้ว ท้าววาสุเทพได้แอบนำกฤษณะกุมารไปสับเปลี่ยนกับบุตรสาวของนายนันทะกับนางยโสธา (Yaśodā) ที่เพิ่งเกิดมาพร้อมกัน  ไปมอบให้พญากังสะ พญากังสะจึงได้จับทารกน้อยโยนเข้ากระแทกกองหินเพื่อให้สิ้นชีวิต แต่ทารกนั้นกลับกลายร่างเป็น “พระแม่มายา” และกล่าวกับพญากงส์ก่อนกลับสู่สวรรค์ว่า
.
“...บัดนี้ผู้ที่จะสังหารท่าน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแล้ว (นะจ๊ะ)” 
.
------------------------------------
*** ก่อนการสังหารพญากงส์ พระกฤษณะและพระพลราม จะต้องต่อสู้กับเหล่าอสูรที่พญากงส์ส่งมาสังหารหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ อสูรในรูปแม่นม “ปุตนะ” (Putana)  อสูรเหินฟ้า “ศักตาสูร” (Saktasura) อสูรลมหมุน ตรีนะวัตร (Trinavasta) อสูรในรูปรถเข็น “ศากตะภังก้า”  (Śakaṭabhaṅga) อสูรในรูปแม่โค “วัตสาสูร” (Vatsasura) อสูรในรูปนกกระเรียน “บากาสูร” (Bagasura) อสูรในรูปงู “อุกราสูร” (Ugrasura) อสูรในรูปลา “เธนุกะ” (Dhenuka) อสูรยักษ์ “ประลัมพะ” (Pralamba) อสูรหอยสังข์ “สังกาสูร” (Sankhasura) อสูรรูปม้า “เกศิน” (Kesin) อสูรหมาป่าและการสังหารช้าง “กุลวัลยปิถะ” (Kuvalayāpīḍa) ครับ 
.
----------------------------------
*** ครั้นเมื่อพระกฤษณะ และพระพลราม ได้ยินเสียงประโคมดังกึงก้อง เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการแข่งขันมวยปล้ำ ทั้งสองจึงได้เดินมุ่งหน้าเข้าสู่พระราชวังแห่งนครมถุราในทันที
.
พญากงส์ รู้แจ้งการเดินทางของพระอวตารทั้งสอง จึงเรียกนาย “อังคาระกะ” (Aṅgāraka) ควาญช้างเข้ามาพบ แล้วมีคำสั่งว่า "....เมื่อขบวนแห่เริ่มขึ้น เด็กทั้งสองจะเดินเข้าสู่ประตูแคบ ๆ ของพระราชวัง เจ้าต้องแน่ใจว่าช้างกุลวัลยปิถะ จะเข้าสังหารเด็กทั้งสองให้ได้อย่างรวดเร็ว...”
.
กุลวัลยปิถะเป็นช้างพลายใหญ่ที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว ยิ่งได้รับยาสมุนไพรกล่อมประสาทเพื่อเพิ่มความดุร้ายด้วยแล้ว จึงอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเข้าทำร้ายใครก็ได้ที่ผ่านมา
.
เมื่อพระกฤษณะและพระพลรามมาถึงที่ประตูวัง ควาญอังคาระกะจึงปล่อยช้างกุลวัลยปิถะจู่โจมเข้าสังหารทันที ช้างผู้ยิ่งใหญ่พยายามใช้งวงคว้าที่ลำตัวของพระองค์ แต่พระกฤษณะกลับหายตัวไปจากสายตาของสัตว์ร้าย ช้างกุลวัยปิถะพยายามแสวงหาพระองค์ด้วยกลิ่น ฟาดงวงฟาดงาไปโดยรอบ พระกฤษณะล้อเลียนและทรมานกุลวัลยปิถะได้ซักพัก จึงใช้พละกำลังกดตรึงงาของช้างไว้กับพื้น ช้างล้มลงทับควาญช้างจนตาย ทรงใช้พระหัตถ์ทุบกะโหลกจนกุลวัลยปิถะสิ้นชีพ พระองค์โรยตัวด้วยเลือดของช้าง หักงาและยกเทินไว้บนไหล่ เดินเข้าสู่สนามประลอง 
..
สนามประลองที่จาณูระและมุสติกะ (Cāṇūra - Muṣṭika) อสูรนักมวยปล้ำร่างยักษ์ รวมทั้งนักมวยปล้ำผู้เป็นบริวารจำนวนมาก กำลังรอพระกฤษณะและพระพลรามอยู่ .......
...
---------------------------
*** รูปศิลปะเรื่องพระกฤษณะสังหารช้างกุลวัลยปิถะ แทบไม่พบเห็นในงานศิลปะแบบเขมรโบราณ ที่เห็นชัดเจนคงเป็นภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงปีกโคปุระด้านในฝั่งทิศใต้ของปราสาทบาปวน ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16  ซึ่งโคปุระฝั่งทิศใต้ของปราสาทบาปวนนี้ มีภาพสลักนูนต่ำแบ่งเป็นช่อง ๆ เส้นเส้นลวดเป็นกรอบภาพสี่เหลี่ยม “ชีวประวัติแห่งพระกฤษณะ” (Krishnacaritra) ในตอนต่าง ๆ ตั้งแต่กำเนิด 
.
ส่วนในประเทศไทย ภาพพระกฤษณะสังหารช้างกุลวัลยปิถะ พบบนหน้าบันซุ้มบัญชรประดับเชิงบาตรวิมานชั้นซ้อนของปราสาทพะโค อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ศิลปะแบบปลายยุคบันทายสรี ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 และ ภาพ พระกฤษณะสังหารช้างกุลวัลยปิถะบนทับหลังชิ้นหนึ่งของปราสาทหินพิมาย ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆 
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น