วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธบาทบนเขาศาลา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

“คุรุวรฺณยสิทธาจารย์” อรัญวาสีบายน พระพุทธบาทบนเขาศาลา
…เป็นเวลานานมาแล้วที่ "ศรีกมรเตงอัญชยวรณยชคต "  อนักสัญชักผู้ภักดีแห่งองค์พระโพธิสัตว์ศรีชัยวรมัน องค์มหาพุทธอุปถัมภกแห่งอาณาจักรกัมพุชะเทศะ ได้นำไพร่ทหารและขบวนครัวคาราวานเดินทางรอนแรมออกจากพระนครศรียโสธรปุระ เพื่อไปทำราชกิจตามพระราชโองการ ในการควบคุมเส้นทางและหัวเมืองนอกเขตอาณาจักร ภายหลังจากความวุ่นวายอันยาวนานสิ้นสุดลง เมื่อกองทัพแห่งพระนครหลวงสามารถพิชิตเมืองวิชัยปุระ ราชธานีแห่งจามปาเทศะลงได้
จากฐานที่มั่นใหญ่ที่เมืองบันทายฉมาร์ อนักสัญชักต้องนำกองทัพเข้าควบคุมผู้ปกครองที่นครวิมายปุระที่ออกอาการกระด้างกระเดื่องในช่วงของความสับสนวุ่นวาย ส่วนเมืองลโวทยปุระ (ลพบุรี)  ศรีจานาศะปุระ (เสมา)   เมืองศรีชยเกษมปุรี (สุโขทัย) และหัวเมืองในลุ่มตะวันออกของน้ำเจ้าพระยาทั้งหลาย กมรเตงชคตผู้ครองดินแดน ต่างส่งเครื่องบรรณาการหลวง แสดงจุดยืนคืนสู่ความสวามิภักดิ์แก่เมืองพระนครหลวงจนสิ้นแล้ว
แต่ก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสมอ บางนคราก็ยังมีผู้อหังการ ท้าทายอำนาจแห่งองค์พระโพธิสัตว์สูงสุดพระองค์ใหม่ผู้เสด็จลงมาโปรดสรรพสัตว์ กองทัพหลวงแห่งพระองค์จึงเข้าบดขยี้ ทำลายล้างพระราชาผู้โง่เขลาเหล่านั้น
และหากเป็นบ้านเมืองที่ถือเอาเทพเจ้ามาเป็นข้ออ้างในการแข็งข้อ ก่อกบฏ เมืองแห่งนั้นก็จะถูกกวาดล้าง อย่างเช่นนครมัลยัง นครแห่งธัญพืชทางใต้โตนเลสาบ !!!
ขุนศึกผู้เก่งกล้าได้ออกปฏิบัติหน้าที่เชื่อมโยงจักรวรรดิให้เป็นปึกแผ่น ดั่งทองแผ่นเดียวกันที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ในวันนี้มันต้องยิ่งใหญ่กว่า เมื่อกองทัพผสมทั้งจากพระนครหลวง รวมกับกองทัพจากแผ่นดินที่ราบสูงและลวะปุระ ยกเข้าโจมตีแผ่นดินรามัญเทศะแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถาปนานครขึ้นใหม่หลายแห่ง
เมื่อภารกิจแห่งพระราชอำนาจเริ่มทุเลาลง ภารกิจแห่งการทำนุบำรุงทวยราษฎร์แลไพร่ฟ้าจึงเกิดขึ้นมาทดแทน “พระราชาผู้ปรารถนาความดีและประโยชน์อย่างยิ่งแก่มวลสัตว์โลก” ทรงมีพระราชประสงค์ให้ขุนศึกต้องไปช่วยควบคุมดูแลการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งองค์พระพุทธเจ้า “อาโรคยศาลา” ขึ้น ตามบ้านเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรของพระองค์ รวมทั้งดูแลเส้นทางถนนหลวง "ราชมรรคา" เพื่อเชื่อมโยงบ้านเมืองสองภูมิภาคเข้าด้วยกัน
ระหว่างเส้นทางเชื่อมโยงอาณาจักร ศรีกมรเตงอัญชยวรณยชคตได้คุมการก่อสร้าง “วหนิคฤหะ” (ธรรมศาลา - บ้านมีไฟ) ไว้เพื่อให้เป็นด่านสำคัญ สำหรับใช้เป็นที่ตรวจตรารักษาความปลอดภัยและเป็นที่พักแรมให้กับผู้สัญจร ให้สัตว์พาหนะได้พักเอาแรงจากการเดินทาง ภายในวหนิคฤหะจะมีการจุดคบไฟสว่างไว้ทั้งคืน เพื่อเป็นจุดสังเกตเป็นแสงเรืองไสวบนเส้นทางยามค่ำคืน มิให้ผู้เดินทางไม่ทันแสงอาทิตย์หลงป่าในเวลาพลบค่ำ
การมอบหมายงานใกล้จะเสร็จสิ้น พระราชา "กมรเตงชคต" และเหล่าพระญาติพระวงศ์ผู้ครอบครองดินแดนต่าง ๆ ในจักรวรรดิ ต่างได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์อย่างครบถ้วน ถึงแม้ว่าในหลายแห่งจะมีรูปแบบการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งพระพุทธเจ้า แตกต่างกันออกไปตามความนิยมศิลปะท้องถิ่นนั้นในยุคก่อนหน้าการครอบครองของกัมพุศเทศะ แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญนัก
ยังมีราชกิจอีกมากทั้งการปกครองและศาสนา ที่สำคัญคือการอัญเชิญเหล่ารูปสลักพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะ พระพุทธเจ้าอมิตาภะ ชัยพุทธมหานาถ  พระโพธิสัตว์โลเกศวร พระนางปรัชญาปารมิตา และรูปของเหล่าพระมานุษิโพธิสัตว์และยิดัม จากเมืองพระนครหลวง ไปส่งมอบเพื่อประดิษฐานตามศาสนถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าสูงสุด ในที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
หากบ้านเมืองไหน ดูจะมีใจออกห่างและเคยเกิดการแข็งข้อก่อกบฏ หรือเป็นเมืองที่ได้ครอบครองจากการสงคราม ก็ให้ประดิษฐานพระโพธิสัตว์โลเกศวรผู้เปล่งอานุภาพบารมี เพื่อเตือนใจให้หลาบจำ บ้านเมืองไหนสงบสุข แต่ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ ก็ให้ประดิษฐานรูปพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและรูปพระนางปรัชญาปารมิตา บ้านเมืองไหนอยู่ในอาณาจักรมั่นคงแล้ว ก็ให้ประดิษฐานรูปพระชัยพุทธมหานาถไตรโลกยวิชัยในมหาปราสาทกลางนคร และรูปพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคตและพระศรีสูริยไวโรจนจันทโรจิและพระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะในสุคตาลัยประจำโรงพยาบาลแห่งพระพุทธเจ้า
ภารกิจที่ยาวนาน ยากลำบากและเหนื่อยล้า จากขุนศึกหนุ่มวัยฉกรรจ์ผู้เคยรบเคียงข้างเจ้าชายวรมันในสงครามยุทธนาวากับจามปาเหนือโตเลสาบ อนักสัญชักผู้เคยพิชิตกบฏทั้งพระญาติพระวงศ์และเหล่ากมรเตงชคตเจ้าผู้แข็งข้อทั้งหลาย บัดนี้เส้นผมสีขาวเริ่มแซมขึ้นมาแทนเส้นผมที่เคยดกดำเสียแล้ว
กาลเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเสียจริง บ้านเมืองพระนครหลวงกลับสู่ความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง แต่ก็แอบแฝงไปด้วยความขัดแย้ง ทั้งในเรื่องของการช่วงชิงอำนาจและความเชื่อ ขุนศึกหนุ่มในอดีตกลายมาเป็นอัครมหาเสนาบดีสูงวัย ผู้ที่พระโพธิสัตว์ชัยวรมันทรงพระกรุณาให้ความเชื่อใจในความจงรักภักดีมากที่สุด มากยิ่งกว่าผู้ใดในจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่อีกแล้ว
แต่ถึงวันนี้ ความเหนื่อยล้าและสังขารได้แปรเปลี่ยนผู้คน ภารกิจก็บรรลุถึงเป้าหมาย ถึงแม้จะยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ก็ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น ตามกำลังและความจริงของแต่ละบ้านเมือง อัครมหาเสนาบดีจึงเริ่มคิดว่าควรจะถึงเวลา ผลัดเปลี่ยนภารกิจอันหนักอึ้งนี้ไปสู่คนรุ่นใหม่
ศรีกมรเตงอัญชยวรณยชคต ได้กลับคืนสู่พระนครหลวงอีกครั้งในยามอัสดง เข้าเฝ้าสหายสงครามผู้เป็นจอมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ เพื่อทูลลาขอไปใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่าย
พุทธมหาราชาที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน วัยที่เหนื่อยล้าและอ่อนแรง ทรงมีพระประสงค์ให้พระสหายร่วมศึก กลับมาช่วยราชการในเมืองพระนครหลวง เพื่อแบ่งเบาภาระของพระองค์ มากกว่าจะยอมให้เขาลาจากไป แต่พระองค์ก็มิอาจจะทัดทานความตั้งใจที่แน่วแน่ เมื่อมหาเสนาบดีได้ทูลเหตุผลว่าการลาไปในครั้งนี้ก็เพื่อออกบรรพชา เดินทางไปแสวงบุญ บำเพ็ญโพธิญาณโปรดสัตว์โลกแบบพระโพธิสัตว์ ตามคติความเชื่อศาสนาที่พระองค์ได้บัญญัติขึ้นไว้เพื่อปกครองอาณาจักร และการบรรพชานั้นก็เป็นการถวายบุญญาธิการแด่พระองค์เช่นกัน
เมื่อไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจ พระโพธิสัตว์ชัยวรมันจึงโปรดให้จัดพิธีมหาบรรพชาใน “ราชวิหาร” ให้แก่ขุนศึกคู่พระทัยอย่างสมเกียรติยศ จากมหาเสนาบดีจึงได้มาเป็น “คุรุวรฺณยสิทธาจารย์” สิทธะผู้ศึกษาวิชาตันตระยาน ในพระพุทธศาสนาวัชรยานอันรุ่งเรือง
หลังจากบรรพชาได้สิบสองปี เมฆหมอกแห่งความขัดแย้งและความวุ่นวายในเมืองพระนครหลวงปรากฏชัดมากขึ้น ผู้คนจำนวนมากที่เคยเคารพและศรัทธาเหล่าเทพเจ้าฮินดู ต่างก็เริ่มสงสัยและตั้งคำถามถึงอำนาจ อานุภาพและความหลุดพ้นของเหล่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์
ความวุ่นวายกำลังจะก่อตัวเป็นคลื่นใหญ่ในเร็ววัน พระโพธิสัตว์ศรีชยวรมันเองก็อยู่ในภาวะเสื่อมถอยพระวรกายด้วยวัยชรา คุรุวรณยสิทธะจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองพระนครหลวง ไปจาริกแสวงบุญในเขตบ้านเมืองเก่าแก่ที่เคยเป็นที่ตั้งของพุทธสถานและประดิษฐานพระพุทธศาสนาในอดีต
การธุดงค์จาริกแสวงบุญของคณะคุรุวรณยสิทธะได้นำพาให้ท่านได้มาพบเห็นถึงคำสอนและแนวทางปฏิบัติ คติความเชื่อของพุทธศาสนาที่แตกต่างกัน ถึงจะมีพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่บ้านเมืองในฝั่งตะวันตกของจักรวรรดิ ในเขตทุ่งราบสีทอง กลับมาความเชื่อในพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ต่างจากพุทธวัชรยานยานที่  ได้เคยศึกษาพระธรรมคำสอนในราชวิหาร ที่มีพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์และยังมีพระโพธิสัตว์ผู้มีอานุภาพเป็นผู้ปกป้องโลกในกาลปัจจุบัน
ผู้คนในฝั่งตะวันตก ต่างบูชาพระพุทธรูปในปางที่แตกต่างไป ถึงมีการสวดมนตราคล้ายคลึงกันแต่ใช้ภาษาคนละภาษา  ไม่มีการแสดงรหัสมือ “มุทรา” หรือการกรีดนิ้วแสดงท่ายกมือดุจปางของพระพุทธรูป ไม่มีการใช้เวทย์มนตร์  “ธารณี” ประจำองค์พระโพธิสัตว์และประจำพระพุทธเจ้าองค์ต่าง ๆ  ไม่มีภาษาลับ “ตันตระ” ไม่มี  "มณฑลบูชา" และการใช้ " ยันตะมณฑล "  เพื่อการบูชาพระโพธิสัตว์ กฎเกณฑ์แบบแผนของเครื่องบูชา การจัดบริเวณพิธีกรรม อุปกรณ์และ และการแต่งกายของนักบวชก็แตกต่างกันมาก
พระสงฆ์ในเมืองพระนครก็คือเหล่านักบวชฮินดูตันตระที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้นำในการทำพิธีสวดมนตราและเวทมนตร์ในพิธีกรรมเร้นลับ ไว้ทรงผมจัดรวบเป็นมวยแบบพราหมณ์ ถือวัชระสามง่ามและกระดิ่งรวมทั้งมีรูปเคารพบุคลาธิษฐานแบบพกพาประจำตัว แต่ในแผ่นดินวิษัยนครตะวันตกนี้ พระสงฆ์จะโกนศีรษะและห่มผ้าย้อมสีชาด ไม่มีเครื่องประดับอาภรณ์ใด ๆ และปฏิบัติธรรมตามคำสอนโดยเคร่งครัด
ถึงแม้จะแตกต่างในรายละเอียดกันอย่างมากมาย แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ท่านคุรุจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและสนทนาธรรม กับพระมหาเถระแห่งเถรวาท ผู้ดูแลศาสนสถานเก่าแก่แห่งพระพุทธองค์ที่เมืองลโวทยปุระ
เมื่อคุรุสงสัยว่า รูปเคารพที่สำคัญของชาวพุทธเถรวาทคือสิ่งใด มหาเถระแห่งเถรวาท จึงได้นำท่านไปดูรูปเคารพในวิหารไม้แห่งหนึ่ง ถึงเบื้องหน้าเป็นพระพุทธรูปสลักหินต้นแบบที่อัญเชิญมาจากเมืองพระนครหลวง “พระพุทธเจ้าชยพุทธมหานาถผู้ยิ่งใหญ่” แต่นั่นกลับไม่ใช่ "รูปเคารพที่สำคัญที่สุด" ของที่นี่
หากเป็นเวลาของโลกในอดีต ขุนศึกมหาเสนาบดีคงต้องลงโทษทัณฑ์พระภิกษุเถรวาทในบ้านเมืองนี้ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากกว่าพระชัยพุทธมหานาถและเหล่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นแน่ !!! แต่ในร่มกาสาวพักตร์ คุรุวรฺณยสิทธาจารย์กลับยิ่งสงบ ไม่ยี่หร่า ไม่ยินดียินร้ายในความแตกต่างของความเชื่อในพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ด้วยเพราะเข้าใจในหลักธรรมคำสอนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
มหาเถระชี้ไปที่รูปรอยเท้าขนาดใหญ่รูปหนึ่ง แล้วบอกกับท่านคุรุว่า "....นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของเราชาวเถรวาท พระพุทธบาทคือสิ่งแสดงว่าพระศากยมุนีเจ้าผู้หลุดพ้นได้เคยเสด็จมา พระธรรมคำสอนจะสถิตอยู่ในทุกหนแห่งที่มีรอยพระพุทธบาทนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของชาวพุทธทั้งปวง..."
ท่านคุรุให้เกิดความประทับใจในลวดลายและศิลปะที่พบเห็น ถึงแม้จะรู้ว่ารูปสลักพระพุทธบาทดังกล่าวนั้นทำขึ้นจากไม้ มิใช่รอยพระบาทปาฏิหาริย์ที่แท้จริงตามความเชื่อ แต่นี่ก็คือเครื่องหมายสำคัญที่เตือนใจชาวพุทธทุกนิกายให้รำลึกถึงคำสอน และเพื่อให้สดับรู้ว่า "พระธรรมคำสอน" แห่งพระพุทธองค์ได้เคยมาประดิษฐาน ณ ที่ที่มีรอยพระบาทนี้ พระพุทธองค์ทรงสถิตอยู่ทุกแห่งหนทุกตำบล
จากแผ่นดินตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยานอกอาณาจักรกัมพุชเทศะ ท่านคุรุจึงตั้งใจจะเดินทางมาสู่เมืองพระนครหลวงอีกครั้งเพื่อกลับมาเผยแพร่พุทธศาสนาที่แตกต่างในอีกโลกหนึ่ง เป็นทางเลือกให้กับผู้คนและอาณาจักร แต่เมื่อมาถึงเมืองวิมายปุระ ก็ได้รับข่าวอวมงคล ด้วยพระโพธิสัตว์ชัยวรมันได้เสด็จสู่สวรรคาลัย เถลิงราชย์เป็น “มหาปรมสุคตบท” บนสรวงสวรรค์เสียแล้ว
คุรุวรฺณยสิทธาจารย์ในวัยชราจึงตัดสินใจไม่กลับคืนสู่เมืองพระนครอีก ท่านได้เริ่มต้นออกธุดงค์เป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต เพื่อโปรดสัตว์และบำเพ็ญศีลภาวนาในที่ห่างไกล โดยใช้แนวทาง “อรัญวาสี” ของฝ่ายเถรวาทเป็นแนวทางปฏิบัติ  โดยมีป่าเขาและลำน้ำที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของเทือกเขาพนมดองเร็กเป็นจุดหมายปลายทาง
ในท่ามกลางไพรสณฑ์อันร่มรื่น แวดล้อมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด กลุ่มสิทธะและภิกษุต่างนิกาย ต่างร่วมกันมุ่งบำเพ็ญภาวนา ปฏิบัติธรรมตามแนวทาง "พระป่า" ในท่ามกลางความเงียบสงบ ห่างไกลจากกิเลสตัญหาทั้งปวง
ท่านคุรุได้เลือกใช้หมู่หินใหญ่ก้อนหนึ่งในป่าโปร่ง เป็นเพิงที่นั่งปฏิบัติสมาธิ สืบพระพุทธศาสนาตามความเชื่อใน "โลกภูมิทัศน์" ที่ตนได้เรียนรู้มาจากทั้งสองโลก โลกแห่งวัชรยานตันตระและโลกแห่งเถรวาท ความเชื่อหนึ่งคือพระพุทธเจ้าแห่งอาณาจักรคือพระอาทิพุทธะมหาไวโรจนะ ผู้สถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง และอีกความเชื่อหนึ่งคือพระศากยมุนีเจ้า พระผู้หลุดพ้นจากกิเลศทั้งปวง พระองค์จะสถิตอยู่ในทุกหนแห่งที่มีรอยพระบาทของพระองค์ประดิษฐานอยู่  
กาลเวลาที่สุดปลายฟ้าบนขุนเขาพนมดองเร็กผ่านไปหลายปี บ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงไป ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 พระราชาองค์ใหม่แห่งเมืองพระนครหลวงจะไม่ทรงโปรดพระพุทธศาสนา และหันกลับไปทำนุบำรุงเทพเจ้าฮินดูเพื่อเซ่นสรวงอ้อนวอนให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ แต่พระองค์ก็ไม่มีพระราชอำนาจเพียงพอภายนอกเขตพระนครหลวง เมื่ออำนาจแห่งจักรวรรดิเสื่อมลง บ้านเมืองใหญ่น้อยที่เคยเป็นหนึ่งเดียว ต่างก็แยกตัวออกไปเป็นแผ่นดินอิสระ 
.... เวลาได้ผ่านไปเนิ่นนาน ไม่มีใครเคยมีใครพบเห็นกลุ่มนักบวชอรัญวาสีแห่งพนมดองเร็กในป่าแห่งนั้นอีกเลย
ผู้คนที่เคยจดจำเรื่องราวของคุรุวรฺณยสิทธาจารย์ อดีตอัครมหาเสนาบดีได้อย่างเลือนราง ต่างเล่าขานได้เพียงว่า “ ท่านละสังขารไปนานมากแล้ว ที่บนโขดหิน ในป่า....นั่นแหละ.........”
กว่าจะรู้ความหมายของท่านคุรุ ที่ต้องการแสดงให้ผู้คนรู้ว่า “พระธรรมของพระพุทธองค์” เคยประดิษฐานอยู่ในอรัญวาสีแห่งนี้ โลกก็ต้องใช้เวลารอคอยมายาวนานอีกหลายร้อยปี
--------------------------------
*** เมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์  หมู่บ้านป่าที่อยู่เชิงเขาเขาพนมดองเร็ก  แนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา ได้มีการค้นพบภาพสลัก "พระพุทธบาท" ที่มีความสวยงามโดดเด่นบนโขดหินหนึ่งในป่าเขาศาลา ห่างจากวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ไปทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 200 เมตร
รูปสลักหินดังกล่าว เป็นรูปรอยพระพุทธบาทสลักลงไปในหินทราย มีความยาว 3.2 เมตร  ด้านส้นพระบาทกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ด้านปลายพระบาท 1.5 เมตร สกัดลึกลงไปในผิวหน้าของหินทราย 20 เซนติเมตร พระพุทธบาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นพระบาทด้านขวา ผิวหน้าของโขดหินลาดลงตามแนวทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก ขนาดนิ้วพระบาทมีความยาวเกือบเท่ากัน มีลายก้นหอยประดับทั้งส่วนปลายนิ้วและข้อนิ้ว ภายในพระพุทธบาทมีการสลักลวดลายดอกบัวขนาดใหญ่ไว้ที่ฝ่าพระบาทและส้นพระบาท จำนวน 2 วง  เส้นขอบรอบพระบาทด้านนอกนั้นล้อมด้วยลายลูกประคำและลายกลีบบัวศิลปะแบบบายน
ภายในรอยพระพุทธบาท มีเส้นลวดขอบนูนทำเป็นกรอบสลักรูปสัตว์และสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 23 แถว นับจำนวนภาพได้ 166 ภาพ แถวบนสุดติดกับนิ้วพระบาทมีรูปกอบัวหนองน้ำและป่าไม้ใหญ่เป็นที่สังเกต กรอบต่าง ๆ เป็นรูปสรรพสัตว์นานาชนิด ทั้ง สัตว์น้ำ สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้าง วัว ควาย อีเห็น นกยูง นกน้ำ หงส์ เป็ด ลิง กระต่าย ผีเสื้อ แมงมุม งู ปลานานาชนิด มีกระทั่งปู ตะขาบ ผีเสื้อ แมงป่อง แมว สุนัข แมลงและหนอน
คติของพระพุทธบาทนี้ จึงอาจเป็นการผสมผสานระหว่างวัชรยานและเถรวาท บัวทั้งสองเป็นตัวแทนของผู้ประทับอยู่สูงสุดแห่งสรวงสวรรค์ เหนือเขาเขาสัตตบริภัณฑ์ ทั้ง 7 นั่นคือพระมหาไวโรจนะผู้ให้กำเนิดพระธยานิพุทธะทั้ง 5 ในความเชื่อของวัชรยาน และบัวอีกกลุ่มหนึ่งคือตัวแทนของ "พระศากยมุนีเจ้า" สมณโคดมตามความเชื่อในคติพระพุทธบาทของเถรวาท
ผู้สลักสร้างพระพุทธบาทนี้จะต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์และมีชีวิตผ่านเรื่องราวทั้งทางโลกและทางธรรมมาอย่างมากมาย จึงสามารถนำความเชื่อของพระพุทธศาสนาทั้งสองสายมารวมกัน ณ ที่แห่งนี้ได้
ประสบการณ์ครั้งหนึ่งเขาต้องเคยเห็นและเกี่ยวข้องกับรอยพระพุทธบาทที่มีรูปมงคลและดอกบัว-ธรรมจักรอยู่ตรงกลางเป็นต้นแบบ แต่เขาจดจำได้เพียง รูปตัวสัตว์ ที่อยู่ในมงคล 108 ประการนั้นและ "รูปวงกลม" ตรงกลางเพราะเป็นที่จำได้ง่ายที่สุด
เมื่อเขาได้กลับมาสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในเขตป่าพนมดองเร็ก ย่อมเกิดการผสมผสานคติความเชื่อ สิ่งที่เขาจำได้คือตาราง รูปสัตว์และวงกลม แต่รูปสัตว์นั้นจะวางตรงไหนในกรอบและธรรมจักรรูปวงกลมจะต้องวางตรงไหน แทนความหมายอะไรก็ไม่ได้นำคัมภีร์พระสูตรกลับมากำกับด้วย อาศัยแต่เพียงความจำและประสบการณ์เท่านั้น
ช่างผู้แกะสลักคงมีความเข้าใจในศิลปะทางพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์ในทางโลกด้วย จึงสามารถประยุกต์รูปตารางและสัตว์มงคลจากต้นแบบ (ที่จำได้เพียงลาง ๆ ) ให้กลายมาเป็นสรรพสัตว์ที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในกรอบมงคล ภายใต้ดอกบัววงกลมแห่งพระพุทธเจ้า "ผู้สถิตอยู่ทุกหนแห่ง" ตามคติเถรวาท
-------------------
*** ถึงเรื่องเล่าของคุรุวรฺณยสิทธาจารย์ จะไม่ใช่ชื่อนามที่แท้จริงของนักบวชที่ได้เคยอาศัยและใช้ป่านี้เป็นที่พำนักแห่งอรัญวาสีในอดีต แต่เรื่องราวของพระพุทธบาทที่เกิดขึ้นในยุครอยต่อของคติความเชื่อระหว่างวัชรยานบายนกับเถรวาท ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นี้ ก็เป็นเรื่องราวที่พอจะปะติดปะต่อ ให้เข้าใจที่มาของรูปงานศิลปะแห่งรอยพระบาทที่ไม่เหมือนใครบนโขดหิน ที่เขาศาลาได้ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น