ตำนานหลวงพ่อลอยน้ำ 5 พี่น้อง
มีตำนานกล่าวว่า กาลครั้งหนึ่งมีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน บวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งสัจจะอธิษฐานว่า
“เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน”
ครั้นพระอริยบุคคลทั้งห้าองค์นี้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ มีความปรารถนาจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนทางเมืองใต้ จึงพากันแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย
ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำเห็นพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใส จึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและอาราธนาให้ขึ้นสถิตอยู่ตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ โดย
๑. พระพุทธรูปองค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เรียกว่า “หลวงพ่อโสธร”
๒. พระพุทธรูปองค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม เรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”
๓. พระพุทธรูปองค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เรียกว่า “หลวงพ่อโต”
๔. พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม”
๕. พระพุทธรูปองค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เรียกว่า “หลวงพ่อทองเขาตะเครา”
ในขณะที่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า การที่พระพุทธรูปทั้ง 5 ลอยน้ำมานี้ ก็เพราะเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาไฟเพื่อหลอมเอาทองที่หล่อจากองค์พระพุทธรูป ชาวบ้านเองก็ต้องการจะรักษาพระพุทธรูปไว้ จึงเอาปูนบ้าง รักดำบ้าง ไปพอกไว้ที่องค์พระเพื่อให้ดูไม่สวยงามและปกปิดความมีค่าไว้จากข้าศึก แต่เมื่อไม่อาจปกป้องได้ไหวจึงขนย้ายพระพุทธรูปสำคัญลงแพไม้ไผ่ล่องมาตามแม่น้ำเพื่อไม่ให้ข้าศึกทำลาย ด้วยน้ำหนักขององค์พระ เมื่อวางพระลงบนแพไม้ไผ่จึงดูเหมือนพระพุทธรูปลอยมาตามน้ำ จนผู้ที่พบเห็น ถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่น้ำหนักมากจะสามารถจะลอยน้ำได้
พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้
ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ที่มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลั่งไหลมาเคารพสักการะมิได้ขาด
ตำนานของ “หลวงพ่อโสธร”
แห่งแม่น้ำบางปะกง
วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโสธรหรือหลวงพ่อพุทธโสธรนี้ มีผู้เล่าสืบกันมาหลายกระแส บ้างว่า ท่านมีพี่น้องที่ลอยน้ำมาพร้อมกัน 3 องค์ คือ หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโตบางพลี และหลวงพ่อโสธร ส่วนอีกตำนานหนึ่งบอกว่า ท่านเป็นพี่น้องกับหลวงพ่อบ้านแหลมและหลวงพ่อวัดไร่ขิง และก็ยังมีนิยายปรัมปราที่เล่าสืบมาว่า ท่านลอยน้ำมาพร้อมกับหลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อวัดเขาตะเครา
อย่างไรก็ตาม ตำนานที่เล่าขานกันมานี้ก็มีความคล้ายคลึงกันว่า พระพุทธรูป 3 องค์พี่น้องลอยน้ำมาจากทางเมืองเหนือ จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “สามเสน” จึงได้แสดงอภินิหารลอยให้ชาวเมืองเห็น ชาวบ้านจึงได้ทำการฉุดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ โดยใช้เวลา 3 วัน 3 คืนก็ฉุดไม่ขึ้น กล่าวกันว่าครั้งนั้นใช้ผู้คนเป็นแสนๆ ก็ไม่สำเร็จ ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “สามเสน” พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็จมน้ำลง
จากนั้นก็ลอยล่องเข้าสู่คลองพระโขนงลัดเลาะไปสู่แม่น้ำบางปะกง และได้ลอยผ่านคลอง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า คลองชักพระ พระพุทธรูปได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านจึงพากันมาชักพระขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สำเร็จ จึงเรียกคลองนี้ว่า “คลองชักพระ” แล้วทั้งสามองค์ก็ได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปทางหัววัดอีก สถานที่นั้นจึงเรียกว่า “วัดสามพระทวน” และเรียกเพี้ยนเป็น “วัดสัมปทวน” ทั้งสามองค์ได้ลอยตามแม่น้ำบางปะกงเลยผ่านหน้าวัดโสธรไปถึงคุ้งน้ำใต้วัดโสธร และแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุดแต่ไม่ขึ้น จึงเรียกหมู่บ้านและคลองนั้นว่า “บางพระ” มาจนทุกวันนี้ พระพุทธรูปทั้งสามได้ลอยทวนน้ำวนอยู่ที่หัวเลี้ยวตรงกับกองพันทหารช่างที่ 2 ณ สถานที่ลอยวนอยู่นั้นเรียกว่า “แหลมหัววน”
อัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากน้ำ
หลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง คือ หลวงพ่อโสธรได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดโสธร ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า วัดหงษ์ ชาวบ้านช่วยกันยกและฉุดขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สามารถนำขึ้นได้ จนมีอาจารย์ผู้หนึ่งรู้วิธีอัญเชิญ โดยตั้งพิธีบวงสรวงใช้สายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์ จนสามารถอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในวิหารได้สำเร็จ ในราว พ.ศ.2313
ในการนี้จึงจัดให้มีการสมโภชฉลององค์หลวงพ่อ หลังจากท่านได้ประทับที่วัดหงส์เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะขนานนามชื่อของหลวงพ่อว่าอย่างไร แต่เข้าใจว่าท่านคงต้องการชื่อเดิมของท่าน คือ “พระศรี” เพราะเป็นชื่อดั้งเดิมขณะประทับที่วัดศรีเมือง ทางภาคเหนือ ประกอบกับมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าหลวงพ่อมีความประสงค์จะใช้นามว่า “หลวงพ่อพุทธศรีโสธร” เพราะได้เกิดพายุพัดเอาหงษ์ที่ตั้งอยู่บนยอดเสาหักลงมา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนหงษ์เป็นเสาธง แล้วเรียกชื่อวัดหงษ์เป็นวัดเสาธง
ต่อมาไม่นานก็เกิดพายุพัดเสาธงหักทอนลงอีก ชาวบ้านจึงเรียกวัดเสาธง ว่า “วัดเสาธงทอน” ภายหลังเห็นว่าไม่ไพเราะ จึงได้พร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดโสธร” และเรียกนามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อโสธร” ต่อมาวัดโสธรได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นวัดหลวง ได้ชื่อว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” และขนานนามหลวงพ่ออย่างเป็นทางการว่า “หลวงพ่อพุทธโสธร”ปกปิดองค์จริง
องค์เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางสมาธิ หน้าตักกว้างเพียงศอกเศษ มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยลานช้าง เพราะดูจากพุทธลักษณะซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยนั้น แต่เนื่องจากพระสงฆ์ในวัดขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าอาจจะไม่ปลอดภัยในภายภาคหน้า จึงได้พอกปูนเสริมให้ใหญ่เพื่อหุ้มองค์จริงไว้ภายใน จนมีหน้าตักกว้างประมาณสามศอกครึ่ง อย่างที่เห็นในปัจจุบัน แล้วจึงลงรักปิดทองให้สวยงาม และเป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา
ความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโสธร เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนมากมายที่มีจิตศรัทธา และเชื่อมั่นในบุญกุศลที่หลั่งไหลมากราบไหว้สักการบูชา และขอพรบารมีจากหลวงพ่อ จนเป็นที่กล่าวขานบอกเล่าต่อๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางค้าขาย ทางคงกระพัน ทางแคล้วคลาด ทางรักษาโรค โดยใช้ขี้ธูป ดอกไม้บูชาที่แห้งเหี่ยวแล้ว และอธิษฐานหยดเทียน ขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อ มาทำยา
ดังมีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งชาวบ้านโสธรเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ฝนก็แล้ง จนเกิดโรคระบาด ทั้งคนและสัตว์ล้มตายไปมาก มีครอบครัวหนึ่งป่วยเป็นไข้ทรพิษ เมื่อหมดทางรักษาก็ไปนมัสการอธิษฐานขอความคุ้มครองจากหลวงพ่อ และนำเอาขี้ธูปและดอกไม้แห้งที่บูชาหลวงพ่อ และหยดน้ำตาเทียนที่ขอน้ำมนต์ แล้วเอามาต้มกิน ปรากฏว่าโรคหาย กิตติศัพท์หลวงพ่อจึงได้โด่งดังไปทั่ว ถึงกับมีการสมโภชและแก้บนกันตราบทุกวันนี้
แม้กระทั่งชาวต่างประเทศ
ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ก็มากราบไหว้บูชาบนบานไม่ขาดสาย และบางรายมาแก้บนเช่นเดียวกับคนไทย การแก้บนหลวงพ่อโสธรที่นิยมกันคือ ละครชาตรี ไข่ต้ม ผลไม้ และพวงมาลัย
เรื่องที่ห้ามบนบาน
มีเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่สืบมาว่า เรื่องที่ห้ามบนบานกับหลวงพ่อโสธรคือ เรื่องขอไม่ให้เป็นทหาร กับเรื่องขอบุตร ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อท่านชอบให้คนเป็นทหารเพื่อจะได้ปกปักรักษาบ้านเมือง และคนที่เป็นทหารก็เป็นเสมือนลูกหลานของท่าน ดังนั้นใครที่มาขอไม่ให้โดนเกณฑ์ทหาร เป็นต้องถูกเกณฑ์ทุกราย ! และคนที่มาขอบุตร ก็มักจะได้บุตรที่มีอาการไม่ครบ 32 เนื่องจากว่าท่านได้ส่งลูกหลานซึ่งเป็นทหารที่บาดเจ็บล้มตายมาให้นั่นเอง ! เรื่องนี้เท็จจริงประการใดคงต้องพิจารณากันเอาเอง
ในแต่ละวันจะมีผู้คนหลั่งไหลไปนมัสการกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะในงานนมัสการประจำปีหลวงพ่อโสธร ซึ่งมีปีละ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก ในกลางเดือนห้า ซึ่งถือเป็นงานวันเกิดหลวงพ่อโสธร มีงานฉลอง 3 วัน 3 คืน ครั้งที่สอง งานกลางเดือน 12 มีงาน 5 วัน 5 คืน และครั้งที่สาม ในเทศกาลตรุษจีน มีงาน 5 วัน 5 คืน
...................
ตำนานของ “หลวงพ่อบ้านแหลม”
แห่งแม่น้ำแม่กลอง
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม)
ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
พระพุทธรูป 5 องค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันจากทางเหนือนั้น มีเพียงองค์เดียวที่ป็นพระพุทธรูปยืน คือองค์ที่ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลม อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ก็คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง
สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลาก พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ทุกคนต่างดีใจมาก จึงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางคนในเรือได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป จึงได้พบ พระพุทธรูปยืน ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดที่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น แล้วอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง
พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้า วัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่า พระพุทธรูปยืน ท่านประสงค์ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด จนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างช่วยกันลงดำน้ำค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่นั้น และอาจเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาดำน้ำจนพบและอาราธนาไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา
ครั้นชาวประมงบ้านแหลมรู้ข่าวว่าชาวบ้านศรีจำปาพบพระพุทธรูปของตนที่จมน้ำ จึงยกขบวนกันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้ จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อและการมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็สามารถประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมจึงยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้
พระพุทธรูปมาแต่แรก
ตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปา จึงได้นามว่า “วัดบ้านแหลม” มาจนทุกวันนี้ และขนานนามพระพุทธรูปยืนว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ต่อมาวัดบ้านแหลมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทวรวิหาร”
พุทธลักษณะ
หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัยสุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่ง ส่วนสูงประมาณ 170 เซนติเมตร (บ้างว่าสูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร) แต่บาตรเดิมนั้นได้สูญหายไปในทะเลก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้เสด็จมานมัสการและได้ถวายบาตรแก้วสีเงินแก่หลวงพ่อบ้านแหลมดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ไม่ว่าเป็นทางก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ทางแคล้วคลาด ทางรักษาโรค และเรื่องอื่นๆ อีกมาก แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบ อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเลื่อมใส ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานมายังพระครูมหาสิทธิการ (แดง) ความว่า
“ปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปยังเมืองสมุทรสงคราม ในกระบวนหลวง ได้รับสั่งให้คนนำเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อบ้านแหลม และได้รับสั่งไว้แต่ครั้งนั้นว่า ขอผลอานิสงส์ความทรงเลื่อมใส จงบันดาลให้หายประชวร ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้สมพระประสงค์ โปรดพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า 800 บาท มาเพื่อช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้าพเจ้าได้ส่งมาให้ท่านพระครูทางกระทรวงธรรมการแล้ว”
อีกประสบการณ์หนึ่งจากผู้ที่รอดชีวิตเพราะบุญญาบารมีของหลวงพ่อคุ้มครอง คือ นายชิต เข้มขัน อดีตนายด่านศุลการกร สมุทรสงคราม ได้ประกอบอาชีพเป็นกัปตันเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ คราวหนึ่งเรือถูกพายุอัปปางลง เขาต้องลอยอยู่ในทะเลหลายชั่วโมงจวนหมดกำลังจมน้ำอยู่แล้ว ก็นึกถึงหลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมาได้ จึงขอให้หลวงพ่อช่วย
ขณะนั้นเรือที่เดินอยู่ในทะเลได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย จึงหันหัวเรือตามหา แต่เดือนมืดมองไม่เห็น เรือแล่นวนเวียนอยู่สักครู่ก็จะหันหัวเรือกลับ แต่ก็ได้ยินเสียงคนร้องเรียกให้ช่วยอยู่เรื่อย จึงค้นหาอีกจนพบนายชิต เข้มขัน ลอยคออยู่จวนจะจมน้ำ เมื่อเอาตัวขึ้นมาบนเรือนั้นนายชิตสลบไม่ได้สติ ต้องแก้ไขอยู่นาน พอฟื้นขึ้นมาจึงพากันซักถามว่าตะโกนให้ช่วยหรือเปล่า นายชิตบอกว่าไม่ได้เรียกให้ช่วย เป็นแต่คำนึงถึงหลวงพ่อบ้านแหลมอยู่ในใจ ขอให้หลวงพ่อช่วยเท่านั้นเอง
เรื่องการบนบานขอให้หลวงพ่อบ้านแหลมช่วยเหลือนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันมาว่า ท่านช่วยทุกเรื่องที่คนเข้ามาขอความเมตตา ยกเว้นเรื่องทหาร หากมาขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร คนนั้นเป็นต้องถูกเกณฑ์อย่างแน่นอน เพราะกล่าวกันว่าท่านชอบทหารนั่นเอง และเมื่อสิ่งที่บนบานไว้ได้ดังประสงค์ มักจะนิยมแก้บนกันด้วยพวงมาลัยเป็นส่วนใหญ่ จะมีประทัดบ้างก็ประปราย
ทุกวันนี้ก่อนออกเรือหาปลา ชาวประมงสมุทรสงคราม จะกราบไหว้และขอพรหลวงพ่อบ้านแหลมให้คุ้มครองพวกตนพ้นจากภยันตราย และกลับมาโดยสวัสดิภาพ และได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อๆ กันมาตราบจนทุกวันนี้
....................
ตำนานของ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”
แห่งแม่น้ำเพชรบุรี
วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
กว่า 200 ปี มาแล้วที่พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยองค์เล็ก ขนาดหน้าตักกว้างเพียง 21 นิ้ว ซึ่งลอยน้ำมาจากทางเหนือ (พร้อมพระพี่น้องอีก 4 องค์) ได้ขึ้นประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในจำนวน 5 องค์พี่น้อง ที่มีแผ่นทองคำเปลวปิดหุ้มอยู่หนามากจนแลไม่เห็นความงามตามพุทธลักษณะเดิม
ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม ว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ในระหว่างทางกลับ ก็ได้พบพระพุทธรูปยืน (หลวงพ่อบ้านแหลม) ลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง แต่เกิดอาเพทฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ
ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งที่เหลืออยู่บนเรืออีกลำหนึ่งไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2302 เป็นต้นมา และเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเขาตะเครา
ชื่อใหม่ของหลวงพ่อ
หลวงพ่อเขาตะเครา ได้รับการเรียกขานนามใหม่คือ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา” สาเหตุมาจากมีช่างภาพคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพหลวงพ่อ แต่ความที่องค์หลวงพ่อมีทองปิดทับอยู่หนามากจนแลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม ช่างภาพคนนี้จึงไปแกะทองที่ตาหลวงพ่อออกโดยมิได้บอกล่าวและขออนุญาต หลังจากนั้นไม่กี่วันช่างภาพคนนี้ก็มีอาการหูตาบวมเป่ง จึงต้องมากราบขอขมาหลวงพ่อ อาการจึงหายไป
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องหลวงพ่อ จนกระทั่งทองปิดองค์ท่านทับถมกันมากขึ้นทุกวันๆ ชาวบ้านที่มานมัสการจึงเติมคำว่า “ทอง” ไปในการเรียกขาน จึงกลายมาเป็น “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”
หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว แต่เนื่องจากทองที่ปิดองค์พระพุทธรูปนั้นหนามาก จนทำให้ไม่เห็นองค์เดิมว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อหรือปูนปั้น แต่จากหลักฐานที่ “สุนทรภู่” กวีเอกของไทย ได้เขียนไว้ในนิราศเมืองเพชร คราวที่ได้ไปแวะไหว้หลวงพ่อ (ทอง) วัดเขาตะเครา ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลวงพ่อฯ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ดังความว่า
“ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท
มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ
พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์อธิษฐาน
เขานับถือลืออยู่แต่บูราณ
ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน”
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อนั้น เป็นที่โจษขานกันมาแต่โบราณ แม้กระทั่งตอนที่หลวงพ่อจะประทานทองที่องค์ท่านให้นั้น มีผู้เล่าว่า ได้เห็นไฟลุกท่วมองค์ท่านเป็นประกายรัศมีออกมา ทองที่หุ้มองค์ท่านค่อยๆ ไหลหลุดลอกออกบางส่วน ดูน่าอัศจรรย์ และเมื่อนำทองที่ไหลลอกมาไปชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าได้ถึง 9.9 กิโลกรัม ! ทำให้ได้แลเห็นพระพักตร์ชัดเจนขึ้นมาบ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีทองปิดหนามากจนองค์ท่านกลมทีเดียว !
นอกจากนั้นยังมีผู้เล่าว่า มีหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านแหลม ทำไร่ทำนาจนหมดเนื้อหมดตัว จึงคิดจะไปทำมาค้าขายทางใต้ ได้มาไหว้หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา อธิษฐานขอให้ช่วยค้าขายร่ำรวยแล้วจะกลับมาบวชชีแก้บน 15 วัน ปรากฏว่าหญิงคนนั้นค้าขายจนร่ำรวย แต่มิได้กลับมาแก้บนตามที่อธิษฐานไว้ ทำให้มีอาการป่วยหนัก จนกระทั่งผลสุดท้ายต้องกลับมาบวชชีที่วัดเขาตะเครา จึงหายป่วย
อีกเรื่องหนึ่งคือ มีเรือประมงลำหนึ่งถูกมรสุมอัปปางลง ลูกเรือ 11 คนเสียชีวิต รอดมาเพียง 2 คน เพราะมีพระกริ่งและแหวนจำลองของหลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา ทั้งสองคนนี้จึงบนตัวบวชให้หลวงพ่อตั้งแต่นั้นมา
และมีอยู่ครั้งหนึ่งขบวนทอดผ้าป่ามาทำบุญที่วัดเขาตะเครา ตอนกลับจากวัดเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำกลางทาง คนโดยสารทั้ง 70 กว่าคนเพียงแค่ฟกช้ำดำเขียวเท่านั้น และมีอยู่คนหนึ่งที่เช่าพระพุทธรูปจำลองหลวงพ่อฯ แล้วอุ้มองค์ท่านอยู่ คนนี้ไม่ได้รับอันตรายใดๆ แม้แต่นิดเดียว !
การบนบานศาลกล่าวเพื่อขอพรหลวงพ่อให้ช่วยดลบันดาลในเรื่องราวต่างๆ นั้น มักจะสมปรารถนาเสมอ สุนทรภู่เองก็ทราบกิตติศัพท์นี้จึงได้อธิษฐานขอพรจากหลวงพ่อ ดังนี้
“ได้สรงน้ำชำระพระสัมฤทธิ์
ถวายธูปเทียนอุทิศพิษฐาน
ขอเดชะพระสัมฤทธิ์พิสดาร
ท่านเชี่ยวชาญเชิญช่วยด้วยสักครั้ง”
ขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เช่นเดียวกับหลวงพ่อโสธรและหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง เพราะถ้าบนอย่างนี้ จะต้องเป็นทหารทุกราย !
สิ่งของที่นิยมนำมาแก้บนที่ทำกันต่อๆ มานั้น ถ้าดูในสมัยก่อนจากคำอธิษฐานดังกล่าวของสุนทรภู่ ว่าถ้าสมหวังในเรื่องที่ขอไว้ สุนทรภู่จะถวายละคร พร้อมทั้งเทียนเงินทองและของเสวยตามที่มีผู้กระทำกันมา
“แม้นได้ของสองสิ่งเห็นจริงจัง
จะแต่งตั้งบายศรีมีละคร
ทั้งเทียนเงินเทียนทองของเสวย
เหมือนเขาเคยบูชาหน้าสิงขร”
จากคำบอกเล่าของผู้คนที่วัดเขาตะเคราบอกว่า การแก้บนก็แล้วแต่สิ่งของที่บนไว้ ซึ่งก็มีทั้งละคร ข่าวปลาอาหาร ประทัด เป็นต้น แต่หากต้องการให้ได้ผลสมปรารถนาเร็ว ต้องบนตัวบวช ไม่ว่าจะเป็นบวชพระ บวชเณร บวชชี บวชชีพราหมณ์ บวชเนกขัมมะ ผู้ที่บนตัวบวชนี้จะได้ผลสมหวังทุกราย
ทุกวันนี้หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา ยังคงเป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวเมืองเพชรและผู้คนมากมายที่เดินทางมากราบไหว้หรือแม้แต่ระลึกถึงท่านอยู่เสมอๆ
..........................
ตำนานของ “หลวงพ่อโต”
แห่งคลองสำโรง แม่น้ำเจ้าพระยา
วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
หนึ่งในพระห้าพี่น้อง ที่พร้อมใจกันลอยน้ำมาจากทางเหนือนั้น มีอยู่องค์เดียวที่มิได้มีพระนามตามชื่อวัด หรือตามชื่อของหมู่บ้านที่ชาวบ้านเป็นผู้พบเห็นครั้งแรก แต่พระนามของท่านนั้น ชาวบ้านขนานนามตามพุทธลักษณะของท่านที่มีองค์ใหญ่โตว่า “หลวงพ่อโต” ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
หลวงพ่อโตได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วลอยเข้ามาในลำคลองสำโรง ผู้พบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่วถึงปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ จึงพากันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ฉุดดึงเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ท่านไม่ยอมขึ้น
มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งคงไม่สำเร็จเป็นแน่ ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามลำน้ำสำโรง และอธิษฐานว่า “หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด ก็ขอแสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด” เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องต้องกันดังนั้นแล้ว ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง
ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้า วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือปัจจุบันนี้คือ วัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านก็เกิดหยุดนิ่ง ฝีพายพยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่ ชาวบางพลีถึงกับขนลุกซู่เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ต่างก้มลงกราบนมัสการด้วยความเคารพสักการะ แล้วพร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ก็ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด”
และก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนัก ก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่าน และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานในพระวิหาร ซึ่งต้องชะลอท่านขึ้นข้ามฝาผนังวิหาร เพราะขณะนั้นหลังคาพระวิหารยังไม่มี และประตูวิหารก็เล็กมาก ต่อจากนั้นท่านจึงได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ เพื่อเป็นประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน
หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร) หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลืมพระเนตร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เนื้อเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ ความที่องค์ของท่านใหญ่โตมากเพราะหน้าตักกว้างถึง 3 ศอก 1 คืบ ชาวบ้านจึงขนานนามท่านว่า “หลวงพ่อโต”
เมื่อครั้งที่ท่านยังประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก่า บางวันที่เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ กลางคืนผู้คนจะได้ยินเสียงพึมพำอยู่ในวิหารคล้ายเสียงสวดมนต์ ครั้นเมื่อเข้าไปดูก็ไม่เห็นมีใครอยู่ในนั้นเลยนอกจากหลวงพ่อโต บางคราวพระภิกษุสามเณรในวัดจะเห็นพระภิกษุชราห่มจีวรสีคร่ำคร่า ถือไม้เท้าเดินออกมายืนสงบนิ่งอยู่หน้าวิหาร ผู้ที่พบเห็นต่างก็เรียกกันมาดู เมื่อทุกคนเห็นพร้อมกันดีแล้ว ภิกษุชรารูปนั้นก็เดินหายเข้าไปในวิหารตรงองค์ของหลวงพ่อ เป็นดังนี้หลายครั้งหลายหน บางครั้งจะมีผู้เห็นเป็นชายชรารูปร่างสง่างาม มีรัศมีเปล่งปลั่ง นุ่งขาวห่มขาวเข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็หายไปตรงพระพักตร์ของท่าน
เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ ก่อนจะอาราธนาหลวงพ่อเข้าไปประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ได้วัดองค์ท่านกับช่องประตูพระอุโบสถ ช่องประตูใหญ่กว่าองค์ท่านประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งสามารถนำท่านชะลอผ่านประตูเข้าไปได้สบายมาก ครั้นเวลาอาราธนาหลวงพ่อเข้าสู่พระอุโบสถจริงๆ กลับปรากฏว่า องค์หลวงพ่อใหญ่กว่าช่องประตูมาก จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถนำท่านผ่านประตูเข้าไปได้
คณะกรรมการและประชาชนทั้งหลายเห็นเช่นนั้นก็พากันตกใจ ให้ความเห็นว่าต้องทุบช่องประตูออกเสียให้กว้าง เมื่อนำหลวงพ่อเข้าไปแล้วค่อยทำประตูกันใหม่ แต่บางท่านให้ความเห็นว่าหลวงพ่อโตคงจะแสดงอภินิหารให้ทุกคนได้เห็นเป็นอัศจรรย์ก็ได้ ดังนั้นจึงพร้อมใจกันจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานขอให้หลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบต่อไป เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็อาราธนาหลวงพ่อเข้าสู่ประตูพระอุโบสถใหม่ คราวนี้ทุกคนก็ต้องแปลกใจที่องค์หลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้อย่างง่ายดาย โดยมีช่องว่างระหว่างองค์หลวงพ่อกับประตูพระอุโบสถเสียอีก นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ในอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโตยิ่งนัก
ครั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2520 หลวงพ่อได้กระทำให้เกิดปาฏิหาริย์ที่องค์ท่านซึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ เกิดนุ่มนิ่มไปหมดทั้งองค์ดังเนื้อมนุษย์ และต่อมาในปี พ.ศ.2522 ก็เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้อีกครั้งหนึ่ง
ผู้คนที่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจต่างๆ นานา มักจะมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวอธิษฐานขอให้หลวงพ่อโตช่วยให้สมปรารถนา เมื่อสำเร็จผลแล้ว มักจะนำใบลานที่สานเป็นปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทองมาถวายเป็นการแก้บน สาเหตุที่ใช้ปลาตะเพียนนั้น เพราะเชื่อกันว่าเป็นปลาคู่บารมีของหลวงพ่อ มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตที่ข้างวิหารมีสระน้ำย่อมๆ อยู่สระหนึ่ง บางคราวจะมีปลาเงินปลาทอง หรือปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง ขนาดใหญ่ 2 ตัว ปรากฏให้เห็นลอยเล่นน้ำอยู่คู่กันในสระ ซึ่งในสระนั้นไม่เคยมีปลาตะเพียนเงินตะเพียนทองมาก่อนเลย !!
ส่วนเรื่องที่ห้ามบนบานเด็ดขาดก็คือ การขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เช่นเดียวกับหลวงพ่อโสธร หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อ (ทอง) วัดเขาตะเครา เพราะผู้ที่บนในเรื่องดังกล่าว จะต้องถูกเกณฑ์ทหารทุกราย
ทางวัดได้จัดให้มีงานสมโภชปีละ 3 ครั้ง คือ
- งานปิดทองฝ่าพระพุทธบาทและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 3
- งานนมัสการและปิดทองหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 4
- งานประเพณีรับบัวและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 มีการจัดขบวนเรือแห่แหนหลวงพ่อโต (จำลอง) ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อรับดอกบัวที่ผู้คนถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากนี้ในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานทำบุญฉลองที่หลวงพ่อโตแสดงปาฏิหาริย์ให้องค์หลวงพ่อนิ่มเหมือนเนื้อของมนุษย์
หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปและชาวบางพลี รวมทั้งเป็นมิ่งขวัญของวัดบางพลีใหญ่ใน มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
.......................
ตำนานของ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”
แห่งแม่น้ำนครชัยศรี
วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม
เรื่องราวของพระพุทธรูป 5 พี่น้อง ที่เล่าสืบกันมาว่าทุกองค์พร้อมใจลอยน้ำมาจากทางเหนือ เพื่อจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนเมืองใต้ บัดนี้เรื่องราวได้ดำเนินมาจนถึง พระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ชาวบ้านขนานนามท่านว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”
ความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้น มีตำนานเรื่องหนึ่งที่เล่าสืบกันมาพอเป็นเค้า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดนักว่า ในสมัยที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัตร ในปี พ.ศ.2394 นั้น ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปครอง วัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า วันหนึ่งท่านได้ลงไปที่วัดไร่ขิง เมื่อท่านเข้าไปในพระอุโบสถกราบพระประธานแล้ว ท่านก็ได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า “โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย” เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงกราบเรียนท่านว่า “วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ได้” เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้
เมื่อสมเด็จฯ กลับไปแล้วไม่นาน เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงพร้อมทั้งกรรมการวัดได้เดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถแทนองค์เดิมตั้งแต่นั้นมา และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามนามของวัดว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”
หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัยแบบประยุกต์ พระรูปมีลักษณะผึ่งผายคล้ายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย แต่เฉพาะพระพักตร์ดูคล้ายแบบรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ
ในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี จึงมีชาวบ้านมาร่วมเป็นจำนวนมาก ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพสู่ปะรำพิธีนั้น ได้เกิดเหตุการณ์เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะแสงแดดที่แผดจ้าพลันหายไป บังเกิดเป็นเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองกึกก้อง ฝนโปรยปรายลงมา ยังความฉ่ำเย็นกันทั่วหน้า ทุกคนในที่นั้นเกิดความปีติโสมนัสยิ่งนัก พากันอธิษฐานเป็นเสียงเดียวกันว่า
“หลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร ฉะนั้น”
และนับตั้งแต่ที่หลวงพ่อมาประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ก็มีประชาชนพากันมาเคารพสักการะมิได้ขาด โดยเฉพาะวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ อุโบสถของหลวงพ่อจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ที่ได้ยินได้ฟังและได้ประสบในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ
เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีผู้คนเล่าไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านแคล้วคลาด ทางด้านเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เช่น เรื่องของหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกฟ้าผ่ากลางท้องนา แต่ไม่ตาย ทั้งๆ ที่หมอที่รับรักษาบอกว่าถ้าโดนอย่างนี้ไม่เคยมีรอดสักรายเดียว ทั้งนี้เพราะห้อยเหรียญรูปหลวงพ่อนั่นเอง
หรือเรื่องของสุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่ที่อเมริกา มีอาการชาที่ริมฝีปาก รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ญาติพี่น้องทางเมืองไทย ซึ่งนับถือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จึงได้ส่งพระรูปจำลององค์เล็กๆ ไปให้ บอกว่าให้อธิษฐานจิตขอให้หลวงพ่อช่วย สุภาพสตรีท่านนี้ก็ทำตาม คืนหนึ่งเธอฝันเห็นหลวงพ่อ คิดว่าท่านได้มาช่วยแล้ว ในที่สุดก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ส่งเงินมาถวายร่วมสร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นจำนวนมาก
และยังมีเรื่องของชายคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากโจรปล้นรถ เพราะขณะที่กำลังอยู่ในนาทีวิกฤตนั้นเขานึกถึงหลวงพ่อวัดไร่ขิง อธิษฐานว่าหากรอดตายจะบวชถวายหลวงพ่อหนึ่งพรรษา แล้วเขาก็รอดตายจริงๆ สุดท้ายก็มาบวชถวายที่วัดไร่ขิง ตามที่ได้บนบานไว้
ส่วนเรื่องน้ำมนต์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นที่น่าเชื่อถือมานานแล้วว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บปวดหัวตัวร้อนได้ชงัดนัก แม้แต่วัวควายเป็นไข้ก็รักษาให้หายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่มากราบหลวงพ่อ นิยมนำน้ำมนต์กลับบ้านทุกราย เดิมที่วัดจัดเป็นถุงพลาสติกใบเล็กๆ ให้ใส่ แต่เมื่อมีผู้คนต้องการมากขึ้น และการใส่ถุงพลาสติกก็อาจแตกกลางทางได้ ้ทางวัดจึงบรรจุน้ำมนต์ใส่ในขวดพลาสติก เพื่ออำนวยสะดวกแก่สาธุชนผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะหลั่งไหลมากราบไหว้หลวงพ่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
ทุกวันจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้หลวงพ่อ บนบานขอพรให้ท่านช่วย โดยเฉพาะในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ซึ่งผู้คนมากันอย่างล้นหลาม เสียงประทัดจะดังกึกก้องไปทั่วบริเวณพระอุโบสถ อย่างต่อเนื่องยาวนานในแต่ละวัน ซึ่งบอกให้รู้ว่า คนที่ได้รับพรจากหลวงพ่อแล้วสมปรารถนานั้น พากันมาแก้บนนั่นเอง และนอกจากประทัดแล้ว สิ่งที่ผู้คนบอกต่อๆ มาว่าเป็นของโปรดของหลวงพ่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ว่าว และเมื่อแก้บนขอพรเสร็จแล้ว ก่อนกลับทุกรายจะไปรับน้ำมนต์ ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง
แต่เรื่องที่ห้ามบนบานศาลกล่าวก็คือ เรื่องขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เหมือนกับพระพี่น้องที่ลอยน้ำมานั่นเอง
ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อปีละ 3 ครั้ง คือ
- ในเทศกาลวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งทางวัดได้จัดงานตักบาตรเทโว และฟังเทศน์ จึงถือเป็นโอกาสให้มีการปิดทองนมัสการหลวงพ่อด้วย
- ในเทศกาลตรุษจีน เพื่อให้ชาวจีนที่เคารพบูชาหลวงพ่อ ได้มีโอกาสกราบไหว้ปิดทองถวายเป็นพุทธบูชา
- ในงานเทศกาลนมัสการปิดทองรูปหลวงพ่อประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 จนถึง วันแรม 3 ค่ำ เดือน 5
งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงทุกงาน จะเนืองแน่นไปด้วยสาธุชนและประชาชนทั่วไปจากใกล้ไกลที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า เพื่อมากราบไหว้องค์หลวงพ่ออย่างแท้จริง เพราะทุกคนเชื่อว่า องค์หลวงพ่อไม่ได้เป็นแค่พระอิฐพระปูนธรรมดาๆ เท่านั้น
จบเรื่องราวของพระห้าพี่น้อง คือ
๑. หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา,
๒. หลวงพ่อบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม, ๓. หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา จ.เพชรบุรี,
๔. หลวงพ่อโต จ.สมุทรปราการ
๕. หลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ในชุดพุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564
พระห้าพี่น้อง
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always beloved.
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
ตอบลบMy blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.